"เราต้องสู้เพราะบางทีชีวิตก็เลือกไม่ได้" เรื่องเล่าจากชีวิตจริงของหญิงไทยวัย 60 อดีตนักนวดบำบัดในออสเตรเลีย ประสบการณ์ฟันฝ่าอุปสรรค ทำงานหาเงินเลี้ยงลูกจนจบปริญญาโท
5 ปีก่อนหน้า 'นี' ประกอบอาชีพนักนวดบำบัด (Massage Therapist) อยู่ในออสเตรเลีย เส้นทางชีวิตสายนี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากเธอรู้ว่าอาชีพนวดที่ออสเตรเลียได้เงินดี จึงลงเรียนนวดแผนไทยจนสำเร็จหลักสูตรได้ใบประกาศนียบัตร ก่อนเลือกทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง โบกมือลา จ.แพร่ บ้านเกิด พาลูกสาวคนโตบินลัดฟ้า แสวงหาชีวิตใหม่ ณ แดนจิงโจ้
นีพาลูกสาวมาศึกษาต่อในต่างแดน ส่วนเธอเดินหน้าสู่สายอาชีพนักนวดบำบัด "ได้เงินเป็นกอบเป็นกำเลยนะ จนมีเงินส่งลูกเรียนจบ" เธอเล่าความภูมิใจในฐานะผู้เป็นแม่ให้เราฟัง การลงทุนและบอกลามาตุภูมิไม่เคยเป็นเรื่องเสียเปล่าสำหรับเธอ
"เราเคยทำงานร้านอาหาร ทำงานนวด และคลีนเนอร์ แต่งานที่ชอบสุดคืองานนวดเพราะได้เงินดี สูงสุดที่เคยได้คือประมาณ 400-500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 9,000-12,000 บาทต่อวัน" นีบอกกับเราว่า โดยปกติแล้วค่าแรงขั้นต่ำของงานนวดจะอยู่ที่ประมาณ 40-80 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยราว 900-1,800 บาท "ถ้าลูกค้าจ่าย 100 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,300 บาท ร้านจะรับครึ่งหนึ่งและคนนวดจะได้รับครึ่งหนึ่ง"
...
อดีตนักนวดบำบัดเสริมว่า "บางครั้งก็ได้เงินพิเศษจากลูกค้าต่างหาก ลูกค้าบางคนใจดีเขาก็ให้เพิ่ม มีบางคนชวนไปกินข้าวเขาก็จะให้เงินเพิ่มอีกต่างหาก การไปกินข้าวกับเขาก็คืองานของเราเช่นกัน"
นีเล่าว่า บางร้านจะมีนวดแบบพิเศษด้วย เช่น แก้ผ้านวด นวดตัวต่าง ๆ หรือมากกว่านวด ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และจะจ่ายแพงกว่านวดแบบธรรมดา หมอนวดบางคนได้เงิน 1,000-2,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 23,000-46,000 บาท "ฉันคิดว่าคุ้มค่ามาก ถ้าอยู่เมืองไทยเราไม่มีทางได้เงินถึงเดือนละ 100,000 บาทนะ อยู่ที่ไทยทำงานหนักแต่ได้เงินน้อย"
นักนวดบำบัดกับคำดูถูกที่ไม่ต้องสนใจ :
ข้อมูลจากรัฐบาลออสเตรเลียด้าน Jobs and Skills Australia ประจำปี 2024 ระบุว่า มีนักนวดบำบัดมากกว่า 20,900 คน เป็นผู้หญิง 69% อายุเฉลี่ย 46 ปี ทำงานเต็มเวลา 34% ได้ค่าแรงต่อชั่วโมงเฉลี่ย 42-43 ดอลลาร์ หรือประมาณ 900-1,000 บาท รายได้ต่ออาทิตย์เฉลี่ย 1,472-1,697 ดอลลาร์ หรือประมาณ 33,000-40,000 บาท
การทำอาชีพนวดบำบัดและเปิดร้านนวดในออสเตรเลีย ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย และการค้าประเวณีในออสเตรเลียก็ไม่ผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่หากร้านนวดมีการให้บริการทางเพศมากกว่าการนวดธรรมดา
เช่น การสำเร็จความใคร่ให้ลูกค้าไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ การเปลือยกายนวดให้ลูกค้า รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ จะต้องมีใบอนุญาตในการประกอบกิจการสถานบริการทางเพศ ซึ่งมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด และจะต้องเปลี่ยนเป็นสถานประกอบการไม่ใช่ร้านนวด
ข้อมูลยังระบุอีกว่า รัฐที่มีแรงงานที่ประกอบอาชีพนักนวดบำบัดมากที่สุด คือ รัฐนิวเซาท์เวลส์ 28% รองลงมาคือ รัฐวิกตอเรีย 27% รัฐควีนส์แลนด์ 24.6% เซาท์ออสเตรเลีย 7.5% เวสเทิร์นออสเตรเลีย 8.1% แทสมาเนีย 3.4% นอร์เทิร์นเทอริทอรี 0.5% และออสเตรเลียแคปปิตอลเทอริทอรี 0.8%
เมื่อถามว่า ช่วงชีวิตที่ประกอบอาชีพนักนวดบำบัด เคยมีคนครหาดูถูกหรือไม่?
"มันก็มีนะคนที่ดูถูกเราว่าเราทำงานนวด แต่เราจะไปแคร์เขาทำไม เราไม่ได้ไปขอข้าวเขากิน จะไปแคร์เขาทำไมเขาจะพูดอะไรมันก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่แคร์กับคำพูดคน เพราะไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย" นีกล่าว พร้อมเสริมว่า "แต่ถ้าใครอยากมาทำงานเมืองนอก ก็ต้องขวนขวายด้วยตัวเองและต้องดูให้ดีด้วย เพราะบางคนที่ถูกหลอกมาก็เยอะเหมือนกัน"
...
แม้นีจะไม่สนใจคำดูถูกที่เข้ามาในชีวิต แต่เธอก็สะท้อนความจริงให้เราฟังว่า บางครั้งแรงงานจากประเทศฝั่งเอเชียต้องเผชิญกับการโดนเหยียดเชื้อชาติ และบางคนที่มาประกอบอาชีพการนวด ก็ถูกบังคับให้ยอมจำนนต้องนวดแบบพิเศษ ซึ่งเกี่ยวกับความไม่มั่นคงทางวีซ่าและสถานะการเงิน
ลั่นระฆังวิวาห์ครั้งใหม่ กับชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ :
ย้อนเรื่องราวกลับไปที่ไทยกันสักนิด นีฉายภาพให้เห็นว่า ขณะนั้นเธอประกอบธุรกิจน้ำมัน แต่ความสัมพันธ์กับสามีไปได้ไม่ดีเท่าไรนัก นีตัดสินใจแยกทางกับพ่อของลูก และพาลูกสาวมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
ในดินแดนที่ไกลจากบ้านเกิดแห่งนี้ นีเคยทำงานมาแล้วหลายอย่าง แต่งานนักนวดบำบัดเป็นงานที่เธอทำนานมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้นนีต้องเดินทางไป-กลับ ไทยกับซิดนีย์อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากความไม่มั่นคงทางวีซ่า
ระหว่างเป็นนักนวดบำบัด นีได้พบกับชายคนหนึ่งที่มาตกหลุมรักเธอ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่พัฒนามากขึ้น จนกระทั่งชายผู้นั้นขอเธอแต่งงาน ทั้งคู่จัดงานมงคลสมรสที่ประเทศไทย หลังจากนั้นนียื่นขอวีซ่าเพื่ออยู่ออสเตรเลียอย่างถาวร
...
เวลาล่วงผ่านไป 2 ปี นีได้วีซ่าชั่วคราว หรือ Temporary Visa ไม่นานจากนั้นนักเธอก็ได้รับ วีซ่าแต่งงาน (Partner Visa Subclass 309) ทำให้เธอได้อยู่ออสเตรเลียอย่างถาวร "เราโชคดีที่เขายอมตามกลับไปแต่งงานที่บ้าน" นีกล่าว
หลังจากระฆังวิวาห์ลั่นขึ้นอีกครั้ง นีในวัย 50 ปี ได้พาลูกสาวคนเล็กมาอยู่ที่ออสเตรเลียและหาที่เรียนให้เธอใหม่ ขณะเดียวกันนั้นลูกสาวคนโตก็ศึกษาจบปริญญาโทเป็นที่เรียบร้อย ทำให้นียิ่งรู้สึกภูมิใจและไม่เคยเสียดายแรงที่ได้ทุ่มเทลงไป
อย่างไรก็ตาม เส้นทางชีวิตของหญิงชาวแพร่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เธอเล่าเปิดใจว่า หลังจากแต่งงานและย้ายมาอยู่กินกับสามีชาวออสเตรเลีย ในบ้านหลังใหม่นี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ทุกเรื่องล้วนไม่ง่ายและมีปัญหาเข้ามาเยอะมาก
"ตอนแรกเราคิดว่าชีวิตจะสบายแล้ว เพราะได้มาอยู่ที่เมือง Wollongong ในรัฐ New South Wales เป็นเมืองที่สวยงามและอยู่ไม่ไกลจากเมืองซิดนีย์ ส่วนตัวค่อนข้างชอบมากเพราะมีทะเลสาบให้เดินเล่นและออกกำลังกายได้ทุกวัน"
...
ภายหลังวิวาห์ครั้งใหม่ นีทุ่มเทให้กับชีวิตคู่ครั้งนี้อย่างเต็มที่ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่แล้วเส้นทางรักก็เดินทางมาถึงทางแยก เธอหย่าร้างกับสามีโดยให้เหตุผลว่า "เราอยู่กับเขาแล้วไม่ได้จริง ๆ" นีพาลูกแยกตัวออกมา มุ่งหน้าแจ้งทางการของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งในออสเตรเลียจะมีหน่วยงานที่ดูแลปัญหาเรื่องครอบครัวโดยเฉพาะ หากประชาชนมีปัญหา ภาครัฐจะให้เงินช่วยเหลือแม่และเด็กเป็นอย่างดี
"ฉันคิดว่าอยู่ที่นี่ดีกว่ามาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ตอนเลิกกับสามีรัฐบาลที่นี่ช่วยฝั่งผู้หญิงและเด็กเต็มที่ เขาหาบ้านและงานให้เรา ไปรักษาพยาบาลก็ไม่ต้องจ่ายเงิน อย่างที่ไทยไม่ต้องจ่ายก็จริง แต่การรักษาจะถูกแบ่งชนชั้น รวมถึงราคาอาหารมันเหมาะสมเมื่อเทียบกับรายได้ รัฐบาลออสเตรเลียควบคุมราคาอาหารไม่ให้แพงเกินไป ประชาชนเข้าถึงและได้กินของที่มีคุณภาพ"
เธอเปรียบเทียบต่อว่า "คนไทยมีหนี้สินเพราะรัฐบาลไม่ควบคุมราคา ถ้าหากรัฐบาลเหมือนเดิมประชาชนก็ยังจน คนที่เป็นรัฐบาลก็รวย ตอนนี้ฉันไม่เชื่อมั่นในการเมืองไทยเลย การเมืองหลอกลวง ฉันคิดว่าการเมืองไทยต้องเปลี่ยนเพราะโลกมันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว"
ชีวิตยังต้องมีหวัง :
ปัจจุบันนีเลิกทำงานนวดและเปลี่ยนมาทำอาชีพเป็น พนักงานทำความสะอาด (Cleaner) เธอบอกว่าชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เธอเลือกจะสู้และไม่ยอมแพ้ "เราต้องเข้มแข็งและต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง"
อย่างไรก็ตาม นีเป็นคนหนึ่งที่เคยคิดจะทำการอัตวินิบาตกรรม เพราะความผิดหวังจากรักร้าง แต่ยังโชคดีที่เมื่อเธอหันกลับไปมองข้างหลังยังมีทั้งพ่อ แม่ และลูกสาวคอยให้กำลังใจ นีจึงลุกขึ้นสู้และเดินหน้าต่อไปอีกครั้ง
"เราต้องสู้เพราะชีวิตมันเลือกไม่ได้ ลูกเลือกจะอยู่ที่นี่เราเลยต้องอยู่กับลูก ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะมาอยู่ที่ออสเตรเลียถาวร คิดแค่ว่าให้ลูกคนโตเรียนจบก็จะกลับไปอยู่ไทย แต่ก็ต้องเปลี่ยนใจอยู่ที่นี่ต่อไปเพราะลูกเลือกจะอยู่ที่นี่แล้ว ส่วนตัวเองก่อนอายุ 70 ปี อยากลองออกเดินทางไปเที่ยวรอบโลกดูสักครั้ง" นีกล่าว
"พยายามดูแลตัวเองและอยากหาคนมาอยู่เป็นเพื่อนเที่ยวรอบโลกด้วยกัน คอยดูแลกันและกันตอนแก่ ใช้ชีวิตด้วยกันสัก 10 ปี ถ้าไม่เบื่อกันก็อยู่กันไปจนตายจากกันไปข้างหนึ่ง แต่ถ้าเบื่อกันขึ้นมาก็แค่บ๊ายบาย ชีวิตมันก็ง่ายแค่นี้ ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังว่าลูกต้องมาดูแล ถ้าไม่มีใครดูแลก็จะไปอยู่บ้านพักคนชรา ต้องเก็บเงินสักก้อนหนึ่งไว้จ้างพยาบาลดูแลตอนแก่"
ชีวิตของ 'นี' ผ่านทั้งร้อนและหนาวมามากมาย ผ่านทั้งการแต่งงานและหย่าร้าง แต่ตัวเธอเองยังมีสายตาและจิตใจของนักสู้อยู่เสมอ "เราไม่แคร์ผู้ชายเลยนะ ถ้าไม่ดีก็ทิ้งไป ถ้าเขาไม่รักแล้วเราจะไปแคร์ทำไม" เธอทิ้งท้าย
ภาพ : สุภาพร ธรรมประโคน