อะไรคือ สาเหตุที่ทำให้ "ไวรัสกลายพันธุ์" (Variant)?

ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO อธิบายเอาไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อไวรัสเกิดการแพร่ระบาดวงกว้างในหมู่ประชากรและทำให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก โอกาสที่ไวรัสจะเกิดการแพร่พันธุ์และกลายพันธุ์ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี การกลายพันธุ์ส่วนใหญ่มักจะมีผลเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีผลใดๆ ต่อความสามารถของไวรัส ในการทำให้เกิดการติดเชื้อ (Infections) และการติดโรค (Disease)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้น ณ จุดใดของสารพันธุกรรม (Genetic Material) เพราะบางครั้งอาจถึงขั้นส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติของไวรัส ยกตัวอย่างเช่น อาจแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นหรือน้อยลง รวมทั้งอาจทำให้เกิดโรคที่รุนแรงขึ้นหรือรุนแรงลดลง เป็นต้น

วัคซีนโควิด-19 มีผลกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือไม่?

ปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ทั้งที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาหรือได้รับอนุญาตให้ฉีดกับมนุษย์นั้น คาดว่าน่าจะสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้บางส่วน เนื่องจากวัคซีนเหล่านี้เข้าไปกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ หากแต่การที่ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ย่อมทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนไม่ได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันวัคซีนใดที่ถูกทดสอบแล้วว่า มีประสิทธิภาพน้อยกับไวรัสสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ก็มักจะมีการพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับไวรัสสายพันธุ์นั้นๆ ได้ต่อไป และปัจจุบัน WHO ยังคงทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบและประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดอย่างใกล้ชิด และในระหว่างที่กำลังศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ชาวโลกจึงควรทำทุกวิถีทางเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อหาทางหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัส เพื่อป้องกันการ "กลายพันธุ์" ซึ่งจะนำไปสู่การลดประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ บรรดาผู้ผลิตและพัฒนาวัคซีนเอง ก็ควรจะมีการปรับวัคซีนให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการของไวรัสโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

...

เราสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ในอนาคตหรือไม่?

การหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัสยังคงเป็นกุญแจสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ มาตรการในปัจจุบันเพื่อลดการแพร่เชื้อ ซึ่งที่ได้ผลมากที่สุด คือ การหมั่นล้างมือบ่อยๆ การสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่างทางกายภาพ และการหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีความแออัด ยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อลดปริมาณการแพร่เชื้อ และลดความเสี่ยงของโอกาสที่ไวรัสจะกลายพันธุ์มากกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน และทั้งหมดที่ว่าไปนี้ ต้องควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงทั่วทุกมุมโลก

เหตุใดเราจึงต้องฉีดวัคซีน ทั้งๆ ที่ปัจจุบันมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาด?

วัคซีน คือ เครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับโควิด-19 และในปัจจุบันมันประโยชน์ทั้งทางด้านสาธารณสุขและการช่วยชีวิตผู้คน ที่ชัดเจนที่สุด เราจึงไม่ควรยุติการฉีดวัคซีนเพียงเพราะความกังวลต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ควรจะต้องเดินหน้าต่อไป แม้ว่า วัคซีนบางตัวอาจมีประสิทธิภาพน้อยกับไวรัสกลายพันธุ์ก็ตาม เพราะเราจำเป็นต้องใช้สิ่งที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งเหล่านั้น เพื่อให้ชาวโลกทุกคนปลอดภัย

ทั้งหมดที่ "คุณ" อ่านไปตามบรรทัดด้านบน คือ "คำตอบ" ของ WHO สำหรับ "คำถาม" ที่ "เรา" เชื่อว่า "คุณ" น่าจะอยากจะรู้ หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ครั้งนี้มีแนวโน้มสูงมากว่าอาจจะเป็น "ไวรัสกลายพันธุ์" ที่อาละวาดอย่างหนักในประเทศอังกฤษก่อนหน้านี้

ซึ่ง WHO สรุปไว้อย่างชัดเจนแบบเข้าใจง่ายๆ แล้วนะว่า

"การหยุดยั้งการแพร่เชื้อ = หยุดยั้งการกลายพันธุ์ของไวรัสได้"

และการฉีดวัคซีนจะยังคงต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าประสิทธิภาพอาจด้อยกว่าไวรัสที่กลายพันธุ์ เพราะมันคือ ส่วนหนึ่งของ "การหยุดยั้งการแพร่เชื้อ" พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพของวัคซีนให้ได้มากขึ้นต่อไป

แล้วประสิทธิภาพวัคซีนที่สามารถใช้รับมือไวรัสกลายพันธุ์จากอังกฤษอัปเดตกันไปถึงขนาดไหนแล้ว?

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ระบุว่า วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ผลลัพธ์ที่ดีในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์จากอังกฤษ รวมถึงในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง นอกจากนี้ ในหลายๆ ประเทศที่ใช้วัคซีนจาก 3 บริษัทนี้ ยังรายงานผลลัพธ์ที่คล้ายๆ กันนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วย

...

อย่างไรก็ดี ไวรัสกลายพันธุ์จากอังกฤษยังคงเป็นเพียง 1 ใน 3 สายพันธุ์ ที่น่าเป็นกังวล ณ เวลานี้ เพราะยังมีไวรัสกลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ ซึ่งถือว่า "ดุที่สุด" และไวรัสกลายพันธุ์จากบราซิล ซึ่ง "ดุกว่าสายพันธุ์อังกฤษ" ยังเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากกว่า

คำถาม - วัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน กับ 2 สายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิล?

ซาริม อับดุล คาริม (Salim Abdool Karim) นักวิจัยด้านระบาดวิทยาและประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาโรคโควิด-19 ของ แอฟริกาใต้ ตอบง่ายๆ สั้นๆ เพียงว่า...

"เรายังคงมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวันอย่างไม่หยุดยั้ง ฉะนั้น สิ่งที่ต้องรอ คือ การทดสอบวัคซีนจากหลากหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นของทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แอสตราเซเนกา โนวาแวกซ์ สปุตนิก วี ของรัสเซีย หรือซิโนแวคของจีน ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจนว่า วัคซีนชนิดใดใช้ได้ผลดีที่สุดกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เพราะเราจะไม่ค้นหาทางเลือกเพียงทางเลือกเดียวในการต่อสู้กับโรคร้ายนี้"

...

ผลการทดสอบวัคซีนล่าสุด เมื่อถูกนำไปใช้กับไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้

ซาริม อับดุล คาริม กล่าวต่อไปว่า ผลการทดสอบในกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก สำหรับวัคซีนของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน พบว่า มีประสิทธิภาพประมาณ 85% ในการป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ในขณะที่ ไฟเซอร์ที่ถูกนำไปทดสอบในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก สามารถป้องกันสายพันธ์ุเดียวกันนี้ จากกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงได้ถึง 100%

ส่วนของบริษัท โนวาแวกซ์ ซึ่งมีประสิทธิภาพประมาณ 89% ในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดิม กลับมีประสิทธิภาพลดลงเหลือเพียงประมาณ 50% เมื่อถูกนำมาใช้กับสายพันธ์ุแอฟริกาใต้ ในขณะที่ของบริษัท แอสตราเซเนกา ให้ผลลัพท์ที่ค่อนข้างน่าผิดหวังในการรับมือกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้

"ไวรัสสายพันธุ์บราซิล" น่าวิตกมากน้อยเพียงใด?

เคท โอ'ไบรอัน (Kate O’Brien) ผู้อำนวยการฝ่ายการสร้างภูมิคุ้มกันวัคซีนและชีววิทยาขององค์การอนามัยโลก ยืนยันว่า ปัญหาสายพันธุ์จากบราซิลยังไม่น่าวิตกมากนัก จากรายงานการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การศึกษาในเรื่องดังกล่าวยังถือว่า "ยังคงมีข้อมูลไม่มากเพียงพอที่จะนำไปสู่ข้อสรุปอย่างมีนัยสำคัญ" ด้วยเหตุนี้ จึงยังต้องมีการค้นหาข้อมูลและการทดสอบให้มากขึ้นต่อไป

...

ขณะเดียวกัน O’Brien ยืนยันว่า มนุษย์ยังคงไม่สิ้นหวังในการต่อสู้กับโควิด-19 เพราะล่าสุด ทีมงานของ WHO รวมถึงนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) และ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institute of Allergy and Infectious Deseases) หรือ NIAID ได้ค้นพบบางสิ่งที่อาจนำไปสู่การต่อสู้กับโรคร้ายนี้ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

"แทนที่จะมุ่งโฟกัสไปที่แอนติบอดี (Antibody) นักวิจัยกลุ่มนี้กลับมองไปที่ส่วนอื่นของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะเซลล์ CD8+T ซึ่งบางทีอาจจะเป็นกุญแจสำคัญที่มนุษย์ชาติกำลังต้องการ

(เซลล์ CD8 หรือ Killer Cells เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีแอนติเจนชนิด CD8 อยู่บนผนังเซลล์ ทำหน้าที่ทำลายเซลล์ที่มีความผิดปกติ หรือ ติดเชื้อจุลชีพ โดยเซลล์ชนิดนี้จะรู้ว่าเซลล์ไหนเป็นสิ่งแปลกปลอม)

โดยข้อมูลที่ได้ล่าสุดนั้น พบว่า เซลล์ T ในเลือดของผู้ป่วยที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 สายพันธุ์เดิม สามารถจดจำไวรัสที่กลายพันธุ์ทั้ง 3 สายพันธุ์ (อังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิล) ได้ ซึ่งสิ่งนี้น่าจะพอเป็นเครื่องที่ยืนยันได้ว่า แม้วัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้ อาจจะสร้างผลลัพธ์ในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ไม่ดีนัก แต่อย่างน้อยมันก็สามารถลดความรุนแรงของการติดเชื้อได้ในระดับที่น่าพอใจ"

นอกจากนี้ O’Brien ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงผลการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิกของวัคซีนจาก บริษัทโนวาแวกซ์ และบริษัทแอสตราเซเนกากับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งเบื้องต้นถูกระบุว่า ให้ผลลัพท์ที่ไม่น่าพึงพอใจมากนักว่า เบื้องต้นยังไม่ได้มีการศึกษากับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคในระดับรุนแรง มันจึงยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่า วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งมีประสิทธิภาพถึงขนาดช่วยให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลได้ นอกจากนี้ ขนาดการทดสอบวัคซีนในกลุ่มตัวอย่างของแอสตราเซเนกายังอยู่ในขอบเขตที่เล็กมากอีกด้วย

ฉะนั้น ภายในระยะเวลาสั้นๆ นี้ จึงยังไม่ควรมีการฟันธงถึงประเด็นที่เกิดขึ้นกับ บริษัท แอสตราเซเนกา กับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เพราะไม่ว่าอย่างไร ณ เวลานี้ วัคซีนของแอสตราเซเนกาก็ยังคงสามารถป้องกันการป่วยในระดับรุนแรง การต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงการเสียชีวิตได้.

ข่าวน่าสนใจ: