"ทรัมป์" ขึ้นกำแพงภาษีครั้งใหญ่ "ประเทศไทย" โดน 36% ด้าน "นักวิชาการ" ชี้มาตรการนี้จะทำให้สหรัฐฯ เจ็บตัวหนัก ขณะที่ประเทศไทยกระทบหนัก การขยายตัว GDP อาจไม่ถึง 2% แนะรัฐบาลกระจายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ เร่งการใช้จ่ายในกิจการที่เหมาะสม เช่น ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
สะเทือนไปทั้งโลก หลังวันที่ 2 เม.ย. 2568 เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศตั้งกำแพงภาษีครั้งใหญ่ เก็บภาษีนำเข้าพื้นฐาน (Baseline tariff) ในอัตรา 10% ต่อสินค้าทั้งหมดจากทุกประเทศที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ และเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) เพิ่มกับอีกหลายสิบประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วย และ “ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศนี้ ถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 36%
ไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยประเด็นนี้กับ รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าการขึ้นกำแพงภาษีในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อไทยและโลกอย่างไร และประเทศไทยควรดำเนินมาตรการใดในการรับมือ

ผลกระทบจากกำแพงภาษี "สหรัฐฯ" ก็เจ็บหนัก
...
รศ.ดร.จุฑาทิพย์ มองว่า ในส่วนของการเก็บภาษีพื้นฐาน 10% อาจไม่ได้มีผลกระทบในลักษณะเปลี่ยนแปลงคู่ค้าของสหรัฐฯ มากนัก เพราะทุกประเทศโดนอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในส่วนของภาษีต่างตอบแทนที่เก็บเพิ่มแตกต่างกันในแต่ละประเทศ อาจนำไปสู่การหลีกเลี่ยง (Circumvention) มาตรการทางภาษีได้ เช่น หากประเทศไหนถูกจัดเก็บภาษีต่างตอบแทนในอัตราที่สูง ก็อาจไปผลิตสินค้าหรือส่งผ่านสินค้าของตัวเองผ่านประเทศที่ถูกสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีน้อยกว่า
ที่สำคัญคือการขึ้นอัตราภาษีที่สูงขนาดนี้จะทำให้สินค้านำเข้าในสหรัฐฯ มีราคาเพิ่มสูงขึ้นมหาศาล หรือแม้แต่สินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ เองก็ราคาสูงขึ้นด้วย เนื่องจากสหรัฐฯ ในปัจจุบันไม่ได้เหมือนในอดีตก่อนปี ค.ศ. 1970 ที่ไม่ได้พึ่งพาประเทศอื่นเลย ตอนนี้สหรัฐฯ มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างมาก การขึ้นภาษีจะทำให้วัตถุดิบตั้งต้น (Raw Materials) และสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) หรือสินค้าที่ใช้เพื่อผลิตสินค้าอื่นๆ ที่สหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องนำเข้ามีราคาที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นด้วย
ข้อมูลคาดการณ์ว่า จากนโยบายกำแพงภาษีนี้จะส่งผลให้ GDP ของสหรัฐฯ ลดลง 1-2% และอัตราเงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้นอย่างค่อนข้างมีนัยยะ ซึ่งสถานการณ์นี้อาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย
ผลกระทบต่อประเทศไทย
ในส่วนของประเทศไทย เป็นประเทศเล็กและพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ ยางรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ สินค้าเกษตร เช่น ข้าว น่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ถ้าหากไทยถูกเก็บภาษี 36% จริง อาจส่งผลทำให้ GDP ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ 3% ลดลงมาเหลือแค่ 2% หรือต่ำกว่านั้นได้
อย่างไรก็ดี มองว่าในบางอุตสาหกรรม เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ไปยังสหรัฐฯ และผู้ผลิตในไทยเองก็เป็นบริษัทของสหรัฐฯ อย่าง บริษัทเวสเทิร์นดิจิตอล (Western Digital) และบริษัทซีเกต (Seagate) แม้จะมีการขึ้นภาษี แต่สหรัฐฯ ก็ยังต้องพึ่งพาสินค้าเหล่านี้อยู่ดี
“ประธานาธิบดีทรัมป์บอกว่าจะเริ่มบังคับใช้มาตรการนี้ในวันที่ 9 เม.ย. ซึ่งการผ่อนคลายภาษีอาจจะเกิดได้ 2 กรณี เพราะตอนที่ทรัมป์ประกาศนโยบายนี้ ก็ได้เสนอให้ผู้นำประเทศต่างๆ นำเข้าสินค้าอเมริกาเพิ่ม หากไทยมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการนำเข้าสินค้า ก็อาจจะทำให้การเก็บภาษีตรงนี้ผ่อนคลายไปได้ แต่อาจไม่ทันกรอบเวลาก่อน 9 เม.ย. และกรณีที่ 2 คือหากทรัมป์เจอแรงกดดันจากภายในประเทศ ก็อาจทำให้การเก็บภาษีส่วนนี้ผ่อนคลายลงได้เช่นกัน”

ไทยควรมีมาตรการรับมืออย่างไร
รศ.ดร.จุฑาทิพย์ มองว่า นอกจากการเจรจาแล้ว หากประเทศไทยจะลดผลกระทบจากมาตรการกำแพงภาษี ก็ต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจส่วนอื่นของประเทศไทยดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน โดยได้เสนอแนวทางดังนี้
...
1. กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุน เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการเปิดรับการลงทุนของไทยถือว่าดี แต่ว่าเม็ดเงินยังไม่เข้าไปสู่ระบบ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จึงควรอำนวยความสะดวก เร่งให้บริษัทที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วมีการลงทุนจริง เพื่อผลักเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
2. รัฐบาลต้องเร่งการใช้จ่ายในกิจการที่เหมาะสม เช่น การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบในบางอุตสาหกรรมที่ถูกเก็บภาษี เช่น เหล็กและอะลูมิเนียม กล่าวคือ รัฐซื้อวัสดุเหล่านี้มาใช้ในโครงการในประเทศ และเตรียมตัวให้พร้อมกับกรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างมากและการส่งออกของไทยไม่ดี รัฐบาลก็อาจจะต้องเตรียมเงินเพื่อใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจไว้ และอาจมีความจำเป็นต้องตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือภาคเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของ SME ให้มีสายป่านที่ยาวพอในการสู้กับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
3. กระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ นอกจากสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีจะดำเนินมาตรการนี้เช่นกัน ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งมือให้มากขึ้น เช่น เร่งบรรลุข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป หรือการไปเปิดตลาดใหม่ในแอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกาบางส่วน แม้จะต้องแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิมแต่ก็เป็นมาตรการที่จำเป็นต้องทำ
4. นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย ในการทำให้การส่งออกง่ายขึ้น เร็วขึ้น และลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้มากขึ้น
5.ร่วมมือกับประเทศอาเซียน เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค และร่วมมือเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ก็อาจจะทำให้มีอำนาจต่อรองมากกว่า
...
“ก่อนที่ประเทศไทยจะส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ เยอะ ตลาดหลักของไทยก็คืออาเซียน แต่พอเกิดสงครามการค้าและเราเห็นโอกาสที่จะเข้าไปแทนที่จีนในสหรัฐฯ ได้ เราก็ส่งออกไปเยอะ ซึ่งหากอาเซียนร่วมมือกันทำให้ห่วงโซ่อุปทานดีขึ้น แม้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมความสูญเสียทั้งหมดแต่น่าจะบรรเทาผลกระทบได้"

“สินค้าจีน” ทะลักเข้าไทยแน่
การขึ้นกำแพงภาษีในครั้งนี้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ ถูกเก็บภาษีต่างตอบแทน 34% เมื่อรวมกับของเดิมที่ 20% จะกลายเป็น 54% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก และมีโอกาสที่สินค้าจีนจะหาตลาดใหม่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่อาจจะมีสินค้าจีนทะลักเข้ามาแย่งตลาดในไทยเพิ่มได้
รศ.ดร.จุฑาทิพย์ แนะนำว่า รัฐบาลไทยต้องเตรียมตัวรับมือ แต่ไม่ควรตอบโต้ด้วยการตั้งภาษีกับสินค้าจีนทันที เพราะจีนเองก็เป็นพันธมิตรที่สำคัญ แต่ควรใช้มาตรการในลักษณะของการตรวจสอบสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หากพบว่ามีสินค้าชนิดใดมีการทุ่มตลาดและไทยมีหลักฐานที่ชัดเจนจึงค่อยตั้งกำแพงภาษี
ในขณะเดียวกันก็มีเครื่องมือรองคือการใช้กลไกการระงับข้อพิพาท (Dispute settlement) ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีสมาชิกคือ 10 ประเทศอาเซียนและ 5 ประเทศคู่เจรจา ซึ่งในนั้นมีจีนรวมอยู่ด้วย เนื่องจาก RCEP มีคณะกรรมการร่วมกันจากทุกประเทศ หากประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ มีหลักฐานว่าจีนทุ่มตลาดจริง ก็สามารถเปิดโต๊ะเจรจาร่วมกันได้
...
“อะไรที่ไทยควบคุมได้ด้วยตัวเองก็ควรจะทำไปก่อนควบคู่ไปกับการเจรจา เพราะภายใต้ความไม่แน่นอนเช่นนี้ เราก็ไม่รู้ว่าหากไปเจรจาแล้วทรัมป์จะยอมหรือไม่ ความร่วมมืออาเซียนหรือ FTA ที่กำลังจะเดินหน้า และการเปิดตลาดใหม่ก็ไม่แน่นอนว่าจะได้เร็วแค่ไหน สิ่งเหล่านี้เราอาจควบคุมได้ยาก แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือการเร่งเบิกจ่ายของรัฐบาล การดำเนินนโยบายการเงินการคลังให้มีความสัมพันธ์ที่ดี และเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดเผื่อไว้ด้วย”