ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา... คงไม่มีข่าวไหนสั่นสะเทือนได้เท่ากับ "กองทัพเมียนมา" ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล "ออง ซาน ซูจี" เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอีกแล้ว

ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนเมียนมาส่วนใหญ่ต่างรู้สึก "ท้อแท้และหวาดกลัว" เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา... พวกเขาฝากชีวิตไว้กับเธอเกือบ 100%

ทุกคนต่างทราบกันดีว่า "ออง ซาน ซูจี" ผู้นำพลเรือนคนนี้ เป็นที่ชื่นชอบและได้รับการนับถือราวกับ "ไอดอล" มาตั้งแต่ก่อนจะกลับมามีอำนาจอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แม้ในยามที่เธอถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในบ้านพักเป็นเวลานานมากกว่า 15 ปี ก็ไม่ได้ทำให้ความยกย่องในตัวเธอลดลง

แน่นอนว่า หลังจาก "เธอ" ถูกปล่อยตัวและลงสู่สนามการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมา เมื่อปี 2558

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ "เอ็นแอลดี" (National League for Democrazy: NLD) ก็คว้าชัยชนะและขึ้นเป็น "รัฐบาล" ตามคาด...

ปิดฉาก "ทศวรรษใต้ท็อปบูต!"

Photo by RONNY HARTMANN / AFP
Photo by RONNY HARTMANN / AFP

...

แต่แล้ว... การเดินทางของ "เธอ" ก็หยุดชะงัก อันเป็นผลจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่แม้จะได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ซึ่งพรรค NLD อ้างว่า ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 80% ของคะแนนเสียงทั้งหมด กลับกลายเป็น "เชือกพันธนาการมัดตัว!"

"ออง ซาน ซูจี" ถูกกักตัวอีกครั้ง!

พร้อมกับรายงานข่าว "ข้อกล่าวหา" การครอบครอง "เครื่องรับส่งวิทยุมือถือ" โดยไม่ได้รับอนุญาต

"เมียนมา" กลับไปอยู่ "ใต้ท็อปบูต" อีกครั้ง ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี

คำถาม คือ "ประชาธิปไตย" ในเมียนมา หากไม่มี "ออง ซาน ซูจี" จะเป็นอย่างไร?

ก่อนอื่นต้องยอมรับในความจริงที่ว่า "กองทัพ" ไม่เคยสูญเสียอำนาจในการควบคุมเมียนมา แม้จะมีการปฏิรูป "ประชาธิปไตย" ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ตาม

Photo by Ye Aung THU / AFP
Photo by Ye Aung THU / AFP

"เมียนมา" ภายใต้การควบคุม "ตัตมะดอว์"

"ตัตมะดอว์" (Tatmadow) หรือกองทัพทุกเหล่าทัพของเมียนมา ผูกขาดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การควบคุมของกองทัพบก กระทรวงชายแดน และกระทรวงมหาดไทย กลายเป็นผู้ควบคุมประเทศอย่างเป็นทางการ

โดยต้นเหตุของ "รัฐประหาร" ครั้งนี้ มาจาก "คำกล่าวหา" ของบรรดา "นายพล" ที่บอกว่า การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาเมื่อปลายปีที่แล้ว (2563) ส่อทุจริต พบปัญหาเกี่ยวกับรายชื่อผู้ลงคะแนนเสียงในหลายพื้นที่

และแม้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะออกมาระบุว่า "ไม่พบหลักฐานที่จะสนับสนุนคำกล่าวอ้างของกองทัพ" รวมถึงคำยืนยันจากผู้สังเกตการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศว่า "ไม่พบความผิดปกติในการเลือกตั้งแต่อย่างใด"

ทาง "กองทัพ" ก็ยังย้ำว่า มีการร้องเรียนจากประชาชนในหลายพื้นที่จากเรื่องนี้จริง และจากการเพิกเฉยของรัฐบาล "ออง ซาน ซูจี" นี้ ก็ทำให้ "ตัตมะดอว์" ต้องตัดสินใจดำเนินการขั้นเด็ดขาด

"เมียนมา" ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี พร้อมคำมั่นสัญญาจาก "ผู้นำกองทัพ" ว่า "จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่อีกครั้ง!"

ซึ่งนั่นยังไม่แน่ชัดว่า "ออง ซาน ซูจี" และพรรค NLD จะได้รับอนุญาตให้ลงสนามเลือกตั้งนี้ด้วยหรือไม่

และถ้าสุดท้าย... "เธอ" ไม่ได้โอกาสนั้น?

Photo by Ye Aung THU / AFP
Photo by Ye Aung THU / AFP

...

หยุดยั้ง "ลัทธิบูชาบุคคล"

อย่างที่บอกในตอนต้น "ออง ซาน ซูจี" คือ "ไอดอล" ของชาวเมียนมา ซึ่งครั้งหนึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ "บารัค โอบามา" เคยเปรียบ "เธอ" ว่าเป็น "ดวงประทีปแห่งความหวัง" หลังจากได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อปี 2534 อีกทั้งตลอดที่ผ่านมา "เธอ" ยังถูกยกย่องว่าเป็น "ไอคอนด้านสิทธิมนุษยชน" ที่มีบทบาทคล้ายคลึงกับ "มหาตมะคานธี" และ "เนลสัน แมนเดลลา"

แต่การเป็น "ไอคอนแห่งสิทธิมนุษยชน" ของ "เธอ" ก็มีอันให้ต้องแคลงใจในเวลาต่อมา...

"เธอ" ล้มเหลวในการผลักดันการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ให้คำมั่นสัญญาว่า "พรรค NLD จะลดบทบาทและอำนาจที่ถือครองโดยกองทัพ"

แน่นอนว่า เมื่อทำตามสัญญาไม่ได้ ก็ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเมียนมาที่เลือก "เธอ" มา

นักกิจกรรมออกมาเย้ยหยันว่า ภายใต้การเฝ้ามองของ "เธอ" รู้ไหมว่า "เสรีภาพของพลเมือง" กำลังถูกกัดกร่อนทีละน้อยๆ

และที่สร้างความเจ็บปวดให้กับประชาชนเมียนมาที่สุด คือ การที่ "ออง ซาน ซูจี" เลือกปกป้องทหารจากเหตุการณ์ "โรฮีนจา" เมื่อปี 2560

โดยองค์การสหประชาชาติ หรือ "ยูเอ็น" (U.N.) ลงความเห็นว่า การกระทำอันรุนแรงต่อ "โรฮีนจา" โดย "ตัตมะดอว์" นั้น มีเจตนา "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" แต่ "ออง ซาน ซูจี" ได้ยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหานั้น

ซึ่งนั่นทำให้ประชาชนเมียนมารู้สึกเหมือน "ถูกทรยศ!"

พวกเขามองว่า การกระทำของ "เธอ" เป็นการทรยศอย่างน่าขายหน้าที่สุด ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งนี่เคยเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีที่ "เธอ" เคยยืนหยัดต่อสู้

...

แม้ว่าเวลานี้จะมีประชาชนเมียนมาออกมาต่อสู้เรียกร้อง "ประชาธิปไตย" และต่อต้าน "รัฐประหาร" มากมาย แต่บรรดานักกิจกรรมต่างบอกว่า การออกมาประท้วงครั้งนี้...ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาให้การสนับสนุน "ออง ซาน ซูจี" แต่เป็นการออกมาปกป้องความถูกต้อง...เพื่อประเทศของเขา

REUTERS/Stringer
REUTERS/Stringer

อย่างไรก็ตาม...ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีประชาชนเมียนมาอีกหลายคนและหลายรุ่น ที่ยังเชื่อมั่นว่า "ออง ซาน ซูจี" คือ "ความหวังเดียว" ของ "ประชาธิปไตย" ในเมียนมา

ซึ่ง "นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่" ของเมียนมา มองว่า "ประชาธิปไตย" ในเมียนมากำลังมีการเปลี่ยนแปลง หลายคนต้องการก้าวไปข้างหน้าโดยปราศจากการผูกโยงกับ "ออง ซาน ซูจี" และหยุดยั้ง "ลัทธิบูชาบุคคล" ที่ฝังรากลึก

พวกเขาต้องการ "ประชาธิปไตย" ที่แท้จริง ที่นำโดย "ประชาชน" จริงๆ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พวกเขามองไปไกลเกินกว่า "ออง ซาน ซูจี" แล้ว

...

และการจับกุม "เธอ" ในครั้งนี้ ก็เหมือนเป็นการ "ปลุก" ประชาชนเมียนมาให้ตื่นมารับรู้ "บทเรียน" ว่า "ประชาธิปไตย" ของเมียนมา ไม่ควรฝากไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่ควรฝากไว้กับ "โครงสร้างทางการเมือง"...

ข่าวน่าสนใจ: