มัดรวมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ไทยปี 68 เตรียมไร้เงา! ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก 2 ครั้งในรอบปี ไฮไลต์กลางปี จันทรุปราคาเต็มดวง ในรอบ 3 ปี ไทยมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นสีแดงอิฐ นาน 1 ชั่วโมง 22 นาที
เข้าสู่ปี 2568 มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งรวมคร่าว ๆ ได้ 9 เหตุการณ์สำคัญ แต่ที่น่าสนใจคือ ปีนี้ ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับประเทศไทย 2 ครั้ง ใน 1 ปี ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะเกิดปรากฏการณ์ไร้เงา โดยคนไทยก็จะได้เรียนรู้กับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นด้วย
“ศุภฤกษ์ คฤหานนท์” ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ เล่าว่า แต่ละปีจะมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามที่เกิดขึ้นในไทย โดยปี 2568 สามารถรวบรวมได้ 10 ปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นต่างช่วงเวลาในแต่ละเดือนดังนี้
1.ดาวอังคารใกล้โลก และดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์ คืนวันที่ 12 มกราคม 2568 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ระยะห่างประมาณ 96 ล้านกิโลเมตร จากนั้นโคจรไปอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์วันที่ 16มกราคม 2568 ช่วงดังกล่าว สามารถสังเกตการณ์ดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืน ปรากฏสว่างเป็นสีส้มแดงบนฟ้า
ถ้าชมผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นน้ำแข็งสีขาวบริเวณขั้วของดาวอังคารได้ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณ 26 เดือน
...
2.ดาวศุกร์สว่างที่สุด เกิดขึ้น 2 ครั้งในรอบปีนี้ ครั้งแรกช่วงหัวค่ำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ทางทิศตะวันตก และช่วงรุ่งเช้าวันที่ 24 เมษายน 2568 ทางทิศตะวันออก
3.ดาวเสาร์เสมือนไร้วงแหวน วันที่ 23 - 24 มีนาคม 2568 ดาวเสาร์ปรากฏเสมือนไร้วงแหวน เป็นมุมมองจากโลกที่จะเห็นลักษณะนี้ทุก 15 ปี แต่ช่วงวันดังกล่าว ดาวเสาร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จึงขึ้นและตกในเวลากลางวัน ส่งผลให้สังเกตการณ์ได้ยาก ผู้สนใจแนะนำชมช่วงดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปีวันที่ 21 กันยายน 2568
4.ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 21 กันยายน 2568 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) จึงมีระยะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 1,279 ล้านกิโลเมตร สังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งคืน และแม้ว่าช่วงดังกล่าวจะไม่ปรากฏเสมือนไร้วงแหวน แต่ระนาบวงแหวนยังคงมีมุมเอียงที่น้อย จึงจะเห็นเป็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนบาง ๆ
5.จันทรุปราคาเต็มดวง ไฮไลต์เด่นสุดปีนี้ เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงในไทยที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบสามปี (ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2565) เกิดขึ้นในคืนวันที่ 7 ถึงเช้ามืด 8 กันยายน 2568 เวลาประมาณ 22:29 น. ถึง 03:55 น. (ตามเวลาประเทศไทย) คราสเต็มดวงเวลาประมาณ 00:31 ถึง 01:53 น. ช่วงดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏเป็นสีแดงอิฐ นาน 1 ชั่วโมง 22 นาที ประเทศไทยมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าตลอดปรากฏการณ์
6.ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) ตรงกับวันที่ 13 เมษายน 2568 ดวงจันทร์เต็มดวง มีขนาดปรากฏเล็กว่าปกติเล็กน้อย และปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon) ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย
7.ฝนดาวตกน่าติดตาม ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เกิดจากโลกโคจรเข้าตัดผ่านสายธารเศษหินและฝุ่นในอวกาศที่ดาวเคราะน้อยและดาวหางทิ้งไว้ ไฮไลต์เด่นของฝนดาวตกในปี 2568 คือ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” (อัตราการตก 150 ดวงต่อชั่วโมง) คืนวันที่ 14 - 15 ธันวาคม 2568 ปีนี้ไม่มีแสงจันทร์รบกวน สำหรับฝนดาวตกอื่น ๆ ตลอดปี มีดังนี้
3 - 4 มกราคม 2568 ฝนดาวตกควอดรานติดส์ (อัตราการตก 80 ดวงต่อชั่วโมง)
22 - 23 เมษายน 2568 ฝนดาวตกไลริดส์ (อัตราการตก 18 ดวงต่อชั่วโมง)
5 - 6 พฤษภาคม 2568 ฝนดาวตกอีตาอควอริดส์ (อัตราการตก 50 ดวงต่อชั่วโมง)
30 - 31 กรกฎาคม 2568` ฝนดาวตกเดลตาอควอริดส์ (อัตราการตก 25 ดวงต่อชั่วโมง)
21 - 22 ตุลาคม 2568 ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ (อัตราการตก 20 ดวงต่อชั่วโมง)
17 - 18 พฤศจิกายน 2568 ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (อัตราการตก 15 ดวงต่อชั่วโมง)
22 - 23 ธันวาคม 2568 ฝนดาวตกเออร์ซิดส์ (อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง)
...
8.ดาวเคียงเดือน และดาวเคราะห์ชุมนุม ในปี 2568 มีปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน และดาวเคราะห์ชุมนุมให้ชมตลอดทั้งปี ได้แก่ 4 ม.ค. 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์ / 18 ม.ค. 2568 ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์ / 1 ก.พ. 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์ / 11 เม.ย. 2568 ดาวพุธเคียงดาวเสาร์ / 25 เม.ย. 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวศุกร์และดาวเสาร์ / 26 เม.ย. 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวพุธ / 29 เม.ย. 2568 ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์ / 2 พ.ค. 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวพอลลักซ์และคาสเตอร์ (ปรากฏคล้ายพระจันทร์ยิ้ม) / 23 พ.ค. 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์ / 24 พ.ค. 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวศุกร์ / 1 มิ.ย. 2568 ดวงจันทร์เคียงดาวอังคาร / 12 ส.ค. 2568 ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี
9.ดวงอาทิตย์ตั้งฉากประเทศไทย โดยมีช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะ 2 ครั้งในรอบปี ครั้งแรกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เริ่มจากภาคใต้ไล่ขึ้นไปเรื่อย ๆ กรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ 27 เมษายน 2568 และจบที่ภาคเหนือในเดือนพฤษภาคม ส่วนครั้งที่สองอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน โดยเริ่มจากภาคเหนือปลายเดือนกรกฎาคม ไล่ลงไปจนถึงกรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2568 และจบที่ภาคใต้ในช่วงเดือนกันยายน ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะ (ตั้งฉากกับประเทศไทย) จะแตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ สังเกตได้จากเงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดีเสมือนไร้เงา
...