ปี 2564 เริ่มดีขึ้น แต่... คนที่เหลืออยู่จะมี "เงิน" ขับเคลื่อนหรือไม่?
ในทางเศรษฐศาสตร์ ถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภค การลงทุน การส่งออก และการใช้จ่ายของภาครัฐ
ถ้าไล่ดูทีละตัวแล้ว... อันแรก "การบริโภค" การจับจ่ายใช้สอยของคน ที่เกิดคำถามตามมาว่า "ยังมีเงินเหลือกันหรือเปล่า?" และคำตอบก็อาจเป็นไปได้ว่า "ก็น่าจะไม่เหลือมากแล้ว!"
นั่นก็เพราะในปี 2563 "ล้ม" กันไปเยอะ "เจ็บ" กันไปเยอะ แถม "หนี้ครัวเรือน" ยังเยอะอีก!
โดยเดือนกันยายน 2563 ไทยมี "หนี้ครัวเรือน" สูงถึง 4.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13.6 ล้านล้านบาท
ประมาณการว่า ในรอบ 12 เดือน "หนี้ครัวเรือน" ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ "จีดีพี" (GDP) ของไทย น่าจะอยู่ที่ประมาณ 75% และมีแนวโน้มว่า ในปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 77%
ขณะที่ ทุนสำรองระหว่างประเทศ เดือนธันวาคม 2563 ประเมินว่าอยู่ที่ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.7 ล้านล้านบาท และสินเชื่อภายในประเทศก็สูงถึง 7.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 23 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.4% YoY
...
นั่นสะท้อน "คำตอบ" ได้พอสมควรว่า "กำลังซื้อในปี 2564 จะมีหรือไม่?"
ซึ่งอาจจะ "มี" แต่ก็คงไม่เยอะ...
อันที่ 2 "การลงทุน" ที่ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ การลงทุนในประเทศจากภาครัฐและเอกชน
สำหรับ "การลงทุนภาคเอกชน" นั้น ล้อไปกับ "การบริโภค" ของผู้บริโภค ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของผู้บริโภคว่าเพียงพอแค่ไหน และถึงแม้ภาคเอกชนมีเงิน แต่ยามนี้ก็ไม่มีกำลังที่จะกล้าลงทุนมากนัก เพราะลงทุนไปแล้วอาจไม่ได้กลับคืนมา
ในส่วนการลงทุนทั่วโลกขณะนี้เป็นไปในรูปแบบที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ใส่เงินเข้าไป ใครมีเงินเท่าไรก็ใส่เข้าไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนั่นก็อาจเป็นอานิสงส์ที่จะทำให้ "กำลังซื้อ" เพิ่มขึ้นในตลาดต่างๆ และก็คาดว่าจะ "ส่งออก" ไปได้มากขึ้นด้วย
แน่นอนว่า ปี 2564 "ส่งออก" ดีแน่ๆ ดีกว่าปี 2563!
กลับมาเป็นบวก กลับมาทำรายได้ 70% ของรายได้โดยรวมของทั้งประเทศอีกครั้ง
ย้อนดูตัวเลขมูลค่าการค้าไทย ปี 2563
- ส่งออก: 7.2 ล้านล้านบาท
- นำเข้า: 6.5 ล้านล้านบาท
- เกินดุลการค้า: 6.8 แสนล้านบาท
ขณะที่ ตัวเลขมูลค่าการค้าไทย ปี 2564 ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์
- ส่งออก: 1.19 ล้านล้านบาท
- นำเข้า: 1.21 ล้านล้านบาท
- ขาดดุลการค้า: 2.31 หมื่นล้านบาท
สำหรับการคาดการณ์ปี 2564 ของรัฐบาล มองว่า การขนส่งสินค้าทางเรือขาออกจะเพิ่มขึ้น 4% โดยมีแรงหนุนความต้องการซื้อจากต่างประเทศ ขณะที่ ปี 2563 การส่งออกลดลง 6.01% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่รัฐบาลมองภาพไว้ว่าจะลดลง 6-7%
ทีนี้...พอเอ่ยถึง "การส่งออก" เราก็ต้องไปดูประเทศอื่นๆ ที่เขาก็ส่งออกเหมือนกัน ซึ่งคู่แข่งสำคัญของไทยขณะนี้ หลายๆ คนก็ให้ความสำคัญกับ "เวียดนาม" มากที่สุด
ย้อนภาพ "การส่งออก" ของ "เวียดนาม" ปี 2563
...
การส่งออกสินค้าของเวียดนาม 7 เดือนแรก ปี 2563 มีมูลค่ารวม 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (2562) โดยการส่งออกของบริษัทภายในประเทศเรียกได้ว่า เติบโตอย่างแข็งแกร่งทีเดียว 13.5% มูลค่าสูงถึง 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ การส่งออกของบริษัทที่ลงทุนโดยต่างชาติลดลง 5.7% อยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.96 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจาก "รายได้น้ำมัน"
ประมาณการว่า การส่งออกของเวียดนามในรอบ 12 เดือน จะยืนอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.34 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มว่า ปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.9 แสนล้านบาท
แน่นอนว่า 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง "สหรัฐอเมริกา" และ "จีน" ยังคงเป็นผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่ของเวียดนาม มูลค่าอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% และ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.4% ตามลำดับ
...
ปีที่แล้ว (2563) ก็นั่งกังวล "เวียดนาม" ปีนี้ (2564) ก็ยังต้องกังวลกับ "เวียดนาม"
ทำไม?
"เวียดนามลดต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วย ซึ่งเป็นคู่แข่งของไทยที่ถูกกว่า แม้เวียดนามต้องเจอค่าขนส่งที่แพงเหมือนกันกับไทย แต่ต้นทุนเดิมในการผลิตเขาถูกกว่า"
จากที่ว่านั้น ถามว่า "แล้วไทยต้องปรับตัวอย่างไร?"
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตอบเสียงหนักแน่นว่า "ไทยต้องเซตซีโร่!"
"ไทยต้องกลับมาเซตซีโร่โครงสร้างการผลิต อย่าลืมว่านี่เป็นปัญหาเดิมๆ ของภาคการเกษตรไทย ซึ่งปัญหาหลักในขณะนี้ คือ 1.ต้นทุนการผลิตสูง เมื่อเทียบกับเวียดนามหรือคู่แข่งอื่นๆ และ 2.ประสิทธิภาพในการผลิต ศักยภาพการผลิตต่อไร่อย่างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน"
นั่นคือ ปัญหาเดิมๆ ของไทย!
แต่เรื่องที่เข้ามาใหม่ คือ "นวัตกรรมเกษตร 4.0"
...
โดย ดร.อัทธ์ มองว่า นับจากนี้...ต้องแข่งขันกันในเรื่องของการมีนวัตกรรม การดีไซน์ การออกแบบ ฉะนั้นก็จะโยงไปเรื่องของ "อุตสาหกรรม" ซึ่งอุตสาหกรรมที่เป็นของไทยจริงๆ คือ "เกษตรแปรรูป"
ที่ปรากฏตัวเลขการส่งออกในปี 2563 คร่าวๆ ดังนี้
- อาหารทะเลแปรรูป : 1.6 แสนตัน มูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท (+5.58%)
- ผลไม้แปรรูป : 2.7 แสนตัน มูลค่า 2.02 หมื่นล้านบาท (-1.71%)
"ขณะนี้ ภาคเกษตรไทยแฮปปี้เฉพาะขายวัตถุดิบ เพราะเรามีสินค้าเกษตรเยอะ แต่เราจะต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการและเอสเอ็มอี (SME) ที่เป็นของไทยจริงๆ หันไปให้ความสนใจในเรื่องของการแปรรูปที่มีนวัตกรรม 4.0 เข้าไปด้วย เช่น การดีไซน์ การออกแบบ และสำคัญที่สุด คือ งานวิจัยต้องใส่เข้าไป ทั้งภาคการเกษตรและการแปรรูป"
ดร.อัทธ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า กรณี "กัญชง" ที่มีการพูดถึงการสร้างมูลค่าแสนล้าน ซึ่งทั้งโลกมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านกว่า ถ้าอยากให้ "กัญชง" เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สิ่งสำคัญที่สุด คือ กัญชงและสินค้าเกษตรต้องทำ "สารสกัด" ออกมาให้ได้!
"เรามีผลไม้เยอะมากๆ ปีๆ หนึ่งเราทิ้งเปลือกทุเรียน ทิ้งเปลือกมังคุด ทิ้งเปลือกกล้วย ทิ้งทั้งหมดไปโดยปริยาย ถ้าเราทำ R&D เข้าไปในการทำสารสกัด เราจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกเยอะ หากถามว่า ไทยทำสารสกัดไหม? คำตอบคือ ทำ! แต่เราทำแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน แล้วขณะเดียวกัน เราเอาสารสกัดมาจากไหน? เราส่งออกทั้งสินค้าเกษตรและสมุนไพรไปต่างประเทศ แล้วให้ต่างประเทศทำสารสกัดมา ส่งกลับมาไทยเพื่อที่จะทำส่วนผสม ทั้งอาหาร อาหารเสริม เครื่องสำอาง นี่คือ การเซตซีโร่ใหม่ของภาคการผลิต"
ส่วน "ภาคบริการ" หากสังเกตภาพรอบๆ ตัว ก็พอจะตอบได้ว่า ในวันนี้...เราต้องให้ความสำคัญกับ "สิ่งแวดล้อม" มากขึ้น!
หมายความว่า ขายภาคบริการแล้วก็ต้องขายสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งนี่เป็น "เทรนด์ของโลก!"
นับจากนี้ เทรนด์ของโลกจะมีทั้ง Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ), Stop Plastic (งดใช้พลาสติก) รวมถึงการปล่อยของเสียลงสู่ทะเล ลงลำธารต่างๆ ซึ่งต้องจับตากรณีนี้ให้ดี ต่อไป "จีน" จะพัฒนาขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลก
โดยนับตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมา จีนแซงหน้าสหรัฐฯ เป็นผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ที่สุดในโลก แต่แล้วพลเมืองจีนก็เริ่มประสบกับภาวะการเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม ทางรัฐบาลจีนจึงงัดเครื่องมือเชิงนโยบายมาแก้ปัญหา เช่น แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 รวมถึงตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเอาจริงเอาจังให้ได้ 22% ภายในปี 2563 และ 40% ภายในปี 2568
เมื่อ "จีน" ให้ความสำคัญกับความกังวล Climate Change
ดร.อัทธ์ ไล่เรียงภาพว่า วันนี้หากมองไปที่ท้องถนนในจีน ไม่มีควันแล้ว เป็นรถไฟฟ้าหมด ทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้า แท็กซี่ไฟฟ้า เพราะฉะนั้น จีนพร้อมขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลก ภาพจำแบบเดิมๆ จะไม่มีอีกแล้ว เขากำลังขยับเป็นเบอร์ 1 ของโลก ไม่เกิน 10 ปี เผลอๆ ไม่เกิน 5 ปีนี้
สรุปคือ ไทยต้องปรับโครงสร้างเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ
แน่นอนว่า ไม่ควรรอให้วิกฤติโควิด-19 จบ แล้วค่อยทำ แต่ควรทำเลย...อย่ารอฟื้นทีหลัง!.
ข่าวน่าสนใจ :
- "โจ ไบเดน" รักษ์โลก กีดกันการค้าทางอ้อม งานนี้ "ส่งออกไทย" มีหนาว!
- เมื่อ "ไบเดน" จะเปลี่ยน "อเมริกา" แล้ว "ไทย" เปลี่ยนบ้างได้ไหม?
- โควิด-19 ปฏิวัติโลจิสติกส์ ช้าตกขอบ กรณีศึกษา "ไช่เหนี่ยว"
- ธุรกิจ "โต๊ะจีน" ล่มสลาย! เดลิเวอรี่หาใช่ทางออก รัฐไม่ช่วย ดีแต่เก็บภาษี
- เสียงจาก "ภูเก็ต" จังหวัดแสนล้าน Phuket First October ฟื้นด้วยความหวัง
ข้อมูลอ้างอิง :
- Thailand Household Debt: % of GDP by CEIC
- Thailand Household Debt to GDP & Thailand Exports by Trading Economics
- มูลค่าการส่งออก นำเข้า และดุลการค้าของไทย ปี 2563-2564 (มกราคม-กุมภาพันธ์) & สินค้าส่งออกสำคัญของไทยตามโครงสร้างสินค้าส่งออก (ทั่วโลก) ปี 2563 โดยการค้าไทย
- Climate Change in China - Statistics & Facts by Statista