มีสุภาษิตจีนกล่าวว่า “การได้ช่วยชีวิตคน...ดีกว่า สร้างเจดีย์ 7 ชั้น” แต่สำหรับการบริจาคอวัยวะ อาจช่วยคนได้มากถึง 8 คนทีเดียว

คำกล่าวข้างต้น ถือเป็นสิ่งที่สภากาชาดพยายามจะสื่อสารไปยังประชาชนให้รับทราบ ถึงแม้ที่ผ่านมา คนไทยจะมีความเชื่อที่หลากหลายในเรื่องการตาย

เมื่อเร็วๆ นี้ อส.ทพ.สกล ปัญญา สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายกราดยิงใส่หน้าฐานปฏิบัติการ บ.ไอร์กือเนาะ ม.5 ต.ศรีบรรพต อ.ศรีบรรพต จ.นราธิวาส แต่ด้วยจิตเป็นกุศล ของ อส.ทพ.สกล ที่ได้ทำการบริจาคอวัยวะไว้ก่อนหน้านี้ จึงทำให้สามารถนำอวัยวะไปให้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ และโรคดวงตา รวมทั้งสิ้น 6 ราย เชื่อว่าผู้ที่ได้รับการบริจาคจะไม่ลืมชื่อของชายชาติทหารคนนี้ไปตลอดชีวิต

ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/armyprcenter
ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/armyprcenter

...

“ทัศนคติการบริจาคอวัยวะของคนไทยดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนนี้มากนะครับ!” รศ.นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวกับผู้เขียน ก่อนอธิบายต่อว่า

“ปัจจุบันนี้ คนไทยส่วนหนึ่งที่ความเชื่อฝังใจว่า หากบริจาคอวัยวะเอาไว้ก่อนที่ตัวเองจะเสียชีวิต เท่ากับเป็นการแช่งตัวเอง หรือ การบริจาคอวัยวะจะทำให้เกิดมาชาติหน้า มีอวัยวะไม่ครบ ซึ่งตอนนี้ความเชื่อเริ่มลดน้อยถอยลงไปมากแล้ว”

รองผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สถิติผู้บริจาคอวัยวะ ตั้งแต่เปิดศูนย์เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 1,277,173 คน คิดเป็น 1.9% ของจำนวนประชากรไทย หรือเท่ากับทุกๆ 100 คน จะมีผู้บริจาคอวัยวะ 2 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดี สัดส่วนดังกล่าว หากนำไปเทียบกับนานาประเทศโดยเฉพาะยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ต้องยอมรับว่า ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ เพราะประเทศเหล่านั้น สัดส่วนของผู้บริจาคจะอยู่ที่ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรเลยก็ว่าได้...

อาจารย์หมอบอกกับผู้เขียนอย่างมีความหวัง และอยากจะเห็นคนไทยบริจาคอวัยเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้วกลับลดลงเพราะปัญหา Covid-19

Covid-19 กับความไม่มั่นใจ ที่จะบริจาคอวัยวะ

รศ.นพ.สุภนิติ์ กล่าวต่อว่า สถิติของผู้บริจาคอวัยวะตลอดปี 2563 อยู่ที่ 126,440 คน ส่วนในปี 2564 ล่าสุด ผ่านไปเกือบ 3 เดือน มีผู้ยื่นความจำนงจะขอบริจาคอวัยวะแล้ว 28,099 คน

“ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่เกิดปัญหาการแพร่ระบาด Covid-19 เมื่อปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ตัวเลขผู้ให้ความสนใจบริจาคอวัยวะลดลง จากปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น การ Lockdown หรือ การที่โรงพยาบาลต่างๆ ที่ปลูกถ่ายอวัยวะเกิดความไม่มั่นใจว่า หากทำการผ่าตัดไปแล้วจะทำให้คนไข้ติดเชื้อ Covid-19 ขึ้นมาหรือเปล่า ซึ่งปีที่แล้วหากจำไม่ผิด มีอยู่ประมาณ 1-2 เดือน ที่ รพ.บางแห่ง ถึงกับของดการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะในกรณีที่ไม่เร่งด่วนไปเลย และในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ถึงกับไม่มีผู้บริจาคอวัยวะเลยสักคนเดียว”

รศ.นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
รศ.นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

...

ปีนี้ ตัวเลขผู้บริจาคเริ่มดีขึ้น เพราะปัจจุบันคนทั่วๆ ไปเริ่มเรียนรู้การป้องกันการติดต่อโรค Covid-19 มากขึ้น อีกทั้งในทางการแพทย์เอง ก็มีข้อมูลมากพอแล้วว่า กรณีการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะนั้น จะไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ Covid-19 ได้ง่ายดายนัก รวมถึง ยังมีมาตรการคัดกรองผู้บริจาคที่มีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

เมื่อถามว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐบาลและเอกชน ที่มีศักยภาพมากพอในการรองรับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ มีมากน้อยเพียงใด อาจารย์หมอตอบว่ามีประมาณ 46 แห่ง โดยแบ่งเป็น ดังนี้

1.กรณีผ่าตัดปลูกถ่าย ไต เพียงอย่างเดียว มี 31 แห่ง
2.กรณีผ่าตัดปลูกถ่าย ตับ มี 10 แห่ง
3.กรณีผ่าตัดปลูกถ่าย หัวใจ มี 5 แห่ง

สำหรับสถิติผู้ป่วยที่รอการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศไทย ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 5,735 คน โดยแบ่งเป็น

อันดับที่ 1 คือ ผู้ป่วยโรคไต 5,463 คน
อันดับที่ 2 คือ ผู้ป่วยโรคตับ 213 คน
อันดับที่ 3 คือ ผู้ป่วยโรคหัวใจ 25 คน

ขั้นตอนการบริจาคอวัยวะ  

...

นอกจากนี้ อาจารย์หมอได้อธิบายถึงขั้นตอนการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งสิ่งสำคัญลำดับแรกคือ เมื่อผู้บริจาคอยู่ในภาวะสมองตาย แต่หัวใจยังสามารถสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจพยุงชีวิตในวาระสุดท้าย หรือ ที่เรียกว่า “ภาวะเบาจืด” นั้น

สำหรับกรณีที่เป็นผู้ใหญ่ จะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกประมาณ 72 ชั่วโมง แต่หากเป็นเคสเด็ก บางครั้งอาจจะอยู่ได้นานถึงประมาณ 1 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้นก็เป็นไปได้ ในขณะที่เคสที่ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่สมอง ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ไม่เกิน 1-2 วัน ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ

ขั้นตอนการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เมื่อผ่าตัดนำอวัยวะออกมาได้แล้ว จะใช้น้ำยาถนอมอวัยวะไปไล่เลือดที่ตกค้างอยู่จนหมด ก่อนจะนำไปเก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส และหลังจากนั้น จะมีเวลาเพียงประมาณ 4-5 ชั่วโมง สำหรับเวลาในการขนถ่ายและทำการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะให้กับผู้ป่วยในขั้นตอนสุดท้ายต่อไป

ที่มาของคำว่า 1 ผู้ให้ ช่วยได้ 8 ชีวิต

สำหรับอวัยวะมนุษย์ ที่สามารถบริจาคให้กับผู้ป่วยได้ ประกอบด้วย 1.หัวใจ 2.ปอด 3.ตับ 4.ตับอ่อน 5.กระจกตาทั้ง 2 ข้าง 6.ไตทั้ง 2 ข้าง 7.กระดูก 8.ผิวหนัง 9.หลอดเลือด ซึ่งทั้งหมดนี้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในประเทศไทย สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ทั้งหมดแล้ว

...

สำหรับผู้สนใจบริจาคอวัยวะ ก็สามารถบริจาคออนไลน์ ได้ที่ www.organdonate.in.th หรือจะมาบริจาคด้วยตนเอง ที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ ส่วนที่ต่างจังหวัด บริจาคได้ที่ สำนักเหล่ากาชาดจังหวัด หรือ สำนักงานกิ่งกาชาด ทุกจังหวัด หรือ โรงพยาบาลประจำจังหวัดในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

ผู้เขียน : อาสาม 
กราฟิก : เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์ 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ