โควิด ก่อแรงสะเทือนอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการบิน ซ้ำเติมในช่วงเศรษฐกิจทุลักทุเลมาก่อนหน้านี้ ต้องมาลุ้นวัคซีนจะช่วยให้ไทยเปิดประเทศได้เต็มที่หรือไม่ในปี 64 ภายหลังสายการบินสัญชาติไทยพากันย่ำแย่เจ็บระนาว แบกหนี้สินล้นพ้นตัว บางสายการบินต้องปิดกิจการ เลิกจ้าง ลดเงินเดือน พักงานพนักงาน และแน่นอนได้กระทบ "อาชีพนักบิน" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาทางการเงิน ผลประกอบการปี 63 ขาดทุน 1.4 แสนล้านบาท และวันที่ 2 มี.ค.นี้ ต้องยื่นแผนฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายกลาง หลังขอเลื่อนการส่งแผนมาแล้ว 2 ครั้ง โดยแผนฟื้นฟูจะปรับลดฝูงบิน ด้วยการปลดระวางเครื่องบิน คาดจะกระทบนักบิน 395 คน จากจำนวน 1,300 คน ต้องถูกปลดออก หรือเข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออก ทำให้เหลือนักบิน 905 คน จะถูกลดเงินเดือนอีก 15-20%

“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ “กัปตันสนอง มิ่งเจริญ” นายกสมาคมนักบินไทย และกัปตันบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ทุ่มเทชีวิตอยู่ในอาชีพนี้มานาน 20 กว่าปี และยังไม่ได้เตรียมใจเกษียณก่อนกำหนด ในการเริ่มต้นใหม่ ในวัย 50 ปี แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทางกัปตันสนองบอกว่า ได้ทำให้เราเรียนรู้ แม้ไม่เคยศึกษาเรื่องอื่น จากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนไป โดยตั้งแต่ถูกยกเลิกตารางการทำงานทุกเที่ยวบินตลอดเวลา 1 ปี ก็มีสุขภาพดีขึ้น ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น และในใจลึกๆ หวังว่าโควิดจะไม่หนัก เพื่อจะได้กลับมาบิน

...

จากอาชีพนักบินดูมั่นคง แต่ขณะนี้ไม่ใช่แล้ว มีหลายคนไม่ทันตั้งตัวในการวางแผน โดยเป็นห่วงกลุ่มนักบินใหม่ๆ ประสบการณ์น้อยกว่า 5 ปี ประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่อยู่สายการบินอื่น เพิ่งสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างครอบครัว อาจปรับตัวไม่ทัน อยากให้แบงก์ช่วยชะลอหนี้ให้ เพราะเชื่อว่าวันหนึ่งอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาดีขึ้น และนักบินเหล่านี้จะกลับมาเป็นลูกค้าชั้นดีของแบงก์อีกครั้ง

ก่อนหน้าที่โควิดระบาด ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ได้มี "นักบินตกงาน" จากการถูกเลิกจ้าง 200 กว่าคน จากนั้นถูกเลิกจ้างเพิ่มอีก 100 คน เพราะสายการบินปิดกิจการ ยังไม่รวมกลุ่มเรียนหลักสูตรการบินด้วยทุนส่วนตัว รวมแล้วหัวละ 2.5 ล้านบาท ประมาณ 700-800 คน ซึ่งจบใหม่ไม่มีงานทำ โดยสรุปแล้วมีนักบินว่างงาน 1 พันกว่าคน สะท้อนภาพเที่ยวบินที่ลดลงจากหลายๆ ปัจจัย เมื่องานไม่มี ทางสายการบินต้องลดค่าใช้จ่าย ทำให้นักบินต้องถูกเลิกจ้าง จากเดิมที่สายการบินไม่ได้เลิกจ้าง โดยพยายามประคับประคองลดเงินเดือนเกินครึ่ง กระทั่งมาเจอโควิดระบาดจนเอาไม่อยู่ และยังส่งผลกระทบต่อพนักงานในส่วนอื่นอีกด้วย

ในส่วนนักบินของการบินไทย ขณะนี้ยังไม่ถูกเลิกจ้าง โดย 70% ถูกลดเงินเดือน เพื่อลดรายจ่ายขององค์กร ซึ่งการยื่นแผนฟื้นฟูต้องมีการลดขนาดโครงสร้างองค์กร เป็นตัวกำหนดปริมาณนักบินว่าต้องมีจำนวนเท่าใด เพื่อให้เจ้าหนี้รับทราบแผนการดำเนินงานของธุรกิจ ทั้งโครงสร้างต้นทุน และโครงสร้างหนี้

ปัจจุบันสมาคมนักบินไทย มีนักบินการบินไทยเป็นสมาชิก 1,300 คน และเท่าที่ติดตามข่าวจะมีนักบินถูกปลดออกเกือบ 400 คน อยู่ในโครงการสมัครใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอดูแผนและข้อมูลการให้ผลตอบแทน เพื่อการตัดสินใจ ว่าใครจะสู้ต่อ แม้ได้ค่าตอบแทนไม่เหมือนเดิม หรือสมัครใจลาออก แต่หากการทำแผนฟื้นฟูให้พนักงานลาออก โดยส่วนตัวมองว่า ควรมีแผนรองรับกรณีโควิดหมดไป เพื่อเปิดทางให้นักบินกลับมาทำงาน ต้องรอการยื่นแผนฟื้นฟูวันที่ 2 มี.ค.นี้จะเป็นอย่างไร

“ในกรณีอังกฤษ เยอรมนี หรือสิงคโปร์ ทางรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยสายการบินชาติของตัวเอง แต่ในส่วนไทยเข้าใจว่ารัฐบาลคงติดตามอย่างใกล้ชิด การที่รัฐบาลไม่ช่วยเลย คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งบทบาทรัฐบาลสำคัญมากในการสร้างความเชื่อมั่นในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามา และถามว่ามีความจำเป็นหรือ ที่ต้องมีสายการบินแห่งชาติ เพราะฉะนั้นต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ ทำอย่างไรให้การบินไทยได้แสดงบทบาทของคนไทย ให้มองว่าการบินไทยเป็นธงชาติของเรา ในการสร้างรายได้ให้คนไทย เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ไม่ให้ตกไปเป็นสายการบินของต่างชาติ”

...

เมื่อ "อาชีพนักบิน" ได้รับผลกระทบจากโควิด จากอาชีพที่เคยมีความมั่นคง ต้องยอมรับว่ามีนักบินบางคนอายุยังน้อย จบหมอ จบวิศวกร เมื่อเห็นว่าอาชีพที่เคยสร้างรายได้ลดลงไปจากเดิม ได้เปลี่ยนเส้นทางอาชีพ แต่เชื่อว่าทุกคนมีความฝัน กว่าจะได้มาเป็นกัปตัน ใช้ความพยายามอุตสาหะ เริ่มจากเงินเดือนน้อยๆ จาก 3 หมื่นบาท จนเพิ่มขึ้นมา ซึ่งในฐานะเป็นนายกสมาคมนักบิน พยายามสื่อสารให้รักษางานนี้ไว้ และองค์กรได้พยายามประคับประคองจนถึงที่สุด หากนักบินการบินไทยออกไป 400 คน ก็เท่ากับว่ามีลูกเรือต้องออกอีก 1 พันกว่าคน

“ทุกคนต่างมีอายุมาก เคยร่วมสร้างองค์กรมาด้วยกัน และรับผลกระทบเมื่อ 10 กว่าปีก่อน จนมาเจอสภาพแบบนี้เมื่อโควิดระบาด ถือเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก และต้องยอมรับทางองค์กรต้องเลือกคนหนุ่มสาว แต่อยากให้ทุกคนที่ออกไป ต้องไปอย่างวีรบุรุษ และตอนนี้วัคซีนโควิดได้เข้ามาแล้ว จึงเป็นความหวังของทุกธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะสายการบิน ในการเฝ้ารอกันทั้งประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา สร้างรายได้ให้กับประเทศ และหวังจะได้กลับมาบินอีกครั้ง”.