วงการตำรวจปี 67 เป็นยุคสุญญากาศแบบข้ามปี หลังเกิดศึกระดับบิ๊กตำรวจ จนต้องให้ “บิ๊กต่าย” มานั่งรักษาการแทน แต่หลัง “บิ๊กต่อ” เกษียณอายุราชการ ก็ทำให้ประชาชนจับตาการทำงานของตำรวจในการกู้ภาพลักษณ์อีกครั้ง ส่วน “บิ๊กโจ๊ก” ต้องลุ้นต่อว่าจะได้หวนคืนตำแหน่งหรือไม่

บิ๊กต่อ อำลาตำแหน่งส่งไม้ต่อ

ท่ามกลางศึกความขัดแย้งภายในวงการตำรวจระหว่าง “บิ๊กต่อ” และ “บิ๊กโจ๊ก” ทำให้วงการสีกากีเข้าสู่ช่วงสุญญากาศแบบข้ามปี มาจนถึงช่วงกลางปี 67 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล อดีตผบ.ตร. ได้อำลาตำแหน่งในวาระเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดย “บิ๊กต่อ” กล่าวอำลาว่า มีความยินดีและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอขอบคุณเพื่อนข้าราชการตำรวจทุกท่านที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถตลอดมา ด้วยความทุ่มเท เสียสละ แม้จะมีสถานการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของอาชีพตำรวจ แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันทุกท่าน ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฏิบัติภารกิจในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน จนเกิดความเรียบร้อยในสังคมได้ และในวันนี้ขอส่งมอบหน้าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตำแหน่งขณะนั้น) ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

แม้มีคำถามถึงผลงาน แต่การที่ “บิ๊กต่อ” ลงจากตำแหน่งสูงสุดได้จนครบวาระ ก่อนหน้านั้นจะมีคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่สำนักงานนายกฯ แต่ศึกกับ “บิ๊กโจ๊ก” ก็สร้างรอยบาดแผลฝังลึกในหน้าประวัติศาสตร์วงการตำรวจไทย

...

“บิ๊กต่าย” ขึ้นแท่น ผบ.ตร.คนที่ 15

“บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผงาดรับไม้ต่อเป็น ผบ.ตร.คนที่ 15 โดยวันที่ 7 ต.ค. 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ประชุมพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 15 ต่อจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ที่เกษียณอายุราชการเมื่อ

วันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา โดย “บิ๊กต่าย” ที่ก่อนหน้านั้นรับหน้าที่รักษาการผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประวัติ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “บิ๊กต่าย” เป็นชาวจังหวัดราชบุรี เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 25 รุ่นเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 41 รับราชการตำรวจครั้งแรกตำแหน่ง รอง สว.สอบสวน สภ.อ.เมืองระยอง ติดยศ พล.ต.ต.เป็นเลขานุการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผบก.ส.1 ทำงานด้านข่าวกรอง รอง จตร. (สบ 7) รอง ผบช.สกพ. ติดยศ พล.ต.ท. เป็น ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. โยกเป็น ผบช.ภ.8 ผู้ช่วย ผบ.ตร. และรอง ผบ.ตร.

“บิ๊กโจ๊ก” คดียังต้องลุ้นต่อ หวังหวนคืนสีกากี

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของ “บิ๊กโจ๊ก” ในคดีที่ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน โดยวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอ ในคดีที่ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาล ยื่นฟ้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ และ นายกรัฐมนตรี ที่ให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการ

ซึ่ง พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาล มีคำขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน คำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง และมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน คำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง

ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎ หรือคำสั่งทางปกครองจะต้องเข้าเงื่อนไขสามประการประกอบกัน สำหรับเงื่อนไขประการที่หนึ่ง ว่าคำสั่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี มิใช่เป็นการแต่งตั้งข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง ไปดำรงตำแหน่งอีกกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ จึงยังมีสถานะเป็นข้าราชการตำรวจและดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามเดิม ผบ.ตร. จึงเป็นผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ เมื่อ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนและศาลอาญาได้ออกหมายจับ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ จึงเป็นผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ และมีอำนาจออกคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน และยังไม่ปรากฏปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายในประการอื่น การที่ ผบ.ตร. มีคำสั่งดังกล่าวจึงไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

...

เมื่อวินิจฉัยเงื่อนไขที่ว่าคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ครบองค์ประกอบในการที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาเงื่อนไขประการที่สอง ที่ว่าการให้คำสั่งดังกล่าวมีใช้ผลเฉพาะต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังหรือไม่ และเงื่อนไขประการที่สาม ที่ว่าการทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่บริการสาธารณะหรือไม่อีก จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ออกราชการไว้ก่อน และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์

กรณีนี้ ยังรอการพิจารณาของศาลปกครองอีกครั้ง ในการชี้ชะตาว่าจะได้กลับมารับราชการอีกหรือไม่

จับตาแต่งตั้ง รอง ผบช.-ผบก. ต้นปีรู้ผล

...

ต้นปี 2568 ต้องจับตาการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบช.-ผบก. โดยที่ผ่านมา พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ที่ประชุมอนุมัติขยายเวลาการแต่งตั้งออกไปจนถึงวันที่ 15 ม.ค. 2568 ขณะเดียวกันมีการพิจารณาเรื่องของการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. ต่อไป