กลับมาเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง สำหรับ ประเด็นเรื่อง “กระสุนยาง” หลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนนำมาใช้สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา

การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะถือเป็นหลักสากล ตามกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) โดยประเทศไทยลงนามรับรองเมื่อปี 2539

แต่...หากการชุมนุมนั้น มีการใช้อาวุธหรือความรุนแรง สิ่งที่ต้องพิจารณาตามมา คือ “หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย" ซึ่งรับรองโดยสหประชาชาติ (United Nations) ได้กำหนดไว้ 4 หลักการสำคัญในการใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่ คือ

1.การชุมนุมนั้นต้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.ก่อให้เกิดความรุนแรง
3.หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้ใช้ “กำลัง” เท่าที่จำเป็น
4.ใช้ “อาวุธ” ได้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่านี้ได้ในการระงับเหตุ

...

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่อง “เครื่องมือควบคุมฝูงชน เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 19 วรรคเจ็ด และมาตรา 24 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 นายกรัฐมนตรีจึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

โดยข้อแรก เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ และข้าราชการตำรวจซึ่งได้รับมอบหมายผู้ควบคุมสถานการณ์และผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย อาจเลือกใช้เครื่องควบคุมฝูงชนได้

ซึ่งในประกาศดังกล่าว มีอุปกรณ์ทั้งหมด 48 ชนิด อาทิ หมวกปราบจลาจล หรือหมวกกันกระสุน พร้อมกระบังหน้า โล่ใส หรือ โล่กันกระสุน แก๊สน้ำตาชนิดสเปรย์ สกัดจากพืชหรือธรรมชาติ อุปกรณ์ส่งเสียงรบกวนพิเศษระยะไกลชนิดพกพา เครื่องยิงแก๊สน้ำตาใช้แล้วทิ้ง ฯลฯ รวมไปถึง อาวุธปืนลูกซอง สำหรับยิงกระสุนยาง หรือแก๊สน้ำตา

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยแหล่งข่าวด้านความมั่นคงรายหนึ่ง เปิดเผยว่า “กระสุนยาง” เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1970 ถูกใช้โดยอังกฤษ ที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งมีการประท้วงครั้งใหญ่ ทางอังกฤษจึงเริ่มส่งกำลังทหารเข้าไปควบคุม ซึ่งหนึ่งในอาวุธที่ใช้คือ “กระสุนยาง”

เวลานั้น เขาระบุเหตุผลการใช้ว่าเพื่อไม่ได้ต้องการใช้กระสุนโลหะ เพราะไม่อยากสร้างความอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ประเด็นคือ ความรุนแรงของมันก็ทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากถูกยิงในระยะใกล้ หรือ โดนจุดสำคัญ

สอดคล้องกับข้อมูลของต่างประเทศ ที่ แคโรลิน โรเบิร์ตส์ ศาสตราจารย์ประจำแอฟริกัน-อเมริกันศึกษาและประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล อธิบายความเป็นมาของ "กระสุนยาง" ว่า เริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1880

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์พยายามหาพัฒนาอาวุธที่ไม่ร้ายแรงปราบปรามฝูงชน ต่อมา หลายๆ ประเทศเริ่มดัดแปลงวิธีการควบคุมฝูงชน ด้วยการใช้อาวุธไม่ร้ายแรง เช่น การฉีดน้ำ สุนัข

อย่างไรก็ตาม "กระสุนยาง" ถูกเริ่มใช้จริงครั้งแรกโดยทหารอังกฤษในปี 1970 (พ.ศ. 2513) ในการควบคุมการประท้วงในไอร์แลนด์เหนือ โดยมีผู้เสียชีวิตจากกระสุนยาง 3 ราย ก่อนที่ต่อมาจะมีการเปลี่ยนไปใช้กระสุนพลาสติกที่คาดว่าปลอดภัยกว่าในปี 1975 ทั้งกระสุนยางและพลาสติกถูกออกแบบมาให้ยิงในระยะต่ำกว่าครึ่งตัวล่างหรือพื้น ซึ่งพบว่า ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตนั้นมีร่องรอยการถูกยิงที่ศีรษะ

...

หลายๆ ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ยังคงใช้กระสุนยาง ส่วนใหญ่เพื่อควบคุมสัตว์ การจลาจล และการประท้วง โดยตำรวจฮ่องกงเห็นได้ชัดเจนว่ามีการยิงกระสุนยางตรงไปที่ศีรษะ หรือในชิลี ที่พบการพันแผลที่ดวงตาในบรรดากลุ่มผู้ประท้วง ในเดือนพฤศจิกายน นักศึกษาวัย 21 ปี ถูกยิงกระสุนยางเข้าไปที่ดวงตาทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบัน เขาตาบอดถาวร ซึ่งการประท้วงในเวลานั้น มีชาวชิลี 285 ราย บาดเจ็บสาหัสที่ดวงตาจากการใช้กระสุนยางของตำรวจ

แล้ว "กระสุนยาง" ต้องทำอย่างไรไม่ให้เป็นอันตรายร้ายแรง?

โดยปกติแล้ว กระสุนยางถูกออกแบบมาเพื่อยิงประชาชนในบริเวณช่วงลำตัวล่าง และไม่จ่อยิงไปที่ศีรษะหรือลำตัว

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาที่มีการเผยแพร่เมื่อปี 2017 ในวารสารทางการแพทย์ BMJ Open พบว่า ประชาชนที่ถูกยิงโดยปืนกระสุนยางทั่วโลก มีสัดส่วนการเสียชีวิต 3% และ 15% ของผู้ที่เข้าร่วมทำการศึกษา 1,984 ราย ได้รับบาดเจ็บจนพิการ

รายละเอียดการศึกษาจากประชาชน 1,984 ราย พบว่า
- เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ 53 ราย
- พิการตลอดชีวิต 300 คน
- เสียชีวิตและพิการตลอดชีวิตอันส่งผลจากการถูกยิงที่ศีรษะและคอ แบ่งเป็น เสียชีวิต 49.1% และพิการ 82.6%
- และจากผู้บาดเจ็บ 2,135 ราย ยังคงมีอาการบาดเจ็บอยู่ แบ่งเป็น 71% อาการรุนแรง โดยมักมีอาการบาดเจ็บที่ผิวหนัง

...

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงรายเดิม เผยว่า ในความเป็นจริงในการเผชิญเหตุตรงหน้า ไม่ว่าอะไรก็เป็นอาวุธได้ เช่น ไม้ จอบ เสียม หนังสติ๊ก ที่ดูแล้วไม่ใช่อาวุธแต่นำมาใช้เป็นอาวุธได้ ทุกอย่างหากมีการใช้ผิดวิธีก็สามารถทำให้เกิดอันตรายได้ถึงชีวิตได้เช่นกัน รวมทั้งปืนที่ใช้กระสุนยาง หากยิงที่จุดสำคัญในระยะเผาขนก็ทำให้ตายได้ ฉะนั้น เวลาที่เจ้าหน้าที่จะใช้จึงต้องใช้แบบมีหลักการตามที่ถูกฝึกมา คือ จะไม่ยิงระยะใกล้เกินไป วิถีการยิงจะต้องยิงในระดับเอวลงมา เพราะเป้าหมายในการยิงไม่ได้มุ่งเอาชีวิต

ปัญหาของกระสุนยาง คือ กระสุนยางไม่สามารถเล็งยิงในระยะที่ไกลมากได้ เพราะวิถีกระสุนจะผิดเพี้ยนไม่พุ่งไปตามเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้จึงมีการกำชับว่า เวลาใช้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง..

หลักปฏิบัติสากลของการควบคุมฝูงชนก็ต้องเริ่มจากเบาไปหาหนัก ตามที่หลายฝ่ายรู้กันอยู่แล้ว คือ หลีกเลี่ยงการใช้กำลังโดยไม่จำเป็น เริ่มแรกจะพยายามเจรจา หากเจรจาไม่สำเร็จ ก็เริ่มแสดงกำลัง เจ้าหน้าที่ปรากฎตัวให้เห็น เริ่มมีการเคาะโล่ หากมีการปะทะ หรือเกิดการต่อสู้ก็อาจจะเริ่มใช้เครื่องมือต่างๆ ใช้ การฉีดน้ำ หรือ แม้แต่กระสุนยาง

...

สิ่งที่อยากจะบอกคือ เจ้าหน้าที่พยายามทำจะยึดทฤษฎีการใช้กำลังเป็นหลัก เพราะถือเป็นหลักสิทธิมนุษยชน

สำหรับภาพบางภาพที่มีการเผยแพร่ บางครั้งก็นำมาใช้ตัดสินไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดภาพใบหนึ่ง หรือเกิดหลังจากภาพใบนั้น ไม่รู้เบื้องหลังของเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไร แต่อยากจะบอกว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนถูกสอนมาให้ใช้ความอดทนอดกลั้น ให้ยึดถือหลักการสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกัน เพราะพวกเขาก็มีญาติพี่น้อง เป็นคนไทย บางครั้งอาจจะเกิดในม็อบก็ได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

แหล่งอ้างอิง
https://www.popsci.com/story/health/rubber-bullets-safety-protection/