- โควิด-19 เป็น "ตัวการ" ที่ทำให้เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก และนั่นก็ทำให้ "ระดับหนี้สิน" เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ความน่ากังวลต่อจากนี้ คือ "คลื่นหนี้ลูกที่ 4" จะพอกพูนจนกลายเป็น "หนี้ถาวร" และนำไปสู่ "วิกฤติทางการเงิน"
- ในกลุ่มประเทศ EMDEs คาดการณ์ว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา จะมี "หนี้รัฐบาล" หรือ "หนี้สาธารณะ" เพิ่มขึ้นถึง 9% ของ GDP
กว่า 1 ปีที่ผ่านมา เรารับรู้กันมาตลอดว่า "โควิด-19" (COVID-19) เป็น "ตัวการ" ที่ทำให้เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก เกิดหายนะในทุกพื้นที่ สร้างสารพัดปัญหา พอมาช่วงต้นปี 2564 คิดว่าจะคลี่คลาย กลายเป็นว่า "มันกลับมาอีก!" แถมรุนแรงกว่าเดิม
ประเทศไทยติดเชื้อสะสมทะลุ 30,000 ราย แต่ละวันเพิ่มขึ้นหลักร้อย ขณะที่ ทั่วโลกติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 136 ล้านราย เสียชีวิตอีกกว่า 2.9 ล้านศพ
ส่วนภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ วันที่ 11 เมษายน 2564 ดำเนินการไปแล้วกว่า 768 ล้านโดส ใน 154 ประเทศทั่วโลก เฉลี่ยฉีดวัคซีน 17.7 ล้านโดสต่อวัน ขณะที่ ประเทศไทยนับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 10 เมษายน 2564 ฉีดไปแล้วทั้งหมด 555,396 โดส ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมประมาณ 0.4% ของประชากร ซึ่งหากเทียบการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะต้องฉีดให้ครอบคลุม 75% ของประชากรขึ้นไป นับว่ายังห่างไกลนัก... โดย "บลูมเบิร์ก" (Bloomberg) ประเมินว่า ประเทศไทยอาจจะต้องใช้เวลาถึง 6.5 ปี
...
และอย่างที่บอกตอนต้นว่า โควิด-19 เป็นตัวการที่กัดเซาะเศรษฐกิจจนพังพินาศ ก็ทำให้ตลอดปีที่ผ่านมา จนถึงปีนี้ (2564) รัฐบาลแต่ละประเทศต้องงัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมารับมือกับหายนะที่เกิดขึ้น และหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ก็คือ การ "กู้"
"กู้เงิน" อย่างเดียวเท่านั้น เพราะในคลังขุดมาใช้กันจนจะหมดแล้ว
และนั่นก็ส่งผลให้ "ระดับหนี้สิน" เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และระบบเศรษฐกิจกำลังพัฒนา หรือ "อีเอ็มดีอี" (Emerging Market and Development Economics: EMDEs) จนหวาดวิตกกันว่า การพอกพูนของ "คลื่นหนี้ลูกที่ 4" อาจทำให้กลายเป็น "หนี้ถาวร" ในอนาคต ที่นำไปสู่ "วิกฤติทางการเงิน" (Financial Crisis)
ทั้งนี้ ธนาคารโลก (World Bank) มีการคาดการณ์ว่า ปี 2563 ในกลุ่มประเทศ EMDEs จะมี "หนี้รัฐบาล" (Government Debt) เพิ่มขึ้นถึง 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ "จีดีพี" (GDP)
ซึ่งครั้งนี้... เป็นการเพิ่มขึ้นที่มากที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 (ช่วงปี 2523-2532) เมื่อกลุ่มประเทศ EMDEs บังเกิดซีรีส์ "วิกฤตการณ์หนี้" (Debt Crises) ต่อเนื่อง จากที่มีเพียงแค่ "หนี้รัฐบาล" ก็พัฒนาไปสู่หนี้หลากหลายรูปแบบ โดยคาดการณ์ว่า "หนี้ภาคเอกชน" (Private Sector Debt) จะเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง อันเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่สืบเนื่องมาจากวิกฤติโควิด-19
และถึงแม้ "คลื่นหนี้ลูกที่ 4" จะเกิดมาก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งใหญ่ พอกพูนเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงปี 2553 ก่อนที่ปี 2562 หนี้โลกจะทำสถิติเพิ่มขึ้นสูงสุด 230% ของ GDP และหนี้รัฐบาลทำสถิติ 83% ของ GDP ขณะเดียวกัน ปริมาณหนี้ทั้งหมดในกลุ่มประเทศ EMDEs ก็เพิ่มขึ้นถึง 176% ของ GDP ซึ่งมีหนี้ภาคเอกชนเป็นตัวนำ เพิ่มขึ้นถึง 123% ของ GDP และในบรรดาประเทศเหล่านั้น เมื่อคิดเป็นสัดส่วนหนี้ทั้งหมดแล้ว กว่า 80% เป็นของ "จีน" ที่มีหนี้เพิ่มสูงมากกว่า 20% ของ GDP
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนี้สินในกลุ่มประเทศ EMDEs เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงโควิด-19 นี้ ด้วยขนาดที่ใหญ่ที่สุด รวดเร็วที่สุด และหลากหลายที่สุด
แน่นอนว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ก้อนโตนี้ย่อมสร้างความกังวลไม่น้อยว่าอาจซ้ำรอยกับ "คลื่นหนี้" ลูกก่อนๆ หน้าที่ผ่านมา ที่จบลงด้วยการแผ่ขยายไปเป็น "วิกฤตการณ์ทางการเงิน" (Financial Crises) เช่น วิกฤติหนี้ลาตินอเมริกา (Latin American Debt Crisis) ในทศวรรษที่ 1980 (ช่วงปี 2523-2532) และวิกฤตการณ์ทางการเงินเอเชียตะวันออก (East Asia Financial Crisis) ในปลายทศวรรษที่ 1990 (ช่วงปี 2533-2542)
ก่อนจะเกิด "คลื่นหนี้ลูกที่ 4"
...
ก่อนหน้านี้มีมาแล้วถึง 3 ลูก นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 (ช่วงปี 2513-2522) ซึ่งอย่างที่เกริ่นด้านบนว่า ทั้งหมดจบลงด้วยการขยายไปสู่การเป็น "วิกฤตการณ์ทางการเงิน"
คลื่นหนี้ลูกที่ 1 ของโลกเกิดในช่วงทศวรรษที่ 1970 (ช่วงปี 2513-2522) และทศวรรษที่ 1980 (ช่วงปี 2523-2532) อันเป็นผลจากการ "กู้ยืมเงิน" ของรัฐบาลในลาตินอเมริกาและประเทศรายได้ต่ำ โดยเฉพาะแอฟริกาใต้ซาฮารา ซึ่งบังเกิดซีรีส์ของ "วิกฤตการณ์ทางการเงิน" ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980
คลื่นหนี้ลูกที่ 2 เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2533 จนถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 (ช่วงปี 2543-2552) เนื่องจากธนาคารและบริษัทต่างๆ ในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก รวมถึงรัฐบาลในยุโรปและเอเชียกลาง มีการ "กู้ยืมเงิน" จำนวนมาก และเช่นเคย... จบลงด้วยการเกิดซีรีส์วิกฤตการณ์ของภูมิภาคเหล่านี้ในปี 2540-2544 อย่างที่เรารับรู้กัน ซึ่งประเทศไทยเองก็โดนกับเขาด้วย
คลื่นหนี้ลูกที่ 3 สะสมในภาคเอกชน ซึ่ง "กู้ยืมเงิน" ในยุโรปและเอเชียกลาง และในประเทศพัฒนาแล้ว ก่อนจบลงที่วิกฤติการเงินทั่วโลก ทำให้ธนาคารเกิดภาวะคลังขาดดุล เรียกได้ว่า กู้กันจนธนาคารไม่สามารถให้กู้ได้อีกแล้ว โดยเกิดในช่วงปี 2550-2552 และเป็นผลให้ระบบเศรษฐกิจต่างๆ คว่ำลงสู่ "ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ" อย่างรุนแรง
มาถึง "คลื่นหนี้ลูกที่ 4"...
ด้วยการพังทลายอย่างรุนแรงอันเกิดจาก "หนี้" ที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ นั้น เมื่อรวมเข้ากับการกระตุ้นเชิงนโยบาย ก็ทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Debt-to-GDP Ratio) เพิ่มถึงขีดสูงสุดอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่า หนี้รัฐบาลทั่วโลกจะสูงถึง 99% ของ GDP ขณะที่ ในบรรดากลุ่มประเทศ EMDEs พบว่า ปริมาณหนี้ที่รวมกันทั้งหมดเพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 7% ของ GDP และก็อย่างที่บอก คือ สะสมมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19
...
หนี้...กำลังโป่งพอง
คงต้องยอมรับว่า วิกฤติโควิด-19 นี้ ทำให้เราเอ่ยคำว่า "...แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" หลายต่อหลายครั้ง และมาถึงบรรทัดนี้ก็ต้องหยิบมาใช้อีกครั้งเพื่อบอกว่า โลกของเราในปัจจุบันกำลังเผชิญกับ "ระดับหนี้" ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหตุเพราะรัฐบาลหลายๆ ประเทศยังคงพยายามต่อสู้กับโควิด-19 อย่างไม่หยุดยั้ง
"การกู้ยืมเงิน" ของรัฐบาลต่างๆ พุ่งพรวดขึ้น
โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance: IIF) คาดการณ์ว่า ปี 2563 ปริมาณหนี้รวมกันทั้งโลกอาจแตะสูงถึง 277 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8,677 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ 6 เม.ย. 64 : 31.33 บาท) แสดงให้เห็นว่า อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ 365%
...
และจนถึงตอนนี้ จากข้อมูล Fiscal Monitor ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ "ไอเอ็มเอฟ" (International Monetary Fund: IMF) ก็พบว่า รัฐบาลทั่วโลกมีการใช้จ่ายทางการคลังกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 376 ล้านล้านบาท จากมาตรการการลดภาษีชั่วคราว รวมถึงอัดฉีดเงินทุนและสินเชื่อต่างๆ
ทั้งนี้ เมื่อรวมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ที่กำลังเตรียมดำเนินการ ก็คาดการณ์ได้ว่าจะดันให้ "หนี้สาธารณะ" (Public Debt) ทั่วโลกทำสถิติถึงระดับ 100% ของ GDP จนกระทั่งปี 2568
ว่าแต่คุณผู้อ่านทราบไหมว่า ปี 2563 ประเทศอะไรมีอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP สูงที่สุด?
คำตอบ คือ ญี่ปุ่น
อัตราส่วนหนี้ต่อ GDP อยู่ที่ 234.18%
"ญี่ปุ่น" มีหนี้สินของประเทศ (National Debt) มากกว่า 2 เท่าของมูลค่า GDP ประจำปี คาดการณ์ว่ามีจำนวนกว่า 12,042,805 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 378 ล้านล้านบาท ซึ่งหนี้ของประเทศส่วนใหญ่เป็น "หนี้ภายในประเทศ" ที่มีเจ้าหนี้เป็นธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่น (Bank of Japan) ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็มีสถานะความเป็นหนี้มากที่สุดในโลกในแง่ของ "หนี้ของประเทศต่อหัวประชากร" ด้วย
อย่างไรก็แล้วแต่... ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ใช่อัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น กล่าวคือ อัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) มีมากเกินกว่า GDP ของประเทศ ซึ่งเป็นผลให้ต้องจัดหาเงินทุนในการเป็น "ต้นทุนสงคราม" ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยรัฐบาลจัดการหนี้ด้วยการเริ่ม "ภาษีชดใช้ภัยสงคราม" และปั๊มธนบัตรเพิ่มขึ้น
ผลพวงจากสถานการณ์ที่ว่านั้นต่อเนื่องไปอีกหลายปีให้หลัง... ทั้งหมดนั้นถึงจุดสิ้นสุดในทศวรรษที่ 1990 (ช่วงปี 2533-2542) เป็นที่รู้จักกันดีว่า Lost Decade หรือ "ทศวรรษที่หายไป" ของญี่ปุ่น
บทเรียนจากอดีต...
หากกลับไปดู "คลื่นหนี้" ลูกที่ผ่านๆ มา ไม่แปลกที่หลายๆ ประเทศจะยังคงเลือก "การกู้ยืม" ต่อไป แม้ว่าอาจมี "ความเสี่ยง" ที่จะผิดสัญญาชำระหนี้สูงก็ตาม
ทั้งนี้ การต่อสู้กับโควิด-19 มีการคาดการณ์ว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจจะฟื้นกลับสู่ปกติก็ต่อเมื่อมีการ "ฉีดวัคซีน" แต่ยามนี้ทั่วทั้งโลกยังฉีดวัคซีนได้ไม่ถึงครึ่งของประชากรโลก และมองว่า การกู้ยืมเงินในอนาคตยังคงยากที่จะคาดการณ์
อย่างไรก็ตาม หากย้อน "บทเรียนวิกฤติหนี้" ในอดีตเพื่อแก้ปัญหาเวลานี้ ก็พอได้คำตอบว่า... หากเป็นเชิงเศรษฐกิจนั้นแสนง่าย แต่ถ้าเป็นเชิงการเมืองขอบอกว่ายาก! แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ได้ซะทีเดียว โดยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางการเงินระบุว่า สามารถจัดการได้ด้วยการขยายเวลาของอัตราดอกเบี้ยต่ำและการผ่อนคลายนโยบายการคลัง หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ เช่น การยอมลดการใช้จ่ายและเพิ่มภาษีเพื่อให้จำนวนเงินเท่ากัน โดยลดการขาดดุลคนละเท่าๆ กัน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานแตกต่างกันก็ตาม ซึ่งในส่วนการเพิ่มภาษีนั้น สหรัฐอเมริกาเริ่มมีการนำมาพิจารณาบ้างแล้ว แต่เป็นในส่วนคนรวยและภาคธุรกิจ ขณะเดียวกัน การลดภาษีไม่ได้มีความสำคัญในลักษณะการสร้างงาน ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องสร้าง "หนี้ก้อนโต" ด้วยการหั่นภาษีใดๆ
ฉะนั้น นับจากนี้ไป... สังคมโลกต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็งและเร่งด่วน เพื่อทำให้มั่นใจว่า คลื่นหนี้ลูกที่ 4 นี้ จะไม่จบด้วยการคืบคลานไปเป็น "วิกฤติหนี้" ในกลุ่มประเทศ EMDEs ในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนเคยประสบมาแล้วว่า วิกฤติหนี้ที่ผ่านมานั้นเจ็บปวดแค่ไหน.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ข่าวน่าสนใจ:
- นาทีนี้ "รัฐบาล" ต้องตั้งการ์ด เร่งฉีดวัคซีน "โควิด-19" อย่าทิ้งเศรษฐกิจ
- อย่าขี้เหนียวอัดงบ "วัคซีน" สร้างงานเพิ่มรายได้ ดีกว่าเอาเงินไปแจก
- สัญญาณอันตราย ธุรกิจไทยกลายเป็น "ซอมบี้" ย้อนบทเรียน "ทศวรรษที่หายไป"
- ทวงคืนสมบัติชาติ EP.2 : ใบสั่งฝรั่งคนไทยย่ำยี เบื้องหลังแก๊งค้าวัตถุโบราณ
- วิกฤติ "คอนเทนเนอร์" ส่อยืดเยื้อถึงกลางปี สุดท้าย "ผู้บริโภค" รับภาระ