• รถเมล์ไทย เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2492 แต่ดำเนินงานในนาม ขสมก. ครั้งแรกในปี 2519
  • แผนฟื้นฟูฯ ขสมก. เตรียมเนรมิตอู่บางเขนและอู่มีนบุรี พัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส ร้านค้า เปิดให้เอกชนประมูลเช่า
  • ขสมก. ขาดทุนต่อเนื่องสะสมมาตั้งแต่ 2519 รวมแล้วปัจจุบันมีหนี้สินกว่า 1.2 แสนล้านบาท

หากถามว่า "อะไรคือ สัญลักษณ์กรุงเทพฯ?" หนี่งในคำตอบที่ผุดในหัวของมนุษย์กรุงเทพฯ คงหนีไม่พ้น "รถเมล์แดง" หรือรถโดยสารแบบธรรมดา สีครีม-แดง ที่วิ่งวนไปทั่วเมือง จนกลายเป็นภาพที่เห็นจนชินตา เพราะไม่ว่ากี่ปีต่อกี่ปีก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ในปี 2564 นี้ เรายังคงอยู่กับไวรัสร้ายโควิด-19 ตัวการที่ทำให้ไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้อย่างใจ หลายบริษัท หลายภาคธุรกิจ เน้น Work From Home (WFH) กันมากขึ้น แน่นอนว่านั่นย่อมส่งผลกระทบ และสัญลักษณ์กรุงเทพฯ อย่าง "รถเมล์" ก็เป็นหนึ่งในนั้น

คร่าวๆ ว่า ผู้โดยสารใช้บริการ รถเมล์ ขสมก. ลดลงถึง 40%!

จากที่ย่ำแย่อยู่แล้ว เหมือนยิ่งถูกซ้ำเติมหนักเข้าไปอีก

แต่นั่นก็ทำให้เราเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลง อย่าง..การมุ่งหน้าเข้าสู่เส้นทางแผนฟื้นฟูฯ ของ ขสมก.

...

ขสมก. หรือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (Bangkok Mass Transit Authority: BMTA) ซึ่งชื่อนี้ดำเนินวงจรชีวิตมานานกว่า 45 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2519 ง่ายๆ ว่าอยู่มาเกือบช่วงชีวิตหนึ่งของคน Gen Y เลยก็ว่าได้

แต่หากจะพูดกันตามประวัติศาสตร์ "รถเมล์" จริงๆ แล้วก็มีมาตั้งแต่ปี 2492

ซึ่งผู้เขียนคงไม่ย้อนไปนานขนาดนั้น... เพราะในวันนี้ เราจะมาว่ากันด้วย "อนาคต ขสมก." และหากจะนั่งไทม์แมชชีนย้อนดูผลงานก็คงเป็นช่วงระยะ 5 ปี 10 ปี น่าจะเพียงพอแล้วที่จะชำแหละหาสาเหตุการ "ขาดทุน" ที่อาจเรียกได้ว่าเจ๊งยับ! ...จนนำไปสู่การตัดสินใจมุ่งหน้าเข้าสู่เส้นทางแผนฟื้นฟูฯ

มองดูแล้วไม่ต่างกับอดีตรัฐวิสาหกิจฯ อีกเจ้าอย่าง "การบินไทย" ที่เดินเครื่องลุยไปก่อนหน้านั้นแล้ว หลังขาดทุนหนัก ทนแบกหนี้ปีกแทบหักไม่ไหว

แผนฟื้นฟูฯ ขสมก. ส่งสัญญาณเดินเครื่องมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว (2563) เพราะในยามนั้น ผลประกอบการออกมาเป็น "ตัวเลขแดงแจ๋!" ขาดทุนสะสมเฉลี่ย 360 ล้านบาทต่อเดือน แล้วรู้ไหมว่า... เป็นดอกเบี้ยสูงถึง 233 ล้านบาท รวมๆ แล้วมีภาระหนี้สินรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท!

แม้ตัวเลขแดงๆ นั้นจะน้อยกว่า "เจ้าจำปี" ที่มีภาระหนี้ 3.3 แสนล้านบาท แต่หากปล่อยไว้ ขสมก. คงหนีไม่พ้นกับคำครหาว่า "หนี้ท่วมหัว!"

หากถามว่า "ขสมก. ขาดทุนมาตั้งแต่ตอนไหน?"

ก็พูดได้ว่า ขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่เริ่มมีชื่อว่า ขสมก. เมื่อปี 2519 นู่นเลย!

:: 10 ปีก่อน "ขาดทุน" ปีนี้ "ขายตั๋ว" ขาแข็ง...ก็ยัง "ขาดทุน"

ย้อนกลับไปปีงบประมาณ 2552 ขสมก. มีรายได้จากการเดินรถ 7,210 ล้านบาท มากที่สุดมาจากรายได้รถ ปอ.ยูโรทู หรือ "รถแอร์สีส้ม" กว่า 2,688 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35% ของรายได้ทั้งหมด ส่วน "รถเมล์แดง" ขวัญใจชาวกรุง มีรายได้ 1,329 ล้านบาท (17%) ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายรวมดันพุ่งเกินรายได้ สูงถึง 11,731 ล้านบาท!

ในตอนนั้น ขสมก. มีค่าใช้จ่ายอะไรกันหนอ...ถึงสูงขนาดนี้?

ผู้เขียนขอแจกแจงตามลำดับมากไปน้อย (เบื้องต้น) ดังนี้

34% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นเงินเดือน/สิทธิประโยชน์ 3,979 ล้านบาท

20% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 2,362 ล้านบาท

19% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นดอกเบี้ยจ่ายองค์การฯ รับภาระ 2,266 ล้านบาท

หากคิดง่ายๆ เหมือนแม่ค้าพ่อค้าทั่วไป อย่างน้อยปี 2552 ขายตั๋วรถเมล์ ขสมก. รวมกันก็ยังพอมีเงินเหลือจ่ายเงินเดือนอยู่หน่อย...

แต่พอมาปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจริงๆ ผู้เขียนอยากหยิบยกของปีงบประมาณ 2563 แบบละเอียดมาเทียบมากกว่า น่าเสียดายที่ยังไม่มีออกมา...

โดยปีงบประมาณ 2562 ขสมก. มีรายได้รวม 7,028 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการขายตั๋วรถโดยสาร 3,931 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มองไปที่ค่าใช้จ่ายรวม 14,631 ล้านบาท หลักๆ เกิดจากต้นทุนในการเดินรถ ที่แบกภาระสูงถึง 8,669 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนกว่า 3,770 ล้านบาท!

เบ็ดเสร็จแล้ว ปีงบประมาณ 2562 ขาดทุน 7,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้า 23.13%

...

จากที่เคยมีรายได้ค่าโดยสารเฉลี่ย 12.9 ล้านบาทต่อวันในปีงบประมาณ 2552 ก็มีเฉลี่ยเพียง 11.3 ล้านบาทต่อวันในปีงบประมาณ 2562 เรียกว่าหนักหนาสาหัสกันทุกปี ลำพังการขายตั๋ว...แค่ "เงินเดือน" ก็อาจจ่ายไม่พอ

แถมยังมี "เจ้าหนี้" เรียงหน้ากระดานรออีกเพียบ ที่คาดว่าหากนับรวมยอดปีงบประมาณ 2563 ด้วยแล้ว จาก 1.2 แสนล้านบาท น่าจะเพิ่มเป็น 1.3 แสนล้านบาท

แต่...วี่แววตอนนี้ เหมือนว่า เส้นทางแผนฟื้นฟูฯ จะไม่ขรุขระพอสมควร

:: ความหวังแผนฟื้นฟูฯ กู้ชีพ อาจไม่เร็วดั่งใจ

แม้แผนฟื้นฟูฯ จะได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่จากกระทรวงคมนาคม แต่จนแล้วจนรอด... เดือนสุดท้ายของปี 2563 (ธ.ค.) ก็ยังไปตามเส้นทางแบบอืดอาด หลุดกรอบเวลาเดิมไปแล้ว

ต้นเดือนธันวาคม 2563 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ออกมาเปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูฯ ขสมก. บรรจุเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุม ครม. มากว่า 1 เดือนแล้ว คาดว่าจะพิจารณาได้ทันภายในเดือนธันวาคม

...

ต้นเดือนมกราคม 2564 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็ออกมาเปิดเผยอีกรอบว่า แฟนฟื้นฟูฯ ขสมก. ถูกตีกลับให้พิจารณาเพิ่มเติม คาดว่าจะภายในเดือนมกราคมนี้ จะพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ ตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมอบการบ้านไว้

แน่นอนเมื่อล่าช้าแบบนี้...ก็ย่อมโดนบี้! อย่างเครือข่ายประชาชนผู้ใช้รถเมล์ก็ถึงกับออกมาติงว่า "แผนฟื้นฟูฯ ขสมก. ฉบับใหม่ล่าช้าเกินไป!"

แผนฟื้นฟูฯ ขสมก. ฉบับใหม่ มีอะไรน่าสนใจ?

ตัวเลขแรก 30

30 ที่ว่านี้คือ 30 บาท ราคาค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายรายวัน โดย ขสมก. ประเมินจากอัตราค่าโดยสารของรถปรับอากาศ (สีฟ้า) ที่มีขั้นต่ำ 15 บาท เมื่อนั่งไป-กลับ ก็จะเท่ากับ 30 บาท

ตัวเลขที่สอง 162

162 ที่ว่านี้คือ การลดสายรถเมล์เหลือ 162 เส้นทาง เป็นหนึ่งในการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสาร ทั้ง ขสมก. และเอกชน โดย ขสมก. บอกไว้ว่าเพื่อลดการทับซ้อนเส้นทาง และร่นระยะการวิ่งให้สั้นลง อันเป็นผลที่จะทำให้เพิ่มรอบการบริการได้มากขึ้น

...

ตัวเลขที่สาม 2,511 + 489

2,511 + 489 ที่ว่านี้คือ การจัดหารถ ขสมก. ใหม่ 2,511 คัน บวกกับรถโดยสาร NGV เดิม 489 คัน รวมเป็น 3,000 คัน ทำให้วิ่งได้มากกว่าแผนฟื้นฟูฯ ฉบับเดิม เฉลี่ยเส้นทางละ 28 คัน

ตัวเลขที่สี่ 54

54 ที่ว่านี้คือ 54 เส้นทางของรถเมล์เอกชน 1,500 คันที่จะร่วมให้บริการ และใช้อัตราค่าโดยสารระบบเดียวกับ ขสมก.

นอกจากตัวเลข รายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจก็อย่างเช่น การเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า 2,511 คัน ถามว่าทำไมต้องเช่า ขสมก. ก็ให้คำตอบว่ามันประหยัดต้นทุนกว่าเยอะ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการปรับลดพนักงานเก็บค่าโดยสาร...

แต่ที่น่าจับตา คือ การพัฒนาอู่เชิงธุรกิจ ได้แก่ อู่บางเขน และอู่มีนบุรี

:: เนรมิตอู่รถเมล์ ปั้นรายได้สู่มิกซ์ยูส

หลังมีการปลดล็อกกฎหมายเปิดทางให้ ขสมก. ทำธุรกิจอื่นได้ เป้าหมายที่น่าสนใจก็คือ อู่บางเขนและอู่มีนบุรี ที่มีพื้นที่รวมกัน 21 ไร่ แบ่งเป็นอู่บางเขน 11 ไร่ และอู่มีนบุรี 10 ไร่

แน่นอนว่า หากสังเกตทำเลดีๆ เรียกได้ว่าเป็น ทำเลทอง! ไหนจะย่านชุมชน ไหนจะมีรถไฟฟ้าผ่าน ราคาตลาดย่อมสูงไม่เบา ประเมินเบื้องต้น ราคาตลาดอู่บางเขนอยู่ที่ 1,148 ล้านบาท ส่วนราคาตลาดอู่มีนบุรีอยู่ที่ 347 ล้านบาท

โดยแนวคิดคร่าวๆ ของ ขสมก. แบ่งเป็น "อู่บางเขน" พัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส ระยะเวลาสัมปทานเบื้องต้น 30 ปี ที่มีมูลค่าลงทุนรวมกว่า 2,494 ล้านบาท และ อู่มีนบุรี พัฒนาพัฒนาเป็นตลาดและร้านค้า ประมาณการมูลค่าลงทุน 1,386 ล้านบาท

หาก 2 อู่รถเมล์นี้ประสบความสำเร็จ อู่รถเมล์อื่นๆ ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนไปสู่การเนรมิตโฉมใหม่ได้เหมือนกัน

แต่เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อ ครม. อนุมัติแผนฟื้นฟูฯ แล้วเสียก่อน ดังนั้น ตอนนี้ก็ยังต้องลุ้นต่อไป...

อย่างไรก็ตาม... ในมุมมองของคนที่โดยสารรถเมล์บางครั้งบางคราว ก็อยากให้ตัดสินใจให้รอบคอบในทุกๆ มุม โดยเฉพาะ "ราคา" ยามที่ทุกคนกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 นี้.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan

ข่าวน่าสนใจ: