ส่องเครือข่ายอิทธิพลท้องถิ่น "บ้านใหญ่” ฐานอำนาจการเมืองระบบอุปถัมภ์ การเปลี่ยนผ่านจากความสัมพันธ์ "ซุ้มมือปืน” สู่อำนาจแฝงในระบบราชการ
เหตุฆาตกรรม สจ.โต้ง ในบ้านพ่อบุญธรรม ซึ่งเป็นผู้มากบารมีในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี สะท้อนถึงเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงกับระบบการเมืองในภาพใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การเมืองท้องถิ่นเริ่มผลัดใบ
พล.ต.ท.วันไชย เอกพรพิชญ์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 สมาชิกวุฒิสภา กลุ่มการกฎหมายการยุติธรรม และการตำรวจ มองว่า ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายอิทธิพลท้องถิ่น เดิมเป็นระบบเจ้าพ่อ มาจนถึงการมีบ้านใหญ่ที่มีเครือข่ายเหนียวแน่นในท้องถิ่น และพยายามรักษาฐานอำนาจด้วยการเข้ามาเล่นการเมืองท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และจังหวัด เป็นลักษณะผู้นำที่มีสายสัมพันธ์เครือญาติ หรือลูกน้องผู้มีอิทธิพล
ด้วยระบบฐานอำนาจแบบนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกเวลา ขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรอง ความสัมพันธ์ในการดูแลเครือข่ายในทุกเรื่อง แต่ความรุนแรงมักเกิดขึ้น หากมีการแปรพักตร์ น่าสนใจว่าเครือข่ายอำนาจในปัจจุบันมีการปูฐานเครือข่ายอำนาจตั้งแต่ท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติอย่างเชื่อมโยงกันมากขึ้น
...
“ด้วยอิทธิพลท้องถิ่นมีความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต แต่ระบบเครือข่ายบ้านใหญ่ยังมีอยู่ ซึ่งเป็นระบบอุปถัมภ์ของผู้ให้และผู้รับ ที่ต่างฝ่ายต่างตอบแทน โดยผู้ให้ก็ต้องการคะแนนเสียงจากอิทธิพลท้องถิ่น ขณะผู้รับผลประโยชน์ในท้องถิ่นก็ต้องการคุ้มครองจากการเมืองในระดับชาติมากขึ้น เพราะระบบอุปถัมภ์ของเครือข่ายอำนาจ เป็นสาเหตุสำคัญนำสู่การคอร์รัปชันในระดับท้องถิ่น ที่ฝังรากลึกในระบบราชการมากขึ้นเรื่อยๆ”
หลายครั้งความรุนแรงของผู้มีอำนาจท้องถิ่น มาจากปัญหาในเชิงของการส่งไม้ต่อให้กับผู้มีอำนาจทางการเมืองยุคผลัดใบ ที่ต่างจากแต่เดิมที่ใช้กำลังความรุนแรงต่ออีกฝ่ายแล้วยังอยู่ในอำนาจต่อ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีและกล้องวงจรปิด ที่ทำให้กฎหมายสามารถเข้าไปจัดการกับเครือข่ายอำนาจที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น หลายรายเมื่อกระทำผิดจะมีกระบวนการช่วยเหลือในการหลบหนี แต่ยุคนี้เทคโนโลยีของตำรวจฝ่ายสืบสวนก็ทำให้ติดตามคนร้ายได้ง่ายมากขึ้น
ความสัมพันธ์แบบ "ซุ้ม” ในระบบผู้มีอำนาจท้องถิ่น ยังเป็นอีกตัวปัญหาสำคัญ เพราะเป็นระบบที่มีการช่วยเหลือกันแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่ฝากลูกเข้าเรียน ไปจนถึงการช่วยเหลือด้านเงินทอง เป็นการสร้างบุญคุณเพื่อตอบแทนในคะแนนเสียง เมื่อถึงฤดูการเลือกตั้ง
“สำหรับความคิดในกลุ่มเครือข่ายผู้มีอำนาจในท้องถิ่น มักมองว่า ทำไปก่อนเดี๋ยวนายช่วยพ้นผิด เพราะหลายครั้งที่ถูกจับจะมีการช่วยเหลือในเรื่องคดี และเรื่องเงินที่ช่วยทำให้คดีจบได้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าข้าราชการในระบบไม่ช่วยเหลือคนเหล่านี้ ก็จะทำให้ระบบเหล่านี้อ่อนลง”
ระบบซุ้มมือปืน ผู้มีอำนาจในท้องถิ่น ยังคงมีแต่เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม ตอนนี้เปลี่ยนภาพลักษณ์มาในลักษณะการ์ดติดตามผู้มีอิทธิพล เพื่อรักษาความปลอดภัย ขณะอาวุธปืนที่กลุ่มคนเหล่านี้ใช้ มักเป็นปืนสวัสดิการ ซึ่งแนวทางป้องกันที่ดีที่สุด ฝ่ายปกครองและผู้เกี่ยวข้อง ควรให้เจ้าของปืนมีการเก็บปลอกกระสุนในการยิง เพื่อป้องกันในการนำอาวุธไปก่อเหตุร้าย
ในอีกมุมหนึ่ง กระทรวงมหาดไทยเคยมีการขึ้นทะเบียนผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น โดย "วิสุทธิ์ วานิชบุตร" อดีตนายตำรวจมือปราบชื่อดัง วิเคราะห์ถึงเครือข่ายผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นว่า ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมีนโยบายขึ้นทะเบียนปราบปรามผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการขึ้นทะเบียนอย่างไม่เป็นธรรม ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามคู่แข่งทางการเมืองท้องถิ่นฝ่ายตรงข้าม เพราะต้องยอมรับว่า ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นบางส่วน เป็นหัวคะแนนให้กับนักการเมือง
...
สิ่งสำคัญเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว กลุ่มผู้มีอิทธิพลยังไม่ได้กระทำผิด มหาดไทยต้องเรียกมาคุยเพื่อป้องปราม โดยต้องมีการขีดเส้นตายให้เลิกกระทำพฤติกรรมเหล่านั้นภายใน 30 วัน หรือกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อดำเนินการจัดการทางกฎหมายในมาตรการถัดไป