"เขื่อนไม่ใช่ของวิเศษ" นักวิชาการมองกรณี "แก่งเสือเต้น" แม้สร้างเขื่อนแต่น้ำก็ยังคงท่วมสุโขทัย แนะจังหวัดศึกษาวิธีบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากการขยายตัวของเมืองทับพื้นที่ทางระบายน้ำที่เคยมีในอดีต
"โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น" คือเมกะโปรเจกต์ของหน่วยงานภาครัฐที่ตั้งเป้าสร้างเขื่อนสูงราว 72 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม จ.สุโขทัย และบริหารจัดการน้ำไว้ใช้ยามจำเป็น ซึ่งตั้งแต่ ครม. มีมติให้กรมชลประทานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA) เมื่อ 13 พฤษภาคม 2532 ก็นับว่าผ่านมาแล้วกว่า 35 ปี
กว่า 3 ทศวรรษที่โครงการนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่ร่ำไป แต่กลับไม่เคยมีการก่อสร้างขึ้นมาเลย เนื่องจากคนในพื้นที่อย่างชาว ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ รวมกลุ่มคัดค้านชนิดที่เรียกว่า 'หัวชนฝา' เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้แผ่นคอนกรีตขนาดใหญ่มาทำลายอารยธรรมและประเพณีที่บรรพชนอุตส่าห์ก่อร่างสร้างไว้ไม่น้อยกว่า 2 ศตวรรษ
อ่านเพิ่มเติม : แก่งเสือเต้น EP.1: คัดค้าน 35 ปี คนสะเอียบไม่เสียสละ?
อ่านเพิ่มเติม : แก่งเสือเต้น EP.2: ตะกอนยม-บวชป่า วิถีรักษาผืนพนาแม่ยม
...
"ถ้ามีเขื่อนแก่งเสือเต้น น้ำจะไม่ท่วมสุโขทัย" ประโยคข้างต้นคือสิ่งที่คนจำนวนหนึ่งมองว่า "จะเป็นเช่นนั้น" แต่ในมุมของ 'ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า' อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กลับเห็นต่างออกไป
ผศ.สิตางศุ์มองว่า การสร้างเขื่อนมีทั้งคนที่ได้และเสียประโยชน์ "เพียงแต่การแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำควรนำหลักวิชาการมาคุยกัน" แต่สำหรับเขื่อนแก่งเสือเต้น 'เกิน' คำว่าวิชาการไปมากแล้ว เพราะเมื่อไรที่น้ำท่วมสุโขทัย จะได้ยินกระแสเรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเมื่อนั้น เพราะแม่น้ำยมเป็นลุ่มน้ำสายหลักเดียวที่ยังไม่มีเขื่อน
"อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีข้อมูลจากนักวิชาการหรืออนุรักษ์บางส่วน พยายามออกมาบอกแล้วว่า การเกิดขึ้นของเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือเขื่อนยมบนยมล่างก็แก้ปัญหาน้ำท่วมสุโขทัยไม่ได้ แต่อีกฝั่งที่ต้องการสร้างไม่ได้สนใจว่าวิชาการจะว่าอย่างไร เพราะเขาเชื่อไปแล้วว่าถ้ามีเขื่อนน้ำจะไม่ท่วมสุโขทัย"
ถึงมีแก่งเสือเต้น สุโขทัยก็ยังโดนน้ำท่วม :
แล้วถ้ามีน้ำจะไม่ท่วมจริงไหม? ทีมข่าวฯ ถาม "ไม่จริงค่ะ" ผศ.สิตางศุ์ตอบกลับแทบจะทันที "ต่อให้มีแก่งเสือเต้นหรือยมบนยมล่างน้ำก็ยังท่วมสุโขทัยอยู่ดี ด้วยตำแหน่งของสุโขทัยเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ปลูกข้าวเยอะ เอื้อต่อการเกิดน้ำท่วมอยู่แล้ว"
อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ อธิบายขยายความว่า หลักของการบรรเทาหรือป้องกันน้ำท่วมคือเก็บน้ำไว้ที่ต้นน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อจะไม่ได้ไหลลงไปในพื้นที่ราบจนทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งหลักการนั้นเรียกว่า หมายถึงหาที่เก็บน้ำไว้ "สมมุติฝนตกลงมา ก็หาที่เก็บไว้ 50% ให้น้ำไหลออกมา 50%"
"แม่น้ำยมมีลุ่มน้ำ 19 สาขา มีลำน้ำสาขาที่อยู่เหนือหรือข้างๆ ที่จะเก็บน้ำไว้ได้แค่ประมาณ 9-10 ลุ่ม แปลว่ายังมีอีกประมาณ 10 ลุ่มด้านล่าง ที่ยังไหลไปในแม่น้ำยม ฉะนั้นต่อให้เราสร้างแก่งเสือเต้นน้ำก็ยังท่วมเหมือนเดิม"
"หากดูน้ำสาขาที่เป็นต้นน้ำของแก่งเสือเต้น น้ำไม่ได้ไหลไปแก่งเสือเต้นทั้งหมดด้วยซ้ำ เพราะแต่ละลุ่มน้ำมีความต้องการใช้น้ำในตัวมันเอง มีพื้นที่เกษตร มีชุมชน มีคน มีหมู่บ้านที่ต้องเอาน้ำจากลุ่มน้ำบริเวณตัวเองไปกินไปใช้ ส่วน จ.สุโขทัย ยังจัดการเรื่องน้ำไม่ได้ด้วยซ้ำ จะมองแต่แก่งเสือเต้น ยมบน หรือยมล่าง ว่าเป็นของวิเศษแก้ปัญหาได้นั้นไม่จริง"
...
การจัดการน้ำของสุโขทัย :
เมื่อ 'เขื่อนแก่งเสือเต้น' ไม่ใช่ของวิเศษที่จะช่วยให้ชาวสุโขทัยรอดพ้นจากอุทกภัยได้ ทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ จึงสอบถาม ผศ.สิตางศุ์ว่า พวกเขาควรจัดการน้ำกันอย่างไร?
"เราเคยคุยกับคนสุโขทัย เขาเข้าใจว่าต่อให้มีแก่งเสือเต้น ก็ช่วยเรื่องน้ำท่วมได้ไม่ทั้งหมด เข้าใจว่ายังไงก็ต้องมีวิธีอื่น เราคิดว่าที่มีกระแสออกมาต่อว่า 'คนสะเอียบไม่เสียสละ' บางทีอาจจะไม่ใช่คนในพื้นที่ด้วยซ้ำ" อ.สิตางศุ์ แสดงความคิดเห็น ก่อนจะอธิบายต่อไปว่า
การที่จะช่วยสุโขทัยต้องเพิ่มศักยภาพของคลองระบาย ยม-น่าน สายเก่า แล้วก็ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นทางเบี่ยงอ้อมเมือง พื้นที่สุโขทัยเป็นที่ราบและสองข้างเป็นทุ่ง อาจจะต้องมีวิธีการใช้ทุ่งเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ คล้ายกับลุ่มเจ้าพระยาที่มี 'ทุ่งบางระกำ' หน่วงน้ำไว้ชั้นหนึ่ง พอผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงมาก็มีอีก 10 ทุ่งลุ่มต่ำที่ใช้หน่วงน้ำ
"แต่ถ้ามีแนวทางใช้ทุ่งตัดยอดน้ำก่อนเข้าตัวเมือง ก็ต้องไปคุยและดูว่าปกติเกษตรกรปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวช่วงไหน ตอนไหน ต้องคุยกันว่าจะบริหารทรัพยากรน้ำในจังหวัดอย่างไร นอกจากนั้นสุโขทัยไม่ได้มีเฉพาะน้ำเหนือ ไม่ได้มีเฉพาะน้ำที่มาจากลุ่มน้ำยม"
...
"ถ้าเคยไปสุโขทัยจะเห็นว่าคลองสายเก่ากลายเป็นคลองบก หรือสะพานก็เป็นสะพานบก เพราะมีสะพานแต่คลองหายไปแล้ว เนื่องจากการขยายตัวของเมือง คลองเส้นเล็กที่ใช้ระบายน้ำตั้งแต่โบราณถูกถมไปหมด จึงทำให้น้ำท่วมบริเวณเมืองใหม่ แต่วังเก่าสุโขทัยน้ำไม่ท่วม เพราะบรรพบุรุษจัดการน้ำไว้อย่างชาญฉลาด"
ผศ.สิตางศุ์กล่าวว่า ฉะนั้น นอกจากจะหวังสร้างแค่เขื่อน จ.สุโขทัย ต้องจัดการน้ำฝนในพื้นที่ของตัวเองให้ได้ด้วย เราเข้าใจความทุกข์ร้อนของพี่น้อง แต่การบริหารจัดการน้ำมีมากกว่า 1 วิธีเสมอ เพียงแต่ผู้เกี่ยวข้องจะเปิดใจรับวิธีเหล่านั้นหรือไม่ หรือปักธงไว้ตั้งแต่แรกว่าจะต้องทำเขื่อนให้ได้
สะเอียบโมเดล และ 19 แนวทางแก้น้ำท่วมน้ำแล้ง :
โครงการ 'สะเอียบโมเดล' เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำที่คนในชุมชนมีส่วนร่วม ด้าน อ.สิตางศุ์ ให้ข้อมูลว่า 'สะเอียบโมเดล' เป็นการเก็บน้ำในชุมชน เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้มีแค่ปัญหาน้ำท่วม แต่ยังมีปัญหาน้ำขาดแคลนด้วย ชาวบ้านเขาไปวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข จึงสนับสนุนให้มีสะเอียบโมเดล เป็นการเก็บน้ำไว้ตามชุมชน โดยใช้อ่างขนาดเล็ก ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ชุมชนได้
...
"แต่ถ้ามองน้ำท่วมเป็นปัญหาหลัก สะเอียบโมเดลก็ช่วยได้ไม่มาก เพราะปริมาณน้ำที่เก็บก็ไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับน้ำที่ไหลไปสุโขทัย ฉะนั้นถ้าหากจะแก้หรือป้องกันน้ำท่วมสุโขทัย ต้องใช้วิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การตัดยอดน้ำ จะทำได้มากหรือน้อยก็ควรทำ โดยทำตามลุ่มน้ำสาขาต่าง ๆ"
นอกจากสะเอียบโมเดลแล้ว พี่น้องชาวสะเอียบยังได้เสนอ 19 แนวทาง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนเตาปูน อ่างเก็บน้ำเตาปูน ประตูระบายน้ำเตาปูน (ปตร.) โครงสร้างเตาปูน ซึ่งทีมข่าวฯ สรุปมาโดยย่อ ดังนี้
1. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า
2. รักษาและพัฒนาป่าชุมชน
3. ปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศชาติและทุกคน
4. ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ
5. เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก
6. ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน
7. พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม
8. สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน
9. พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม
10. กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น
11. ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ
12. ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม
13. บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
14. ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ
15. พัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิมในลุ่มน้ำยมทั้ง 11 จังหวัด
16. ขุดลอกและขยายแม่น้ำยมสายเก่า ให้ทะลุทลวงให้น้ำไหลผ่านได้เต็มประสิทธิภาพ
17. ทำทางเบี่ยงน้ำไม่ให้เข้าไปในเขตเมือง
18. สร้างอ่างขนาดเล็ก กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ตามแผนการจัดการน้ำชุมชน
19. สนับสนุนและผลักดัน สะเอียบโมเดล ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
'เขื่อนแก่งเสือเต้น' โครงการที่เป็นไปได้ยาก (มาก) :
เมื่อถามว่ารัฐบาลควรจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร อ.สิตางศุ์ แสดงทรรศนะว่า "เราคิดว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นอยู่ในความทรงจำของทุกคน มันไม่มีวันตายและจะผุดขึ้นมาทุกครั้ง ตราบใดที่สุโขทัยมีน้ำท่วม หรือเรายังแก้ปัญหาลุ่มน้ำยมไม่ได้ การที่ท่านภูมิธรรมนึกเรื่องแก่งเสือเต้นขึ้นมาอันดับแรก จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร"
แต่ถามว่าเขื่อนนี้จะสร้างได้ไหม "เรามองว่าเป็นไปได้ยาก" เพราะถ้าต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่มีการทำ EIA ตอนนี้ก็แทบจะปิดประตูตายไปแล้ว เพราะชาวบ้านไม่ให้เข้าพื้นที่ "ซึ่งการทำ EIA ต้องเข้าพื้นที่ให้ได้ ต้องศึกษาระบบนิเวศป่า รวมถึงการมีส่วนร่วม การจะเข้ามาศึกษาแล้วชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือแปลว่าทำไม่ได้อยู่แล้ว"
หรือแม้กระทั่งถ้ามันจะเกิดขึ้นมาจริง ๆ จะประเมินค่าทางเศรษฐศาสตร์อย่างไร ในเมื่อพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ป่าและเป็นป่าสักทอง การประเมินมูลค่าของป่านี้มหาศาลมาก ซึ่งนี่ยังไม่ได้พูดถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แล้วถ้าขยับมามองเรื่องผลกระทบต่อชาวบ้าน ถ้ามีการสร้างเขื่อนจะชดเชยคุณภาพชีวิตพวกเขาอย่างไรไม่ให้แย่กว่าเดิม
เขื่อนไม่ใช่ของวิเศษ :
ผศ.สิตางศุ์ มองภาพรวมของชุมชนคนสะเอียบว่า พวกเขาเข้มแข็งและยืนหยัดมาก เนื่องจากเขาไม่ได้คัดค้านอย่างเดียว แต่เข้าใจว่าในพื้นที่มีปัญหาอะไร จึงพยายามเข้าไปมีส่วนร่วม มีการเสนอแนวทางแก้ไขและอนุรักษ์ เข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานราชการ อยู่กันอย่างเป็นกลุ่มก้อนและมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเสมอมา
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียง 'โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น' ที่ถูกปลุกผีและหยิบยกมาพูดถึงอยู่ร่ำไป แต่ในเมืองไทยยังมี 'เขื่อน' อีกหลายโครงการ ที่มีความพยายามจะสร้างขึ้นมาให้ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงสอบถามส่งท้ายก่อนบทสนทนาจะจบลงว่า "แล้วการมีอยู่ของเขื่อน หรือการสร้างเขื่อนนั้นดีหรือไม่?"
ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ให้คำตอบว่า เราเป็นนักวิชาการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ อาจารย์ในภาคของเราก็สอนเรื่องการสร้างเขื่อน ถามว่าพวกเราชอบเขื่อนไหม ต้องตอบว่า "วิศวกรชอบ เราชอบการสร้างเขื่อน" เพราะมันเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่เก็บน้ำได้มหาศาล บริหารจัดการได้ ณ ที่ๆ เราต้องการ
"เพียงแต่บริบทปัจจุบันพื้นที่ป่าเหลือน้อย ฉะนั้นจึงจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหา หรือบริหารทรัพยากรน้ำด้วยวิธีอื่นที่มีความเป็นไปได้และจับด้วยหลักวิชาการ เขื่อนไม่ใช่ของวิเศษ การมีเขื่อนไม่ได้แปลว่าน้ำจะไม่ท่วมหรือไม่แล้ง หากมีก็ต้องใช้ให้เป็น การบริหารจัดการสำคัญมาก ถ้ามีเขื่อนแต่จัดการแย่มันก็ส่งผลเสียอยู่ดี"
************
ภาพ : สุภาพร ธรรมประโคน