ใครพร้อมไปก่อนเลย... ส่วน "ไทย" ขอช้าแต่ชัวร์! ...ว่าแต่ถ้าไม่รีบฉีด "วัคซีน" เราต้องอยู่แบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน?

The Answer จะมาว่ากันด้วยเรื่องของ "วัคซีน"

ที่ต้องพูดเรื่อง "วัคซีน" นั่นก็เพราะว่า เวลานี้หลายๆ ประเทศเขาเริ่มฉีดกันไปแล้ว ในขณะที่ "ไทย" เองยังคงรออยู่...

ถามว่า เรารออะไร?

คำตอบของ เจ้ากระทรวงสาธารณสุข คือ อยากให้ "คนไทย" ทุกคนปลอดภัย ได้รับ "วัคซีน-19" มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุด

เหมือนกับสำนวนไทยที่ว่า "ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม"

วัคซีนแอสตราเซเนกา | Photo: REUTERS/Yves Herman
วัคซีนแอสตราเซเนกา | Photo: REUTERS/Yves Herman

...

สำหรับจำนวน "วัคซีนโควิด-19" ที่ "รัฐบาลไทย" ทำสัญญาสั่งซื้อไปมีด้วยกัน 2 ตัว รวม 63 ล้านโดส แบ่งเป็น วัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford) 61 ล้านโดส กับซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) อีก 2 ล้านโดส

ซึ่งจากจำนวนที่ว่านี้ หากเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว มีความครอบคลุมเพียง 45% หรือประมาณ 32 ล้านคน แต่นี่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปลายปีที่แล้วเกือบ 3 เท่าที่ตอนนั้นครอบคลุมเพียง 19% เท่านั้น

แล้ว 2 ตัวที่ไทยเลือกซื้อนี้ มีประสิทธิภาพดีมากแค่ไหน?

ตัวแรก "วัคซีนซิโนแวค ไบโอเทค" (Sinovac Biotech) ที่เราจะได้รับมาฉีดก่อนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 2 ล้านโดส ปัจจุบันจากการทดสอบมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 50%

ส่วน "วัคซีนแอสตราเซเนกาและออกซ์ฟอร์ด" (AstraZeneca-Oxford) มีการทดลองไปแล้วกว่า 65,000 คน มากกว่าวัคซีนซิโนแวค 2.5 เท่า และมีประสิทธิภาพล่าสุดอยู่ที่ 70% ซึ่งก่อนที่ผลการทดสอบล่าสุดจะออกมานี้ วัคซีนแอสตราเซเนกามีการสั่งจองจากบรรดาประเทศต่างๆ มากกว่า 3,000 ล้านโดส มากกว่าวัคซีนท้าชิงรายอื่นๆ ถึง 2 เท่า

วัคซีนแอสตราเซเนกา | Photo: REUTERS/Yves Herman
วัคซีนแอสตราเซเนกา | Photo: REUTERS/Yves Herman

จากวัคซีน 2 ตัวที่ว่านี้ ถ้านับทั่วโลกตอนนี้ที่มีการพัฒนาโดยรวมแล้วมีทั้งหมดกว่า 15 ตัว แต่ที่มีการทำสัญญากับหลายๆ ประเทศมีอยู่ 9 ตัว เช่น ไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer/BioNTech), โมเดอร์นา (Moderna), จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) และในจำนวนนี้ก็มีที่นำมาฉีดแล้วรวม 7 ตัวในอย่างน้อย 76 ประเทศ

ถ้าถามว่า แล้ว "วัคซีน" ตัวไหนที่ประสิทธิภาพดีสุดในตอนนี้?

หากเทียบขนาดการทดลองแล้ว ก็ต้องบอกว่า "จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน" (Johnson & Johnson) น่าจับตาพอสมควร เพราะจากการทดลองในอาสาสมัคร 70,000 คน มีประสิทธิภาพถึง 66% กำลังขึ้นแท่นเป็นผู้นำในบรรดาผู้ท้าชิงวัคซีนทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อผลทดสอบออกมาว่า ฉีดแค่เพียง 1 โดสก็ได้ประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมแล้ว แถมยังเก็บรักษาในอุณหภูมิความเย็นมาตรฐานได้อีกด้วย แต่...หากใครที่เป็นกังวลว่า แล้วการฉีด 1 โดสของวัคซีนจอห์นสันฯ ได้ผลจริงหรือไม่? เพราะวัคซีนตัวอื่นๆ ต้องการ 2 โดสหมดเลย เพื่อความสบายใจ...ทางจอห์นสันฯ ก็ประกาศว่าจะมีการวินิจฉัยการทดสอบการฉีดวัคซีน 2 โดสในการยืนยันประสิทธิภาพ

ต่อมาในจุดที่ว่า ถ้าในเมื่อ "วัคซีน" ยังไม่มีประสิทธิภาพแน่ชัด แล้วทำไมเราจะต้องรีบฉีด?

ช้าๆ ได้ "พร้า" เล่มงามจริงหรือเปล่า?

คำตอบนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า เราอดทนอยู่แบบนี้ได้นานแค่ไหน?

Photo: AFP/Andre ISAKOVIC
Photo: AFP/Andre ISAKOVIC

...

เพราะ "การฉีดวัคซีน" จุดประสงค์หลักๆ คือ การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "ภูมิคุ้มกันหมู่" (Herd Immunity)

แต่หากในชุมชนที่เราอยู่ หรือประเทศของเรามีคนได้รับการฉีดวัคซีนแค่ไม่กี่คน... "ไวรัสโควิด-19" ก็สามารถแพร่ระบาดต่อไปได้เรื่อยๆ นั่นจึงเป็นเหตุว่า ทำไมเราถึงต้อง "รีบ" ฉีดวัคซีน! และต้องการรีบที่ว่านี้ก็ต้องให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุดด้วยเช่นกัน

แต่ทีนี้ก็มีการถามกันอีกว่า แล้วเจ้า "ภูมิคุ้มกันหมู่" ที่เอ่ยถึงนี้ จะต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากแค่ไหนถึงจะบรรลุผลสำเร็จ?

คำตอบที่ออกมาในตอนนี้ คือ การฉีดวัคซีนแบบเต็มศักยภาพ หรือฉีด 2 โดส ต้องครอบคลุมประชากร 75% ขึ้นไป หรืออีกประมาณการหนึ่งจากภาพที่ว่า ไม่พบการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่นั้นแล้ว...

แต่ถ้าเราไม่ "ฉีดวัคซีน" ก็คงต้องลุ้นภาพข้างหน้าแบบอย่างหลัง ซึ่งกว่าที่เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติเหมือนอย่างก่อนเกิดการระบาด...ก็แทบมองไม่เห็นภาพเลย

แต่จากประมาณการการกลับไปใช้ชีวิตปกติจากการฉีดวัคซีนทั่วโลก ในตอนนี้พอจะมองภาพคำตอบได้บ้างแล้วว่า เราต้องอดทนอยู่แบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน?

Photo: AFP/Thomas Kienzle
Photo: AFP/Thomas Kienzle

...

จากฐานข้อมูลของ "บลูมเบิร์ก" (Bloomberg) เห็นได้ว่า 76 ประเทศทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 159 ล้านโดส เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,803,044 โดสต่อวัน

โดยใน "อาเซียน" เริ่มฉีดไปแล้ว 3 ประเทศ คือ "เมียนมา" มีประชากรที่ฉีดอย่างน้อย 1 โดส 0.2%, "สิงคโปร์" มีประชากรที่ฉีดอย่างน้อย 1 โดส 4.4% และ "อินโดนีเซีย" มีประชากรที่ฉีดอย่างน้อย 1 โดส 0.4%

ซึ่งจากการประมาณการของ ดร.แอนโธนี เฟาซี (Anthony Fauci) เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านโรคติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ว่า ควรฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70-85% ของประชากร ถึงจะสามารถกลับไปสู่สภาวะปกติได้

เปอร์เซ็นต์ความครอบคลุม 70-85% ที่ว่านั้น เมื่อนำมาเทียบกับอัตราการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ที่เฉลี่ยวันหนึ่งทั่วโลกฉีดแค่ 5,800,000 โดสเท่านั้น การที่จะทำให้บรรลุผลสำเร็จในการกลับสู่ปกติก็อาจต้องใช้เวลาหลายปี

คำนวณแล้ว หากครอบคลุมประชากร 75% และฉีดวัคซีนคนละ 2 โดส เราอาจต้องใช้เวลาอยู่กับสภาวะแบบที่เป็นอยู่นี้...นานถึง 5.4 ปี!!

Photo: REUTERS/Benoit Tessier
Photo: REUTERS/Benoit Tessier

...

นี่ก็ถือว่าลดมาเกือบ 2 ปี เพราะก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ไว้ว่า เราอาจต้องทนอยู่แบบนี้ไปถึง 7 ปีเลยก็ได้ถ้าหากการฉีดวัคซีนยังไปแบบเนิบช้า...เป็นเต่าคลาน แล้วก็จมอยู่กับ ทศวรรษ Social Distancing หรือเว้นระยะห่างทางสังคมไปแบบยาวๆ

ส่วนเหตุผลที่ต้องฉีด 2 โดส นั่นก็เพราะว่า วัคซีนแต่ละตัวมีการออกแบบมาให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างเซลล์ความจำ ที่จะคอยจดจำและป้องกันการบุกรุกจากเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่างๆ แม้ว่าเราจะไม่เคยเผชิญกับมันมาก่อนก็ตาม และการฉีด 2 โดสนี้จะทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ยกตัวอย่าง "วัคซีนไฟเซอร์" (Pfizer) ที่การฉีด 1 โดส ลดความเสี่ยงการรับเชื้อได้ประมาณ 50% แต่พอฉีด 2 โดส กลับมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็น 95%

ซึ่งนอกเหนือจากที่ว่ามานั้น อีกหนึ่งที่เป็นกังวลในการฉีดวัคซีนล่าช้า คือ การเกรงว่า ไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ ทำให้ "วัคซีน" ที่มีอยู่ตอนนี้ไม่สามารถต้านทานได้ เช่นกรณีของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา ที่ประสิทธิภาพของ "วัคซีนแอสตราเซเนกา" (AstraZeneca) ไม่เป็นดั่งหวัง จนต้องระงับการฉีดทันที.

ข่าวน่าสนใจ: