- "กระทรวงการคลัง" ครองตำแหน่งอันดับ 1 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ถือ 11 หุ้น มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท
- "กระทรวงการคลัง" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับ 1 มากถึง 5 หุ้น โดยหุ้น AOT มีสัดส่วนถือครองมากที่สุด
- หุ้นที่ "กระทรวงการคลัง" ถือครองในสัดส่วนเกิน 50% มีจำนวน 3 หุ้น
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หุ้น OR ถือเป็นหุ้นที่มีกระแสแรงมากที่สุดในเวลานี้ แม้แต่ตัวเล็กตัวน้อยยังไม่พลาดแห่เข้าไปจองซื้อกับเขา แต่ที่น่าสนใจคงหนีไม่พ้น "กระทรวงการคลัง" อันดับ 1 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่คนจับตากันมากว่า "งานนี้จะเอากับเขาด้วยไหม?"
และแน่นอนว่า ย่อมไม่ผิดหวัง!!
หลังจากที่ผู้เขียนสอบถามทาง "กระทรวงการคลัง" ไปเบื้องต้นก็ได้คำยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า "จะใช้สิทธิ์จองซื้อหุ้น OR แน่นอน!"
ก่อนที่ต่อมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะออกมาขานรับยืนยันหนักแน่นไม่แพ้กันว่า จะใช้สิทธิจองหุ้นเต็มโควตาแน่นอน จำนวน 153 ล้านหุ้น ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT
ฉะนั้นแล้ว จากราคา IPO ที่ตั้งไว้ระหว่างหุ้นละ 16-18 บาท ซึ่งผู้จองต้องจ่ายเต็มจำนวน 18 บาท หากจองซื้อหุ้น OR เต็มโควตา 153 ล้านหุ้น ก็เท่ากับว่า กระทรวงการคลังจะต้องควักเงินในการจองซื้อหุ้น OR ครั้งนี้ มากถึง 2,754 ล้านบาท!
ขณะที่ ประมาณการสัดส่วนการถือหุ้น OR ของกระทรวงการคลังจากโควตา 153 ล้านหุ้นนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ราวๆ 1%
ส่วนกรณีการถูกตั้งคำถามว่า เงินที่นำมาซื้อหุ้น OR ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการขายหุ้นบริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 5% นั้น ทาง "กระทรวงการคลัง" ก็ขอไม่ตอบ...
...
ณ เวลานี้ "กระทรวงการคลัง" ถือหุ้นอะไรอยู่บ้าง?
▸ เปิดพอร์ต "กระทรวงการคลัง" ถือหุ้นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้าน
จากการตรวจสอบข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ล่าสุด ณ วันที่ 29 มกราคม 2564 สถานะความเป็น Top Shareholders ของ "กระทรวงการคลัง" ก็ยังคงเป็นเบอร์ 1 ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่แล้ว
ถือครองหุ้นทั้งหมด 11 หุ้น
และจากจำนวน 11 หุ้น หุ้น AOT คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดกว่า 51%
ถือหุ้นมูลค่ากว่า 1,170,323 ล้านบาท
11 หุ้นที่ว่านั้น...มีตัวไหนบ้าง? ถือครองเท่าไร? และมูลค่ามากแค่ไหน? มาไล่ดูกันทีละตัว!
1. หุ้น AOT : บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
มูลค่าตลาด AOT : 857,000 ล้านบาท
AOT เป็นหุ้นที่ "กระทรวงการคลัง" ถือครองในสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาหุ้นทั้งหมด โดยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับที่ 1 จำนวน 10,000 ล้านหุ้น สัดส่วน 70% มูลค่าประมาณ 595,000 ล้านบาท
2. หุ้น PTT : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
มูลค่าตลาด PTT : 1,100,000 ล้านบาท
"กระทรวงการคลัง" ก็เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับ 1 เช่นกัน โดยถือหุ้นจำนวน 14,598 ล้านหุ้น สัดส่วน 51.11% มูลค่าประมาณ 551,000 ล้านบาท
3. หุ้น TMB : ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
มูลค่าตลาด TMB : 107,000 ล้านบาท
"กระทรวงการคลัง" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับ 3 รองจาก ING BANK N.V. และบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ถือครองสัดส่วน 23.03% และ 20.12% ตามลำดับ ขณะที่ กระทรวงการคลังถือหุ้นจำนวน 11,364 ล้านหุ้น สัดส่วน 11.79% มูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท
4. TFFIF : กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย
มูลค่าตลาด TFFIF : 41,000 ล้านบาท
"กระทรวงการคลัง" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 457 ล้านหุ้น สัดส่วน 10% มูลค่าประมาณ 4,200 ล้านบาท
5. หุ้น THAI : บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
มูลค่าตลาด THAI : 7,000 ล้านบาท
จากตอนแรกที่ "กระทรวงการคลัง" ถือหุ้นเกิน 50% แต่เมื่อ "การบินไทย" เข้าสู่แผนฟื้นฟูฯ ก็ปรับลดการถือหุ้นลง จนทำให้การบินไทยหลุดจากสถานะรัฐวิสาหกิจ โดยปัจจุบัน กระทรวงการคลังถือหุ้น THAI อยู่จำนวน 1,044 ล้านหุ้น สัดส่วน 47.86% มูลค่าประมาณ 3,500 ล้านบาท และยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับ 1
...
6. หุ้น MCOT : บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
มูลค่าตลาด MCOT : 3,000 ล้านบาท
แน่นอนว่า "กระทรวงการคลัง" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับ 1 ด้วยสัดส่วน 65.80% จำนวน 452 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 1,800 ล้านบาท
7. หุ้น BCP : บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
มูลค่าตลาด BCP : 33,000 ล้านบาท
จากที่ "กระทรวงการคลัง" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับ 2 รองจากสำนักงานประกันสังคม (14.40%) โดยถือครองหุ้นจำนวน 137 ล้านหุ้น สัดส่วน 9.98% มูลค่ากว่า 3,300 ล้านบาท แต่เมื่อมีการขายหุ้นสัดส่วนประมาณ 5.29% ก็จะทำให้กระทรวงการคลังถือหุ้น BCP ในสัดส่วนเพียง 4.82% เท่านั้น และจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับ 5 รองจากกองทุนรวม วายุภักดิ์ 1 โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน), กองทุนรวม วายุภักษ์ 1 โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด
8. MFC : บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
...
มูลค่าตลาด MFC : 2,000 ล้านบาท
"กระทรวงการคลัง" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับ 3 รองจากบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน ที่ถือหุ้นสัดส่วน 24.96% และ 24.94% ตามลำดับ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นจำนวน 20 ล้านหุ้น สัดส่วน 15.92% มูลค่าประมาณ 294 ล้านบาท
9. หุ้น PDI : บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)
มูลค่าตลาด PDI : 2,000 ล้านบาท
"กระทรวงการคลัง" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับ 2 รองจากบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (25%) โดยถือหุ้นจำนวน 31 ล้านหุ้น สัดส่วน 13.81% มูลค่าประมาณ 250 ล้านบาท
10. หุ้น RPH : บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน)
มูลค่าตลาด RPH : 3,000 ล้านบาท
"กระทรวงการคลัง" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับ 4 รองจากธีระวัฒน์ ศรีนัครินทร์ (11.66%), บริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (7%) และวัลลภ เหล่าไพบูลย์ (4.50%) โดยถือหุ้นจำนวน 14 ล้านหุ้น สัดส่วน 2.69% มูลค่าประมาณ 79 ล้านบาท
และ 11. หุ้น NEP : บริษัท เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน)
มูลค่าตลาด NEP : 600 ล้านบาท
โดย "กระทรวงการคลัง" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับ 2 รองจากบริษัท วาวา แพค จำกัด (19.78%) ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 12.72% จำนวน 295 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 71 ล้านบาท
...
จาก 11 หุ้นที่ว่านั้น หากเทียบ "กระทรวงการคลัง" เป็น "นักลงทุน" คนหนึ่ง ก็นับว่าเป็นนักลงทุนตัวฉกาจเลยทีเดียว โดยจากประมาณการคร่าวๆ ก็จะเห็นได้ว่ารับปันผลไปมากไม่น้อยทีเดียว อย่างหุ้น AOT ที่เมื่อ 8 ธันวาคม 2563 ประกาศจ่ายเงินปันผล 0.19 บาทต่อหุ้น ก็เท่ากับว่า กระทรวงการคลังจะได้รับเงินปันผลกว่า 1,900 ล้านบาท
หรืออย่างหุ้น PTT ที่จ่ายปันผล 0.18 บาทต่อหุ้น (30 ก.ย. 63) กระทรวงการคลังก็ได้รับเงินปันผลไปกว่า 2,628 ล้านบาท
รวมกันแล้วเท่ากับว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา "กระทรวงการคลัง" จะได้รับเงินปันผลประมาณ 4,750 ล้านบาท โดยที่หุ้น THAI, MCOT, NEP และ PDI งดจ่ายปันผล เนื่องจากผลประกอบการที่ยังขาดทุน
▸ หุ้น OR หุ้นตัวที่ 12 ของ "กระทรวงการคลัง"
ปิดท้ายสำหรับหุ้น OR ที่จะเป็นหุ้นตัวที่ 12 ของ "กระทรวงการคลัง" ที่ผลตอบรับหลังเปิดจองซื้อเรียกว่าร้อนแรงและเหมือนจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ หากถามว่า หุ้น OR ตัวนี้มีอะไรน่าสนใจ ทำไม "กระทรวงการคลัง" ถึงใช้สิทธิจองซื้อเต็มโควตา
แน่นอน สำหรับ "กระทรวงการคลัง" แล้ว คำตอบก็คงหนีไม่พ้นการมองว่า หุ้น OR เป็นหุ้นที่มีโอกาสที่จะเติบโตต่อไปได้ ทั้งในแง่ธุรกิจและตลาด
ส่วนจะเติบโตอย่างไรนั้น.... อันดับแรกก็คงต้องบอกว่า หุ้น OR ตัวนี้ ที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปั๊มน้ำมัน แต่เป็นกลุ่มธุรกิจ Non-Oil ที่นับว่าเป็นดาวเด่นพอสมควร อย่าง Cafe Amazon ร้านกาแฟที่ปัจจุบันมีมากกว่า 3,000 สาขาในประเทศไทย และอีกกว่า 300 สาขาในต่างประเทศ รวมถึง Texas Chicken ที่ OR ได้สิทธิ์มาจากบริษัทเป็นแฟรนไชส์แบบตัวแทน หรือ Master Franchies ในประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสขยายต่อในรูปแบบเดียวกับ PTT Station และ Cafe Amazon ที่จะแตกสาขาโดยการส่งต่อให้กับ SME
อีกทั้งยังมีแผนการลงทุนต่อในต่างประเทศ อย่างการมีบริษัทย่อยที่จีน ในการดำเนินธุรกิจ Cafe Amazon และน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งแม้ว่า ธุรกิจร้านกาแฟในเวียดนามจะค่อนข้างเดือด แต่ทาง OR ย้ำว่า แบรนด์ OR แน่พอ
"แม้ OR จะมีอายุเพียง 3 ปี แต่แท้จริงแล้วเป็นหน่วยธุรกิจในปั๊มน้ำมันของ ปตท. มานานกว่า 40 ปี การบริหารจัดการและความต่อเนื่องได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับพาร์ตเนอร์ที่จะสามารถเติบโตไปร่วมกันได้" จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวกับผู้เขียน
สำหรับหุ้น OR ในอนาคตจะทำกำไรให้กับ "กระทรวงการคลัง" ได้ตามที่หวังไว้หรือไม่ ก็ต้องติดตาม เพราะอย่างหุ้น PTT เองก็ถือว่าทำได้ดีพอสมควร ถ้าเทียบในบรรดาหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ ก็คาดว่า OR จะเป็นไปในทางเดียวกับ PTT หรืออาจจะไปได้ไกลกว่านั้น
และใครที่คิดว่าอยากจะลงตามพอร์ต กระทรวงการคลัง ก็คิดให้ดี... เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ...
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: sathit chuephangam และเทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ข่าวน่าสนใจ:
ข้อมูลอ้างอิง:
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันอังคารที่ 26 มกราคม 2564 และวันที่ 29 มกราคม 2564