• นับถอยหลัง "ภาษีอี-เซอร์วิส" มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เดือนที่ 7 ถัดจากเดือนที่ประกาศ
  • แพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างชาติที่จะถูกจัดเก็บภาษี อาทิ Facebook, Google, Youtube และ Netflix เป็นต้น
  • ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา "เศรษฐกิจดิจิทัล" มีสัดส่วนกว่า 15.5% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก (GDP)

นับถอยหลังรีด "ภาษีอี-เซอร์วิส" บรรดาแพลตฟอร์มดิจิทัลและออนไลน์ต่างประเทศ หลังจากที่หลายปีที่ผ่านมากวาดกำไรกลับประเทศตัวเองไปมากโข ...ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เดือนที่ 7 ถัดจากเดือนที่ประกาศเป็นต้นไป

ภาษีอี-เซอร์วิส (e-Service)
คืออะไร?

"ภาษี" ในที่นี้ คือ VAT หรือ "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" ที่จะเรียกเก็บจาก "บริการอิเล็กทรอนิกส์" และ "อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม" ที่ให้บริการจากต่างประเทศ ไม่ได้จดทะเบียนในไทย ง่ายๆ ก็บรรดาโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่เราใช้กันอย่าง เฟซบุ๊ก (Facebook), กูเกิล (Google), ยูทูบ (YouTube) และเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) นั่นเอง

โดยการเรียกเก็บในครั้งนี้ จะคำนวณจาก "ภาษีขาย" ไม่ได้หักภาษีซื้อ

หากถามว่า ทำไมเราถึงต้องเรียกเก็บ "ภาษีอี-เซอร์วิส" จากบรรดาเจ้าพ่อโซเชียล-แอปพลิเคชันเหล่านี้?

...

ในหลายปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์และโฆษณาดิจิทัลสะพัดมหาศาล มูลค่าเป็นหมื่นๆ ล้าน และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นทุกๆ ปี โดยปี 2563 จากการประมาณการณ์ของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย มองว่า เฟซบุ๊ก (Facebook) จะครองเม็ดเงินสูงสุด ราว 7,000 ล้านบาท รองลงมา คือ ยูทูบ (YouTube) กว่า 4,000 ล้านบาท

เห็นแบบนี้... ไทยน่าจะได้ประโยชน์ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น! เพราะเม็ดเงินที่เราอัดฉีดเข้าไปกลับย้อนกลับไปสู่ประเทศต้นทางที่แพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้จดทะเบียนอยู่...

เรียกว่า ไทยเสียเปรียบชัดๆ!!

ในข้อดี "แพลตฟอร์มดิจิทัล" จากต่างประเทศเหล่านี้ ช่วยสร้างความบันเทิงและเป็นประโยชน์ในการใช้งานให้กับเรา แต่อีกแง่หนึ่งกลับส่งผลกระทบไม่น้อยทีเดียว ตั้งแต่...

1. ความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษี

2. ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน

3. ไทยสูญเสียรายได้ภาษี

และ 4. ข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลการซื้อขายสินค้า-บริการ

แต่แน่นอนว่า เมื่อมีการจัดเก็บ "ภาษีอี-เซอร์วิส" (e-Service) ในครั้งนี้ ย่อมมีคนได้และคนเสีย โดย "คนได้" ก็หนีไม่พ้นหน่วยงานจัดเก็บภาษี หรือก็คือ "กรมสรรพากร"

ซึ่ง เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ก็คาดว่า เมื่อการจัดเก็บ "ภาษีอี-เซอร์วิส" มีผลใช้บังคับแล้ว ในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2564 จะมีรายได้เข้ามาก่อนเดือนกันยายน โดยจากการประเมินอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าวที่ว่านี้ เป็นตัวเลขที่มีการเพิ่มขึ้นจากการประเมินในช่วงแรก ที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท นั่นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

และคนได้อื่นๆ อีก คือ ผู้ประกอบการไทยที่ขายสินค้าและบริการออนไลน์ และผู้ประกอบการต่างชาติที่จดทะเบียนภาษีในไทย

ส่วน "คนเสีย" แน่ๆ ก็คือ บรรดาขาใหญ่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีในไทย หรือก็พวกเฟซบุ๊ก (Facebook), กูเกิล (Google), ยูทูบ (YouTube), เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ทั้งหลาย ที่ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นในการเสียภาษีตรงนี้ และนั่นก็อาจส่งผลให้มี "คนเสีย" เพิ่มขึ้น นั่นก็คือ "ผู้บริโภคในไทย" นั่นเอง ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะผลักภาระ "ภาษีอี-เซอร์วิส" ตรงนี้ให้แก่ผู้ใช้

...

ทั้งนี้ หากนับตามที่ราชกิจจานุเบกษา ก็คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 โดยขณะนี้ กรมสรรพากรกำลังเตรียมระบบรองรับรอไว้แล้ว ซึ่งการจัดเก็บครั้งนี้หมายรวมถึงผู้ให้บริการดาวน์โหลดเกมออนไลน์ แอปพลิเคชัน และสติกเกอร์ด้วย เบื้องต้น จะมีการจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิสกับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาท

แต่ทีนี้ก็มีข้อเสนอในหลายๆ ฝ่าย อย่างกรณีการเสนอของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ที่ว่าหากจะเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล (Digital Service Tax: DST) พวกนี้ ในส่วนภาครัฐก็ควรที่จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ และปรับวิธีการพิจารณาการจัดเก็บภาษีให้เรียบง่าย เพื่อจูงใจให้แพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศเหล่านั้นมาขึ้นทะเบียนภาษีในไทยด้วย

เพราะหากมองภาพในตลาดโลกแล้ว การจัดเก็บ "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" จากแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มาจากต่างประเทศ มีการถกเถียงในวงกว้างที่ทั่วโลกกำลังจับตา เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศที่ต้องเสียภาษี และปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมายแล้วกว่า 60 ประเทศ

...

ทำไมทั่วโลกถึงต้องจับตา "ภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล" ...?

จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) พบว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา "เศรษฐกิจดิจิทัล" มีสัดส่วนกว่า 15.5% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก (GDP) และเติบโตรวดเร็วกว่าจีดีพีโลกถึง 2.5 เท่า

และนั่นจึงเป็นผลให้ในปี 2561 คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เสนอพิจารณาการจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล (Digital Service Tax: DST) อัตรา 3% ของรายได้ที่มาจากการให้บริการโฆษณาออนไลน์ รายรับหรือรายได้ที่มาจากกิจกรรมการเป็นตัวกลางทางดิจิทัล และยอดขายของข้อมูลที่มีการเก็บรวบรวมของผู้ใช้

รู้ไหม? ธุรกิจเหล่านี้มี "รายได้" มากมายแค่ไหน?

...

บรรดาเจ้าพ่อแพลตฟอร์มเหล่านี้มีรายได้รวมทั่วโลกประจำปีมากกว่า 915 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27,331 ล้านบาท และรายได้ที่ต้องเสียภาษีภายใต้สหภาพยุโรป (EU) อาจจะมากถึง 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในทางกลับกัน "สหรัฐอเมริกา" เอง ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "ประเทศแม่" ของบรรดาบริษัทเหล่านี้ ก็มีการคุมเข้มในการเรียกเก็บภาษีโต้กลับ โดยอ้างว่า "ภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล" (DST) มีเป้าหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อบริษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations: MNCs) ของสหรัฐอเมริกา

ย้อนกลับไปปี 2556 องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) และ G-20 ได้เริ่มโครงการการหลบเลี่ยงภาษีโดยการกัดกร่อนฐานภาษีในประเทศ หรือมีชื่อว่า Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) โดย OECD ตั้งเป้าว่า ข้อตกลงต่างๆ ที่ทำภายใต้โครงการ BEPS จะสำเร็จภายในกลางปี 2564 นี้

หากรวมกันระหว่าง Gross Receipts Tax หรือภาษีที่คิดจากจำนวนเงินที่ได้รับรวม กับภาษีจากการดำเนินธุรกรรม หรือ Transaction Tax คาดว่าจะอัตราการจัดเก็บจะอยู่ระหว่าง 1.5-7.5% จากเงินที่ได้รับรวมจากยอดขายพื้นที่โฆษณา การจัดหาบริการสื่อกลางดิจิทัล เช่น มาร์เก็ตเพลส (Marketplace) และยอดขายจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้

แต่การจัดเก็บ DST มีความแตกต่างขึ้นอยู่กับหลายๆ ประเทศ ของไทยเองก็อย่างที่ว่าไปในตอนต้น อย่างออสเตรียก็มีการเรียกเก็บกับเฉพาะโฆษณาดิจิทัลเท่านั้น หรือขณะที่ โปแลนด์มีการประเมินภาษีอี-เซอร์วิสเหล่านี้กับแค่ผู้ให้บริการสตรีมมิง ที่น่าสนใจ คือ ตุรกี ที่มีการจัดเก็บภาษี DST กับคอนเทนต์ดิจิทัล ที่รวมถึงโฆษณา กิจกรรมสื่อกลาง และยอดขายของข้อมูลผู้ใช้

ในทางกลับกัน อินเดียและเคนยา มีการเรียกใบจัดเก็บภาษีจากการบริการดิจิทัลที่มีความหลากหลายไม่จำกัด นอกจากนี้ ในบางประเทศยังไม่ได้มีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำอย่างมีนัยสำคัญในการจัดเก็บ

ภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล (Digital Service Tax: DST) ประเทศไหนจัดเก็บเท่าไรบ้าง?

ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2563

1. ออสเตรีย

โฆษณาออนไลน์ จัดเก็บอัตราภาษี 5% กับผู้ประกอบการที่มีรายได้รวมทั่วโลกขั้นต่ำ 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (25,091 ล้านบาท) และมีรายได้ภายในประเทศขั้นต่ำ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (836 ล้านบาท) มีผลใช้บังคับตั้งแต่มกราคม 2563

2. เบลเยียม

การขายข้อมูลผู้ใช้ จัดเก็บอัตราภาษี 3% กับผู้ประกอบการที่มีรายได้รวมทั่วโลกขั้นต่ำ 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (25,091 ล้านบาท) และมีรายได้ภายในประเทศขั้นต่ำ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (167 ล้านบาท) มีการหารือมาตั้งแต่มกราคม 2562 แต่ถูกตีตกไปในเดือนมีนาคม 2562 ก่อนจะถูกนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2563 โดยรัฐบาลให้คำมั่นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ว่าจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในอนาคต

3. ฝรั่งเศส

การจัดหาอินเตอร์เฟซดิจิทัลและบริการโฆษณาโดยมีพื้นฐานบนข้อมูลผู้ใช้ จัดเก็บอัตราภาษี 3% กับผู้ประกอบการที่มีรายได้รวมทั่วโลกขั้นต่ำ 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (25,091 ล้านบาท) และมีรายได้ภายในประเทศขั้นต่ำ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (836 ล้านบาท) มีการระงับการจัดเก็บชั่วคราวจนถึงธันวาคม 2563 ในการทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนเภาษีสินค้าฝรั่งเศส

4. สเปน

บริการโฆษณาออนไลน์, การขายโฆษณาออนไลน์ และการขายข้อมูลผู้ใช้ จัดเก็บอัตราภาษี 3% กับผู้ประกอบการที่มีรายได้รวมทั่วโลกขั้นต่ำ 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (25,091 ล้านบาท) และมีรายได้ภายในประเทศขั้นต่ำ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (90 ล้านบาท) มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2563

5. สหราชอาณาจักร

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย, บริการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต (Internet Search Engine) และออนไลน์มาร์เก็ตเพลส (Online Marketplace) จัดเก็บอัตราภาษี 2% กับผู้ประกอบการที่มีรายได้รวมทั่วโลกขั้นต่ำ 638 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (19,057 ล้านบาท) และมีรายได้ภายในประเทศขั้นต่ำ 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (956 ล้านบาท) มีผลใช้บังคับย้อนหลัง 1 เมษายน 2563

นี่เป็นเพียงบางส่วนที่หยิบยกมา...สำหรับไทยเองก็เตรียมนับถอยหลัง แต่หวังว่า บรรดาเจ้าพ่อแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติทั้งหลายจะไม่ขึ้นราคาค่าบริการกับผู้บริโภคในไทยจนเกินพอดี.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
ภาพปก: Jutaphun
กราฟิก: Wrongdesign

ข่าวน่าสนใจ:

ข้อมูลอ้างอิง:

  • โครงการวิจัยและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับกลไกด้านภาษีในภาคธุรกิจดิจิทัล โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • KPMG, "Taxation of the digitalized economy: Developments summary," October 6, 2020