• ปีนี้ (2564) โลกการค้าขายจะอยู่แค่ "ออนไลน์" หรือ "ออฟไลน์" อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้แล้ว ต้องทำคู่กัน
  • กลยุทธ์ KOL เป็น "คีย์" ที่จะทำให้คนเลือกหยิบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของคุณที่ปะปนอยู่ในทะเลการค้าได้
  • แค่เข้ามาขายออนไลน์ ไม่ได้หมายความว่าคุณทำสำเร็จแล้ว แต่ต้องเข้าใจและใช้ฟังก์ชันนั้นให้เป็น

การค้าขายในยุคนี้ หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "กว่าจะขายได้สักชิ้นนั้นแสนยาก" ยิ่งพอเจอวิกฤติโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้การค้าขายยิ่งยากขึ้น ถูกบีบให้ลงไปสนามการแข่งขันโดยไม่รู้ตัว ชนิดที่ว่าปรับตัวกันไม่ทัน คู่แข่งเยอะแยะเต็มไปหมด เสมือน "เรือสินค้า" ที่ลอยอยู่กลางทะเล

นั่นจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับ "พ่อค้า แม่ค้า และนักธุรกิจ" ทั้งหลายว่า เราควรจะทำอย่างไร... "ผู้บริโภค" ถึงจะเลือก "สินค้า" ของเราท่ามกลางทะเลที่มี "เรือขายสินค้า" เหมือนกันมากมาย

แน่นอนว่า สำหรับ Thailand Vision 2021 นี้ การจะใช้วิธีมุ่งสู่ "ทะเลออนไลน์" แบบไร้ทิศทาง ย่อมไม่อาจประสบความสำเร็จได้โดยง่าย

แต่ถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ส่วนจะทำอย่างไรนั้น... เรามีมุมมองและกลยุทธ์ที่น่าสนใจจากผู้มากประสบการณ์ในด้านอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) และธุรกิจระหว่างประเทศ "เกรียงศักดิ์ วรกุลดำรง" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทัช จำกัด (eTouch Co., Ltd.)

ซึ่งขอเกริ่นเบื้องต้นเลยว่า การค้าขายในยุคนี้เปลี่ยนไปแล้ว และ "ไม่จำเป็นต้องจ้างดารา" อีกต่อไป!!

...

"หลายๆ ปีที่ผ่านมา การซื้อของออนไลน์มีแพลตฟอร์มต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการมีรายได้เสริมเข้ามา แต่ยังไม่โตเท่าที่ควร ซึ่งพอเกิดโควิด-19 ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมาก จากสถิติของ Google เมื่อปีที่แล้ว มูลค่าอยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.54 แสนล้านบาท) ขึ้นมาเป็น 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.76 แสนล้านบาท)"

"เกรียงศักดิ์" ย้อนความในส่วน "อีทัช" ก่อนว่า ก่อนหน้านี้ดูเพียงแค่ผู้ประกอบการ การที่จะไปสู่ตลาดโลก เช่น มิตรผล และโอสถสภา แต่เมื่อมีโควิด-19 เข้ามา พบว่า มีผู้ประกอบการรายย่อย หรือระดับ "ไมโครเอสเอ็มอี" (Micro SME) เข้ามาขอความช่วยเหลือเยอะมาก ซึ่งเราไม่สามารถพาไปตลาดโลกได้ เราเลยหันมาดูในเมืองไทยว่ามี "โอกาส" อะไรบ้าง นั่นจึงทำให้เราเห็น "ช่องทาง" เพราะยังไม่มีผู้ประกอบการเยอะมากพอที่จะทำธุรกิจในโลกออนไลน์

และเพราะการเข้าสู่ "โลกการค้าออนไลน์" มันไม่ได้ทำได้ง่ายนัก จึงเหมือนกับการงมเข็มในมหาสมุทร อีกทั้งคนเข้าใจว่า วิกฤติโควิด-19 ต้องแห่เข้าสู่ "ออนไลน์" การปิดตาย "ออฟไลน์" หรือ "หน้าร้าน" ไปนั้นย่อมดีกว่าแบกภาระค่าใช้จ่าย แต่พอมาปี 2564 จะทำเช่นเดียวกับปี 2563 นั้นไม่ได้แล้ว

งั้นเราจะต้องทำอย่างไร?

"ปีนี้ (2564) มันเป็นการทำกลยุทธ์ที่เรียกว่า Omni Channel คือ เราทำทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ตอนนี้มันอยู่ในช่วงที่คุณต้องทำร่วมกันแล้ว ทำพร้อมกัน ไม่ใช่ว่าคุณจะไม่มีร้านค้าแล้ว ไม่เช่าที่เลย ทำงานที่บ้านอย่างเดียว มันไม่ใช่แล้ว เพราะว่าฟังก์ชันทุกอย่างที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ มันทำให้ยากขึ้นเรื่อยๆ ในการที่ผู้ประกอบการจะขายของ"

"เกรียงศักดิ์" อธิบายเพิ่มเติมว่า วิกฤติโควิด-19 ทุกคนกระโดดเข้ามาเลย พลเมืองประเทศไทย 30-70 ล้านคนเข้ามาออนไลน์หมด ขายเหมือนกัน ทำอะไรเหมือนกัน ผู้บริโภคเองก็ไม่รู้จะซื้ออะไรเหมือนกัน มันก็เกิดปัญหาขึ้นมา เราเลยต้องปรับกลยุทธ์ในเรื่องของ Omni Channel เข้ามา หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า Key Opinion Leader หรือ KOL

"ตอนนี้มีเทรนด์ที่ขึ้นมาใหม่...ที่ไม่ใช่การใช้ "ดารา" ในการโปรโมตสินค้า แต่ "ตัวคุณเอง" ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างหากที่ต้องเป็น "คนกำหนด" ต้องมีวิธีการที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าของคุณ"

สำหรับคนที่มี "ออฟไลน์" แล้วกระโดดเข้า "ทะเลออนไลน์" มาตั้งแต่ปีก่อน "เกรียงศักดิ์" มองว่า กลุ่มเหล่านี้จะเดินหน้าต่อไปได้ แต่คนที่ยังไม่เข้ามา อาจจะเป็นอะไรที่...อาจสูญเสียธุรกิจไปเลยก็ได้

...

แต่ที่สำคัญ ทุกคนต้องคำนึงว่า ผลิตภัณฑ์ที่ขายๆ กันอยู่นี้ มันไม่เหมือนกัน อย่างเช่น การขายเครื่องจักร คุณไม่สามารถนำมาลงขายในแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซได้อยู่แล้ว ซึ่งคุณต้องใช้ "กลยุทธ์" ต้องใช้ "เครื่องมือออนไลน์" โดยเฉพาะการทำการตลาด (Marketing) ให้เขารู้จักโรงงานคุณให้ได้

"ในเรื่องของเครื่องจักรรถยนต์ ทางยุโรปเขารู้อยู่แล้วว่าสินค้าไทยดีที่สุด แต่กลับกลายเป็นว่าต้องไปซื้อสินค้าของจีน นั่นเพราะราคา ทั้งๆ ที่เวลาซื้อมา อายุการใช้งานไม่ได้ดีมาก"

ปัญหาที่ "เกรียงศักดิ์" มองภาพในตอนนี้ คือ การที่ "ผู้ประกอบการไทย" ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเข้ามาออนไลน์ ซึ่งควรที่จะปรับเปลี่ยน เช่น การทำข้อมูลธุรกิจ (Business Information) ที่มีอยู่แล้วให้เข้ามาอยู่ในออนไลน์มากขึ้น จาก Physical Graphic เปลี่ยนมาเป็น Digital Graphic

การที่บอกว่านี่เป็นปี 2564 นี้ ธุรกิจการค้าขายจะถูก Digital Disruption หากว่ากันตามจริง ก็ต้องยอมรับว่า "ดิจิทัล" มัน "ดิสรัปชัน" มาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว ซึ่งตอนนี้มันอยู่ในช่วงของ Business Information หรือ "ข้อมูลธุรกิจ" ต่างกัน

ทำอย่างไร?

"เกรียงศักดิ์" แนะว่า คุณต้องปรับในเรื่องของดิจิทัลให้มากขึ้นแล้ว ทุกธุรกิจเลย ตั้งแต่รายเล็ก รายย่อย ไปจนถึงรายใหญ่ โดยสิ่งที่พวกเขาต้องลงมือทำได้แล้ว คือ การมี "ตัวช่วยออนไลน์" หมายความว่า เขาจะไปฝากขายอยู่หน้าร้านธรรมดาไม่ได้แล้ว บางทีมันไม่ได้ช่วยในการโฆษณาของเขา

...

"ตอนนี้ทุกคนเข้าใจฟังก์ชันการใช้ แต่ยังไม่เข้าใจกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจ คือ ตอนนี้ทุกคนทำธุรกิจออนไลน์แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ทำแล้วจะประสบความสำเร็จ แค่มีการวางขาย ไม่ได้มีการทำให้ยอดขายเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งในการทำความเข้าใจเรียนรู้ฟังก์ชันต่างๆ"

บางคนอาจจะคิดแค่ว่า "ฉันเข้ามาโพสต์สินค้าในเฟซบุ๊ก (Facebook) แล้วนะ อุ๊ย! ฉันเข้ามาออนไลน์แล้วนะ ฉันจะรวยเป็นร้อยล้าน"

"เกรียงศักดิ์" บอกเลยว่า จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะการทำธุรกิจ ทุกๆ ที่ต้องใช้เวลาในการเติบโต

อันดับแรกเลยก่อนที่คุณจะก้าวเข้าสู่ "กลยุทธ์" การขายต่างๆ คือ คุณต้องเข้าใจผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ลองถามตัวเองว่า "คุณเข้าใจผลิตภัณฑ์คุณมากน้อยเท่าไหน?" "คุณสามารถบริหารต้นทุนให้ได้กำไรดีหรือเปล่า?"

หากตอบคำถามได้คะแนน 80-100 พอถึงเวลาที่เป็นออนไลน์ "เกรียงศักดิ์" บอกว่า มันจะย้อนกลับมาแบบ Back to Basic คือ การทำกลยุทธ์แบบ KOL เจ้าของผลิตภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องจ้างดาราหรือว่าใครมาโปรโมตสินค้า แต่คุณ! ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์จะต้องปรับ Mindset หรือความคิดของคุณ แล้วทำให้ตัวเองสามารถทำทุกๆ ฟังก์ชันได้ ทำได้หมดทุกอย่าง มากกว่าที่จะยืมเครื่องมือในออนไลน์มากเกินไป เพราะอย่าลืมว่า... "ดารา" เขาก็มีสินค้าของตัวเองด้วย การที่เขารับค่าโฆษณามา แล้วโพสต์ให้คุณแค่ครั้งเดียว แต่วันถัดไปเขาอาจจะโพสต์ให้ของตัวเอง หรือคนอื่นๆ อีกสิบๆ อย่างก็ได้ คนที่มาเห็นก็ไม่เกิดการใช้จ่าย หรือลงทุนที่ตอบโจทย์

ทีนี้...หลายๆ คนอาจจะงงๆ กับ KOL อยู่เล็กน้อย เราจะเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ทำไมคุณถึงไม่จำเป็นต้องจ้าง "ดารา" อีกต่อไป...

...

KOL (Key Opinion Leader)

: สมมติ :

คุณเป็นเจ้าของ "ธุรกิจเสื้อผ้า" และต้องการทำโปรโมตให้คนรู้จักสินค้า หากเป็นรูปแบบการทำการตลาดแบบปกติ หรือที่เรียกว่า "การตลาดเซเลบริตี้" (Celebrity Marketing) คุณก็อาจจะเลือก "นักฟุตบอลดาวเด่น" มาเป็นคนโปรโมตสินค้า แต่ถ้าการทำการตลาดแบบ KOL แล้วล่ะก็... มันจะต้องไม่ใช่แค่การเป็น "ดาวเด่น" เท่านั้น เพราะนักฟุตบอลคนนั้นจะต้องมีความเชี่ยวชาญ หรือมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับแฟชั่นกีฬาด้วย หรือถ้าเขาไม่มีความรู้ด้านนี้เลย คุณอาจจะต้องให้เขาโปรโมตสินค้าประเภทอื่นแทน เช่น คอร์สฝึกสอนฟุตบอล หรือการพัฒนาทักษะการเล่นที่ยอดเยี่ยมแทน

ง่ายๆ ว่า การทำการตลาดแบบ KOL ต้องใช้มืออาชีพ หรือบุคคลที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับวงการ หรือสินค้าของคุณ ซึ่งนั่นก็อาจเป็น "ตัวคุณเอง" ก็ได้

อ้อ!... แต่ KOL ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเชี่ยวชาญอย่างเดียวนะ

เพราะการจะทำให้การตลาดแบบ KOL ประสบความสำเร็จ เราอาจต้องการคนที่เป็นมากกว่าแค่ผู้เชี่ยวชาญ คือ พวกเขาต้องเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมคนได้ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ที่จะโปรโมตสินค้าทางเคมี แต่ว่าบุคคลที่นำเสนอนั้นไม่เคยปรากฏตัวที่ไหนเลย หรือหลบซ่อนอยู่แต่ในแล็บ และไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ ก็อาจต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการมีอิทธิพลต่อความคิดหรือพฤติกรรมของผู้คน

แต่หากเน้นที่ "บุคคลที่มีอิทธิพล" มากจนเกินไป ก็จะกลายเป็นการตลาดแบบ Influencer (อินฟลูเอนเซอร์) ที่แม้พวกเขาจะมีอิทธิพลทางความคิดและพฤติกรรม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ใช่ว่าอินฟลูเอนเซอร์ทุกคนจะมีความรู้และความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับสินค้าที่จะโปรโมต พวกเขาเป็นเพียงแค่ผู้นำทางความคิดที่เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารเท่านั้น

สรุปได้ว่า หากคุณจะทำการตลาดแบบ KOL ในยุคนี้ให้ประสบความสำเร็จ คุณต้องทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ของคุณให้มากที่สุด และสามารถสื่อสารหรือพรีเซ็นต์ออกมาให้คนเข้าใจได้ ทำให้แบรนด์มีตัวตน ...แล้วคุณอาจจะไม่ต้องจ้าง "ดารา" หรือ "อินฟลูเอนเซอร์" ที่ไหนเลยก็ได้ หรือหากจะจ้างจริงๆ คุณก็ต้องเลือกคนที่เข้าใจในผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของคุณจริงๆ.

นักเขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Sriwan Singha

ข่าวน่าสนใจ: