หลังการเสียชีวิตของ "แบงค์ เลสเตอร์" มีการขุดคลิปถูกกลั่นแกล้งขึ้นมาจำนวนมาก หลายคนมองว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ แต่ต้องยอมรับว่าโลกออนไลน์มีคอนเทนต์ลักษณะนี้อยู่จำนวนมาก “จิตแพทย์” ชี้บาดแผลจากการกลั่นแกล้ง ไม่ได้เกิดจากผู้กระทำ แต่คนที่เห็นและส่งเสริมให้เกิดการกระทำ มีความอ่อนแอที่ซ่อนอยู่ เลยแสดงออกว่าเห็นด้วย เลยกลายเป็นปมที่สังคมบนโลกออนไลน์ ต้องสร้างค่านิยมใหม่
"แบงค์ เลสเตอร์" เสียชีวิตหลังดื่มเหล้ารวดเดียวหมดแบนในเวลารวดเร็ว แม้เพื่อนนำตัวไปส่งโรงพยาบาล แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตได้ ขณะโลกโซเชียล ขุดคลิปบรรดาอินฟลูเอนเซอร์คนดัง แกล้ง "แบงค์ เลสเตอร์" จนมีคอมเมนต์ว่า "ถูกแกล้งเหมือนเป็นของเล่นคนรวย” เป็นเหมือนภาพสะท้อนเชิงจิตวิทยาของคนที่ถูกกลั่นแกล้ง หลายคนอาจตลกขบขันกับคอนเทนต์ แต่เรื่องจริงภายในจิตใจคนที่ถูกแกล้ง กลับกำลังซ่อนบางอย่างอยู่ภายใน
พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์ว่า คนที่ถูกแกล้งเป็นประจำ ส่วนหนึ่งมาจากการปลูกฝังทักษะการป้องกันตัวเอง ที่ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อเป็นเกราะป้องกัน ซึ่งที่ผ่านมา พ่อแม่อาจไปโฟกัสเรื่องความสามารถในการเรียนการแข่งขัน แต่เราหลงลืมที่จะให้ลูกมีด้านในที่แข็งแรง
...
กรณี "แบงค์ เลสเตอร์" ที่มีการยืนยันว่าน้องมีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ ยิ่งเป็นเป้าที่ถูกเพื่อนคนรอบข้างล้อเลียนหรือถูกรังแกได้ง่าย ซึ่งจริงแล้ว จุดด้อยที่แตกต่างจากเพื่อนมันไม่ได้แปลว่าเขาต้องแปลกแยกจากเพื่อน เพราะว่าส่วนหนึ่งมันจะเกิดจากการที่เด็กเองก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ต่างจากเพื่อน
ในเชิงจิตวิทยา ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งมากๆ อาจแสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมาเพื่อเป็นการตอบโต้ เช่น กรณีเป็นข่าวหลายเคสที่สุดท้ายคือผู้ถูกกระทำลุกขึ้นมาเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเอง แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนที่ถูกรังแกก็อาจแสดงพฤติกรรมไปในทางซึมเศร้า หรือหวาดกลัววิตกกังวล จนกระทั่งฆ่าตัวตายได้
วิธีหยุดยั้งการกลั่นแกล้งคนอื่น
การป้องกันที่จะหยุดยั้งการกลั่นแกล้งซ้ำเติม “พญ.โชษิตา” ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่แค่ตัวผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ แต่ผู้ที่รู้เห็น สนับสนุนให้เกิดการกลั่นแกล้ง ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะในโลกโซเชียล
กลุ่มคนที่รู้เห็นการกลั่นแกล้ง และสนับสนุนหรือเพิกเฉย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สำคัญมากเหมือนเราเห็นเพื่อนถูกรังแกแล้วเราไม่ได้ช่วย แต่เพิกเฉยยิ่งทำให้เหตุการณ์รุนแรงขึ้น เลยทำให้เกิดการสร้างคอนเทนต์แกล้งคนอื่น ให้ตัวเองได้ยอดวิวและแชร์ มีโอกาสสูงจะสร้างเนื้อหาที่ผิด และคิดว่าทำแล้วได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้น
แนวทางการป้องกัน ต้องย้อนกลับไปที่พ่อแม่ด้วย ว่าเรื่องของการดูแลใกล้ชิด หรือการใส่ชุดความคิดที่ถูกต้องให้ลูกด้วยเหมือนกัน เพราะว่าอันนี้มันเหมือนเราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนทั้งหมดได้ แต่ว่าถ้าคนใกล้ชิด ผู้ปกครอง แม้แต่ครูหรือเพื่อน ไม่ส่งเสริมให้เกิดคอนเทนต์ที่ไม่สร้างสรรค์ ก็จะช่วยทำให้คนที่ชอบกลั่นแกล้งหยุดพฤติกรรมนี้
สำหรับคนที่ชอบกลั่นแกล้งผู้อื่น เชิงจิตวิทยา อาจถูกใช้ความรุนแรงมาตั้งแต่เด็ก บางทีเป็นโรคทางจิตเวชด้วยส่วนหนึ่ง หรือว่าบางทีก็เป็นคนที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เลยแสดงพฤติกรรมกับเพื่อนนอกบ้าน ซึ่งบางคนก็ต้องการได้รับการยอมรับ อยากเป็นหัวโจกทำแบบนี้แล้วตัวเองได้เป็นหัวหน้า
“ทางจิตวิทยา จะมีคนบางกลุ่ม ที่ไม่หยุดคนที่แกล้งคนอื่น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าชอบ เพราะตัวเองกลัวอาจจะโดนด้วย อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มชอบความรุนแรง จะต้องมีการประเมินทางด้านจิตวิทยาเพิ่มเติม"
ปัจจุบันสังคมไม่ได้ชอบความรุนแรง ที่เห็นความรุนแรง ก็อาจเกิดจากคนบางส่วนไม่รู้จะหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นอย่างไร แต่การแก้ปัญหาดีที่สุดคือ ไม่ควรจะไปสนับสนุนคอนเทนต์ในลักษณะนี้ เพื่อไม่ไปสร้างรอยบอบช้ำให้กับคนที่ถูกแกล้ง และอาจเป็นรอยแผลภายในจิตใจไปตลอดชีวิต
...