ดีเจแมน หลังศาลพิพากษายกฟ้อง ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เห็นได้ถึงความบอบช้ำที่ซ่อนอยู่ภายใน นักอาชญาวิทยา วิเคราะห์ผลข้างเคียง หลังได้รับอิสรภาพ ซึ่งคนที่พ้นโทษส่วนใหญ่ มักเจอกับปัญหาวิตกกังวล จนอาจมีปัญหาสุขภาพทางจิต หากคนรอบข้างไม่เข้าใจ

หลังจากที่ศาลได้พิพากษา ปล่อยตัวดีเจแมนออกมา ดีเจแมน โพสต์ไอจีสตอรี่เป็นเพลงเจ็บจนพอ พร้อมกับรูปตัวเองและข้อความทีเป็นเนื้อเพลง "เจ็บจนพอ เกินที่ใจมันจะทนไหว พอแล้วที่เราต้องทนกับความเสียใจ พอแล้วที่มีน้ำตา พอแล้วกับการที่ไม่มีค่า" ซึ่งเป็นการโพสต์แสดงความรู้สึกหลังถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2567 โดยถูกจำคุก 1 ปี 7 เดือน กระทั่งศาลพิพากษายกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม ผลในทางคดีหลังจากนี้ เนื่องจากคดีนี้เป็นการตัดสินในศาลชั้นต้นเท่านั้น ยังมีขั้นตอนอีก โดย หากการที่อัยการจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป แต่ในระหว่างนี้ มีการปล่อยตัวดีเจแมนออกมา และจากที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ หลายคนเห็นร่างกายที่ผ่ายผอมลง แน่นอนว่าอาจเกิดจากความทุกข์กายจากการใช้ชีวิตที่ไม่สบายนักที่ผ่านมาและต่อไปความทุกข์กายจะหายไปเพราะกลับมาใช้ชีวิตปกติสุขได้ หลังจากการที่ได้ออกมาใช้ชีวิตภายนอกแล้ว

คำถามที่ตามมาคือ แล้วความทุกข์ใจ เป็นอย่างไร ถึงได้มีการโพสต์เช่นนั้น เรื่องความทุกข์ใจนี้ เป็นอย่างไรแค่ไหน เราได้พูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล อดีตประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ(นานาชาติ) ด้านอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์ว่า

“จริงๆ แล้ว ในทางจิตวิทยานั้น มักมีการพูดถึงอาการโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือเรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า โรค PTSD แต่ในทางอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยา เราได้มีการลงรายละเอียดไปมากกว่านั้น เพราะมีการลงรายละเอียดและเป็นการศึกษาสภาพจิตที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งที่เรามักจะไม่ค่อยพูดถึงและจะไม่คุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า “บาดแผลทางใจหลังถูกคุมขังหรืออาการหลอนหลังพ้นโทษ”

...

หรือความบอบช้ำทางจิตหลังออกจากเรือนจำที่เป็นอาการบาดเจ็บทางจิตด้วยแฝงมา ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง ชอว์แชงค์ จะรู้ว่า ผู้ที่พ้นโทษออกมาจะต้องมีปัญหาในด้านสภาพจิตและพฤติกรรมอย่างไรบ้าง ที่สำคัญ แม้ว่าอาการของโรคนี้น่าจะระบาดอย่างกว้างขวาง แต่จิตแพทย์กลับทำการวิจัยเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของโรคนี้เพียงเล็กน้อย ไม่มีการเผยแพร่ผลการวิจัยใดๆ เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญในเรือนจำหรือกลุ่มอาการหลังถูกคุมขังต่อสาธารณชนเท่าใดนัก เราจึงไม่ได้พูดถึงกันมากนัก

โรคทางจิตที่เกิดหลังการจำคุก ได้แก่ การมีบาดแผลทางใจหลังถูกคุมขัง หรือรู้จักกันในนาม Post Traumatic Prison Disorder (PTPD) และอาการหลอนหลังพ้นโทษ ชาวบ้านเรียก อาการหลอนคุก ที่ฝรั่งเรียก Post Carceral Syndrome (PCS) โดย“Post Incarceration Syndrome” คือภาวะทางจิตใจที่ส่งผลต่อผู้ที่เคยถูกคุมขัง โดยมีอาการต่างๆ คล้ายอาการของ PTSD ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความยากลำบากในการปรับตัวกับชีวิตนอกคุก การมีบาดแผลทางใจหลังถูกคุมขังทำให้บุคคลนั้นมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่วนอาการโรคหลอนคุกนั้น ส่งผลให้บุคคลนั้น ๆ เกิดความกลัวในการกลับเข้าคุก

นักจิตวิทยาเชิงอาชญากรรม เช่น ดร. เครก ฮานีย์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ ผู้เชี่ยวชาญด้านผลทางจิตวิทยาของการจำคุก ระบุว่า ผู้ที่เข้าไปในเรือนจำครั้งแรก เมื่อถูกคุมขังตอนแรก จะเกิดภาวะอาการโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ PTSD ก่อน เพราะยังตกใจกะทันหัน เป็นที่ทราบกันดี ผู้ต้องขังถูกแยกจากคนที่ตนรัก

บางรายถูกทำร้ายร่างกายโดยอาจรอดหูรอดตราจากการดูแลของราชทัณฑ์ การถูกกลั่นแกล้งและประสบกับการใช้ความรุนแรงและการถูกขังในห้องขังเป็นเวลาหลายวัน หลายปี หรือหลายสิบปี ย่อมก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจเหล่านี้อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของบุคคลได้ในระยะสั้นและระยะยาว อาการ PTSD สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีหลังจากที่ใครสักคนประสบกับเหตุการณ์ที่น่ากังวล หรืออาจเกิดขึ้นในเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน

พูดง่ายๆ คือ โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) เป็นภาวะทางจิตใจที่เกิดจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่กดดันอย่างรุนแรงหรือรู้สึกว่ากำลังเผชิญหน้ากับสิ่งที่น่ากลัวอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นั้นและได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหรือ มีความวิตกกังวลอย่างรุนแรง และรู้สึกรับรู้ว่าควบคุมไม่ได้ คนส่วนใหญ่ที่ประสบเหตุการณ์เลวร้ายอาจปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ในช่วงสั้นๆ ได้ยาก จากสภาพแวดล้อมในเรือนจำส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและอาจนำไปสู่อันตรายระยะยาวที่คงอยู่ ผลกระทบอาจมีตั้งแต่ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ไปจนถึงความคิดฆ่าตัวตาย และหากมีกลไกการรับมือที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งรวมถึงความผิดปกติจากการใช้สารเสพติด

...

แต่เมื่อเวลาผ่านไปและดูแลตัวเองดีๆ อาการต่างๆ ก็จะดีขึ้น หากอาการแย่ลง เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี และส่งผลต่อความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน จากนั้นอาจจะตามมาด้วย Post Incarceration Syndrome (PICS) โดยเป็นความเจ็บปวดทางจิตที่เกิดในระหว่างที่ถูกคุมขังจะตามมา โดยส่วนนี้ยังเกี่ยวข้องกับ PTSD โดยจะอธิบายกลุ่มอาการที่แสดงออกเมื่อบุคคลถูกจำคุก ในสถานการณ์เหล่านี้ บุคคลจะต้องเผชิญกับความกดดันทางจิตใจอย่างต่อเนื่องทุกวัน

ซึ่งมีลักษณะเป็นทั้งความที่ไม่สามารถคาดหวังอะไรได้ ไม่มีอิสระ พบเห็นความรุนแรง การสูญเสียการควบคุม และการขาดความต้องการพื้นฐานที่เคยมี PICS อาจเกิดขึ้นกับทั้งผู้ที่พ้นโทษจากการจำคุกและผู้ที่ยังอยู่ในคุก โดยจะก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจต่างๆ มากมาย เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล การกลับมาใช้ยาและปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆอีก

ผู้ต้องขัง แม้จะอยู่ในแดนแรกรับก็ตาม แต่การมีกฎ ระเบียบ แบบปฏิบัติที่อาจไม่แตกต่างกันมากนัก นับวันรอจนกว่าจะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำและกลับมาอยู่ร่วมกับเพื่อนและครอบครัวได้อีกครั้ง แต่เมื่อพวกเขาออกมาแล้ว การต้องอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลานานมักจะรู้สึกแปลกแยกและน่าหวาดกลัว ในความแตกต่างนั้น อาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่ถูกจำคุกใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่าผิด แต่ไม่ได้รับการประกันตัว จะถูกส่งเข้าไปอยู่ในแดนแรกรับ

หรือกรณีถูกตัดสินว่ามีความผิดกลายเป็นนักโทษเด็ดขาด กรณีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือ อาการ PTSD และลุกลามต่อไปถึงอาการ PICS จนกระทั่งถูกปล่อยตัวออกมา สิ่งที่ติดตามมาทางจิตใจ นั้น คือ การมีบาดแผลทางใจหลังถูกคุมขัง หรือรู้จักกันในนาม Post Traumatic Prison Disorder (PTPD) และอาการหลอนหลังพ้นโทษ ชาวบ้านเรียก อาการหลอนคุก ที่ฝรั่งเรียก Post Carceral Syndrome (PCS) แม้ว่าอาการผิดปกติทางจิตใจหลังถูกจำคุกจะมีความคล้ายคลึงกับอาการผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ แต่ก็เป็นอาการที่แตกต่างกัน

...

จากการมีในลำดับแรก คือ โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ซับซ้อน (PTSD) เกิดขึ้นกับผู้ต้องขัง ผู้ที่เผชิญกับสถานการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น การถูกคุกคาม การละเลยจากพี่น้อง เพื่อนฝูง การพบความรุนแรง การถูกระราน ทำร้าย หรือความรุนแรง ที่เกิดบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จนอาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PTSD แบบซับซ้อนหรือแบบเรื้อรัง (Chronic ) หรือ PICS ซึ่งส่งผลที่รุนแรงทางจิตมากกว่าเดิมมาเรื่อย ๆ สิ่งที่จะตามมาที่จะเกิดตามมาหลังจากออกไปจากเรือนจำแล้ว แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ความทรงจำที่รบกวนและหลอกหลอน การหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะโยงไปหาความเจ็บปวดนั้น มีการเปลี่ยนแปลงความคิดและอารมณ์ในทางลบ และการเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยาทางร่างกายและอารมณ์ อาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาหรือแตกต่างกันไปในแต่ละคน

ความทรงจำที่รบกวนและหลอกหลอน เป็นอาการของความทรงจำที่กลับเข้ามาบุกรุกทางจิตใจอีก เป็นความทรงจำที่ไม่พึงประสงค์ และสร้างความรู้สึกปวดร้าวทางจิตใจ เป็นอาการปวดใจของเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจซึ่งกลับมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายราวกับว่ามันเกิดขึ้นอีกครั้ง หรือที่เรียกว่า อาการย้อนอดีต คือเรื่องราวที่เป็นเสมือนความฝันร้ายหรือฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เนื่องมาจากการที่เคยประสบกับสิ่งที่ไม่คาดหมายและสร้างความทุกข์ทางอารมณ์รุนแรงหรือปฏิกิริยาทางร่างกายต่อสิ่งที่ทำให้คุณนึกถึงเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ

การหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะโยงไปหาความเจ็บปวดนั้น อาการของการหลีกเลี่ยงอาจรวมถึงพยายามที่จะไม่คิดหรือพูดถึงเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ การอยู่ห่างจากสถานที่ กิจกรรม หรือบุคคลที่ทำให้คุณนึกถึงเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางลบในความคิดและอารมณ์ จะเริ่มมีอาการของการเปลี่ยนแปลงเชิงลบในความคิดและอารมณ์อาจรวมถึงความคิดเชิงลบเกี่ยวกับตัวของเขาเอง ผู้อื่น หรือมองโลกด้านลบ มีอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ความกลัว ความตำหนิ ความรู้สึกผิด ความโกรธ หรือความอับอาย อาจรวมถึงปัญหาด้านความจำ

...

รวมถึงไม่สามารถจดจำแง่มุมสำคัญของเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจได้ ผลที่ตามมาอาจเป็นการมีความรู้สึกแยกตัวจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบ มีการมองโลกในแง่ร้าย เพราะตนเองเคยมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการรู้สึกถึงอารมณ์เชิงบวก เริ่มมีรู้สึกเย็นชาทางอารมณ์มักจะรุนแรงมากขึ้นหากประสบกับความรุนแรงในช่วงแรกของชีวิต เพราะอาจส่งผลต่อไปในอนาคตได้

โรคหลังติดคุก (Post-incarceration syndrome หรือ PICS) จึงพบและเป็นโรคทางจิตเวชที่ส่งผลต่อผู้ต้องขังที่พ้นและได้รับการปล่อยตัวกลับเข้าสู่สังคม โรคนี้มีลักษณะเฉพาะคือมีปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ และสังคมหลายประการที่อาจเกิดขึ้นได้อันเป็นผลจากการถูกคุมขัง ปัญหาเหล่านี้ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล อาจพบว่าบางคนมีความยากลำบากในการปรับตัวกับภายนอก และพบว่ามีความยากลำบากในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับผู้คน อีกต่อไป คือ อาจเป็นคนที่เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่อยากไปคบค้าสมาคม ไม่ออกงาน แต่ใช้เวลาจมกับชีวิตตนเองไม่สุงสิงกับใครอีกต่อไป

โรคทางจิตเวชหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญไม่ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและไม่มีการระบุอยู่ใน คู่มือการวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต (DSM) ที่ในวงการจิตวิทยารับรู้ แม้ในฉบับล่าสุด อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เกิดจริง และเป็นบาดแผลทางจิตใจจากการถูกคุมขังและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้คนนับนับไม่ถ้วนที่เคยประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าว