"วิกฤติโควิด-19" (Covid-19) นับเป็น "วิกฤติ" ที่สารพัดปัญหาที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งในระดับประเทศ ไปจนถึงระหว่างประเทศ มี "วัคซีน" ก็มิวายคลายความตึงเครียด!
ซึ่ง ณ เวลานี้ (22 ก.พ. 64) ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่า 92 ประเทศ จำนวนมากกว่า 205 ล้านโดส เฉลี่ย 6.44 ล้านโดสต่อวัน โดยประเทศที่ฉีดมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา มากถึง 63.09 ล้านโดส ขณะที่ ประเทศอีกซีกโลกหนึ่งอย่าง "ไทย" หากไม่มีโรคเลื่อน ก็คาดการณ์ว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้ หากการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกเป็นไปอย่างราบรื่น และไม่มีการแพร่ระบาดคลื่นลูกใหม่มาอีก ช่วงกลางๆ ปี ประชากรโลกทั้งหลายเวลาเจอหน้ากันก็คงทักทายกันด้วยประโยคคำถามว่า "ฉีดวัคซีนหรือยัง?"
และนั่นอาจจะทำให้ประเทศต่างๆ กลับมา "เปิด" ได้อีกครั้ง!
โดยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามที่มีการถกเถียงกันในวงการสาธารณสุข คือ ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุม 70% ของประชากรในพื้นที่นั้น ถึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายการสร้าง "ภูมิคุ้มกันหมู่" (Herd Immunity) ได้
แต่ถ้าจะให้รอจนครอบคลุมขนาดนั้น ในบางประเทศ รวมถึงภาคเอกชนและธุรกิจต่างๆ เขามองว่า "มันช้าเกินไป! รอจนถึงตอนนั้นไม่ไหว หากต้องรอ...อาจไม่รอด!"
...
อย่างเช่นภาคเอกชนและธุรกิจในไทย ที่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ได้ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้ผ่อนคลายมาตรการการกักตัว 14 วัน เพราะมองว่า นี่เป็น "อุปสรรค" ใหญ่ที่กีดขวางนักเดินทางที่มีศักยภาพ หรือถ้ารอจนกว่าประชากรในประเทศบรรลุเป้าหมาย "ภูมิคุ้มกันหมู่" ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการคาดการณ์ก็อาจจะลากยาวไปจนถึงปี 2565
จนมีการหยิบยก "ข้อเสนอ" อื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม หากว่าการผ่อนคลายมาตรการกักตัว 14 วัน ไม่ได้รับการอนุมัติ นั่นก็คือ "พาสปอร์ตวัคซีน" (Vaccination Passport)
ซึ่ง "ข้อเสนอ" นี้ เป็นหนึ่งในถ้อยความที่ระบุไว้ในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เขียนโดย วิลเลียม ไฮเน็กกี ประธานบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
มีใจความคร่าวๆ ว่า
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกิดความสูญเสีย และมีคนนับแสนที่หน้าที่การงานกำลังอยู่ในสถานะเสี่ยง โดยอยากให้รัฐบาลจัดลำดับแรงงานภาคการท่องเที่ยวเป็นแนวหน้าในการได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปพร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงอาจมีการผ่อนคลายมาตรการการกักตัวให้มีความสะดวกมากขึ้น เปิดให้มีการท่องเที่ยวสำหรับนักเดินทางต่างประเทศที่มี "พาสปอร์ตวัคซีน" และ จ.ภูเก็ต อาจเป็นพื้นที่นำร่องในประเทศไทย
ข้อเสนอ "พาสปอร์ตวัคซีน" นี้ มีความน่าสนใจไม่น้อย และในเวลานี้ หลายๆ ประเทศก็กำลังจะหยิบยกมาใช้กันแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป หรือ "อียู" (EU) ที่มีแนวคิดเปิดพรมแดนระหว่างประเทศให้ประชากรในประเทศสมาชิกข้ามเขตแดนได้อย่างอิสระ ภายใต้คอนเซปต์ของ "พาสปอร์ตวัคซีน" หรือ "พาสปอร์ตภูมิคุ้มกัน"
ในโปแลนด์ ประชากรต่างพากันแห่แหนดาวน์โหลดคิวอาร์โค้ด (QR Code) จากเว็บไซต์สาธารณสุขส่วนกลาง ลงในโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้ยืนยันการเดินทาง ขณะที่ เดนมาร์กก็กำลังเตรียมเปิดแอปพลิเคชันที่มีผลบังคับใช้คล้ายกับเป็น "พาสปอร์ต" อันที่ 2
หรือกรีซ ที่เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา มีการลงนามข้อตกลงร่วมกันกับเซอร์เบีย ในการเปิดให้มีการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศ ผ่าน "พาสปอร์ตวัคซีน" ในรูปแบบดิจิทัล โดยข้อตกลงจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 1 ตุลาคม ซึ่งประชากรจะสามารถถือใบรับรองการฉีดวัคซีนข้ามเขตแดนได้อย่างอิสระ
นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงร่วม 3 ประเทศ ระหว่างกรีซ ไซปรัส และอิสราเอล โดยลงนามเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งประชากรสามารถเดินทางได้ข้ามเขตแดนได้อย่างอิสระเพียงแค่พก "พาสปอร์ตวัคซีน" และจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน
ว่าแต่... "พาสปอร์ตวัคซีน" คืออะไร?
...
"พาสปอร์ตวัคซีน" ก็คือ ใบรับรองที่มีการยืนยันว่า คนๆ นั้นได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ซึ่งแนวคิดนี้มีการมองว่าเป็นเวอร์ชันใหม่ของ "สมุดปกเหลือง" หรือ Yellow Card รู้จักกันอย่างเป็นทางการว่าเป็น "ใบรับรองการฉีดวัคซีนไข้เหลือง" ที่อยู่ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation) แต่ "พาสปอร์ตวัคซีน" นี้จะมีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงเป็นรูปแบบ "ดิจิทัล"
แล้วหลังจากนี้ นอกจากจะใช้เพื่อเดินทางข้ามเขตแดนระหว่างประเทศแล้ว ในส่วนภาคเอกชน และธุรกิจต่างๆ ก็เตรียมระบุไว้ในข้อกำหนดการใช้บริการเช่นกัน เช่น สายการบิน, เรือสำราญ หรืองานอีเวนต์ต่างๆ อย่างคอนเสิร์ต โดยก่อนหน้านี้ Ticket Master (ทิกเก็ต มาสเตอร์) ผู้จัดจำหน่ายตั๋วเข้าชมกิจกรรมแสดงสดต่างๆ ออกมาระบุว่า ขณะนี้กำลังสำรวจจำนวนผู้จัดอีเวนต์ที่ต้องการระบุ "พาสปอร์ตวัคซีน" เป็นหนึ่งในข้อกำหนด เพื่อบังคับให้ผู้เข้าชมงานต่างๆ นำมาเป็นหลักฐานก่อนเข้างานด้วย โดยอาจมีการเชื่อมข้อมูลการฉีดวัคซีนกับตั๋วดิจิทัลเพื่อความสะดวก
แต่มี "ข้อดี" ก็ย่อมมี "ข้อเสีย"
...
เมื่อองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) มีคำเตือนถึงการใช้ "พาสปอร์ตวัคซีน" ว่า ในเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า คนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วจะมีโอกาสแพร่เชื้อไวรัสได้อีกหรือไม่
ขณะที่ สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council: WTTC) ที่ออกมาต่อต้านแนวคิดที่ว่านี้ เพราะมองว่า นี่กำลังเป็นการสร้างรูปแบบของ "การแบ่งแยก" สอดคล้องกับประธานและซีอีโอ "กลอเรีย กิวเวรา" ที่ระบุว่า สิ่งนี้มีนัยสำคัญต่อประเทศที่มีการพัฒนาน้อย หรือมีความหลากหลายของกลุ่มอายุ เพราะฉะนั้น ไม่ควรแบ่งแยก และขัดขวางคนที่มีความปรารถนาการเดินทาง แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19
อะไรคือ "การแบ่งแยก" ภายใต้ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึง "วัคซีนโควิด-19"
และอะไรคือ ความหมายโดยนัยของปริมาณ "วัคซีนโควิด-19" ที่มีอยู่อย่างจำกัด?
ในที่นี้หมายถึงว่า การกำหนดข้อบังคับ "พาสปอร์ตวัคซีน" อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ของประชากรโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้จนถึงตอนนี้ แม้จะเป็นแนวคิดที่มี "ความก้าวหน้า" แต่นั่นต้องขึ้นอยู่กับว่า ทุกคนได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม ไม่งั้นมันก็จะกลายเป็นการ "แบ่งแยก" โดยไม่ตั้งใจ
แถมยังมีความกังวลอีกด้วยว่า "พาสปอร์ตวัคซีน" นี้ อาจก่อให้เกิด "อีลิต" ในการได้รับการฉีดวัคซีน ขณะเดียวกันก็ทำให้ "ความเหลื่อมล้ำ" มีแต่แย่ลงเรื่อยๆ จนนำไปสู่สถานะ "คนชั้นล่าง" ที่ถูกปฏิเสธการบริการ และกีดขวางไม่ให้มีการข้ามเขตแดน
...
ในแวดวงวิชาการก็มีการถกเถียงในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งหาก "พาสปอร์ตวัคซีน" เกิดขึ้นในเวลาที่การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นไปได้ยากอย่างตอนนี้ หรือมีคนตกค้างไม่อาจเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้ นั่นก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ "การแบ่งแยก" เลวร้ายกว่าเดิม บนพื้นฐานของเชื้อชาติ สัญชาติ หรือการเข้าถึงสมาร์ทโฟน เว้นแต่ว่าจะมีการเข้าถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ฟรีอย่างเป็นสากล ก็อาจบรรเทาความกังวลลงไปได้บ้าง
ขณะที่ "ไทย" เอง ในเวลานี้ก็ยังไม่อนุมัติการใช้ "พาสปอร์ตวัคซีน" ตามที่มีการเรียกร้องแต่อย่างใด โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้หยิบยกข้อมูลการอ้างอิงของ WHO มาใช้ประกอบการอธิบายว่าเหตุใดจึงยังไม่มีการอนุมัติ ซึ่งเห็นว่า การจะใช้มาตรการพาสปอร์ตวัคซีนแทนการกักตัว 14 วัน ต้องมั่นใจได้ว่า วัคซีนโควิด-19 ป้องกันการติดเชื้อ 100% และมีข้อมูลว่า เมื่อฉีดแล้วจะอยู่ได้นานแค่ไหน แต่ปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ยังวิจัยไม่เสร็จ เป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น
นอกจากนี้ "พาสปอร์ตวัคซีน" ยังกลายเป็นประเด็นการเมืองด้วย โดย 27 ประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) กำลังมองหาหนทางความเป็นไปได้ในการใช้ "ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19" ในส่วนประเทศสมาชิกด้วยกัน โดยจะเร่งให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น และฟื้นฟูการเดินทางข้ามเขตแดนให้กลับมาปกติ ซึ่งขณะนี้ ประเทศที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างกรีซ ก็กำลังกดดันให้มีการใช้ระบบที่ว่านี้ครอบคลุมทั้งอียู
ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ "อียู" เหมือนว่าจะเป็นภูมิภาคที่มีการขานรับ "พาสปอร์ตวัคซีน" มากที่สุด แต่กลับมีความกังวลซ่อนอยู่ โดยหวั่นว่า "พาสปอร์ตวัคซีน" นี้อาจเป็นการแบ่งประเภทของนักเดินทางผ่าน "พริวิลเลจ" หรือสิทธิพิเศษ ที่อาจค่อยๆ ทำลายการเคลื่อนย้ายข้ามแดนอย่างอิสระของประชากรในที่สุด...
อย่างไรก็ตาม "พาสปอร์ตวัคซีน" ที่ว่ามานี้ เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ผู้นำทางการเมือง รวมถึงธุรกิจหลายๆ แห่ง มีความหวังว่าจะเป็น "ตัวช่วย" ในการทำให้การดำรงชีวิตของประชากรโลกทั้งหมดกลับไปสู่ปกติ และฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเดินเครื่องได้ดังเดิม.
ข่าวน่าสนใจ:
- เทียบ 7 วัคซีน Johnson & Johnson ความหวังที่น่าจับตา
- ไทยแสนชิล ถ้าไม่รีบฉีด "วัคซีนโควิด-19" ต้องอยู่แบบนี้นานแค่ไหน?
- ทำไมมี "วัคซีน" แล้วยังไม่กล้าฉีด? "โควิด-19" ไวรัสร้ายเจ้าปัญหา
- ยิ่งเสี่ยง ยิ่งอยากลอง ลงทุน "บิตคอยน์" ดีกว่าทองคำ?
- เมื่อนายกฯ ให้ดูเศรษฐกิจประเทศรอบบ้าน เราก็ดู หาคำตอบ "ไทย" ดีขึ้นกว่าเขา