ผลการเลือกตั้งซ่อม เขต 3 นครศรีธรรมราช อย่างไม่เป็นทางการ พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้พรรคพลังประชารัฐ แม้เคยเป็นพื้นที่ของ ”เทพไท เสนพงศ์” มีการส่งน้องชาย ลงสนามแข่งขัน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เก้าอี้ ส.ส.ในภาคใต้หายไปอีก 1 ที่นั่ง ยิ่งตอกย้ำคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ เสื่อมถอยลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ล้มเหลวไม่เป็นท่า พร้อมรอยร้าวภายใน สัญญาณเตือนหายนะ ยากจะกอบกู้ศรัทธากลับคืนมา

อนาคตของ "พรรคประชาธิปัตย์" จะเป็นอย่างไรต่อไป? และต้องจับตาดูการเลือกตั้งซ่อม เขต 1 ชุมพร อาจต้องชนกับคู่แข่งจากพรรคพลังประชารัฐ และฐานเสียงอาจถูกเขย่าจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันก็เป็นไปได้ จนสถานการณ์วิกฤติหลังชนฝา สำหรับอดีตพรรคการเมืองขนาดใหญ่เคยรุ่งมาก่อน

ขณะที่ “รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์” คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า การพ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อมอีกครั้งของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมองในเชิงระบบอำนาจ ด้วยความเป็นรัฐบาลมีความได้เปรียบอยู่แล้วในทางการเมือง และต้องยอมรับการเมืองไทย มีความสลับซับซ้อน มีระบบเครือข่าย ยิ่งมีอำนาจยิ่งได้เปรียบ ซึ่งกรณี “อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” จากพรรคพลังประชารัฐ ชนะเลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีธรรมราช นอกจากเป็นคนในพื้นที่แล้ว ยังมีคนในสายรัฐบาลให้การสนับสนุน

“ถามว่า 1 ที่นั่งของพลังประชารัฐที่ได้เพิ่มเข้ามา จะมีผลอะไรต่อรัฐบาลหรือไม่ก็ไม่มี แต่ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ จากตัวแปรที่เกิดจากตัวผู้สมัคร ซึ่งเป็นน้องชายของเทพไท เสนพงศ์ แม้เป็นคนในพื้นที่เช่นกัน แต่ในความเป็นพรรคก็มีความสำคัญ โดยประชาธิปัตย์มีจุดอ่อน ไม่มีความเป็นเอกภาพในพรรค และที่สำคัญ คือระบบทุน ทำให้อาญาสิทธิ์ คว้าชัยชนะ ไม่ได้เกิดจากตัวเอง แต่อยู่ที่พรรคการเมืองที่สังกัด”

...

นอกจากนี้คะแนนที่ห่างกันไม่มากระหว่างพงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ กับอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เกิดจากผู้สมัครของพรรคกล้า ทำให้คะแนนคลาดเคลื่อน และการที่พรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพภายในพรรค ยิ่งทำให้เกิดความสั่นคลอน ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในพื้นที่ อ.ชะอวด จนทำให้พ่ายแพ้ไปในที่สุด และการที่พรรคประชาธิปัตย์สูญเสียที่นั่งในภาคใต้ มากถึง 14 เขต ถึงเวลาต้องเร่งทบทวนกลับไปสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา

“การเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา แม้เป็นบทเรียนให้กับประชาธิปัตย์ แต่ยังปรับตัวไม่ทัน หลงคิดว่าพรรคตัวเองเป็นสถาบันการเมือง และการที่ชวน หลีกภัย ไม่เป็นหัวหน้าพรรค ก็เกิดความสั่นคลอน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยถอดบทเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้ในอนาคตจากที่เคยเป็นพรรคใหญ่ จะกลายเป็นพรรคขนาดกลาง เหลือเพียง 30 กว่าที่นั่ง หรือไม่เกิน 50 ที่นั่งเท่านั้น หรือหากเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 50 อาจเป็นพรรคเล็กอย่างแน่นอน”

จากวิกฤติที่เกิดขึ้นถึงเวลาแล้วที่พรรคประชาธิปัตย์ ต้องตระหนักในการเรียกคะแนนศรัทธาให้กลับคืนมา เพราะที่ผ่านมาเลือดไหลต่อเนื่อง ต้องรีบทบทวนปิดจุดอ่อนของตัวเอง รวมถึงความขัดแย้งภายในพรรคมีมาอย่างต่อเนื่อง และยิ่งคะแนนของหัวหน้าพรรค ยิ่งถดถอยลงเรื่อยๆ อีกด้วย เพราะวันนี้การเมืองไทยมีการเปลี่ยนโฉมด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะต้องปรับตัวเอง อีกทั้งระบบทุนก็สำคัญมาก หากไม่มีจะไม่สามารถเดินได้ ทั้งหัวหน้าพรรค และเลขาฯพรรค ต้องไปด้วยกัน ซึ่งพรรคการเมืองในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ เพียงแค่มีทุนก็สามารถมีอำนาจได้

ส่วนการปรับ ครม.ที่จะเกิดขึ้น แม้พรรคประชาธิปัตย์สูญเสียที่นั่งไป จะไม่ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะทั้งก่อนและหลัง ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ อีกอย่างพรรคประชาธิปัตย์ห่างเหินในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมานานมากๆ เพราะฉะนั้นการอยู่นิ่งๆ ไม่ออกมาเคลื่อนไหวต่อรองจะดีกว่า เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจเสียโควตารัฐมนตรีไปก็ได้.