แม้ในอนาคต "โควิด-19" (COVID-19) จะจางหายไป แต่มันยังทิ้งมรดกเอาไว้ ที่ทำให้เกิด ECONOMIC SHOCK!! ตลอดปี 2563 ลามมาจนถึงปี 2564 และพวกมันยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง "เศรษฐกิจโลก" แบบถาวรไปตลอดกาล

อะไรคือ "มรดก" ที่โควิด-19 ทิ้งเอาไว้ให้มนุษย์ทั่วโลก?

ที่เริ่มมองเห็นแล้ว คือ การบุกเข้ายึดครองโรงงานและงานบริการโดย "หุ่นยนต์" ที่พัฒนาและก้าวหน้ากว่าเดิม ความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นๆ การแบกภาระหนี้สินที่นับวันมีแต่จะพอกพูน

นั่นเป็นเพียงบางส่วน...

"มรดกโควิด-19" ที่นอกเหนือจากนั้นมีอะไรบ้าง?

:: คุมโควิด-19 รัฐบาลขาดดุลมหาศาล

จนถึงตอนนี้ (3 ม.ค. 64) โควิด-19 ก็คร่าชีวิตประชากรโลกไปแล้วเกือบ 2 ล้านศพ และมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 85 ล้านราย แม้จะหายแล้ว 48 ล้านราย แต่รัฐบาลทั่วโลกก็ยังต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลในการป้องกันและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่ตกงานกระทันหันนับล้านคน

แน่นอนว่า เศรษฐกิจพังยับ!!

รัฐบาลแต่ละประเทศขาดดุลสะสมมูลค่ามหาศาล

โดยจากรายงาน Fiscal Monitor ณ เดือนตุลาคม 2563 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เห็นได้ว่า แม้แต่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนก็ไม่รอด!!

เมื่อเทียบงบประมาณสมดุลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2563 สหรัฐอเมริกาติดลบถึง 18.7% เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ขณะที่ จีนเพิ่มขึ้น 2 เท่า ติดลบ 11.9% แต่ที่น่าห่วงมากๆ คือ สหราชอาณาจักร ที่ปี 2562 ติดลบเพียง 2.2% น้อยกว่าสหรัฐอเมริกาและจีนเกือบ 3 เท่า แต่พอมาปี 2563 กลับติดลบถึง 16.5% เพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 8 เท่า

...

ไม่เพียงเท่านั้น จากข้อมูลของ McKinsey & Co. พบว่า เจ้าไวรัสร้ายโควิด-19 นี้ ทำให้รัฐบาลทั่วโลกขาดดุลงบประมาณปี 2563 รวมกันมากถึง 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 330 ล้านล้านบาท (*อัตราแลกเปลี่ยน 29.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ | 2 ม.ค. 63)

คำถามที่ตามมา คือ รัฐบาลจะสามารถจ่ายเงินป้องกันและเยียวยาต่อเนื่องไปได้อีกนานแค่ไหน?

แน่นอนว่า ผลลัพท์ที่เกิดขึ้น คือ "หนี้สาธารณะ"

:: ซอมบี้เกลื่อน หนี้สินล้น

ตลอดปี 2563 เราเห็นภาพแล้วว่า อุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกเจ็บปวดมากแค่ไหน รายได้ลดจนแทบไม่เหลือ การประคองให้อยู่รอดเป็นเรื่องยาก สถานะร่อแร่เต็มที บางรายถึงขั้นใกล้ล้มละลาย หนี้สินล้นพ้นตัว หากรัฐบาลหลายๆ ประเทศเมินเฉย ทางเดียวที่ได้ไปต่อ คือ "ลงหลุม!!"

แต่รัฐบาลส่วนใหญ่มักไม่ทำแบบนั้น กลับเลือกที่จะต่อลมหายใจ ฟื้นคืนชีพ "บริษัทซอมบี้" เหล่านั้นให้ลุกขึ้นมาใหม่ ด้วยวิธีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืม โดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ประมาณการมูลค่าการกู้ยืมสุทธิครึ่งปีแรก 2563 ไว้ว่า สูงถึง 3.36 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 101 ล้านล้านบาท

แน่นอนว่า หนึ่งในผลลัพท์ของการคว้าลมหายใจที่หยิบยื่นจากรัฐบาล ทำให้ "บริษัทซอมบี้" เหล่านี้ แม้ฟื้นคืนชีพ แต่ "หนี้สิน" ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยจากข้อมูลของ Bloomberg พบว่า บริษัทซอมบี้ทั่วโลกต่างเผชิญกับหนี้ก้อนโตในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 60 ล้านล้านบาท

คำเตือน

"ข้อเสนอต่อลมหายใจ" นี้ แฝงความอันตรายมาด้วย เพราะ "บริษัทซอมบี้" หรือ Zombie Firm ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในตลาดเสรีได้ ตอนนี้เป็นเพียงการยื้อชีวิตโดยการสนับสนุนจากรัฐเท่านั้น ในอนาคตจะทำให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจลดลง

:: ยุคใหม่ของความยากจน

ต้องยอมรับว่า วิกฤติโควิด-19 นี้ ทำให้เรามองเห็นรูรั่วในที่ต่างๆ ทั่วโลกได้ชัดขึ้น เห็นถึงความแตกต่างทางอำนาจและการเงิน ซึ่งภาพที่ฉายออกมาเห็นได้ว่า ประเทศยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์ในการปกป้องแรงงานและธุรกิจต่างๆ ได้ แม้กระทั่งการลงทุนในวัคซีนก็ยากจะเอื้อมถึง

...

โดยธนาคารโลก (World Bank) ออกมาเตือนว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นการวางไข่ "ยุคใหม่ของความยากจน" และความยุ่งเหยิงของหนี้สิน เช่นเดียวกับ IMF ที่ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงที่จะถอยกลับไปหนึ่งทศวรรษ

สำหรับปี 2564 นี้ ธนาคารโลกพยากรณ์อัตราความยากจนทั่วโลกอยู่ที่ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือประมาณ 58.98 บาทต่อวันเท่านั้น

จากข้อมูล World Bank พยากรณ์อัตราความยากจน ดังนี้

:: ฟื้นตัวแบบ K-Shape ไวรัสขยายช่องว่างรวย-จน

งานบริการที่จ่ายค่าแรงต่ำและมีการติดต่อกับลูกค้าแบบเผชิญหน้า มีแนวโน้มว่าจะสูญหายเป็นรายแรกๆ ขณะที่ "ตลาดการเงิน" ที่เจ้าของทรัพย์สินส่วนมากเป็นคนรวย จะลุกกลับมาได้เร็วกว่า "ตลาดงาน"

หากนึกภาพไม่ออกขอเทียบให้เห็นการเปลี่ยนแปลงโดยอ้างอิงสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการติดเชื้อมากที่สุดในโลก (ข้อมูลจาก Bureau of Labor Statistics)

...

ผลสรุป คือ การฟื้นตัวจะเป็นแบบ K-Shape หรือการฟื้นตัวแบบ "ไร้สมดุล" ที่มีไวรัสโควิด-19 เป็นตัวขยายช่องว่างรายได้หรือช่องว่างความร่ำรวยออกไปทั่วแนวรอยเลื่อนของชนชั้น, เชื้อชาติ และเพศ

อาทิเช่น ผู้หญิงที่เผชิญกับความยากลำบากแบบไม่สมส่วน ส่วนหนึ่งเพราะทำงานในอุตสาหกรรมที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมากกว่า แถมยังต้องแบกภาระการดูแลเด็กๆ ไว้บนบ่าเพิ่มเข้ามาอีก เพราะโรงเรียนปิด อย่างในแคนาดา พบว่า ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980

:: หุ่นยนต์รุกคืบ เข้าแทนที่มนุษย์

เป็นเรื่องที่คนเตือน คนพูด กันมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 แล้ว แต่สำหรับปี 2564 นี้ ภาพการแทนที่มนุษย์ด้วย "หุ่นยนต์" ดันเห็นเร็วขึ้นเพราะโควิด-19 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เช่น ค้าปลีก โรงพยาบาล หรือกิจการคลังสินค้า อาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในอนาคต

จากข้อมูลของสถิติแห่งสหประชาชาติ (UNSD) และสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) พบว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอัตราส่วนหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรมต่อผลผลิตโรงงาน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (~30 ล้านบาท) มากที่สุด อยู่ที่ 695.7 รองลงมา คือ ญี่ปุ่น 352.1 และเยอรมนี 274.9

...

โดยจากการศึกษาบ่งชี้ให้เห็นว่า ระบบอัตโนมัติต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจนี้ โดยภาพที่เริ่มมองเห็น คือ หลายบริษัทถูกเร่งให้ปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นแบบระบบอัตโนมัติเร็วขึ้น อาทิ การเช็กอินแขกเข้าพักในโรงแรม, การเตรียมอาหารง่ายๆ เช่น สลัด ในร้านอาหาร หรือแม้แต่การเก็บค่าธรรมเนียมที่ด่านเก็บเงิน รวมถึงการช็อปปิ้งที่เข้าไปอยู่ในออนไลน์มากขึ้น

แน่นอนว่า นวัตกรรมเหล่านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ แต่ก็หมายความเช่นกันว่า เมื่อใดที่โลกปลอดภัยเพียงพอต่อการกลับไปทำงานตามปกติ ตำแหน่งงานบางอย่างอาจไม่มีอีกแล้ว และแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเป็นเวลานาน ทักษะที่เคยมีก็จะถึงคราวเสื่อมลง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มักเรียกกันว่า "hysteris" หรือพลังงานที่สูญเสียไป

:: Work From Home ลดกิจกรรมในออฟฟิศ

ภาพต่อไปนี้จะได้เห็น... ขั้นบันไดรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นและการทำงานแบบรีโมตจะกลายเป็นปกติ

หนึ่งในการศึกษาพบว่า เดือนพฤษภาคม 2563 กว่า 2 ใน 3 ของ GDP สหรัฐอเมริกา ล้วนก่อเกิดจากคนที่ทำงานจากบ้าน หรือ Work From Home (WFH) ซึ่งหลายบริษัทก็มีการส่งสัญญาณว่า อาจต้อง WFH กันต่อเนื่องไปตลอดปี 2564 หรืออาจถาวรเลยก็เป็นได้ โดยจากผลของการ WFH ทำให้ปริมาณการใช้แพลตฟอร์มวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อย่าง Zoom เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 6 เท่าในปี 2563

และจากข้อมูลการเคลื่อนย้ายของ Google ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2563 ก็แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมในสถานที่ทำงานยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

สำหรับผลพลอยได้จากการ WFH อีกอย่าง คือ การกระตุ้นการตื่นตัวของชาวเมืองและชานเมืองหรือชนบท ในบางประเทศพบว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์แถบชนบทมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

:: เที่ยวยาก ไม่ได้ไปไหน?

จากข้อมูลของ United Nations พบว่า การท่องเที่ยวทั่วโลก ปี 2563 (ณ ต.ค.) ลดลงกว่า 72% ขณะที่ McKinsey มองว่า กว่าครึ่งของทริปเชิงธุรกิจอาจไม่มีอีกต่อไป เพราะการประชุมย้ายไปรูปแบบออนไลน์แทน

และมีความเป็นไปได้อย่างมากว่า หากกิจกรรมต่างๆ กลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบ "ประสบการณ์" มากกว่าสินค้า อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และต่อไป นักท่องเที่ยวอาจต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายการทำใบรับรองสุขภาพเพื่อยืนยันตัวตนก่อนเข้าประเทศต่างๆ ด้วยก็เป็นได้

นี่เป็นเพียงบางส่วนของมรดกโควิด-19 ที่ทิ้งไว้ให้กับประชากรโลกเท่านั้น ในความเป็นจริง ณ เวลานี้ พิษร้ายยังไม่ได้เจือจางลงแม้แต่น้อย ฉะนั้น การคาดการณ์ภาพที่จะเกิดในอนาคตจึงมีความเป็นได้ที่ "ภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ" จะรุนแรงกว่านี้...

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์

ข่าวน่าสนใจ: