ยุคโควิดระบาดส่งผลกระทบไปทั่ว ทำให้โลกออนไลน์และสมาร์ทโฟน กลายเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไปแล้ว ผ่านระบบการลงทะเบียนรับสิทธิ์ เป็นอีกภาพฉายให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมดิจิทัล เพราะยังมีคนอีกกลุ่มที่ต้นทุนชีวิตต่ำ อยู่อย่างขัดสนก่อนโควิดระบาด หรือเรียกว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง อาจไกลเกินเอื้อมที่จะเข้าถึงเทคโนโลยี จนโอกาสตกหล่นไม่ได้รับเงินเยียวยา ในห้วงโควิดเข้ามาทับถมซ้ำจากรายได้หดหาย
แม้ กระทรวงการคลัง เปิดให้กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ทโฟน รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ตามโครงการ “เราชนะ” ยังธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือหน่วยบริการเคลื่อนที่ธนาคารกรุงไทย แต่จะมั่นใจได้อย่างไร? กลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้ จะได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง โดยไม่มีการตกหล่น
“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ ”ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ บอกว่า สิ่งที่ภาครัฐทำอยู่ในการเปิดให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ ซึ่งไม่มีสมาร์ทโฟน ลงทะเบียนรับสิทธิ์โครงการ “เราชนะ” เป็นไปตามที่เคยแสดงความเห็นมาก่อน ถือเป็นข่าวดีที่รัฐยังรับฟัง และถามว่าทั่วถึงหรือไม่ก็น่าจะทั่วถึงในพื้นที่ที่มีธนาคารของรัฐ แต่ไม่ถึงพื้นที่ชายขอบจริงๆ ซึ่งคงยากมาก เพราะผู้สูงอายุอาจเดินทางมาลงทะเบียนด้วยความยากลำบาก หากได้เงินจริงก็ต้องไปติดต่อธนาคารอยู่ดี เป็นสิ่งที่ดีที่สุด และดีกว่านโยบาย "เราไม่ทิ้งกัน" จากการล็อกดาวน์ครั้งแรก เพราะรัฐมองข้ามคนข้างล่างในเรื่องแนวทางปฏิบัติที่แท้จริง จนมีคนจำนวนมากเข้ามาร้องเรียนไม่ได้รับเงินเยียวยา หรือบางคนกรอกเอกสารไม่ถูกต้อง
...
“เป็นจุดอ่อนที่รัฐควรมีระบบจองคิว หรือขอให้ อสม.ในพื้นที่ รวมถึงผู้ใหญ่บ้านในชุมชนทำการสำรวจ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาดูแลโครงการเราชนะ เพราะอาจจะเกิดการทำแทนเดินเรื่องให้ แลกกับการกินค่าหัวคิว แทนที่จะได้เงินเยียวยาเต็มจำนวน อาจได้แค่ 4.5 พัน หรือ 5 พัน”
อีกทั้งการระบาดของโควิดรอบนี้รุนแรงมาก ไม่สิ้นสุด ตามที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ออกมาระบุ และล่าสุดเจอซุปเปอร์สเปรดเดอร์ในพื้นที่จ.ปทุมธานี เพราะการแพร่เชื้อมาจากแรงงานต่างด้าวกระจายไปยังพื้นที่แออัด และกิจการสีเทา ซึ่งเป็นจุดอันตราย ดังนั้นมาตรการที่ไทยเคยทำสำเร็จในการควบคุมโควิดให้ตัวเลขคนติดเชื้อเหลือน้อย คงทำไม่สำเร็จในครั้งนี้ เพราะเชื้อโควิดอยู่แบบกระจายและจะระเบิดเป็นจุดๆ ทำให้การล็อกดาวน์จะเกิดขึ้นเป็นจุดๆ ตามมา
แม้จะเห็นด้วยกับมาตรการในการให้เงินเยียวยา 2 เดือน ผ่านโครงการ "เราชนะ" แต่รัฐควรพิจารณาให้เงินเพิ่มเติมในบางพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ภายใต้หลักคนมีรายได้วันละ 300 บาท คูณด้วยจำนวนวันทำงาน 26 วัน หรือประมาณ 8 พันบาทต่อเดือน โดยรัฐอาจพิจารณาให้เงินเยียวยาประมาณ 4-5 พันบาทต่อเดือน หากอุดหนุน 8 พันบาทคงไม่ไหว จะต้องให้ผู้ได้รับผลกระทบช่วยเหลือตัวเองในการดิ้นรนหารายได้
ยกเว้นกลุ่มช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จริงๆ เช่น เด็กยากจนที่หลุดจากโรงเรียน ซึ่งขณะนี้มีจำนวนไม่น้อย และกลุ่มตกงานเรื้อรัง เพราะปกติประกันสังคม มีเงินช่วยเหลือบางส่วนในช่วง 3 เดือนเท่านั้น แต่เมื่อโควิดระบาดหนัก ทำให้หางานลำบาก ดังนั้นรัฐต้องช่วยเหลือ โดยกระทรวงแรงงานควรจ้างฝึกอาชีพวันละ 300 บาท เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ให้มีทักษะใหม่ในการประกอบอาชีพ และมีการจ้างงานตามสัดส่วน หรือรัฐช่วยเหลือจ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่งช่วยผู้ประกอบการ หรือโครงการที่รัฐพยายามจ้างงานเด็กจบใหม่ อาจให้ไปสำรวจแรงงานที่ไม่มีมือถือในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อให้การช่วยเหลือ
“เข้าใจว่ารัฐโดนมัดมือ ให้ต้องจ่ายเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง แทนการจ้างงาน แต่การเปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์ และมีคนจำนวนมากๆ เดินทางไปธนาคารนั้น เสี่ยงติดโควิดมากๆ หากเกิดอะไรขึ้นรัฐต้องรับผิดชอบ คิดว่าตอนแรกรัฐไม่เคลียร์ในเรื่องการสื่อสาร ทำให้ไม่มีการวางแผนในการจัดระบบคิว เพื่อไม่ให้คนรวมตัวเป็นจำนวนมาก”
ขณะนี้เข้าใจว่ารัฐกำลังรอดูอยู่ว่าจะทำอะไรต่อไป จากการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทในการแก้ไขผลกระทบโควิด เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังเข้าไม่ถึงซอฟต์โลน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของแบงก์ชาติ และ ณ ปัจจุบัน วัคซีนโควิดกำลังมาถึงไทย แต่กว่าจะฉีดให้ทั่วถึงน่าจะประมาณต้นปี 2566
...
เพราะฉะนั้นแล้วภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จะกลับมาในช่วงปี 2566 ซึ่งนานมาก หากรัฐบาลไม่เข้าไปช่วยเหลือ จะทำให้พวกสายป่านไม่ยาวตายหมด และพวกนายทุนคนรวยจะเข้าไปยึดครอบครองกิจการแทน ซึ่งรัฐบาลควรจัดตั้งโกดังหนี้ หรือแวร์เฮาส์ซิ่ง ทำเป็นกองทุนช่วยเหลือไม่ให้คนจนยิ่งจนเพิ่มขึ้น และไม่ให้คนรวย รวยมากยิ่งขึ้นไปอีก
สรุปแล้วมาตรการช่วยเหลือเยียวยาคนได้รับผลกระทบจากโควิดประมาณ 30 ล้านคน ก็น่าจะครบถ้วนเพียงพอ และอยากให้รัฐช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่บ้านฐานะยากจน ต้องออกจากโรงเรียน รวมถึงกลุ่มคนตกงานเรื้อรัง โดยแบ่งเป็นโซนพื้นที่ เช่น พื้นที่สีแดง ควรมีเงินช่วยเหลือมากขึ้น เนื่องจากโควิดยังอยู่อีกนาน ซึ่งรัฐบาลต้องรีบช่วยเหลือไม่ให้เกิดปัญหาเรื้อรัง เพราะท้ายสุดแล้วหากเด็กพ้นจากโรงเรียนไปนาน จะไม่สามารถกลับไปเรียนได้ง่าย รวมถึงกลุ่มตกงานเรื้อรัง จะหางานได้ลำบากมากขึ้น เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานๆ
“โควิดทำให้ชีวิตหลายคนเปลี่ยนแปลงไป อย่างคนพิการที่เคยมีงานทำ จากที่เคยพึ่งพาพ่อแม่ พอมีงานทำก็แยกย้ายไปสร้างครอบครัว และเมื่อเกิดโควิดก็ตกงาน ได้รับผลกระทบ ทางภาครัฐต้องเร่งช่วยเหลือ ไม่ให้ชีวิตตกต่ำหนักไปมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเรื้อรังในอนาคต”.
...