จากกรณี พบผู้เสียชีวิตรายแรกหลังเข้ารับฉีดวัคซีนโควิด-19 และล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดแถลงข่าวชี้แจงไปแล้วว่า การเสียชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่ผู้ป่วยคนดังกล่าวมีโรคประจำตัว คือ โรคหลอดเลือดในช่องท้องโป่งพอง

เพื่อให้ความกระจ่างเกี่ยวกับโรคดังกล่าว ที่เปรียบเสมือน “ระเบิดเวลา” ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ทำให้คนเสียชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว ทีมข่าวจึงต่อสายตรงพูดคุยกับ รศ.(พิเศษ) ทวี โชติพิทยสุนนท์ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เพื่อทำความเข้าใจ...

“ผมขอยืนยันเลยนะครับว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่เป็นการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดแดงในช่องท้องโป่งพอง” รศ.(พิเศษ) ทวี กล่าวยืนยัน ก่อนจะกล่าวเพิ่มเติมต่อไปว่า...

“สิ่งที่ผมอยากทำความเข้าใจในประเด็นนี้ คือ ประเทศของเรามีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากพิษภัยของโรคร้ายต่างๆ ในเกือบทุกๆ วัน และกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด เพียงแต่ที่อาจจะทำให้เกิดความไม่สบายใจกันอยู่บ้าง ก็เพราะเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ทำให้ต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไปว่า วัคซีนโควิด-19 ที่นำมาฉีดให้คนไทยนั้น มีความปลอดภัยแน่นอน”

รศ.(พิเศษ) ทวี โชติพิทยสุนนท์
รศ.(พิเศษ) ทวี โชติพิทยสุนนท์

...

โรคหลอดเลือดในช่องท้องโป่งพอง คืออะไร?

อาจารย์หมอทวี อธิบาย ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เบื้องต้นอยากให้ทุกคน นึกภาพก่อนว่า หลอดเลือดแดงในร่างกาย เปรียบเสมือน “ท่อน้ำประปาหลัก” ที่ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งโดยปกติ หลอดเลือดแดง จะมีลักษณะเป็นท่อเรียบๆ แต่สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ หลอดเลือดแดง ผนังของท่อจะมีความผิดปกติ โดยจะมีลักษณะโป่งพองออกมาก โดยตอนแรกๆ อาจจะโป่งน้อยหน่อย แต่พอนานวันเข้า มันจะค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้นๆ เพราะ เลือด ที่ไหลผ่านมันจะไปดันอยู่ตลอดเวลา

“วิธีสังเกตง่ายๆ ว่า หลอดเลือดแดง แตกต่างจาก หลอดเลือดดำอย่างไร ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ เวลาที่เราถูกมีดบาด เลือดมันจะค่อยๆ ไหล เพราะมันเป็นหลอดเลือดดำ แต่สำหรับกรณี หลอดเลือดแดง เลือดมันจะไหลโกรกออกมาเหมือนน้ำ เพราะมันจะถูกดันออกมาตามจังหวะการเต้นของหัวใจ”

สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดโป่งพองนั้น ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หรือหากจะแสดงอาการให้เห็นอยู่บ้าง ก็เช่น จุกเสียด แน่นหน้าอกที่มักจะเป็นๆ หายๆ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าร่างกายของตัวเองกำลังผิดปกติ

โดยวิธีที่จะทำให้รู้ได้ว่า ตัวเองป่วยเป็นโรคหลอดเลือดโป่งพองหรือไม่นั้น มีวิธีเดียว คือ ต้องเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เช่น การเอกซเรย์แบบฉีดสี หรือไม่ก็ ซีทีสแกน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง

อันดับที่ 1 คือ อายุมาก เฉลี่ยตั้งแต่ 60 ปีเป็นต้นไป หลอดเลือดแดงจะเริ่มเสื่อมลงไปตามวัย ผนังหลอดเลือดเริ่มอ่อนแอลง เมื่ออ่อนแอลง ก็ย่อมทำให้เกิดปัญหาการโป่งพองขึ้น

อันดับที่ 2 คือ โรคหัวใจ

อันดับที่ 3 คือ ไขมันในเลือดสูง เกิดสนิมขึ้นในท่อประปา

อันดับที่ 4 คือ การสูบบุหรี่จัด จนกระทั่งนิโคตินไปเกาะที่เส้นเลือด

อันดับที่ 5 คือ เป็นมาตั้งแต่กำเนิด

สำหรับ การรักษา คุณหมอทวี อธิบายว่า หากเป็นเคสโป่งพองขนาดเล็กๆ ยังไม่แสดงอาการ จะใช้การรักษาแบบลดความเสี่ยงและเฝ้าดูอาการใกล้ชิด เช่น การดูแลเรื่องหัวใจ ความดัน และไขมันในเส้นเลือดเป็นหลัก

ส่วนกรณีที่มีอาการโป่งพองขนาดใหญ่ และแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า มีโอกาสเสี่ยงที่จะแตก จะต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัด โดยการใส่หลอดเลือดเทียมเข้าไป