เรียกว่าสถานการณ์ “เลวร้าย” ที่สุดแล้ว สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย แต่ละวันที่ผู้ติดเชื้อเกือบพันราย สะสมรวมกว่า 3 หมื่นคน เสียชีวิตเกือบ 100 คนแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ทำให้ประชาชนทั่วประเทศเกิดอาการ “ตื่นตระหนก” เพราะโรงพยาบาลหลายแห่ง “เตียงเต็ม” ภาครัฐจึงต้องแก้ด้วยการตั้ง “โรงพยาบาลสนาม” ส่วนคนที่เริ่มมีอาการป่วยก็แห่ไปตรวจโควิด และบางคนกังวลว่าอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่าย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

ที่เป็นประเด็นล่าสุด ของ 2 ยูทูบเบอร์ ที่ตรวจโควิดแล้วผลเป็นบวก แต่ทั้งคู่เลือกที่จะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งล่าสุด (13 เม.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า นโยบายหลักของประเทศไทยเวลานี้ ผู้ติดเชื้อยังคงต้องเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม หากมีอาการน้อย สาเหตุเพื่อจะติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และไม่ให้มีการติดเชื้อไปสู่คนอื่น อีกทั้งโควิดสายพันธุ์อังกฤษ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล ซึ่งตอนนี้พบว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการแต่มีอาการปอดบวมและมีอาการรุนแรงขึ้นได้ในภายหลัง

...

นอกจากนี้ โควิด-19 ถือเป็นโรคติดต่ออันตราย ถ้าหากคณะกรรมการโรคติดต่อบอกให้ท่านมารักษา และท่านไม่มารักษาก็จะผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นสามารถเอาผิดได้ตามอํานาจความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 7 (2) และมาตรา 34 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

ในเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งให้ความเห็นที่ต่างไปว่า เวลานี้ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์การทำงานแล้ว ปัญหาคือ ตอนนี้คนติดโควิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ความเป็นจริง การรักษาโควิดในต่างประเทศ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการ สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ แต่ต้องไปรับการตรวจและวินิจฉัยจากแพทย์

“ประเทศที่เขาติดเชื้อจำนวนมาก เขาก็ใช้วิธีนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผล ขอแค่รู้จักการป้องกันตัวอย่างดี ไม่ให้ไปติดคนอื่นๆ หรือคนในบ้าน สิ่งสำคัญคือ การติดตามผล ซึ่งทางโรงพยาบาลต้องมีระบบการติดตามที่พร้อมรายงานตลอดเวลา หากมีอาการหนักขึ้นก็ต้องแอดมิตเข้าโรงพยาบาล”

ที่ผ่านมา เราใช้เกณฑ์ที่ว่า “หากตรวจพบโควิดแล้ว โรงพยาบาลที่ตรวจพบก็ต้องแอดมิตรับคนไข้เข้ารักษา” เกณฑ์รักษาแบบนี้ อาจจะเหมาะสมสำหรับกรณีมีคนไข้ไม่มาก แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เราก็ต้องปรับเกณฑ์เพื่อแก้ปัญหา เพราะหากเราไม่ปรับ ระบบการรักษาอาจจะพัง เพราะคนที่ป่วยโควิด ก็สามารถกินยารักษาตามอาการอยู่แล้ว

ถึงเวลา ที่ต้องรักษาตัวที่บ้าน นายนิมิตร์ ให้ความเห็นว่า “สำหรับความเห็นผม ผมว่าน่าจะต้องเริ่มกันแล้ว เพราะเราเห็นข่าว มีการตั้ง โรงพยาบาลสนาม 200 เตียง ปรากฏว่า ไม่นานก็เต็ม ซึ่งคนป่วยที่เข้าไปรักษาส่วนใหญ่ก็เป็นคนหนุ่มสาว ไม่ค่อยแสดงอาการ เรื่องแบบนี้ ผมว่าไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดชอบ แต่ในแนวทางการรักษา สามารถทำได้ และเมื่อมีคนป่วยจำนวนมาก ยิ่งไม่รู้ว่ามีคนป่วยมาจากไหน ก็ยิ่งต้องเร่งปรับ เพราะถ้าไม่ปรับ ระบบการรักษาพังแน่...”

กรณีที่คุณหมอโอภาส บอกว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย นายนิมิตร์ บอกว่า นี่คือข้อเสนอของผม ที่อยากให้สามารถแก้ปัญหาโควิดและเดินไปข้างหน้าได้ “ผมยืนยันว่าต้องทบทวน และหามาตรการให้บ้านแต่ละคนเป็นสถานพยาบาลสำหรับตัวเองให้ได้ โดยมีระบบติดตามการรักษา

...

ถ้าถึงจุดหนึ่งคนที่ติดเชื้อมาก มากเกินกว่าโรงพยาบาลรับมือไหว ประเด็นที่ว่ามันผิดกฎหมายในเวลานี้ ก็คงต้องดูว่า ทาง สธ. มีแผนจัดการได้ขนาดไหน โรงพยาบาลพร้อมรับทุกคนไหม จะไม่มีการเรียกเก็บเงินหรือไม่ โรงพยาบาลสนามที่บอกว่าเพียงพอ จะเพียงพอในอนาคตหรือไม่ บางคนอาการไม่หนักแต่เตรียมอุปกรณ์ส่วนตัวไปทุกอย่าง แล้วแตกต่างอย่างไรกับการอยู่บ้าน สิ่งที่ สธ. ต้องคิดหลังจากนี้ คือ ต้องหาทางออก หรืออยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาอย่างไร ผมว่า สธ. ต้องเริ่มคิดได้แล้ว”

ถึงเวลายืดหยุ่นหลักเกณฑ์ตรวจโควิด

ส่วนเรื่องการตรวจโควิด กรรมการ สปสช. เปิดเผยว่า ระบบประกันสุขภาพเตรียมงบประมาณในการให้ประชาชนใช้จ่ายในการตรวจโควิดไว้ ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง หรือประกันสังคม หรือราชการ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตรวจหาเชื้อโควิดได้ฟรี ในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพ หรือโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ เพราะหลังจากนั้นโรงพยาบาลจะตามไปเคลมทีหลัง ซึ่งนี่คือ “หลักการ”

“แต่มันจะมีรายละเอียดว่า เมื่อไหร่ควรจะได้ตรวจ ซึ่งถ้าเราอยู่ในกลุ่มก้อนของกลุ่มเสี่ยง เราก็ไปโรงพยาบาลแล้วให้เขาซักประวัติ ตอนที่ประเมิน เขาก็จะบอกว่าเรามีสิทธิ์ตรวจได้ฟรีหรือไม่ ถึงแม้โรงพยาบาลเอกชนจะเรียกเก็บเงินคุณ แต่คุณต้องยืนยันว่าขอใช้สิทธิ์บัตรทอง เพราะปกติของการใช้บริการ เขาจะเอาเลขบัตรประชาชนอยู่แล้ว”

สิ่งสำคัญคือตัวผู้จะรับบริการตรวจต้องมีความเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ถ้าไม่มีความเสี่ยงเลย แล้วไปตรวจ ทุกคนคิดแบบนี้ไปตรวจแล้วมันจะเกิดการโกลาหล

...

นายนิมิตร์ เผยถึงค่าตัวตรวจโควิดต่อคนว่า ระบบเตรียมเงินไว้ ต่อคนประมาณ หลักพันกว่าบาท แต่เดิมมีราคาตั้งต้นไว้ 2,100 บาท แต่มีการต่อรองและลดราคาลงมา อย่างไรก็ตาม การจะได้สิทธิ์ตรวจฟรีหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยด้วย ว่าผู้ที่ได้รับการตรวจเข้าข่ายเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด หรือมีความเสี่ยงติดโควิดมากน้อยขนาดไหน...

“แต่ในความเห็นผม ผมเห็นว่าควรจะยืดหยุ่น เพราะปัจจุบันการแพร่ระบาดค่อนข้างกระจายอย่างวงกว้าง เราเองอาจไม่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงแค่ไหน ตรงนี้หน้าที่เราคือต้องกระทุ้งให้ ศบค. หรือ สธ. พิจารณาเกณฑ์ความยืดหยุ่นตรงนี้”

เวลานี้รัฐบาลพยายามใช้วิธีการตรวจเชิงรุก และมีการตรวจเป็นกลุ่ม ทำให้ค่าตรวจลดราคาลง โดยใช้น้ำยาเพียงชุดเดียว แต่สามารถตรวจเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน ส่งผลให้มีการตรวจได้มากขึ้น กระจายได้มากขึ้น

“ปัญหาใหญ่ในเวลานี้ คือ สถานที่ตรวจน้อย แออัด และถูกเรียกเก็บเงิน ซึ่งที่จริงแล้วต้องกำกับให้ชัดเจนว่า เก็บเงินไม่ได้ สปสช. เองก็พยายามสื่อสารไปยังประชาชนและทุกโรงพยาบาล ว่าถ้าประชาชนมีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองก็ขอให้ทำเลย และอย่าไปเรียกเก็บเงิน หากโรงพยาบาลไหนเรียกเก็บเงิน ก็สามารถโทรร้องเรียนได้ 1330 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยเคลียร์ปัญหาให้”

...

กรณีที่คนไม่มีความเสี่ยง และไปบอกว่าตัวเองมีความเสี่ยง จะมีความผิดไหม

“ของแบบนี้มันต้องรับผิดชอบในคำพูด แต่ถ้าตัวคุณไม่มีความเสี่ยง แต่กลับไปบอกว่าตัวเองเสี่ยง เมื่อไปตรวจมาแล้ว มันก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณ ในทางกลับกัน ตัวคุณมีความเสี่ยงแต่กลับปกปิดข้อมูล เจ้าหน้าที่พยาบาล ก็จะรับความเสี่ยงนั้น”

สิทธิ์เพิ่มเติม แพ้วัคซีน รัฐจ่ายสูงสุด 4 แสน

นายนิมิตร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับประเด็นวัคซีนโควิด ที่คนไม่ค่อยรู้ คือ ปัจจุบัน ระบบประกันสุขภาพ มีการเพิ่มเงื่อนไขในการรับรอง โดยเพิ่มมาให้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา คือ หากมีอาการแพ้ ก็สามารถเคลมได้ ตามมาตรา 41 ในระบบประกันสุขภาพ คือ กรณีเสียชีวิต จะเยียวยา 4 แสนบาท ถ้ามีผลข้างเคียงไม่มาก คณะกรรมการก็จะพิจารณาตามความเสียหายที่เกิด

“ตรงนี้คือมาตรการที่รัฐทำไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ว่าวัคซีนที่รัฐนำมาใช้มีความปลอดภัย ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น รัฐก็พร้อมเยียวยา ซึ่งมันครอบคลุมทั้งบัตรทอง และประกันสังคม แต่บัตรทองนั้นครอบคลุมมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น ถือว่าครอบคลุมทั่วถึงประชาชนกว่า 90% แล้ว ส่วนในระดับต่อไป คือ ภาครัฐต้องควบคุมราคาวัคซีน เพราะรัฐรู้ต้นทุนอยู่แล้ว ฉะนั้น หากมีการฉีดที่แพร่หลายมากกว่านี้ สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือ ควบคุมราคา”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ