- นายกฯ ย้อนคนกล่าวหา "ทำเศรษฐกิจแย่!" ให้หันไปดูเศรษฐกิจประเทศรอบบ้าน หลายๆ อย่างเราดีขึ้นกว่าเขา...
- GDP ปี 2563 ของไทย หดตัว -6.1% ซึ่งคาดการณ์ว่า ปี 2564 จะเติบโตอยู่ที่ +2.5-3.5%
- "การท่องเที่ยว" อยู่ใน "สภาวะไร้ฝน" ประมาณการภาพการฟื้นตัวได้ว่าจะกลับมาในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564
"หลายคนที่กล่าวอ้างว่า ผมทำให้เศรษฐกิจแย่ลง ก็ต้องดูด้วยว่า เศรษฐกิจระดับโลกและเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเป็นอย่างไร ประเทศรอบบ้านเป็นอย่างไร หลายๆ อย่างเราดีขึ้นกว่าเขา..."
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
คงไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความกับประโยคข้างต้น ที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์ตอบกลับนักข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ซึ่งเมื่อนายกฯ ว่ามาแบบนั้น เรามีหรือจะเมินเฉยปล่อยให้ "คำกล่าว" ของท่านลอยหายไปกับสายลม ก็ต้องหันไป "ดู" ตามที่ท่านกล่าว...ว่าแล้ว "ภาพเศรษฐกิจไทย" เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วเป็นอย่างไร? ...ที่สำคัญ ถ้าที่ว่าแย่นั้น มันเพิ่งมาแย่แค่เพราะ "โควิด-19" (Covid-19) หรือจริงๆ มันแย่มาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว
...
อันดับแรกขอหยิบยก "ตัวเลข" เทียบง่ายๆ ที่นิยมใช้เปรียบเทียบกันอย่าง "ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ" หรือที่เรียกว่า "จีดีพี" (GDP: Gross Domestic Product) ซึ่ง GDP ที่ว่านี้ คำนวณมาจาก C+I+G+(X-M) นั่นคือ การนำมูลค่าการบริโภคภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป (C) บวกกับมูลค่าการลงทุนภาคเอกชนในสินค้าทุน (I) บวกกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาล (G) เอามาบวกกับส่วนต่างของมูลค่าการส่งออก (X) และมูลค่าการนำเข้า (M)
และสำหรับ GDP ปีที่ผ่านมา (2563) ที่ทั่วโลกโดนวิกฤติโควิด-19 ถาโถม ก็ย่อมทำให้ "ตัวเลข" GDP ตรงนี้ "หดตัว" จากปีก่อนหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่ง "ไทย" เองก็ได้รับผลกระทบที่เรียกได้ว่า "ย่ำแย่" ในรอบหลายปี โดยเฉพาะไตรมาส 2/2563 ที่หดตัวถึง -12.1% ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นดีขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะพ้น "จุดติดลบ" มาได้แต่อย่างใด GDP ทั้งปี 2563 ยืนอยู่ที่ -6.1%
ทีนี้มา "ดู" ตามที่นายกฯ ว่า... "ประเทศรอบบ้าน" ของ "ไทย" นั้น GDP เขาเป็นอย่างไร?
เฉพาะแค่ "เส้นสีแดง" ฝั่งซ้ายนั้น ถ้าว่ากันด้วย "ตัวเลข GDP" ปีที่ผ่านมา (2563) ภายใต้มรสุมวิกฤติโควิด-19 "ไทย" ก็ไม่ได้แย่ที่สุดในบรรดาประเทศรอบบ้าน นับว่ายังเป็น "รองบ๊วย" ที่ "เส้นสีแดง" ของ "ฟิลิปปินส์" ลากยาวกว่าเพื่อน อยู่ที่ -9.5%
ส่วน "เส้นสีแดง" ที่สวนทางไปอีกด้านของบรรดาเพื่อนๆ ก็มีอยู่ 3 ประเทศ คือ เวียดนาม +2.9%, เมียนมา +1.8% และบรูไนฯ +1.4%
มาถึงตรงนี้... นายกฯ ที่กล่าวว่า "หากจะว่า ผมทำเศรษฐกิจแย่ก็ต้องไปดูเศรษฐกิจประเทศรอบบ้านด้วย" ทุกท่านคิดอย่างไร?
ทีนี้เมื่อเทียบด้วย GDP ก็อาจจะมีคำย้อนมาว่า "นี่ก็แค่ตัวเลข GDP มันไม่ได้ชี้ชัดว่าเศรษฐกิจประเทศจะแย่เสมอไปซะหน่อย!"
โอเคว่า GDP อาจไม่ได้บอกได้ทั้งหมด เพราะถ้าจะให้ดูเทียบกันแล้ว เราก็คงจะต้องย่อยรายละเอียดอื่นๆ อีกมาก แต่ "ตัวเลข GDP" ที่ว่านี้ มีผลต่อ "นักเศรษฐศาสตร์" และ "นักลงทุน" อยู่ไม่น้อย... ที่อาจเทียบได้ว่า GDP คือ "ตัวแทน" ของผลิตผลและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เพราะอะไร?
นั่นก็เพราะหากเศรษฐกิจมีสุขภาพดี ก็หมายความว่า การว่างงานอยู่ในระดับต่ำและค่าแรงก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในส่วนภาคธุรกิจก็อาจจะมีการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้นด้วย โดย "นักเศรษฐศาสตร์" จะพิจารณาการเติบโตของ GDP ที่เป็น "บวก" ซึ่งมักเทียบแบบปีต่อปี (YTY) เพื่อประเมินความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจว่ามีเท่าไร ตรงกันข้าม หากเป็น "ลบ" ก็อาจเป็นดัชนีที่ชี้ได้ว่า เศรษฐกิจกำลังตกอยู่ใน...หรือใกล้จะตกอยู่ใน "ภาวะเศรษฐกิจถดถอย" หรือมีแนวโน้มที่จะตกต่ำลง และนั่นหมายรวมถึงกิจกรรมทางธุรกิจด้วย
...
ขณะที่ "นักลงทุน" สนใจ GDP เพราะ % การเปลี่ยนแปลงของ GDP มีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็สามารถส่งผลกระทบต่อ "ตลาดหุ้น" ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยทั่วไปแล้ว เมื่อ "ตัวเลข" ทางเศรษฐกิจออกมาว่า "ย่ำแย่" ก็หมายความว่า รายได้ของบริษัทต่างๆ ลดน้อยลง และนี่สามารถแปลไปสู่ความตกต่ำของ "ราคาหุ้น" ได้
แต่อย่างไรก็ตาม GDP ก็คือ หน่วยวัดของเศรษฐกิจในไตรมาสและปีก่อนหน้า ในการอธิบายว่า ผลิตผลและการเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อหุ้นและการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาอย่างไร ไม่ใช่การพยากรณ์ว่า "ตลาด" จะเคลื่อนตัวอย่างไรในอนาคต
ในส่วน "ฟิลิปปินส์" ประเทศรอบบ้านเราที่ตัวเลข GDP ติดลบหนักที่สุดนั้น เกิดอะไรขึ้นกัน ทำไมถึง "ติดลบ" หนักกว่าที่คาดการณ์? แถมแซงหน้า ดัน "ไทย" ขึ้นมาเป็น "รองบ๊วย" จากที่ตอนแรกในช่วงปลายปี 2563 นักเศรษฐศาสตร์และนักพยากรณ์หลายสำนักต่าง "ฟันธง" มาว่า "ไทย" นี่แหละ...ประเทศที่จะมี GDP ปี 2563 แย่ที่สุดในบรรดาประเทศรอบบ้าน!
"ฟิลิปปินส์" หนักแค่ไหน?
การหดตัว -9.5% ของ GDP ฟิลิปปินส์นี้ นักเศรษฐศาสตร์มองว่า นี่น่าจะเป็น "ตัวเลข" ที่หนักที่สุดเท่าที่ข้อมูลรัฐบาลฟิลิปปินส์เคยบันทึกมานับแต่ปี 2489 ทั้งๆ ที่ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา "ฟิลิปปินส์" นับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งหากจะฟื้นกลับมาเป็น "บวก" ได้อีกครั้ง เชื่อว่าน่าจะต้องใช้เวลาไปจนถึงไตรมาส 2 และธนาคารโลก (World Bank) ก็คาดการณ์ว่า GDP ทั้งปี 2564 ของฟิลิปปินส์น่าจะขยายตัวที่ +5.9% ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ขณะที่ ฟากฝั่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ก็ออกมาบอกว่า จะอัดฉีด 4.7 ล้านล้านเปโซ หรือประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 0.62 บาท) ในการขับเคลื่อนการเติบโตของ GDP ให้สูงเทียบเท่า +7.5%
...
แน่นอนว่า "ฟิลิปปินส์" เองก็ไม่ต่างจากหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่มองว่า การ "ฉีดวัคซีน" จะเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยรัฐบาลต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากร 100 ล้านคนภายในสิ้นปี 2565 เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) แต่จนถึงตอนนี้ การลงนามสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ของฟิลิปปินส์มีเพียง 1 ใน 3 ของปริมาณโดสที่ต้องการเท่านั้น
"ตัวเลข" อื่นๆ ของ "ฟิลิปปินส์" ที่น่าสนใจ...
1. ไตรมาส 4 ปี 2563 รัฐบาลมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4.4% นับจากต้นปี ขณะที่ การบริโภคภาคครัวเรือนลดลง 7.2%
2. ภาคสำคัญต่างๆ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ในไตรมาส 4 ปี 2563 ยังคงหดตัว เช่น ภาคเกษตรลดลง 2.5% เทียบกับปีก่อนหน้า, อุตสาหกรรมลดลง 9.9% และภาคบริการลดลง 8.4%
3. มาตรการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดภายในประเทศทำให้การใช้จ่ายครัวเรือนในปี 2563 ลดลงอยู่ที่ 801,000 ล้านเปโซ หรือกว่า 5 แสนล้านบาท รวมถึงสูญเสียรายได้ราว 1.04 ล้านล้านเปโซ หรือประมาณ 6.4 แสนล้านบาท
สุดท้าย 4. รัฐบาลเชื่อว่า การอัดฉีดงบโครงสร้างพื้นฐาน 1.1 ล้านล้านเปโซ หรือประมาณ 6.8 แสนล้านบาท จะสามารถช่วยสร้างงานได้ 1.7 ล้านงาน
และนั่นอาจประมาณการได้ว่า ณ สิ้นปี 2564 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% ซึ่งนั่นหมายความไม่มีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีก
มาว่ากันต่อที่ "ไทย" น่าสนใจว่า ปี 2564 นี้จะมีทิศทางไปอย่างไร?
ภาพที่เห็นด้านล่างนี้ คือ ตัวเลขการประมาณการที่ "ธนาคารโลก" ประเมินเอาไว้คร่าวๆ ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขที่ปรากฏก็เหมือนว่า "ไทย" น่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ดีทีเดียว และเมื่อเทียบกับ "เวียดนาม" ประเทศที่มี GDP ยืนอยู่เหนือประเทศรอบบ้านอื่นๆ ด้วยแล้ว ก็เหมือนว่าพอจะ "สู้" ได้ชนิดที่ว่า "สูสี" ทีเดียว
...
โดย "ไทย" มีการคาดการณ์ว่า การเติบโตของ GDP ปี 2564 จะลดลงมาอยู่ที่ +2.5-3.5% เทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่มองว่าน่าจะอยู่ที่ +3.5-4.5% แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี (+1.6%)
แน่นอนว่า เหตุผลหลักๆ คือ "การท่องเที่ยวทั่วโลก" ที่ตอนนี้เรียกได้ว่าอยู่ใน "สภาวะไร้ฝน" แห้งแล้งเสียจนมีการคาดการณ์ว่า กว่าจะฟื้นกลับมาได้ก็น่าจะไตรมาส 4 นู่นทีเดียว ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ด้วย รวมถึง "เสถียรภาพ" ทางการเมืองที่ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
แต่แม้ภาพตัวเลขคาดการณ์ด้านบนนั้น "ไทย" เหมือนจะดีกว่า "เวียดนาม" แต่หากจะบอกว่า ปี 2564 ใครจะเป็น "ผู้นำ" การเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คงจะหนีไม่พ้น "เวียดนาม" อยู่ดี
จาก GDP ปี 2563 ที่อยู่ที่ +2.9% เพราะประสบความสำเร็จในการควบคุมไวรัสโควิด-19 รวมถึงภาคการส่งออกที่แข็งแรง โดยเฉพาะสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และอุปโภคบริโภคอื่นๆ ทำให้รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าว่า ปี 2564 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโต +6.5% มากกว่า "ไทย" เกือบเท่าตัว!
และข้อหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับ "เวียดนาม" คือ การเป็น "ผู้ชนะ" ใน "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ "ส่งออกเวียดนาม" ได้อานิสงส์ไปเต็มๆ โดยหากว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกยังตึงเครียดต่อไปแบบนี้ มีแววว่า เวียดนามจะมี "ใบเสร็จ" รายรับจากจีนมากพอสมควรในการเป็น "ตัวเลือก" หลบหลีก "กำแพงภาษี" จากสหรัฐอเมริกา
ที่น่าจับตามากกว่า "ตัวเลข" การหดตัวของ GDP คือ สิ่งที่เรียกว่า "แผลเป็นทางเศรษฐกิจ" (Economic Scar) ตั้งแต่การล้มละลายของภาคธุรกิจ ฐานะทางการเงินของครัวเรือนที่เปราะบาง ไปจนถึงการว่างงานที่สูงขึ้น เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งสิ้น.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Phantira Thongcherd
ข่าวน่าสนใจ:
- ใครได้-ใครเสีย รีดภาษี "อี-เซอร์วิส" ทำ "แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ" ซีด
- "รถไฟฟ้า" แพงเพื่อใคร? ถึงเวลา "ตั๋วร่วม" รื้อสัมปทาน เว้น "ค่าแรกเข้า"
- เปิดพอร์ต "คลัง" มูลค่ากว่า 1 ล้านล้าน ทุ่มจองซื้อหุ้น OR เต็มโควตา
- ไขปริศนาการหายตัว "เอลิซา แลม" หลากทฤษฎีสมคบคิด สุดท้ายจบแสนเศร้า
- ยิ่งเสี่ยง ยิ่งอยากลอง ลงทุน "บิตคอยน์" ดีกว่าทองคำ?
ข้อมูลอ้างอิง:
- รายงานสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ปี 2563 : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
- ธนาคารโลก (World Bank)