สองแบรนด์ยักษ์ผนึกกำลัง สู้ฝ่าสงครามอุตสาหกรรมยานยนต์ กูรูชี้การควบรวมกิจการ คือหนึ่งในวิถีแห่งญี่ปุ่น พร้อมวิเคราะห์สาเหตุรถอีวีไม่ปังในแดนปลาดิบ!
เมื่อ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) และ ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) มีแผนจะเข้าร่วมการเจรจาควบรวมกิจการเพื่อให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลกได้ดียิ่งขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว
รายงานยังระบุเพิ่มเติมว่า ทั้งสองบริษัทดังกล่าวกำลังพิจารณาดำเนินงานภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง และจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนั้นบริษัททั้งสองยังวางแผนที่จะนำ Mitsubishi Motors ซึ่ง Nissan เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 24% เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัทโฮลดิ้งอีกด้วย
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 'คุณสืบศิษฏ์ ศานติศาสน์' ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรระหว่างประเทศ ธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทย ระบุกับเราว่า มีความเกี่ยวข้องกับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี (EV) ในประเทศญี่ปุ่น
...
"ญี่ปุ่นเริ่มมีเทรนด์รถ EV ตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งเป็นอัพเทรนด์ (Uptrend) มาโดยตลอดแค่ไม่ได้ขึ้นเร็วเหมือนประเทศอื่นแต่ค่อย ๆ ขึ้นอย่างมั่นคง เมื่อดูตัวเลขปริมาณรถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นตลอดปี 2023 พบว่ามีรถ EV ประมาณ 12 ล้านคัน คิดเป็นประมาณ 12.63% ของรถที่ผลิตทั้งหมด แต่ถือว่าเยอะขึ้นมากเพราะตัวเลขในปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 2%"
อย่างไรก็ตาม คำว่า EV ในญี่ปุ่นไม่เหมือนกับที่เราคุ้นชินกัน เพราะนั่นคือภาพจำและความเข้าใจว่า คือ BEV (Battery Electric Vehicle : รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี) แต่ตัวเลขรถอีวีที่ผลิตในญี่ปุ่น 97% เป็น HEV (Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งคล้ายกับรถธรรมดาแต่มีเสริมแบตเตอรีเข้าไปเพื่อสลับการใช้งาน
คำถามจากคนญี่ปุ่นถึงความยั่งยืนของรถอีวี :
เมื่อถามว่าเพราะเหตุใด BEV จึงไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนญี่ปุ่น คุณสืบศิษฏ์ ให้คำตอบว่า ข้อแรกเขายังกังวลในเรื่องแบตเตอรี่ และความคุ้มค่าต่อการใช้งานในระยะยาว อย่างที่สอง ราคายังค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับรถทั่วไป
"ปกติคนญี่ปุ่นซื้อรถคันหนึ่งราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1-3 ล้านเยน หรือประมาณ 2-7 แสนบาท แต่รถอีวีที่เข้ามาในประเทศญี่ปุ่น เช่น ของอเมริกา ราคาจะประมาณ 5-8 ล้านเยน หรือแบรนด์จีนก็ประมาณ 4 ล้านเยน ซึ่งแพงกว่าทั่วไปค่อนข้างมาก ส่วนข้อที่สามคือสถานีชาร์จแบตเตอรีรถยังมีน้อยมาก"
คุณสืบศิษฏ์ กล่าวว่า การที่ผู้คนทั่วโลกหันมาใช้รถยนต์อีวี มันคือการถูกผูกโยงเข้ากับแนวคิดความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่อุปนิสัยของคนญี่ปุ่น การมองถึงความยั่งยืนเขาไม่ได้มองแค่กำไรหรือขาดทุน แต่ดูไปถึงทรัพยากรที่เป็นกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมนั้นด้วย
"ญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรมยานยนต์ มีคนทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 6 ล้านคน เพราะฉะนั้นถ้าเขาจะเปลี่ยนเป็น EV กะทันหัน โดยไม่วางแผนอะไรเลย มันทำให้กระทบคนในอุตสาหกรรมเยอะมาก จนนำไปสู่คำถามว่านี่คือความยั่งยืนจริงใช่ไหม"
จากการตั้งคำถามสู่การคิดพัฒนา :
จากประเด็นข้างต้น คุณสืบศิษฏ์ กล่าวว่า เป็นเหตุผลให้แบรนด์ญี่ปุ่นต้องพัฒนาหลายทางเลือกในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ศึกษาเรื่องอีวีด้วยและทำแบบไฮบริดไปด้วย ถ้ามองจากคนนอกอาจจะคิดว่าญี่ปุ่นยังไม่ซื้อไอเดียอีวี 100% ซึ่งก็ไม่ใช่เสมอไป เขาเพียงแต่กำลังศึกษาหลากหลายลู่ทางที่อาจจะยั่งยืนกว่า
"รถยนต์อีวียังเป็นเรื่องที่ใหม่ เรายังไม่รู้ว่าหากใช้ในระยะยาวจะมีผลกระทบอื่นใด นอกเหนือจากสิ่งที่ผู้ใช้หรือผู้ผลิตคิดไว้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น โซลาร์เซลล์ที่เข้ามาเมืองไทยแรก ๆ มีโรงงานนำไปใช้เป็นโซล่ารูฟท็อป (ระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคา) จำนวนมาก โดยที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะคุ้มอย่างที่มีการโฆษณาหรือไม่"
...
"แต่ตอนนี้การใช้งานสำหรับบางที่ผ่านมาเกิน 5 ปีแล้ว เขาจะเริ่มรู้ว่าโซล่ารูฟท็อปตอบโจทย์จริงไหม ซึ่งมีหลายโรงงานเริ่ม Complain ว่า ช่วงแรกที่มีการผลิตไฟก็ได้ตามจำนวนวัตต์ที่บอกไว้ พอใช้ไป 3-5 ปี กำลังการผลิตลดลง การดูแลต่าง ๆ มีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น เกิดคำถามถึงความคุ้มทุน ตัวอย่างดังกล่าวสะท้อนสู่ข้อสงสัย ที่ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่ารถยนต์อีวีที่กำลังมีกระแส เราจะเจอปัญหาอะไรอีกหรือไม่"
"เมื่อเกิดคำถามมากมายขึ้นมา ญี่ปุ่นเลยเลือกจะซื้อไอเดียรถพลังงานไฮโดรเจนมากกว่า เพราะสามารถเติมเมื่อไรก็ได้และค่อนข้างสะดวกสบาย แต่เขายังติดปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตได้ถูกกว่านี้ เพื่อให้ขายได้ใน Mass market เพราะตอนนี้ยังเป็นรุ่นแรก ๆ ที่มีราคาแพง ซึ่งเป็นโจทย์ที่บริษัทญี่ปุ่นต้องไปคิดกันต่อ"
การควบรวมกิจการ :
สำหรับการควบรวมกิจการของแบรนด์ในญี่ปุ่น คุณสืบศิษฏ์ให้สัมภาษณ์ว่า การควบรวมของแบรนด์ดัง ๆ ไม่ใช่ภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าโดนตีอย่างหนักจากผู้ผลิตจีนและเกาหลีใต้
...
"ก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นถือเป็นเบอร์ 1 เรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้ามีแบรนด์หลากหลายให้เลือกสรร ยุคนั้นคนญี่ปุ่นมีความภูมิใจใน Made in Japan จนขยายไปสู่การตั้งโรงงานนอกประเทศ ขายภาพจำเป็น Japan quality มีสติ๊กเกอร์แปะการันตี"
แต่แล้ววันหนึ่งจากที่ผู้ซื้อเคยมองว่า แบรนด์จีนและเกาหลีใต้ไม่ใช่ของดีและไม่มีคุณภาพ ภาพจำก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อสองประเทศดังกล่าวเริ่มตีตลาด ทำสินค้าที่ดีไซน์สวย มีคุณภาพ และที่สำคัญราคาถูกกว่า ส่งผลให้แบรนด์ญี่ปุ่นบางแบรนด์ตายไป บางแบรนด์ประกาศควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอด "เหมือนภาพยุคนี้เลย"
นี่เป็นการทำงานแบบญี่ปุ่นสไตล์ พวกเขามองว่าแทนที่จะล้มตายหายจาก ก็รวมกันเป็นทีมเพื่อความแข็งแรง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เลยเหมือนภาพจำฉายซ้ำขึ้นมาว่าแค่เปลี่ยนวงการ
"ถ้าเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ที่ดูตัวเลขง่ายสุดคืองาน Motor Expo จากที่ท็อป 10 ในอดีตคนซื้อรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นผสมเยอรมันเกือบหมด แต่ครั้งที่ผ่านมากว่าครึ่งหนึ่งเป็นแบรนด์ของจีน"
...
คุณสืบศิษฏ์ กล่าวว่า หากมองในอีกมุมหนึ่ง อาจจะมีคำถามว่าญี่ปุ่นปรับตัวช้าไปหรือเปล่า โดนคนทำงานเร็วกว่ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป นั่นก็ถือเป็นมุมหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นได้บทเรียนอีกครั้ง แต่ผมคิดว่าถ้าญี่ปุ่นจะกลับมาครองตลาดอีกครั้ง ต้องมีอะไรที่ว้าวกว่าเดิมแน่นอน
ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่น :
กล่าวโดยสรุปทั้งหมดนั้น ขณะนี้ในสังคมญี่ปุ่นยังมีข้อสงสัยว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตจริงหรือไม่ เพราะสไตล์การทำงานของคนญี่ปุ่นไม่ได้มองแค่กำไรอย่างเดียว แต่มองไปถึงสิ่งที่ลูกค้าจะได้ และมองคนใน Ecosystem ด้วยว่ายังไปด้วยกันได้ไหม นอกจากนี้การเคลื่อนไหวในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นข่าวตอนนี้ คือการทำเพื่อให้อยู่รอดได้ไปก่อน
ก่อนจบบทสนทนา คุณสืบศิษฏ์เล่าสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้ฟังว่า ขณะนี้รัฐบาลพยายามผลักดันหลายอย่างในประเทศ เช่น ผลักดันให้คนมาเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นเท่าตัวภายในปี 2030 เพื่อสร้างเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามา
พร้อมทั้งส่งเสริมธุรกิจ Start up โดยตั้งแต่สิ้นปี 2022 ญี่ปุ่นเริ่มมีเป้าหมายใหม่จะสร้าง Start up ขึ้นมาให้ได้ 10 เท่า หรือคิดเป็นประมาณ 100,000 ธุรกิจ และพยายามสร้างยูนิคอร์นให้ได้ 100 ยูนิคอร์น ภายในปี 2027 โดยให้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เป็นผู้รับผิดชอบ
"ยังมีการเปิดให้ Start up ของต่างประเทศเข้ามาลงทุนในญี่ปุ่นอีกด้วย นอกจากนี้ยังพยายามผลักดันเรื่องอาหาร โดยให้กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง เป็นผู้รับผิดชอบ ออกนโยบายใหม่ชื่อ Delicious Japan พยายามเพิ่มยอดขายวัตถุดิบญี่ปุ่นเป็น 5 ล้านล้านเยน ภายในปี 2030 ด้วยการลงไปช่วยผู้ประกอบการ ผลักดันส่งออกสู่ต่างประเทศมากขึ้น"