กี่ปีต่อกี่ปี...ไทยก็ยังวนเวียนกับเรื่องเดิมๆ แผนดีเสมอ แต่วิธีปฏิบัติมีปัญหา ล่าสุด กรณี "กัญชา-กัญชง" คือ ตัวอย่างที่ชัดเจน
"ประเทศไทยมีแผนดีเสมอ
แต่วิธีปฏิบัติจะมีปัญหา..."
เสียงสะท้อนจาก "คนตัวเล็ก" ที่ลองกระโจนเข้าไปสัมผัสปรากฏการณ์ "กัญชา-กัญชง" ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ด้วยความสนใจอยากลองทำธุรกิจเล็กๆ เกี่ยวกับ "กัญชา" เลย เพราะอยากเรียนรู้กระบวนการ แต่กลับพบว่า สิ่งที่เหมือนใครๆ ก็ทำได้...กลายเป็น "ยุ่งยากมาก!"
ที่ว่ายากนั้น เริ่มตั้งแต่ระเบียบขั้นตอนต่างๆ ที่จะควบคุมวัตถุดิบ การขออนุญาต การจดทะเบียน ซึ่งเขาประเมินแล้ว ขอบอกเลยว่า ไม่มีทางเลยที่ชาวบ้านจะเข้าใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ง่าย และจะผ่านกระบวนการคัดกรองของภาครัฐได้
อนาคต "กัญชง" จะเป็น "พืชเศรษฐกิจ" ถูกไหม?
ต่อเรื่องนี้ หนึ่งในความเห็นของ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายขยายว่า รัฐบาลเปิดเสรีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่าย ซื้อ-ขายได้หมด แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ "คุณไม่สามารถปลูกได้" คือ การต้องไปขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และในกรณีการขออนุญาต ต่อมา... คุณต้องตอบให้ได้ว่า "พอปลูกแล้วจะไปขายใคร?" "คุณจะเอาไปทำอะไร?" เพราะขณะนี้ ไม่มีบริษัทรับซื้อ ฉะนั้น ประเทศไทยจะไม่มีปัญหากรณี Supply กัญชา-กัญชง จะไม่มีประเด็นว่าจะหากัญชา-กัญชงได้ที่ไหน เพราะหาได้เยอะมาก แต่คำถามคือ "ไปขายใคร?" ถ้าคุณไม่สามารถบอกได้ว่าไปขายใคร ถ้าคุณไม่มีคู่ค้าด้วย เขาก็ไม่อนุมัติ จบ!!
...
"แล้วเป็นอย่างไรต่อไป... เมื่อเป็นแบบนี้ แน่นอนว่า บริษัทต่างๆ ที่เขาตอบคำถามนั้นได้ก็จะเริ่มทำแพ็กเกจสำเร็จรูป ไม่เพียงเท่านั้น เขาปลูกด้วย เพราะมีแปลงปลูก แถมยังแปรรูป พร้อมขายเสร็จสรรพ จำหน่าย จบ!!"
นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างที่ต้องระวัง คือ "ต่างชาติ" รออยู่ ชะเง้อตรงหน้าต่างรออยู่ว่า เมื่อไรที่รัฐบาลปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาคือ "จบ!!"
3 จบแล้ว... เพราะอะไร?
คำตอบ คือ เขามีเทคโนโลยีสามารถทำสารสกัดได้ และเขาเองก็ไปจดลิขสิทธิ์ในต่างประเทศแล้ว ตอนนี้มีประมาณ 600 ชนิดที่มีลิขสิทธิ์ ครึ่งหนึ่งเป็นของ "จีน" ไปซะแล้ว ดังนั้น ต้องดูดีๆ สำหรับการแปรรูป หากผลิตภัณฑ์ตรงกับของจีนมีสิทธิ์ถูกฟ้องในศาลโลก
นี่แค่ "กัญชา-กัญชง" เรื่องเดียวที่เกิดขึ้นใหม่สดๆ ร้อนๆ แต่ปัญหาเรื่อง "วิธีปฏิบัติ" ของภาครัฐยังมีอีกหลายเรื่อง
ซึ่ง ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สะท้อนมุมมองว่า ในอนาคตของประเทศไทยต่อจากนี้ ไม่ได้ขับเคลื่อนโดยบริษัทใหญ่ๆ อย่างเดียวแล้ว แต่ยังมีกลุ่มคนต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มในการทำธุรกิจต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ทีนี้มีปัญหาอยู่ 2 อย่าง คือ
อันที่ 1 คนอื่นๆ ทั่วไปมีความรู้ในการเข้าไปพัฒนาหรือใช้แพลตฟอร์มอย่างเพียงพอไหม สิ่งนี้คิดว่า รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งในการทำให้คนต่างๆ เหล่านี้เข้าสู่แพลตฟอร์มอย่างเข้าใจ
"เหมือนกับยุคหนึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปจังหวัดหนึ่งทางอีสาน ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งมีบันไดเลื่อน เขาก็จัดคนมาคอยยืนบอกว่า ให้ก้าวเท้าไหนก่อน เพราะคนทั่วไปไม่เคยใช้บันไดเลื่อน"
ที่ย้อนความกำลังจะบอกว่า คนเหล่านี้เริ่มจะเข้าสู่ "บันไดเลื่อนทางธุรกิจ" เพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์มที่เขาจะขาย
"หลายๆ ครั้งนึกน้อยใจว่า เวลาสั่งสินค้าในลาซาด้า (Lazada) หรือสั่งสินค้าในช้อปปี้ (Shopee) ก็มักจะได้สินค้าจากจีนตลอดเลย ประเทศไทยแทบไม่มีสินค้าที่เอาไปขายเท่าไร คนขายไทยก็ไปซื้อสินค้าจากจีนแล้วเอามาขายต่อ ในขณะเดียวกัน บางทีสั่งสินค้าก็ส่งมาจากจีนเองเลย"
ทั้งหมดนั้นถามว่า คนไทยได้อะไรจากแพลตฟอร์มพวกนี้?
...
อันที่ 2 การใช้เงินของคนมีเงิน หรือ "คนรวย" ทั้งหลาย จะมองเรื่องของการลงทุนน้อย เห็นได้ว่า ตัวเลขการลงทุนในประเทศไทยติดลบ แปลว่าอะไร แปลว่า "เอสเอ็มอี" (SME) ไปไม่ได้ ตายไปเยอะ ที่จะบอกคือ ภาคการเงินจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เม็ดเงินเข้าไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อยๆ อย่างกรณี "เป๋าตัง" หรือแพลตฟอร์มรัฐบาลอื่นๆ เช่น พร้อมเพย์ ในเวลานี้คนรู้จักวิธีใช้แล้ว แต่คำถามคือว่า ถ้าพวกเขาจะเข้าไปร่วมแพลตฟอร์มในการทำธุรกิจต่างๆ ถ้าไม่มีเม็ดเงินให้เขา คิดว่า "เกิดไม่ได้"
"ไม่มีทางที่มดงานเล็กๆ จะไปแข่งกับ SME ของจีนได้ เพราะตัวเล็กๆ ของเขาแข็งแรงขึ้นมากจากแพลตฟอร์มพวกนี้ เขาสามารถใช้แพลตฟอร์มพวกนี้ทำธุรกิจได้ แล้วก็มีเงินทุนที่จะเข้าไปทำงานตรงนี้ได้"
แต่เมื่อมองกลับมาประเทศไทย...ไม่มีอะไรเลย
แล้วถามว่า การแข่งขันในอนาคตต่อไปจะอยู่อย่างไร?
ภาพที่เกิดขึ้นในวันนี้ คนมีเงินก็จะมองว่า "ฝากเงินเท่าไรดี?" "ผลตอบแทนเท่าไรดี?" ก็จะไปลงทุนในตลาดหุ้นบ้าง หรือใครมีเงินมากก็จะไปจ้าง Wealth มาบริหารจัดการสินทรัพย์ตัวเอง คำถามคือ ทำไมไม่ทำให้เม็ดเงินที่มีอยู่ในสภาพคล่องล้นๆ ลงไปสู่คนที่ยังขาดแคลนเงินทุนในการทำงาน
...
"รัฐบาลควรจะเป็นตัวกลางที่จะเชื่อม และกระจายทรัพยากรพวกนี้เข้าไปให้เขา เราต้องสร้างชาติขึ้นมาร่วมกัน เราไม่ต้องการเห็นบริษัทใหญ่ๆ สร้างชาติเท่านั้น แต่เราอยากเห็นบริษัทใหญ่ๆ ร่วมกับคนเล็กๆ สร้างชาติขึ้นมา"
ดร.วิชัย สะท้อนว่า ไม่มีอะไรที่มองแยกส่วนออกจากกันได้ ทุกวันนี้รัฐบาลหรือส่วนราชการไทยมองทุกอย่างแยกส่วนกัน ซึ่งจริงๆ แล้วแยกกันไม่ได้เลย
"ภาคการคลัง ภาคการเงิน ภาคอุตสาหกรรม ทุกอย่างมีระเบียบเป็นของตัวเอง และทุกอย่างไม่เคยจับมารวมกัน เราต้องเขย่าใหม่ เพราะทุกอย่างออกมาติดกฎระเบียบตรงนี้มากมาย"
ถ้าในทาง Techical ที่มองต่อ คือ พวกนี้ต้องปฏิรูปให้หมด ขับเคลื่อนเงินเข้าไปสู่คนตัวเล็กๆ ให้มากขึ้น แต่ต้องคุมพวกเขา เพราะคนตัวเล็กๆ ไม่เคยทำธุรกิจ ต้องคอยดู คอยสอนเขา ทำยังไงให้ธุรกิจของเขาไปได้ แล้วพวกนี้จะไปสร้างองค์รวมทั้งหมดของเศรษฐกิจได้.
...
ข่าวน่าสนใจ:
- ยิ่งเสี่ยง ยิ่งอยากลอง ลงทุน "บิตคอยน์" ดีกว่าทองคำ?
- I Care a Lot จากหนังสู่ความจริง กับกฎหมายทรัสต์ ช่วยดูแลเงินคนสูงอายุ
- เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจของคนเป็น "กิ๊ก" ในวันที่ "เอสเอ็มอี" เจ็บจนเจ็ง?
- แกะรอยอวสาน "ผ่าพิภพไททัน" จุดพีคดำมืด หรือ "เอเรน" คือบทสรุป
- วิกฤติ "คอนเทนเนอร์" ส่อยืดเยื้อถึงกลางปี สุดท้าย "ผู้บริโภค" รับภาระ