ประมงพื้นบ้านค้านร่าง "พ.ร.บ.ใหม่" ใช้อวนขนาดตาถี่ ล้อมจับปลา 12 ไมล์ทะเล เสี่ยงลูกปลา 65 ชนิดสูญพันธุ์จากทะเลไทย กระทบวงจรเศรษฐกิจแสนล้านบาท/ปี

เมื่อวันนี้ (8 ม.ค. 68) ตัวแทนสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ยื่นหนังสือให้สมาชิกวุฒิสภาทบทวนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ใหม่ 

โดยเรียกร้องให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ. ประมงฉบับใหม่ฯ ที่ ส.ส. เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ระบุในมาตรา 69 ของร่าง พ.ร.บ. ประมงฉบับใหม่ อนุญาตให้ใช้อวนขนาดตาถี่ขนาด 3-5 มิลลิเมตร ทำการประมงแบบล้อมจับในเวลากลางคืนประกอบแสงไฟล่อในระยะห่างจากชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล จะจับเอาสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนในสัดส่วนสูง อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ควรได้จริงนับแสนล้านบาทต่อปี เป็นการตัดวงจรชีวิตห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ ระบุผู้ได้รับประโยชน์เป็นแค่กลุ่มเล็กๆ แต่เกิดผลกระทบประชาชนทั้งประเทศและกระทบความมั่นคงในอาชีพของชาวประมงกลุ่มอื่น 

...

เนื้อหาหนังสือมีดังนี้ ขอให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณาทบทวนมาตรา 69 ในร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ซึ่งในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมชั้นสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 69 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ทำให้เกิดผลสำคัญคือ การเปิดให้ทำการประมงอวนตาถี่ด้วยวิธีล้อมจับในเวลากลางคืนได้ 

จากเดิมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นการกำหนดตามมาตรฐานข้อกำหนดเดิมที่มีมาต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เปลี่ยนเป็น “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตร ทำการประมงในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน การทำการประมงนอกเขตสิบสองไมล์ทะเลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและพื้นที่ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวต้องกำหนดในเรื่องการใช้แสงไฟล่อไว้ด้วย”


ค้านใช้อวนขนาดตาถี่

ด้วยมาตรา 69 ของร่าง พ.ร.บ. ประมงฉบับใหม่ อนุญาตให้ใช้อวนขนาดตาถี่ขนาด 3-5 มิลลิเมตร ทำการประมงแบบล้อมจับในเวลากลางคืนประกอบแสงไฟล่อในระยะห่างจากชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล จะจับเอาสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนในสัดส่วนสูง จากสาระสำคัญที่เปลี่ยนไปนั้น ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรร่วมของประเทศ ซึ่งการอนุญาตให้ใช้อวนขนาดตาถี่ขนาด 3-5 มิลลิเมตร หรืออวนตามุ้งทำการประมงแบบ “ล้อมจับ” ในเวลากลางคืนประกอบแสงไฟล่อในระยะห่างจากชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล ที่ทางวิชาการสำรวจพบลูกปลาวัยอ่อนอย่างน้อย 65 ชนิด ถือเป็นการเปิดให้ทำได้ตามกฎหมายเป็นครั้งแรก เพราะตลอดช่วงเวลากว่า 50 ปี ที่ผ่านมาวิธีการทำประมงด้วยการ “ตีวงล้อมจับ” ด้วยอวนประเภทนี้ถูกห้ามมิให้กระทำมาตลอด เหตุผลเพราะการใช้ “แสงไฟล่อ” แล้ว “ล้อมจับ” ด้วยอวนตาถี่ตามความยาว 1,000 - 2,000 เมตร

มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่าจะจับเอาสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนในสัดส่วนสูง ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ควรได้จริงนับแสนล้านบาทต่อปี ถือเป็นอุตสาหกรรมการประมงที่มุ่งตักตวงผลผลิต ตัดวงจรชีวิตห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ และมีข้อมูลงานวิจัยชี้ชัดว่าเขตทะเลระดับ 12 ไมล์ทะเลออกไป เป็นพื้นที่แหล่งกำเนิดของสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนหลากหลายชนิด

...

สมาคมฯ เห็นว่า การตัดสินใจในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่อิงบนฐานข้อเท็จจริงทางวิชาการอาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ผู้ได้รับประโยชน์เป็นแค่กลุ่มเล็กๆ แต่เกิดผลกระทบประชาชนทั้งประเทศและกระทบความมั่นคงในอาชีพของชาวประมงกลุ่มอื่นๆ อีกทั้ง เมื่อตราไว้ในกฎหมายระดับ “พระราชบัญญัติ” ยิ่งจะทำให้ปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาดในอนาคตได้ยาก


ผลกระทบประมงพื้นบ้าน

"ปิยะ เทศแย้ม" นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และ "วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี" นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยได้นำเสนองานวิชาการของศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ ที่ตั้ง 4 คำถามต่อประเด็นในมาตรา 69 ของร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ที่อนุญาตให้อวนล้อมจับตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรสามารถจับสัตว์น้ำได้ในเวลากลางคืนจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศอย่างไร โดยเป็นประเด็นที่ตรงกับการเรียกร้องของสมาคมฯ มาโดยตลอด ดังนี้

1. ลูกปลาวัยอ่อนกระจายตัวอยู่นอกฝั่ง 12 ไมล์ทะเลหรือไม่ เพราะผลของการสำรวจโดยศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน พ.ศ. 2538 – 2539 และใน พ.ศ. 2556 ได้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความหนาแน่นและการกระจายตัวของลูกปลาวัยอ่อนในบริเวณนอกชายฝั่ง ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มปลาเศรษฐกิจเกือบทุกชนิด

...

โดยในการสำรวจ พ.ศ. 2538 – 2539 พบลูกปลาวัยอ่อน 65 วงศ์ และ 90 ชนิด ขณะที่การสำรวจปี พ.ศ. 2556 พบลูกปลาวัยอ่อน 65 วงศ์ ซึ่งทำให้หมดข้อสงสัยว่าหากมีการบังคับใช้มาตรา 69 จะมีผลต่อปริมาณการทดแทน และปริมาณเศรษฐกิจอย่างค่อนข้างชัดเจน

2. หากตั้งสมมติฐานว่าแต่ละปีจะมีลูกปลาเศรษฐกิจเป็นผลพลอยได้จากอวนที่มีช่องตาเล็กนอกชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเลในเวลากลางคืนมีปีละ 1 ล้านตัวต่อชนิด และหากปลาเหล่านี้สามารถเติบโตได้จนถึงอายุ 1 ปีก่อนถูกจับ ในเงื่อนไขที่ให้ปลาเหล่านี้มีอัตราการอยู่รอดในรอบปี (Annual survival rate: S) ที่ 5% เราจะสูญเสียผลผลิตของปลาเศรษฐกิจเหล่านี้ที่ประมาณ 2 – 4 ตันต่อปีต่อชนิด

ส่วนในแง่สภาวะของประชากร จากการที่โอกาสในการตายที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ค่าสัมประสิทธิ์การตายโดยการประมงสูงขึ้น ขณะเดียวกันมวลชีวภาพของกลุ่มประชากรจะลดลง เป็นผลให้สิ่งที่เราเคยเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของประชากรปลาในหลายกลุ่มในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับอันตรายจะต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง

3. จากการประเมินระบบนิเวศของอ่าวไทย โดยใช้ข้อมูลปริมาณผลจับใน พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นความซับซ้อนในการถ่ายทอดพลังงานของระบบนิเวศ และแสดงผลให้เห็นว่าปลากระตักและกลุ่มปลาส่วนใหญ่อยู่ในช่วงลำดับชั้นในการบริโภคช่วงเดียวกัน คือ 2.5 – 3.5 ซึ่งมาตรา 69 มีผลโดยตรงต่อการลดลงมวลชีวภาพของปลากลุ่มนี้ และผลที่ตามมา คือ ทำให้ปลาผู้ล่าขนาดใหญ่ในระบบนิเวศ เช่น ปลาฉลาม ปลาโอ ปลาทูแขก ปลาสีกุน ฯลฯ ต้องลงมาบริโภคสัตว์น้ำในระดับชั้นในการบริโภคที่ต่ำกว่า ทำให้ต้องบริโภคมากขึ้นเพื่อให้ได้รับพลังงานที่เพียงพอ ทำให้เกิดผลกระทบแบบลูกโซ่