"สวมโฉนด-วิกฤติทะเล" 5 ปมสิ่งแวดล้อม ไม่ถูกถกกลางสภาฯ "มูลนิธิสืบ" ชี้การเมืองโยงทุนใหญ่ ให้ความสำคัญปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อย หวั่นนายทุนรุกหนัก หลังป่าหายกว่า 3.4 แสนไร่ มากสุดรอบ 10 ปี

ศึกอภิปรายในสภา แม้ผลการลงมติ ฝั่งรัฐบาลได้รับความไว้วางใจ แต่ประเด็นสิ่งแวดล้อม ที่เป็นผลกระทบต่อประชาชนภาพกว้าง กลับถูกพูดถึงน้อย แม้ฝ่ายค้านหยิบยกเรื่องปลาหมอคางดำ มาอภิปราย แต่มุมของคนทำงานอนุรักษ์ มองว่า ไม่ได้ถูกแก้ไขชัดเจน นี่จึงเป็นที่มาถึง 5 ประเด็นร้อน ที่รัฐบาลต้องเร่งเข้าไปแก้ไข

สวมโฉนด-วิกฤตทะเล 5 ปมสิ่งแวดล้อม ไม่ถูกถกกลางสภาฯ

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กลายเป็นเสียงแผ่วเบา ในการอภิปรายรอบนี้ "ภาณุเดช เกิดมะลิ" ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่า เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและการแก้ไขชัดเจนมากนัก เพราะในเชิงโครงสร้างกลุ่มการเมืองมีการผูกกับกลุ่มทุนที่ใช้ทรัพยากร จนส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เลยกลายเป็นประเด็นที่ไม่ถูกหยิบยกมาพูดในทางการเมือง

สวมโฉนด-วิกฤตทะเล 5 ปมสิ่งแวดล้อม ไม่ถูกถกกลางสภาฯ

...

หากประเมิน 5 ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่วิกฤติมีดังนี้

1. การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน มีการจัดสรรเพื่อการนำไปขาย ล่าสุดการบุกรุกพื้นที่นำไปทำสวนทุเรียน ในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ดินจัดสรรส่วนใหญ่ดำเนินงาน โดย สคทช. และ ส.ป.ก. เข้ามาเอาที่ดินที่ยังมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติมาจัดสรรให้ราษฎร แต่กลับพบว่าที่ดินหลายแห่งยังคงมีสภาพป่าอยู่ และมีอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แสดงถึงความล้มเหลวเรื่องการจัดการที่ดินของรัฐบาล

ที่ผ่านมาหน่วยงานเกี่ยวข้อง นำพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาให้กับเกษตรกรที่ยากไร้ แต่พบว่า หลายแห่งเริ่มกลับมามีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ แต่ไม่ถูกส่งคืนกลับให้หน่วยงานทางทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้หลายพื้นที่มีการใช้ประโยชน์แบบรุกพื้นที่ป่า พื้นที่หลายแห่งผู้ครอบครองเป็นผู้ที่ถูกสวมสิทธิ ไม่ใช่คนที่เป็นเจ้าของแท้จริง น่าสงสัยว่ามีขบวนการสวมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินเกิดขึ้นหรือไม่

สวมโฉนด-วิกฤตทะเล 5 ปมสิ่งแวดล้อม ไม่ถูกถกกลางสภาฯ

ขณะเดียวกันช่วงหลังพบว่า ที่ดินถูกรวมเป็นผืนเดียวขนาดใหญ่ และมีขบวนการฟอกเส้นทางในการถือครอง ก่อนมีการขายให้กับชาวต่างชาติ จึงมีความเป็นไปได้ว่าขบวนการนี้จะโยงใยไปถึงการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ไปจนถึงระดับประเทศ

ประเด็นนี้มูลนิธิฯ ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะจากสถิติ ปี 2565 – 2566 พื้นที่ป่าสงวนหายไปกว่า 3.4 แสนไร่ ถือเป็นการสูญเสียพื้นที่ป่ามากที่สุดรอบ 10 ปี

สวมโฉนด-วิกฤตทะเล 5 ปมสิ่งแวดล้อม ไม่ถูกถกกลางสภาฯ

2. วิกฤติผลกระทบจากน้ำท่วม ปี 2567 พบว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้มีฝนตกจำนวนมากในเวลารวดเร็วหลายพื้นที่ของไทย แต่เรายังไม่เห็นกลไกป้องกัน หรือแก้ปัญหาระยะยาวที่มีความชัดเจน และไม่เห็นแนวนโยบายรัฐชัดเจน ในการดูแลพื้นที่มีความเสี่ยง การเยียวยาที่ผ่านมามักเป็นการช่วยแบบรายกรณี แต่ไม่ได้มีการจัดการระยะยาว

3. ฝุ่นควัน PM 2.5 คนไทยเผชิญมาอย่างยาวนาน ด้วยความที่รัฐบาลไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจนและระยะยาว โดยต้องคำนึงถึงบริบทภายในประเทศ ปีนี้การป้องกันการเผาอ้อยดีขึ้น แต่การเผาตอซังข้าว รัฐล้มเหลวในการสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปดูแล เช่น มหาดไทย พยายามควบคุมไม่ให้มีการเผา บริบทของการเผาในแต่ละพื้นที่มีความจำเป็นแตกต่างกัน เรามีปัญหาในการนำงบประมาณมาแก้ไขปัญหานี้

4. วิกฤติสิ่งแวดล้อมทางทะเล มีความชัดเจนทั้งเรื่องขยะในทะเล และสัตว์น้ำในทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น พะยูน ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้มีพะยูนตายไปถึง 97 ตัว ถือเป็นการสูญเสียที่สำคัญ ทำให้ตอนนี้พื้นที่ทะเลไทย เหลือพะยูนอยู่อีกร้อยกว่าตัว ถ้าไม่มีการแก้ปัญหา ส่งผลกระทบชัดเจนกระทบต่อมนุษย์ แหล่งอาหารของสัตว์ทะเล

...

ด้วยสภาวะโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้อุณหภูมิในทะเลสูงขึ้น ทำให้หญ้าทะเลยืนต้นตาย กระทบต่อแหล่งอาหารของพะยูน แต่เรื่องเหล่านี้หากรัฐมีแผนจัดการที่เป็นระบบ จะสามารถทำให้รักษาพื้นที่หญ้าทะเล รวมถึงฝูงพะยูนที่หลงเหลือได้ ตลอดจนการออกกฎหมายที่จะมาช่วยเหลือทรัพยากรทางทะเลที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอยู่ในเวลานี้

สวมโฉนด-วิกฤตทะเล 5 ปมสิ่งแวดล้อม ไม่ถูกถกกลางสภาฯ

5. ปลาหมอคางดำ เป็นตัวแทนของทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในไทย แม้ฝ่ายจะมีการอภิปราย แต่นายกฯ ตอบว่ากรมประมงตรวจสอบแล้ว ไม่พบต้นตอ การตอบแบบนี้เป็นเหมือนการโยนภาระไปให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระยะยาว

เรื่องสิ่งแวดล้อมถือเป็นฐานของทรัพยากรของทุกคนในประเทศ ถ้ามองให้เป็นโอกาสในเรื่องการบริหารทรัพยากร เพื่อสร้างเป็นทุนให้เกิดรายได้กับประชาชน หากมีการบริหารจัดการให้เหมาะสม แต่ตอนนี้รัฐมองในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่การเมืองไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ยังมองเรื่องนี้เป็นประเด็นไกลตัวไปทุกที