ปี 2563 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ "สาหัสสากรรจ์" มาก สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ "เอสเอ็มอี" (Small and Medium Enterprises: SME) แทบจะเรียกได้ว่า "เจ็บ" จน "เจ๊ง!"
และที่ "เจ๊ง" ก็ "เจ๊ง" ไปไม่น้อยทีเดียว
ซึ่งสำหรับปี 2564 นี้ ก็ผ่านมาจนถึงกลางเดือนที่ 3 แล้ว หากจะถามหา "ผลพวง" ที่จะต่อเนื่องจากภาพที่เกิดขึ้นในปี 2563 นับจากนี้...คงหนีไม่พ้น Gig Economy
Gig Economy คืออะไร?
หาคำตอบกับ The Answer
Gig Economy หลายๆ คนคงจะพอคุ้นเคยอยู่บ้างและได้ยินกันมาสักพักแล้ว เพราะมันมีมาตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีก่อน แต่สำหรับคนที่ไม่คุ้น คำว่า "กิ๊ก" อย่าเพิ่งคิดว่าหมายความ "เป็นมากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน" เพราะ "กิ๊ก" ในที่นี้ หมายความว่า "งานชั่วคราว"
เมื่ออาจรวมว่า Gig Economy จึงหมายถึงว่า "เศรษฐกิจชั่วคราว" หรือเรียกแบบเก๋ๆ ว่า "เศรษฐกิจฟรีแลนซ์"
ใครอยากเป็น "กิ๊ก" บ้าง?
...
ซึ่ง Gig เหล่านี้ จะมีการทำงานที่ไม่เต็มเวลาหรือ "พาร์ตไทม์" (Part-Time) บางครั้งก็อาจจะเป็น "ตำแหน่งชั่วคราว" หรือมีการรับจ้างแบบอิสระเหมาเป็นโปรเจกต์ๆ ไป แน่นอนว่า ไม่มีการกำหนดขอบเขตของตำแหน่งและประเภทงานที่ทำ ทำได้หมด...แต่แค่ครั้งคราวเท่านั้นเอง โดยเหตุผลที่ Gig มาแรงนั่นก็เพราะว่า "ค่าแรงถูก" แต่งานที่ได้มีประสิทธิภาพใกล้เคียง หรือมากกว่าการจ้างงานแบบเต็มเวลา
อย่างที่บอกว่า Gig มีมา 2-3 ปีแล้ว แต่ถูกเจ้าโควิด-19 เร่งให้เติบโตอย่างรวดเร็วในปีนี้
ถามว่า "เพราะอะไร?"
หนึ่งในเหตุผลนั่นเพราะว่า SME "เจ็บ" จนจะ "เจ๊ง" หมดแล้ว ต้องปลดคน ลดเวลาทำงานลง แถมเวลานี้ยังอยู่ในช่วง "สังคมผู้สูงอายุ" อายุยืนขึ้น แต่ต้องกลับมาทำมาหากินใหม่ นั่นเลยทำให้เกิด "ฟรีแลนซ์" เพิ่มขึ้น
ซึ่งถ้าจะให้เห็นภาพมากที่สุดก็คงเป็นที่ "อเมริกา" ที่ "เศรษฐกิจแบบกิ๊กๆ" ดำเนินไปได้ด้วยดี จากตัวเลขพบว่า ประชากรกว่า 1 ใน 3 พร้อมสำหรับการเป็น "กิ๊ก" แล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีคนเป็น Gig เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และเป็นไปได้มากว่า Gig เหล่านี้จะเป็นแรงงานพาร์ตไทม์และทำงานจากบ้าน หรือ Work form Home นั่นเอง
อีกเหตุผลที่ต่อเนื่องจากการ "เจ็บจนเจ๊ง" ของ SME ที่ทำให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ Gig Economy คือ นายจ้างไม่สามารถหาเงินมาจ่ายลูกจ้างเต็มเวลาได้อย่างเพียงพอ ดังนั้น นี่เลยเป็น "ตัวเลือก" ที่ดีที่สุดในเวลานี้ กับการเลือกจ้างงานพาร์ตไทม์หรือลูกจ้างชั่วคราวเพื่อดูแลงานในช่วงยุ่งๆ หรือโปรเจกต์พิเศษ
หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สิ้นสุดลง "นายจ้าง" จึงจำเป็นต้องวางแผนสำหรับการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานที่หนึ่งในนั้น คือ Gig Economy
และเมื่อเป็น "กิ๊ก" ก็ย่อมถูกวิพากษ์!
Gig Economy ก็ถูกค้นพบ "ข้อเสีย" เหมือนกับกรณีอื่นๆ เช่นกัน
นั่นก็เพราะ Gig Economy มีแนวโน้มว่าจะทำให้ "ลูกจ้างเต็มเวลา" มีโอกาสพัฒนาในสายอาชีพตัวเองยากขึ้น นับตั้งแต่ "ลูกจ้างชั่วคราว" มีค่าแรงถูกลงและความยืดหยุ่นพร้อมทำงานทุกสถานการณ์
ในตัว "กิ๊ก" เอง เพราะความยืดหยุ่นในการทำงานอาจทำให้สมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance), รูปแบบการนอน และกิจกรรมในชีวิตประจำวันพังทลาย
...
พูดง่ายๆ ว่า เพราะเป็น "กิ๊ก" เลยต้องใช้ความสามารถของการเป็น "กิ๊ก" ตลอดเวลา...ตามแต่ใจนายจะสั่งมา...
ที่สำคัญ คือ ในยุคที่การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้คนเป็น Gig มากขึ้น นั่นก็ย่อมนำไปสู่ "การแข่งขัน" ที่ดุเดือด เพราะ "นายจ้าง" สามารถมองหา "กิ๊ก" ใหม่ๆ ได้เสมอ และอย่าลืมว่า... การประกันการเลิกจ้างไม่ครอบคลุม Gig รวมถึงความมั่นคงในหน้าที่การงานที่จะได้เงินประจำ ผลประโยชน์ เช่น เงินเกษียณ
ฝากทิ้งท้าย... ที่ต้องพึงระวังกับ Gig Economy คือ อาจทำให้การติดต่อธุรกิจ และความสัมพันธ์ในระยะยาวระหว่างนายจ้าง แรงงาน และลูกค้าถูกกัดเซาะลง รวมถึงอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนระยะยาว.
The Answer โดยทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
ข่าวน่าสนใจ :
- "บ้านผู้สูงอายุ" แววดี! เจาะโอกาสชิงเค้กหมุดหมาย "ต่างชาติวัยเกษียณ"
- การเป็น "เศรษฐี" 1% ของโลก ต้องมี "เงิน" แค่ไหนในยุค "คนรวย" ยิ่งรวยขึ้น
- หุ้น GameStop ฟื้น "เม่า" ช่วยเพื่อนลงดอย หรือมีอะไรอยู่เบื้องหลัง?
- 10 อาชีพดาวรุ่ง ดาวร่วง ปี 2021 เผยทักษะงานแห่งอนาคต
- ยิ่งเสี่ยง ยิ่งอยากลอง ลงทุน "บิตคอยน์" ดีกว่าทองคำ?
...