ถือเป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง กรณี ทลายเครือข่ายยาเสพติด “กุ๊ก ระยอง” หรือ นายสรกฤช สนธิ์ศิริ เครือข่ายยาเสพติดระดับยักษ์ใหญ่ในพื้นที่ จ.ระยอง ที่ตำรวจได้แกะรอยและตามตัวมาสักระยะ กระทั่งสบโอกาส ได้บุกรวบตัวในที่สุด พร้อมของกลางยาบ้า 2.2 แสนเม็ด ยาเค ยาอี อีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังตามอายัดทรัพย์สินมากมาย มูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาท
แต่ประเด็นคือ 1 ในของกลางทั้งหมด กลับมีเจ้าเหมียวอีก 6 ตัว ที่ถูกเลี้ยงอยู่ในกรงหลังบ้านของภรรยาของ “กุ๊ก ระยอง” โดยในเบื้องต้น พล.ต.ท.ชินภัทร สารสิน ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้กล่าวตอนหนึ่งในช่วงที่แถลงข่าวว่า เบื้องต้นจะให้กรมปศุสัตว์ระยองมาตรวจสอบ และยึดอายัดแมวทั้ง 6 ตัว ไว้ตรวจสอบก่อนจะให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ขายทอดตลาดต่อไป ซึ่งต้องทำโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่มีชีวิตและมีภาระค่าใช้จ่ายหากต้องเก็บไว้ดูแล
ต่อมา (16 มี.ค.) มีรายงานว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้นำแมวไปฝากไว้กับญาติของผู้ต้องหา แต่ไม่มีใครรับแมวดังกล่าว จึงได้ฝากไว้ที่ นายปรากร แวววับศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 แต่เนื่องจากสถานที่ไม่พร้อม จึงนำไปฝากไว้ที่บ้าน นางภัทรภร อินแก้ว อายุ 57 ปี เลขที่ 61/2 ต.ทางเกวียน อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นคนรักแมว นอกจากนี้ ยังมีคนรักแมวแห่มาขอดู เพราะหากขายทอดตลาดจริงอาจจะมีการแข่งขันประมูล
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจ ได้ตรวจสอบ ระเบียบการตำรวจฯ เกี่ยวกับ “ของกลาง” ระบุว่า
คำว่า “ของกลาง” นั้นหมายความว่า วัตถุใดๆ หรือทรัพย์สินซึ่งตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าพนักงานโดยอำนาจแห่งกฎหมาย หรือโดยหน้าที่ในทางราชการ และยึดไว้เป็นของกลาง เพื่อพิสูจน์ในทางคดี หรือเพื่อจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการ
1. ของกลางในคดีอาญา คือ สิ่งของที่เกี่ยวข้องจัดการทางคดีอาญา เช่น สิ่งของที่บุคคลมีไว้เป็นความผิด หรือสิ่งของที่ใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิด
2. ของกลางอย่างอื่น คือ ของกลางที่ไม่เข้าอยู่ในลักษณะของกลางในคดีอาญา เช่น ของที่เก็บตก หล่น หลุด ลอยได้ เป็นต้น
ส่วนผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการรักษาของกลาง ได้แก่
1. ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
2. ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้บังคับกอง หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอ หรือ กิ่งอำเภอ
3. สรรพาสามิตจังหวัด
4.นายด่านศุลกากร หรือ ศุลกากรจังหวัด เป็นต้น
ส่วนการเก็บรักษาของกลางในเขตตำรวจนครบาลให้เป็นหน้าที่ของสารวัตร หรือผู้รักษาการแทนเป็นผู้เก็บรักษาของกลาง เว้นแต่
1.ของกลางในคดีอาญานี้ มีข้อโต้เถียงถึงตำหนิรูปพรรณ หรือตามรูปคดี ที่ศาลจะนำพิจารณาเรื่อง ๆ ไป และของกลางไม่ใช่ของมากใหญ่โตหรือเป็นปศุสัตว์หรือสัตว์พาหนะ เมื่อพนักงานอัยการขอให้ส่งของกลางนั้น ก็ให้สารวัตรหรือผู้รักษาการแทนเป็นผู้จัดการส่ง
2. ของกลางในคดีอาญาซึ่งเกี่ยวแก่กรมใด กระทรวงใด มีระเบียบหรือข้อตกลงไว้โดยเฉพาะ เช่น เรือ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ฝิ่น สุรา ยาสูบ ไม้ ยาเสพติดให้โทษ น้ำมันเบนซิน หรือของกลางในการกระทำผิดพระราชบัญญัติศุลกากร ฯลฯ ก็ให้ไปตามระเบียบ หรือข้อตกลงนั้นๆ
ส่วนของกลางที่ศาลเป็นผู้เก็บรักษานั้น เมื่อศาลเห็นว่าหมดความจำเป็นที่จะเก็บรักษาไว้ต่อไป ศาลจะแจ้งให้พนักงานอัยการ แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปรับของกลางมาเก็บรักษา ก็ให้สารวัตรหรือผู้รักษาการแทนที่ส่งของกลางไป จัดการกลับมาเก็บรักษาไว้ต่อไป เมื่อคดีถึงที่สุดศาลสั่ง หรือพิพากษาเกี่ยวกับของกลางนั้นอย่างไรให้สารวัตรหรือผู้รักษาการแทนจัดการตามคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลต่อไป คือ
1. ถ้าของกลางยึดไว้ที่สถานีตำรวจ ก็ให้สารวัตรหรือผู้รักษาการแทน จัดการขายทอดตลาด หรือ ส่งคืนให้แก่ผู้มีสิทธิ์รับคืนไป ตามคำพิพากษานั้นๆ ในเวลาอันควร
2. ถ้าของกลางนั้นศาลสั่งคืนเจ้าของ ให้สารวัตรหรือผู้รักษาการแทนจัดการติดต่อนำเจ้าของไปขอรับจากศาล หรือไปรับจากศาลเอง แล้วลงบัญชีกับรายงานประจำวัน ให้เจ้าของลงนามรับไปก็ได้ เว้นไว้แต่ของกลางนั้นเจ้าของไปรับคืนจากศาลเอง
ถ้าศาลไม่ได้สั่งการเกี่ยวแก่ของกลาง ก็ให้ผู้รักษาติดต่อกับพนักงานอัยการผู้ว่าคดีนั้น ยื่นคำร้องขอคำสั่งศาลเกี่ยวกับของกลางนั้นต่อไป ถ้าศาลสั่งว่าของกลางนั้นเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินการ ก็พิจารณาดำเนินการไปตามความเหมาะสมได้
...
ขณะที่ของกลางสิ่งใดที่จะขายทอดตลาด ถ้าเห็นว่าของกลางนั้นเป็นประโยชน์ใช้ในราชการตำรวจได้ ให้สารวัตรหรือผู้รักษาการแทน รายงานเสนอเหตุผลไปยังผู้บังคับการหรือผู้รักษาการแทน เป็นผู้พิจารณาสั่งก่อนขายทอดตลาด
สำหรับ การขายทอดตลาดของกลาง ให้ตั้งกรรมการประกอบด้วย สารวัตรหรือผู้รักษาการแทน เป็นประธาน มีตำรวจชั้นสัญญาบัตร 1 นาย ชั้นประทวน 1 นาย เป็นกรรมการพิจารณาขาย ให้ได้ราคาใกล้ชิดกับท้องตลาดในขณะนั้น
แหล่งข่าวจาก ป.ป.ส. เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ที่ผ่านมา แทบไม่เคยเจอว่าตำรวจยึด “แมว” เป็นของกลางมาก่อน แต่เบื้องต้น การยึดของกลางจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1.คือ ยึดทรัพย์สินจากการกระทำผิด กับ 2. คือยึดไว้เพื่อตรวจสอบ
กรณีเจ้าเหมียว 6 ตัวที่ว่า น่าจะเข้าข่ายในข้อที่ 2 คือ ยึดเพื่อตรวจสอบ ที่ผ่านมา ของกลางที่เป็นสิ่งมีชีวิตส่วนมากจะเป็น “วัว-ควาย” ก็จะให้กรมปศุสัตว์ไปเก็บรักษาเอาไว้ หรือหากบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีกรมปศุสัตว์ก็จะให้ทางอำเภอช่วยดูแล ตามอำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนั้นร้องขอ หรือ อีกวิธีหนึ่งก็คือ อาจจะฝากไว้กับญาติของผู้ต้องหา จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
...
ในเบื้องต้นไม่รู้ว่า “ชะตา” ของเจ้าเหมียวทั้ง 6 ตัว จะเป็นอย่างไร เพราะต้องรอ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดำเนินการซึ่งจะขายทอดตลาดจริงหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่น่าสนใจ