- สหรัฐฯ เตรียมหยิบ "ภาษีคาร์บอนข้ามแดน" มาพิจารณา เพื่อคุมเข้มสินค้าจากประเทศที่ล้มเหลวในการจัดการสิ่งแวดล้อม
- การเสียชีวิตของชาวอเมริกันจากวิกฤติโควิด-19 มากกว่าจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมกับสงครามเวียดนามเสียอีก
- ปี 2562 ไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศถึง 288.28 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน -4.17 ล้านตัน
ยามหนึ่ง...เราอยู่ในยุคอุตสาหกรรม จนถึงจุดที่ "ฟันเฟือง" หยุดชะงัก เพราะการดิสรัปชันของเทคโนโลยี และวิกฤติทางสาธารณสุขครั้งใหญ่ "โควิด-19" ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกทรุดหนัก มาวันนี้ เทรนด์ฮิตในโลกยุคใหม่กลับมาให้ความสนใจ "สิ่งแวดล้อม" กันมากขึ้น แน่นอนว่า "ใครไหวตัวทัน...คนนั้นรอด!"
หากมองภาพในต่างประเทศ วันนี้มีอยู่เรื่องหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือ นโยบายต่างประเทศของ "โจ ไบเดน" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 46
ซึ่งการเข้ามาของ "ไบเดน" นั้น หลายคนเชื่อว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชนิด 360 องศา ต่างกับชายเลือดร้อน "โดนัลด์ ทรัมป์" อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 แบบ 100%
หากวิเคราะห์นโยบายที่มีการหาเสียงไว้ของ "ไบเดน" ปัจจุบันมีการให้ความสนใจและทำอยู่ 2 เรื่องหลักๆ คือ
1. การจัดการวิกฤติโควิด-19 ที่สหรัฐฯประสบกับการติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากที่สุดในโลก ทั้งในแง่การติดเชื้อและเสียชีวิต โดย ณ วันที่ 20 มีนาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 30,425,787 ราย เสียชีวิต 554,104 ศพ ซึ่งรัฐแคลิฟอร์เนียมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมและเสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุด คือ 3,628,616 ราย และ 56,143 ศพ
...
จากตัวเลขเหล่านั้น รู้ไหมว่า ปัจจุบันจำนวนการเสียชีวิตของชาวอเมริกันจากโควิด-19 มากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมกับสงครามเวียดนามเสียอีก!
2. การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งนี่มีผลกระทบต่อประเทศไทย โดยสิ่งที่จะกระทบชัดเจนที่สุด คือ นโยบายการเจรจาการลงทุนการค้าของ "ไบเดน" ที่จะมีการทำนโยบายแบบพหุพาคีมากขึ้น
หากย้อนวันแรกที่เขารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 มีสิ่งที่ต้องการดำเนินการทันทีอีก 2 เรื่อง คือ 1. การกลับเข้าไปในองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) หลัง "ทรัมป์" ดึงสหรัฐฯออกมา ตัดขาดจากการเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญที่สุดในช่วงกลางของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 หลังจากยื่นต่อเลขาธิการสหประชาชาติเรียบร้อยแล้ว
โดยการถอนตัวออกจาก WHO ในครั้งนั้นของ "ทรัมป์" เกิดขึ้นหลังจากเขาประณาม "รัฐบาลจีน" ว่าไม่ควบคุมการแพร่ระบาดโรคได้ดีพอ อีกทั้งยังกล่าวหาว่า "ปกปิดความจริง" ในส่วนจำนวนการติดเชื้อภายในประเทศ แถมตำหนิ WHO ที่ไม่ยอมดำเนินการสอบสวนการแพร่ระบาดในจีน ชี้ว่านี่เป็นพฤติการณ์ที่ไม่มีความตรงไปตรงมาอย่างที่สุด
ซึ่งแตกต่างจาก "ไบเดน" ที่ต้องการกลับเข้าไปใน WHO อีกครั้ง เพื่อให้สามารถจัดการวิกฤติโควิด-19 ที่ระบาดหนักในสหรัฐฯได้
และ 2. ความตกลงปารีส (Paris Climate Change: COP21) หรือกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Climate Agreement) ซึ่งต้องบอกว่า "ไบเดน" ให้ความสำคัญกับเรื่อง "สิ่งแวดล้อม" มาก
โดยเขาเชื่อว่า Green New Deal หรือนโยบายปกป้องสิ่งแวดล้อม เป็นกรอบที่สำคัญมากสำหรับการหารือความท้าทายทางสภาพภูมิอากาศที่กำลังเผชิญ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังคงคุกคามอยู่อย่างต่อเนื่อง จากเมืองชายฝั่ง สู่ฟาร์มชนบท สู่ศูนย์กลางเมือง ที่ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงสุขภาพ ชุมชน ความมั่นคงแห่งชาติ และสวัสดิภาพเศรษฐกิจ
...
แล้วรู้ไหมว่า จากจำนวนเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 59 ล้านล้านบาท หนึ่งในนั้น "ไบเดน" จะนำไปจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลักด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมีร่างความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ (Climate and Environment Justice) ที่จะสร้างการลงทุนกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 52 ล้านล้านบาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า
เห็นไหมว่า... การมาของ "ไบเดน" ไม่ได้มาแบบเล่นๆ และพลิกจาก "ทรัมป์" หน้ามือเป็นหลังมือ เพราะก่อนหน้านี้ ชายเลือดร้อนที่เคยนั่งเก้าอี้ตัวนั้นแทบจะไม่แตะประเด็นนี้เลย
ฉะนั้น ขอบเขตชัดๆ ที่กระทบไทย คือ "ภาคการผลิต!"
ภาคการผลิตของไทยจะต้องท่องคำว่า BCG ที่ย่อมาจาก Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจที่พูดถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) หมายความว่า ถึงเวลาแล้ว...ที่ไทยต้องปรับตัว!
"ในสมัย 'ทรัมป์' การส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ รวมถึงยุโรป อาจไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่ในวันนี้เปลี่ยนไป... ทางยุโรปบอกแล้วว่าจะเก็บภาษีคาร์บอน"
...
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า อีกไม่นานนัก...นี่จะกลายเป็น "การกีดกันการค้า" ของ "ไบเดน" กับไทย ในสินค้าต่างๆ ที่ไทยผลิต อาจจะต้องติดสติกเกอร์ว่า "คุณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เท่าไร?"
ซึ่งหากใครยังไม่ทราบ เราอยากให้ทราบกันไว้ว่า เฉพาะปี 2560 ภูมิภาคเอเชียปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุด สัดส่วนกว่า 53% ขณะที่ สัดส่วนของไทย คือ 0.9% และจนถึงตอนนี้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สะสมแล้วกว่า 7,150 ล้านตัน
ขอแถมเกร็ดเล็กๆ เพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ปี 2533-2561 รู้ไหมว่า ประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อการบริโภคต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ สปป.ลาว กว่า +2,020% ส่วนไทยเพิ่มขึ้น +94%
"นี่ไม่ได้กีดกัน แต่ขอให้คุณช่วยติดสติกเกอร์ว่า คุณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกเท่าไร โดยไม่จำเป็นต้องบอกว่า เดี๋ยวฉันจะเก็บภาษีคุณ! แต่ใช้การกีดกันทางอ้อม เพราะว่าในเวลานี้ชาวอเมริกันซีเรียสเรื่องนี้มาก"
...
ดร.อัทธ์ ชี้ย้อนกลับไปถึงหนึ่งในเหตุผลที่ "ไบเดน" ได้รับการเลือกตั้งว่า จากผลการสำรวจพบเกือบ 70% มาจากนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกับ "ภาวะโลกร้อน" (Global Warming)
ฉะนั้น หากสินค้าที่ส่งเข้าไปติดสติกเกอร์ที่ระบุว่ามีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ ชาวอเมริกันไม่ซื้อแน่นอน เพราะสินค้าของคุณทำลายสิ่งแวดล้อม ชัดเจนว่านี่เป็นการกีดกันการค้าที่ไม่ต้องออกมาตรการ แต่ถ้าเขาคุมเข้มหนักๆ ก็อาจจะออกเป็นมาตรการเรียกเก็บ "ภาษีคาร์บอน" ทันที
ภาพด้านบน คือ อัตราการจัดเก็บ "ภาษีคาร์บอน" ในบางประเทศของสหภาพยุโรป (EU) โดยปี 2533 "ฟินแลนด์" เป็นประเทศแรกของโลกในการริเริ่ม "ภาษีคาร์บอน" และนับตั้งแต่นั้นมา อีก 16 ประเทศยุโรปก็มีการบังคับใช้ตาม ปัจจุบัน สวีเดนเก็บอัตราภาษีคาร์บอนสูงที่สุด อยู่ที่ 108.81 ยูโรต่อตันของการปล่อยคาร์บอน หรือประมาณ 3,991 บาท และต่ำที่สุด คือ โปแลนด์ 0.09 ยูโร หรือประมาณ 3.30 บาท
แต่สำหรับสหรัฐฯ จากการศึกษาล่าสุดโดยสำนักงบประมาณของสภาคองเกรส (Congressional Budget Office: CBO) แสดงให้เห็นว่า การกำหนด "ภาษีคาร์บอน" ที่ 25% ต่อตันต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสหรัฐฯ และปรับเพิ่มปีละ 2% (คำนวณเงินเฟ้อ) ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะก่อให้เกิดรายได้มากถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 34 ล้านล้านบาท
ซึ่งจากการประเมินความเสียหายของมลพิษก๊าซเรือนกระจกที่มีต่อสังคมของคณะบริหารไบเดน อยู่ที่ 51 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 1,568 บาทต่อตัน และนั่นก็นำไปสู่การพิจารณาทบทวนของกรอบ "ภาษีคาร์บอน" ของคณะบริหารไบเดน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564
หากจำกันได้ เมื่อปี 2560 ที่ "ทรัมป์" ก้าวเท้าเข้าสู่ทำเนียบขาว เขาถูกโจมตีอย่างรุนแรงว่ามี "แนวคิดนอกรีต" ภายใต้นโยบายการค้า "อเมริกาต้องมาก่อน" (America First) กับการ "ขูดรีดภาษี" อย่างหนักหน่วง จนทำให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มสูงขึ้น สร้างความระคายเคืองให้กับบรรดาพันธมิตรการค้าทั่วโลก และเกิดประกายไฟ "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐฯกับจีนในเวลาต่อมา โดยในปี 2562 กระทรวงการคลัง ภายใต้การบริหารของ "ทรัมป์" สร้างรายได้จากการขูดรีดภาษีมากถึง 7.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจาก 2 ปีก่อนหน้า
ในวันนี้ แม้ "ไบเดน" จะยึดถือแคมเปญฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่กระนั้น คณะบริหารของเขาก็กำลังมองหาหนทางในการเริ่มนโยบาย "ขูดรีดภาษี" ในแบบฉบับของตัวเอง และก็เป็นอย่างที่ทุกคนคิด เพราะโลกใบนี้มันร้อนเกินไป... "ภาษีคาร์บอนข้ามแดน" หรือ Border Adjustment จึงถูกหยิบยกมาพิจารณา
"ภาษีคาร์บอนข้ามแดน" ไม่ได้หมายถึงการลอยตามลม แต่หมายถึงการเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่า นั่นย่อมทำให้ราคาสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เพราะครั้งหนึ่ง "ไบเดน" เคยเอื้อนเอ่ยในทำนองว่า เขาจะเรียกเก็บภาษีเพื่อเป็น "ค่าธรรมเนียม" ในส่วนสินค้าจากประเทศต่างๆ "ที่ล้มเหลวในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ"
ยกตัวอย่างเช่น สินค้านำเข้า "เหล็ก" ที่มีมูลค่า 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 18,440 บาท เมื่อเจอ "ภาษีคาร์บอนข้ามแดน" นี้เข้าไป สมมติว่า "ไบเดน" เก็บ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (922 บาท) ราคาก็อาจดีดไปเป็น 660 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 20,285 บาท เพราะการผลิตเหล็ก 1 ตัน เฉลี่ยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 2 ตัน
ทีนี้...การเก็บ "ภาษีคาร์บอนข้ามแดน" ก็อาจสร้างแรงกดดันให้กับผู้นำโลกคนอื่นๆ ในการที่จะลดการปล่อยคาร์บอนลง แง่ดีก็ช่วย "บีบทางอ้อม" ให้เอกชนยักษ์ใหญ่ต่างๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตพลังงานสะอาด (Clean Energy) ไวขึ้น แต่หากมาตรการที่ว่านี้ไม่รัดกุมพอ ก็อาจกลายเป็นประกายไฟสงครามการค้าอื่นๆ ที่จะปะทุเพิ่มได้อีก
อย่างไรก็ตาม ดร.อัทธ์ ก็ยังมองว่า ในส่วนการค้า ไทยจะได้ประโยชน์ในยุค "ไบเดน" มากกว่าของ "ทรัมป์" เพราะในช่วง "ทรัมป์" นั้นไม่สนใจการเจรจาการค้าแบบพหุพาคีระหว่าง 2 ประเทศเลย มีแต่บอกว่า "เธอทำให้ฉันขาดดุลการค้า!" จากนั้นก็ทุบโต๊ะ! เจอภาษีทันที! แต่สำหรับ "ไบเดน" เป็นลักษณะป่าล้อมเมือง คุยกันได้ ไปหารือหลายๆ ประเทศ เป็นสุภาพบุรุษ ฉะนั้นจะมีโอกาสทำการค้าที่มีประโยชน์ร่วมกันมากกว่าสมัย "ทรัมป์" แน่นอน
แต่ขอเตือนว่าอย่านิ่งนอนใจ... เพราะตอนนี้หลายๆ ประเทศก็เริ่มเข้าสู่ระบบเก็บภาษีเช่นนี้แล้ว เช่น สหภาพยุโรป หรือ "อียู" (EU) และในเดือนมิถุนายนนี้ (2564) ก็มีแผนที่จะเรียกเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดนในสินค้านำเข้า หรือที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment โดยนายกรัฐมนตรี "บอริส จอห์นสัน" แห่งสหราชอาณาจักร จะใช้โอกาสในฐานะประธาน G7 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ในการผลักดันเกณฑ์พิกัดภาษีคาร์บอนข้ามแดนในบรรดาสมาชิกอีกด้วย
ส่วนกรณีที่เป็นห่วงว่า "สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะยังมีอยู่ไหม?"
ดร.อัทธ์ เชื่อว่ายังคงอยู่!
เพราะ America First ของ "ทรัมป์" กับ Made in America (ผลิตในอเมริกา) ของ "ไบเดน" ไม่ต่างกัน ถ้าดูรายละเอียดก็คือ การปกป้องธุรกิจของสหรัฐฯจากต่างประเทศเฉกเช่นเดียวกัน ฉะนั้น สงครามการค้ายังอยู่แน่ๆ ตราบใดก็ตามที่สหรัฐฯยังขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ มากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะจีน
โดยทั้งปี 2563 จีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของสหรัฐฯ
- สหรัฐฯ ส่งออกไปจีน 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.8 ล้านล้านบาท)
- สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน 4.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (13 ล้านล้านบาท)
- สหรัฐฯ ขาดดุลจีน 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (9.6 ล้านล้านบาท)
และนอกจากการเป็นพันธมิตรทางการค้าอันดับ 1 ของสหรัฐฯแล้ว จีนยังเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วย โดยปี 2562 มากถึง 10,170 ล้านตัน ที่มีแหล่งที่มาหลักจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาจเกิดกรณีเฉกเช่นเดียวกับครั้ง "สงครามการค้า" ปะทุครั้งแรก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็อาจทำให้ความพยายามในการลดการปล่อยคาร์บอนถูกชะลอ
สุดท้าย...สิ่งที่เราจะต้องตามต่อไป คือ "ไบเดน" ชายที่กุมบังเหียนสหรัฐฯ ณ เวลานี้ เขาจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ "เมียนมา" ในห้วงเวลาที่กำลังให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น
การแทรกซึมเข้าสู่ "เอเชีย" ของเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่?
คงต้องติดตาม...
แต่ "ไทย" เอง...หากสหรัฐฯ งัด "ภาษีคาร์บอนข้ามแดน" มาใช้จริงๆ ก็อยากจะบอกว่า ถ้าไม่รีบปรับตัวตอนนี้ อาจตก "ขบวนรถไฟสีเขียว" ถูก "เพื่อนบ้าน" ข้างๆ ตีตั๋วนำลิ่ว...วิ่งตามทีหลังเหนื่อยกว่าเขาและไม่ทันการ.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Phantira Thongcherd
ข่าวน่าสนใจ:
- ไขปม PM 2.5 พุ่งสีแดง กทม. "มหานครฝุ่นพิษ" แม้ Work from Home
- ย้อนลัทธิ Buy American เมื่อ "ไบเดน" ทำตามสัญญา
- อำนาจในมือ "ไบเดน" เมื่อ "ทรัมป์" อำลา สมรภูมิเกมการค้าจะรุนแรงแค่ไหน?
- เสียงจาก "ภูเก็ต" จังหวัดแสนล้าน Phuket First October ฟื้นด้วยความหวัง
- ขุดสัมพันธ์สหรัฐฯ-เมียนมา "ไบเดน" หลับตาข้างเดียว ทหารไม่แคร์ย้อนสู่ 1962
ข้อมูลอ้างอิง: