ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ทุเลา มีผู้ติดเชื้อรายวันต่อเนื่องมากกว่าพันราย สะสมรวม 43,742 ราย เสียชีวิต 104 ศพ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีบุคลากรทางแพทย์ติดเชื้อถึง 146 ราย คำถามคือ เวลานี้ แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ยังเพียงพอรับมือหรือไม่ และจะรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาไขข้อข้องใจ

คุณหมอสมศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดโควิดส่วนใหญ่ติดจากข้างนอกโรงพยาบาล จากการใช้ชีวิตประจำวันส่วนตัว เช่น ไปตลาด หรือสังสรรค์บ้าง

“พอเข้ามาในโรงพยาบาลก็อาจจะทำให้ติดกันเองเพิ่มขึ้นนิดหน่อย ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามเน้นให้ใช้แผน คงกิจการในโรงพยาบาลในภาวะวิกฤติ คือ เราวางแผนให้แบ่งบุคลากรเป็นทีมๆ เช่น ทีม A ทีม B ซึ่งทั้ง 2 ทีมจะมาเจอกัน สมมตว่ามีทีมไหนป่วยก็จะมีอีกทีมทำงานได้”

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

...

นอกจากนี้ ยังมีการสุ่มตรวจเป็นระยะๆ ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน และที่สำคัญ คือ การป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะการนั่งร่วมโต๊ะกินข้าวด้วยกัน เพราะประเด็นนี้คือเป็นประเด็นที่เจอมากที่สุด เราจึงเน้นว่า ถ้ากินข้าวด้วยกันในห้องกินข้าว อย่างน้อยต้องนั่งห่าง 1 เมตร ห้ามพูดคุยกัน

ยืนยันหมอติดโควิด 146 ราย แต่ก็ยังเพียงพอดูแลคนไข้

มีตัวเลขยืนยันว่ามีบุคลากรทางแพทย์ติดโควิด 146 ราย กระทบการทำงานหรือไม่ อธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันว่าไม่กระทบ เพราะปัจจุบันมีแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีประมาณ 4 แสนคน ถ้ารวมของภาคเอกชน ก็น่าจะมีมากกว่า 7 แสนคน

“ยืนยันว่าการดูแลผู้ป่วยในภาพรวมถือว่าไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับ โรงพยาบาลบางแห่ง ที่อาจจะติดมาก ก็อาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่เชื่อว่าในส่วนใหญ่ ไม่กระทบ เพราะเรามีแผน “คงกิจการในโรงพยาบาลในภาวะวิกฤติ” เพราะในแผนนี้จะรวมไปถึงการลดภาระในการผ่าตัด ด้วยการเลื่อนเคสที่ไม่เร่งด่วน”

ซึ่งข้อดีของการเลื่อนผ่าตัด คือ การผ่าตัดบางเคสจำเป็นต้องพักในห้อง ICU ฉะนั้น การเลื่อนออกไป ทำให้มีห้อง ICU เหลือมากขึ้นด้วย รวมถึงใช้นโยบายส่งยาให้ถึงบ้าน การใช้ Telemedicine (หาหมอผ่านวิดีโอคอล) ซึ่งมีข้อดีคือการลดการสัมผัสได้มาก

รพ.สนาม Hospitel ใช้หมอ 1:100-200 พยาบาล 1: 20-40

ปัจจุบันโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel เริ่มมีมากขึ้น เราจำเป็นต้องใช้แพทย์ในการดูแลมากน้อยขนาดไหน นพ.สมศักดิ์ เผยว่า โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel คือมีผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก ฉะนั้น เราใช้หมอหรือพยาบาลไม่มาก คือ ถ้าเป็นพยาบาล 1 คน ดูแลผู้ป่วย 20-40 คน ส่วนหมอ จะใช้ 1 : 100-200 คน เพื่อลดการใช้อัตรากำลังทางการแพทย์

“คนไข้บางคนแทบไม่ได้เจอหมอเลย เพราะส่วนใหญ่จะให้พยาบาลวัดไข้ วัดความดัน วัดออกซิเจนในเลือด และรายงานอาการทุกวันเช้าเย็น ถ้าเป็น Hospitel ก็ส่งหน้าห้อง ลดการสัมผัส ยกเว้นคนไข้มีอาการแย่ลง ก็จะนำตัวส่งโรงพยาบาลหลัก"

เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นมีข่าวว่าที่อุดรฯ ต้องกักตัวบุคลากรทางแพทย์นับร้อยคน อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า เท่าที่ทราบ จ.อุดรธานี น่าจะมีบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 2 พันคน ถามว่าแบบนี้กระทบหรือไม่ ก็อาจจะกระทบบ้างเป็นบางแผนก

ปัญหาเรื่องเตียงไม่พอ จริงๆ แล้วมีความคลาดเคลื่อน สาเหตุมาจาก คนกรุงเทพฯ บางคนไปตรวจที่แล็บ ซึ่งพอไปตรวจที่แล็บเสร็จ เขาก็ให้กลับบ้าน ปรากฏว่า พอผลตรวจออกมาบางคนเป็นบวก คือ ติดโควิด แต่แล็บเหล่านี้ไม่มีเตียงคนไข้ เพราะไม่ใช่โรงพยาบาล

...

“พอเป็นแบบนี้คนไข้ก็เคว้ง...เราจึงแก้ปัญหาด้วยการให้แล็บเหล่านี้ไปขึ้นทะเบียนกับกรมแก้ปัญหาสุขภาพ แล้วให้แล็บเหล่านี้ไปผูกกับโรงพยาบาล เพื่ออย่างน้อยจะมีหลักประกันว่า หากพบผลเป็นบวก ก็จะมีโรงพยาบาลหรือเตียงรองรับ เพราะถ้าไม่มีคนไข้ก็จะเดือดร้อนไปไล่หาโรงพยาบาลอีก ซึ่งเราพบว่ามีตัวเลขผู้ติดโควิดจากการตรวจแล็บเหล่านี้วันหนึ่งเป็นร้อยคน ตรงนี้คือปัญหาหนึ่งที่เราต้องไปตามแก้”

นพ.สมศักดิ์ ฝากถึงประชาชนว่า เวลาพี่น้องประชาชนไปตรวจที่แล็บ กรุณาถามด้วยว่าทางแล็บได้โคกับโรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งความจริงแล้ว การที่แล็บช่วยตรวจถือเป็นเรื่องดี แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เคว้งก็ควรผูกกับโรงพยาบาลด้วย

ส่วนอีกเรื่องที่เป็นแนวคิดว่ารัฐที่จะใช้มาตรการรักษาตัวอยู่บ้าน อธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันและเน้นย้ำว่า “นี่เป็นเพียงแนวคิด แต่เวลานี้ยังไม่ได้ใช้ เราจะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลจริงๆ ถามว่าเมื่อไหร่ล้นเตียงโรงพยาบาล ผมให้ตัวเลขกลมๆ คือ ถ้าเมื่อไหร่มีคนติดโควิด เฉลี่ยต่อวันเกิน 5000 คน/วัน หรือถ้าจังหวัดเดียว อย่างเช่น กรุงเทพฯ วันเดียวเกิน 700-800 คน/วัน เราอาจจะคิดถึงการกักตัวที่บ้าน แต่ยืนยันเรายังไม่ใช้ในเวลานี้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ

...