- กัญชาจะให้สาร CBD หรือ Cannabidiol บรรเทาอาการเจ็บปวด ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท และสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ออกฤทธิ์ต่อสมองและระบบประสาทโดยตรง ซึ่งกัญชาแต่ละสายพันธุ์ จะให้สารเหล่านี้แตกต่างกัน
- ตั้งแต่ปี 2562 ไทยทยอยปลดล็อกการใช้ประโยชน์จาก "กัญชา"ในทางการแพทย์และวิจัย เฉพาะผู้ป่วยต้องใช้กัญชารักษาตัว ให้ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง โดยผ่านการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ
- รวมถึงสามารถนำไปประกอบอาหาร ทำยาสมุนไพรได้ ต้องมาจากส่วนประกอบของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด เช่น เส้นใย เปลือก กิ่ง ก้าน ราก และใบกัญชาที่ไม่มียอดหรือช่อดอก จากสถานที่ปลูกหรือผลิตในประเทศที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
เพราะฉะนั้นแล้วสายเขียวทั้งหลายอย่าสับสนว่าเป็นนโยบาย "กัญชาเสรี" แม้ที่ผ่านมามีการนำร่องปลูกกัญชา 6 ต้น ในกลุ่มสมาชิกวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรไทยโนนมาลัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบในการปลูกและผลิตกัญชาทางการแพทย์ แต่ถามว่าชาวบ้านทั่วไป จะสามารถปลูกได้หรือไม่?
...
เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในสังคม "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" นำข้อสงสัยต่างๆ สอบถามไปยัง "นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์" ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ เริ่มจากคำถามการเปิดกัญชาเสรีในไทยจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งได้คำตอบว่า การเปิดเสรีหรือไม่เปิดเสรี เป็นเพียงการจำกัดความ แต่ขณะนี้เมืองไทยได้เปิดกว้างขึ้น เริ่มเปิดเสรีในเชิงพาณิชย์ โดยมีกรอบกฎหมายกำกับดูแล จากเดิมต้องเป็นเอกชนรายใหญ่ ได้มาสู่รายย่อยมากขึ้น ทำให้ประชาชนและชาวบ้าน สามารถนำ "กัญชา" มาปลูกหลังบ้านได้ แต่ต้องมีหน่วยงานของรัฐกำกับ เป็นการทำโมเดลให้เล็กลงในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน
เหมือนไทยกำลังเปิดกัญชาเสรีแบบกึ่งๆ นับตั้งแต่ปี 2562 ได้มีการปลดล็อกหลายอย่าง ถือว่าเร็วมากใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี แบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในการรักษาโรค แต่ไม่ใช่ให้เสพโดยเสรีเพื่อสันทนาการ ซึ่งผิดกฎหมายถูกจับกุมอย่างแน่นอน
ข้อควรรู้นำกัญชาทำอาหาร เอาใจสายเขียว ไม่เสี่ยงถูกจับ
ในกรณีร้านอาหาร สามารถประกอบอาหารจากกัญชาได้ หลังมีการปลดกัญชาออกจากยาเสพติดในพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 เฉพาะใบ รากต้นเท่านั้น ยกเว้นช่อดอก ใบติดดอก และเมล็ดกัญชา ยังเป็นยาเสพติด โดยกัญชาที่นำมาทำเป็นเมนูอาหาร ต้องมาจากแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมาย ซึ่งได้มีการขออนุญาตในการใช้ประโยชน์กับ อย.
“ร้านอาหารไม่ต้องขออนุญาต แต่คนทำอาหารจากกัญชา ต้องมีความรู้ในการปรุงว่าสามารถใส่มากใส่น้อยอย่างใดไม่ให้คนเมา แม้อย.ไม่ได้ล็อกหรือบังคับต้องผ่านการอบรม คาดว่าแนวทางต่างๆ จะออกมาภายหลัง เช่น ห้ามขายให้กับคนอายุ ต่ำกว่า 25 ปี ผู้ป่วยโรคเลือด หญิงตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยง และใบกัญชาสด มีสาร THC หากเจอความร้อนจัด จะมีฤทธิ์มาก เช่น บราวนี่ใส่กัญชา ขณะที่เมนูบางอย่าง เช่น ใบกัญชาชุบแป้งทอด เมื่อโดนความร้อนจะรีดน้ำมันกัญชาออกมา ทำให้ฤทธิ์น้อยลง และที่สำคัญห้ามบริโภควันละไม่เกิน 5 ใบ ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ของกัญชามีฤทธิ์ไม่เท่ากัน สิ่งเหล่านี้ต้องให้ความรู้”
...
สรุปแล้วการนำใบกัญชาไปประกอบอาหาร ยังมีข้อควรระวัง เนื่องจากการใช้กัญชาในอาหารเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทย ผู้บริโภคควรเริ่มต้นรับประทานแต่น้อย และบางกลุ่ม เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัวควรระมัดระวังในการรับประทาน ซึ่งทางอย.ร่วมกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะเผยแพร่ความรู้ในการประกอบอาหารจากกัญชา อย่างปลอดภัยเร็วๆ นี้
กัญชาปลูกบ้านละ 6 ต้น ทำได้ถ้วนหน้า แต่มีเงื่อนไข
...
อีกข้อสงสัยของสังคมในกรณีปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น สามารถทำได้ทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะที่จ.บุรีรัมย์เท่านั้น โดยต้องรวมตัวกัน 7 ครัวเรือนขึ้นไปทำเป็นวิสาหกิจชุมชน ไปจดแจ้งกับเกษตรอำเภอ นำไปสู่กระบวนการทำเรื่องขอใบอนุญาตจากอย. ในการทำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากกัญชา อย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรไทยโนนมาลัย จ.บุรีรัมย์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐคอยช่วยเหลือแนะนำในการปลูกแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพราะกัญชามีศัตรูพืชและโรคต่างๆ ไม่สามารถปลูกได้ง่ายๆ ต้องเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมและมีวิธีปลูกที่ถูกต้อง
ขณะที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 378 พ.ศ. 2559 ออกตามพ.ร.บ.อาหาร ปี 2522 ซึ่งเน้นการควบคุมผลิตภัณฑ์ ห้ามใช้กัญชามาปรุงอาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งในขณะนี้ทาง อย. กำลังเร่งพิจารณาเพื่อเสนอให้มีการแก้ไขประกาศฉบับนี้ คาดอาจมีการออกประกาศฉบับใหม่ในเร็วๆ นี้ เพื่อไม่เกิดความสับสน หากร้านอาหารใดจะนำใบกัญชามาประกอบอาหาร คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะยังมีหลายร้านยังหวั่นๆ จะถูกจับอาจจะต้องชะลอออกเมนูอาหารมีส่วนผสมของกัญชาไว้ก่อน หรือบางร้านยึดคำแถลงของอย.ที่ออกมาล่าสุดว่าสามารถทำได้ ไม่ต้องขออนุญาต.
...
ผู้เขียน : ปูรณิมา