เจาะเบื้องหลังล่าแก๊งปลอมหวยที่กำลังระบาดในภาคเหนือ หลัง ป.ตามรวบได้ 3 ราย
เผยเทคนิคที่ใช้เป็นการขูดเลข ตัดปะ แบ่งหน้าที่การทำงานชัดเจน
ใช้หวยถูกรางวัลจริงล่อเหยื่อตกปลา คนรับซื้อเองต้องเท่าทัน ไม่งั้นอาจสูญเงินเป็นล้าน
เรียกว่าอยู่คู่คนไทยมาช้านาน สำหรับการพนันถูกกฎหมายที่กำกับโดยรัฐบาล หรือสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ละงวดมีการพิมพ์จำหน่ายมากกว่า 100 ล้านใบ
ทุกวันที่ 1 หรือ 16 จะให้กำเนิด “เศรษฐีใหม่” คนดวงดีถูกรางวัลที่ 1 อย่างต่ำๆ ก็ 6-12 ล้าน ยิ่งเวลานี้เหล่าดารา เซเลบ พยายามปั้นโปรไฟล์เป็นนักใบ้หวย ก็ยิ่งทำให้ลอตเตอรี่ขายดี จนกองสลากไม่ต้องทำการตลาดเลย
แต่เหนือจากคนดวงดี ก็คือ คนโกงนี่แหละครับ เพราะช่วงนี้มันกลับมาระบาดอีกครั้งกับแก๊ง “ปลอมลอตเตอรี่” มาขึ้นรางวัล ถึงแม้กองสลากจะพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ ด้วยการใส่ลายน้ำ ใส่บาร์โค้ด แต่คนพวกนี้ก็ยังหาวิธีโกงเข้าจนได้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองกำกับการ 4 กองปราบปราม ตามรวบ 3 ตัวแสบ ประกอบด้วย นายทองอินทร์ สมบัติ อายุ 59 ปี นายศราวุฒิ บุญครั่ง 23 ปี และ น.ส.สุภาพร ชำนาญนิจ อายุ 20 ปี ตามหมายจับจังหวัดหล่มสัก ฐานปลอมแปลงเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกงทรัพย์
ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับ “สารวัตรเบิ้ม” หรือ พ.ต.ท.อภิชน ขันกา สว.กก. 4 บก.ป. ที่นำกำลังตำรวจเข้าไปจับแก๊งนี้ด้วยตัวเอง
สารวัตรเบิ้ม เริ่มต้นเล่าเบื้องหลังให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมมาจากเฟซบุ๊กจากผู้เสียหาย ที่โพสต์เฟซบุ๊กว่าถูกคนร้ายปลอมลอตเตอรี่ มาขึ้นเงินรางวัล ด้วยที่เราเป็นตำรวจจากกองปราบปราม มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ ก็เลยลองไปตามสืบดู ผลปรากฏว่า ได้มีการแจ้งความเกิดขึ้นหลายครั้ง หลายแห่ง และหลายสถานที่ เริ่มต้นจากภาคอีสาน จากนั้นก็ไปแถวกาญจนบุรี และก็ไปเจอที่ภาคเหนือ
...
จากนั้นจึงเริ่มไปตามสืบ และติดตาม กระทั่งได้เบาะแสคนร้าย จากภาพกล้องวงจรปิด ซึ่งผู้เสียหายได้ไปแจ้งความไว้ หลังถูกคนร้ายนำลอตเตอรี่ปลอมมาขึ้นรางวัล เป็นเงินนับแสนบาท (รางวัลที่ 5 และ รางวัลที่ 4 อย่างละใบ)
ตำรวจเชื่อว่า ขบวนการนี้มีคนร่วมแก๊งอยู่หลายคน แบ่งหน้าที่กันทำงาน โดยเริ่มจากเหวี่ยงแหซื้อลอตเตอรี่ ครั้งละมากๆ หรือเป็นเล่มๆ
“ยกตัวอย่าง หากซื้อ จำนวน 100 ใบ ยังไงต้องมีสักใบที่ถูกรางวัล ใบที่ถูกก็นำไปขึ้นรางวัล แต่ใบที่ไม่ถูก...เขาก็มองหาดูเลขที่ใกล้เคียงกับเลขที่ถูกรางวัล”
พ.ต.ท.อภิชน บอกกับผู้เขียนว่า เวลาจะทำสลากปลอม เขาจะทำไม่เยอะหรอกครับ เขาจะเลือกทำแค่ 1 เลขเท่านั้น โดยมากก็จะปลอมแค่หลักสิบหรือหน่วย คือ ปลอมรางวัลเลขท้าย 2 ตัวหรือ 3 ตัว หรือถ้าเจอเลขที่ใกล้เคียงกับรางวัลใหญ่หน่อย เช่น รางวัลที่ 4 หรือ 5 เขาก็จะทำ อย่างเคสล่าสุด นี่คือ โดนเข้าไปเป็นแสนบาท
วิธีการปลอมแปลง ก็คือ การตัดแปะนี่แหละ ด้วยการขูดลบเลขของเก่าออก โดยใช้มีด หรือ อุปกรณ์บางอย่าง จากนั้น ก็เอาเลขที่ถูกใส่แปะเข้าไป และรีดทับให้เนียนที่สุด หลังจากนั้นก็จะมีอีกคนทำหน้าที่ปลอมคิวอาร์โค้ด ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
เมื่อถามว่า เขาเอาคิวอาร์โค้ด มาจากไหน ตำรวจจากกองกำกับการ 4 เผยว่า เชื่อว่ามีพรรคพวกที่ทำเรื่องนี้อยู่ ตอนนี้กำลังไล่ล่าพวกที่เหลือ และเชื่อว่ายังมีคนหนีรอดอีกหลายคน
จากการสืบสวนเชื่อว่า พวกนี้มีประมาณ 7-8 คน จะมี 2-3 คนทำหน้าที่เอารางวัลไปขึ้น แต่ก่อนจะไปขึ้นรางวัลนั้น จะมีคนที่ปลอมแปลงลอตเตอรี่ หรือ ขบวนการในแก๊งไปดูลาดเลาก่อน โดยเขาจะหาร้านที่มีการตรวจสอบรางวัลไม่เข้มข้น หรือใช้วิธีการเอาสลากที่ถูกรางวัล มาให้ร้านเหล่านี้ตรวจสอบก่อน จากนั้นค่อยเอาของปลอมมาแลก
“เงินที่พวกเขาได้จะถูกหารกัน อย่างคนที่ถูกจับ เขาก็สารภาพว่า หากได้เงินรางวัล 10,000 บาท เขาได้ประมาณ 3,000 บาท คนพวกนี้ไม่มีงานทำ ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ให้ทำอะไรก็ทำ เขาไม่สนใจอะไร ได้เงินมาก็ใช้จ่ายจนหมด บางคนโดนจับมาแล้ว 2-3 ครั้ง ซึ่งโทษของการปลอมแปลงเอกสารไม่หนักมาก ติดอยู่ข้างในไม่นานก็ออกมา เมื่อข่าวเงียบๆ ก็จะมาทำกันใหม่”
สารวัตรเบิ้ม บอกกับผู้เขียนว่า เงินที่เขาได้ไปน่าจะอยู่ที่ประมาณหลักล้านบาท เฉลี่ยแต่ละรายอยู่ที่หลักพันถึงแสนบาท ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้นอกจากปลอมสลากฯ แล้ว ยังปลอมบัตรประชาชนด้วย เพราะการขึ้นรางวัล ร้านที่รับซื้อเขาจะต้องขอดูบัตรประชาชน คนพวกนี้จึงปลอมบัตรประชาชน ใช้บัตรคนอื่นแล้วเอาหน้าตัวเองไปใส่ หรือ ใช้บัตรคนอื่น แล้วให้ใบหน้าดูไม่ชัด
...
สาเหตุหนึ่งที่เราจับแก๊งปลอมลอตเตอรี่ได้ ก็เพราะเจอร้านรับซื้อมีการตรวจสอบที่เข้มข้น และ “จับโป๊ะ” ได้ จึงมีการแจ้งความดำเนินคดี และเมื่อตรวจสอบภาพวงจรปิด จึงทำให้จับกุมคนร้ายได้ แต่ปัญหาคือ คดีเหล่านี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษต่ำ จึงติดคุกไม่นานแล้วออกมาก่อเหตุซ้ำ ฉะนั้น จึงอยากให้ผู้เสียหายมาชี้ตัว เพราะหากเป็นคดีต่างกรรมต่างวาระ ก็จะเพิ่มบทลงโทษมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนการปลอมแปลง “ลอตเตอรี่” กองสลากระบุว่ามี 2 แบบ คือ ปลอมทั้งฉบับ กับ ปลอมด้วยการแก้ไขเพียงบางส่วน
การปลอมทั้งฉบับนั้นค่อนข้างยาก ซึ่งกองสลากมีวิธีตรวจสอบคือ...
1. คุณลักษณะของกระดาษสลากของจริงจะ “เหนียวและบาง”
เมื่อส่องกับแสงไฟสีขาว หรือแสงสว่าง จะเห็นลายน้ำรูปนกวายุภักษ์อยู่ในเนื้อกระดาษ หากเมื่อส่องกับแสงไฟสีม่วง หรือแสงยูวี จะมองเห็นเส้นไหมและเส้นที่พาดผ่านตัวเลขเรืองแสง
2. รูปภาพในสลากจะมีความคมชัด
3. ตัวเลขและตัวอักษร หมึกที่พิมพ์จะแตกต่างกัน (ต้องใช้กล้องส่องดู)
ส่วนการปลอมด้วยการแก้ไขบางส่วน ส่วนมากจะใช้วิธีการ ขูด ลบ ลอก หรือตัดปะ โดยวิธีการตรวจสอบต้องใช้แว่นขยายตรวจสอบจุดที่สงสัยว่าจะมีการแก้ไข
1.ตัวเลขและตัวอักษร
2.งวดประจำวันที่
3.2D บาร์โค้ด
...
ทั้งนี้ การแก้ตัวเลขส่วนมากจะเป็นเลขที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น เลข 8 เปลี่ยนเป็นเลข 3 หรือ 5 เป็นต้น โดยอาจจะใช้วิธีการตัดปะจากฉบับอื่น และมีการแก้ไข 2D บาร์โค้ดที่ไม่ถูกต้อง แล้วใส่บาร์โค้ดที่ถูกต้อง (ที่ไม่ใช่ของกองสลาก) เข้าไปแทน
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เชื่อว่าผู้ที่รับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลย่อมรู้ดีอยู่แล้ว ขอเพียงแค่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นก็จะไม่พลาด ส่วนใครที่คิดจะริเริ่มหรือหวังรวยทางลัด ผู้เขียนขอเตือนว่าอย่าทำเลยครับ มันไม่คุ้มหรอก
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
อ่านข่าวที่น่าสนใจ