ถ้าคุณโดนใบสั่งจราจร ส่งไปรษณีย์ถึงบ้าน คำถามคือ คุณจะจ่ายไหม..?
ถ้าคุณเลือกจ่าย.. แสดงว่าคุณคือคนส่วนน้อยของสยามประเทศ!
เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวสาวใหญ่รายหนึ่งโดนใบสั่งจราจร มากกว่า 300 ใบ ด้วยความสุดจะทนของเจ้าหน้าที่ จึงรวบรวมความผิด กระทั่งศาลออกหมาย และตามไปจับถึงบ้าน กลายเป็นข่าวฮือฮา และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม
ที่ผ่านมา เคยมีเคสลักษณะอย่างนี้แล้วหลายครั้ง เป็นข่าวครึกโครมมาหลายหน คำถามคือ ทำไม “คนไทย” ไม่กลัวการกระทำผิดกฎหมายจราจรเลย ทั้งที่ "การจราจร สะท้อนวินัยชาติ" แต่..คำตอบของคำถามนี้ ผู้เขียนได้รับการบอกเล่าจาก พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทล. และก็เริ่มเข้าใจ
สาเหตุที่คนไทยไม่กลัวความผิด เพราะ “ใบสั่ง” มีอายุความ 1 ปี และกำลังของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีน้อยนัก จะไปไล่ตามจับกับเรื่องนี้อย่างนี้ก็เสียทั้งงบประมาณและกำลังคน
...
อีกทั้งใบสั่ง 1 ใบ ยังมีค่าใช้จ่ายจิปาถะมากมายในการดำเนินงาน เริ่มตั้งแต่ ค่าส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ จะต้องใช้เงิน 19 บาท
แต่ประเด็นคือ แค่ส่งไปรษณีย์แล้วมันไม่จบนาสิ! มันยังมีค่าดำเนินการต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังคนมากมาย เสียเงินเดือนให้กับตำรวจ บุคลากรจากหน่วยงานอื่นๆ อีก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลแล้ว พล.ต.ต.เอกราช บอกกับผู้เขียนว่า รวมค่าใช้จ่ายต่อใบราวเกือบ 10,000 บาท ซึ่งต้นทุนการติดตามขนาดนี้ จะมาตามไล่บี้เพื่อเรียกค่าปรับ 1,000 บาท รับสารภาพลดค่าปรับเหลือ 500 บาท มันก็ดูแปลกๆ ว่าไหม..?
ด้วยทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ จึงแปลไทยเป็นไทยว่า ตำรวจไม่มีปัญญาไปวิ่งไล่จับคนทำผิด จะไล่จับก็เสียค่าใช้จ่ายเยอะกว่ารายรับ มันจึงเป็นช่องโหว่ให้ คนไทยเลือก..ชักดาบ! เพราะแป๊บๆ ใบสั่งก็หมดอายุความเสียแล้ว
เปิดสถิติใบสั่งปี 2563 แจก 15 ล้านใบ ชักดาบ 13 ล้านบาท!
จากข้อมูล สถิติการออกใบสั่งจราจร ปี 2563 (1 ม.ค.-31 ม.ค.63) ในระบบ Police Ticket Management ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคณะทำงานเทคโนโลยีบังคับใช้กฎหมาย เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจ..ทุกปี (ฮา)
ในปี 2563 มีการแจกใบสั่งทั้งสิ้น 15,837,054 ใบ แบ่งเป็นทางไปรษีณีย์ส่งถึง บ้าน 13,446,537 ใบ และเป็นเล่ม 2,390,517 ใบ ผลปรากฏว่า มีผู้มาจ่ายค่าปรับใบสั่งที่ส่งทางไปรษณีย์ 1,100,701 คิดเป็น 8% ส่วนคนมาจ่ายค่าปรับเป็นเล่ม 1,717,975 ใบ คิดเป็น 72% ส่วนคนไม่จ่ายค่าปรับใบสั่ง ที่ส่งทางไปรษณีย์ 12,345,836 ใบ คิดเป็น 92% แบบเล่ม 672,542 ใบ คิดเป็น 28%
ก่อนหน้านี้ มีข้อกังวลกันว่า หากไม่จ่ายค่าปรับอาจจะต่อภาษีรถยนต์ไม่ได้ กระทั่งมีการชี้แจงต่อมา ความจริงคือ สามารถต่อภาษีได้ตามปกติ แต่จะยังไม่ได้ “ป้ายวงกลม” ซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้เอกสารหลักฐานการต่อภาษีให้ แต่จะได้ป้ายวงกลมก็ต่อเมื่อไปค่าปรับเสียก่อน
ในความเป็นจริง วิธีการนี้อาจจะไม่เพียงพอ สำหรับกลุ่มคนบางกลุ่มที่คิดหลบเลี่ยง มิเช่นนั้น คงไม่เห็นคนค้างจ่ายใบสั่ง 200-300 ใบหรอก
วิธีการแก้ปัญหาในอนาคตสำหรับเรื่องนี้ พล.ต.ต.เอกราช บอกกับผู้เขียนว่า ทางออกของเรื่องนี้คิดว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด คือ การใช้ระบบการตัดคะแนนความประพฤติ หากได้รับใบสั่งแล้วจงใจไม่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เราก็จะตัดแต้มคุณ หากตัดหมด 12 คะแนน (คะแนนเริ่มต้น) คุณจะโดนคำสั่งห้ามขับรถ 90 วัน หากยังทำอีก หรือทำผิดซ้ำซากจะถูกเพิกถอนใบขับขี่ ห้ามขับรถตลอดชีพ
...
ตรงนี้เป็นมาตรฐานของต่างประเทศ ซึ่งถือว่าใช้แล้วได้ผลดี นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องวินัยจราจรได้แล้ว ยังส่งผลต่อยอดการเจ็บตายจากอุบัติเหตุด้วย โดยจากสถิติของต่างประเทศ สามารถลดอุบัติเหตุได้ 20%
ส่วนวิธีการคิดคะแนน หากทำความผิดเล็กน้อย คุณก็อาจจะโดนตัด 1 คะแนน ร้ายแรง 2 หรือ 3 คะแนน หากทำผิดอีกก็ตัดไปเรื่อยๆ โดยคุณจะได้คะแนนกลับมาใหม่ก็ต่อเมื่อครบ 1 ปี นับตั้งแต่คุณเริ่มโดนตัดคะแนน
ผู้การทางหลวงบอกว่า คาดว่าจะสามารถบังคับใช้กฎหมายตัวนี้ได้ช่วงกลางปีนี้ เพราะได้เริ่มต้นร่างมานานแล้ว ตั้งแต่กลางปี 2562 ผ่านมาหลายกระบวนการ จนกระทั่งเหลือเพียงการลงนามของกระทรวงคมนาคม
จริงๆ เรื่องนี้ถือ เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข (เสียที) ส่งผลให้ปัญหาหมักหมม บ่มเพาะความเชื่อผิดๆ ลดความศักดิ์สิทธิ์ของ “กฎหมาย” ถ้าหากกลางปีนี้มีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ หวังว่าน่าจะมากกว่าปีก่อนๆ ที่เก็บได้เพียง 600 ล้านบาท อุบัติเหตุจากสาเหตุ “ขับรถเร็ว” บนท้องถนนก็อาจจะลดลงไปด้วย
...
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : sathit chuephangam
ข้อมูลสถิติ : พล.ต.ต.ธีระพงษ์ วงษ์รัฐพิทักษ์ ผบก.จร.
อ่านข่าวที่น่าสนใจ