น้ำท่วมภาคใต้ หวั่นซ้ำหนักอีกรอบ 3-4 ธันวาคมนี้ นักวิชาการมอง ความเสี่ยงจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อาจถูกมองเป็นภัยความมั่นคง
"เหตุภัยพิบัติและความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ Climate Change หรือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เราจะได้ประสบการณ์ใหม่อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ก่อนหน้านี้เรายังพอมีภูมิปัญญาจัดการภัยพิบัติได้บ้าง แต่ตอนนี้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้เจอกับภัยพิบัติที่เร็ว แรง และคาดไม่ถึง มีโอกาสที่จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ได้มาแล้วไปเหมือนในอดีต"
บทสัมภาษณ์จากความคิดเห็นของ 'ผศ.ดร.อลิสา หะสาเมาะ' อาจารย์ประจำสาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประธานเครือข่ายผู้หญิงกับภัยพิบัติ จังหวัดชายแดนใต้ และเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ ถึงสาเหตุส่วนหนึ่งของความรุนแรงจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
...
ชายแดนใต้อ่วม! เดือดร้อนรวดเร็วและรุนแรง :
ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ดร.อลิสา เล่าถึงความเสียหายจากมวลน้ำครั้งนี้ให้เราฟังว่า ปีนี้น้ำท่วมภาคใต้หนักมาก สถานการณ์ต่างจากหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากทุกจังหวัดที่เกิดอุทกภัยถูกตัดขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ความรุนแรงของน้ำทั้งเชี่ยวและเร็ว จนรถบรรทุกไม่สามารถวิ่งผ่านได้
บางพื้นที่แม้ว่าหน่วยงานท้องถิ่นจะเตรียมอาหารและน้ำดื่มไว้ แต่ก็อยู่ได้เพียงประมาณ 3 วัน เนื่องจากถูกตัดขาดจากภายนอก ส่งผลให้อาหารเข้าไม่ถึงในพื้นที่ คนมีเงินก็ซื้อไม่ได้ นอกจากนั้น ระดับน้ำในบางพื้นที่ เช่น ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา สูงเกือบ 19 เมตร เกิดดินสไลด์และดินถล่ม ส่วน จ.ปัตตานี โรงพยาบาล 4 แห่งต้องปิดทำการ ใช้ได้แค่โรงพยาบาลในตัวเมืองที่เดียว
"ความรุนแรงเริ่มทวีคูณขึ้นในประมาณวันที่ 3 ของอุทกภัย น้ำประปาถูกตัด ไฟฟ้าดับหลายจุด สัญญาณอินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้ตั้งแต่วันแรกในบางพื้นที่ ตอนนี้บางพื้นที่อาหารและเครื่องดื่มขาดแคลน จุดนี้คิดว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐต้องเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้เร็วที่สุด"
"นอกจากนั้น ยังมีผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยสูงอายุ และเด็กเล็ก บางพื้นที่มีเด็กอ่อนที่ต้องกินนมผงก็ขาดนมผง ชาวบ้านต้องใช้น้ำซาวข้าวให้เด็กกินแทนนมไปก่อน ยังพอโชคดีอยู่บ้างที่วันนี้เสบียงบางส่วนเริ่มเข้าได้ในบางพื้นที่ แต่อย่างที่บอกไปบางพื้นที่ต้องอยู่ในภาวะอดอยาก"
แม้ว่าสถานการณ์จะดูเริ่มทุเลาลง แต่ความน่ากังวลยังไม่หมดลงเพียงเท่านี้ ผศ.ดร.อลิสา ระบุว่า จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า วันที่ 3-4 ธันวาคม ฝนจะตกหนักอีกครั้ง จึงแจ้งชาวบ้านว่าของที่อยู่บนที่สูงอย่าเพิ่งเอาลง และยังไม่ต้องรีบล้างบ้านเพราะคาดว่าน้ำจะมาหนักอีก ส่วนน้ำที่มีอยู่ตอนนี้ก็ยังไม่ลดเท่าไรนัก บางพื้นที่อาจจะแห้งแต่บางจุดก็ยังมีมากอยู่
ความพร้อมของหน่วยงานส่วนกลาง :
ทีมข่าวฯ สอบถามถึงมุมมองการเตรียมความพร้อมในการจัดการภัยพิบัติของหน่วยงานในพื้นที่ ว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนหรืออย่างไร อ.อลิสา แสดงทรรศนะว่า กรณีนี้เกิดภัยพิบัติครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในระดับท้องถิ่นไม่มีกำลังพอ เช่น เรือ คน เสื้อชูชีพ เป็นต้น จุดนี้มองว่าต้องมีการพัฒนาในอนาคต
...
ในส่วนความช่วยเหลือจากส่วนกลาง เรามองว่ามีการเตรียมความพร้อมอยู่บ้าง แต่อาจจะยังไม่พร้อมเท่าไร เนื่องจากทุกหน่วยงานพอจะทราบเบื้องต้นอยู่แล้วว่า ภัยพิบัติปีนี้จะมีปริมาณน้ำมากและเร็วกว่าปลายปีที่แล้วอย่างน้อย 1 เท่าตัว แต่กลไกในการขยับหรือให้ทุกพื้นที่มีการเตรียมความพร้อมยังถือว่าน้อยมาก
การเตรียมความพร้อมต่อจากนี้ :
อุทกภัยครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนให้หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนตระหนักรู้ถึงความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติที่มีมากขึ้น และทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทีมข่าวฯ จึงสอบถามปลายสายต่อว่า หลังจากนี้ตั้งแต่ระดับชุมชนถึงรัฐบาลควรมีการเตรียมตัวอย่างไร เพื่อรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต!
ผศ.ดร.อลิสา หะสาเมาะ กล่าวว่า ต้องเริ่มจากในระดับชุมชน ตัวอย่างที่เราได้ทำงานร่วมกับ 'เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช' ซึ่งมี 'จ.ท.โกเมศร์ ทองบุญชู' เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย ซึ่งในช่วงประมาณ 6 เดือนก่อนหน้านี้ ได้มีการพาชาวบ้านใน 6 ตำบล 6 พื้นที่ จาก 3 จังหวัดชายแดน คือ ต.ลิปะสะโง, ต.เตราะบอน จ.ปัตตานี ส่วน จ.นราธิวาส ก็คือ ต.บาตง และท่าเรือ ต.รือเสาะ พื้นที่สุดท้าย จ.ยะลา ได้แก่ ต.อาซ่อง และ ต.กายูบอเกาะ ไปฝึกอบรมมาเบื้องต้น
...
"เราคัดเลือกตัวแทนพื้นที่ละ 15 คน ไปฝึกปฐมพยาบาล ฝึกขับเรือ ซึ่งการขับเรือไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายต้องฝึกหมด ฝึกการเอาตัวรอดในน้ำ ลอยคอในทะเล ใส่เสื้อชูชีพให้เป็น ฝึกใช้เงื่อน และฝึกเรื่องต่าง ๆ"
"ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเราโชคดีที่มีการเตรียมการไว้ และยังได้รับการอนุเคราะห์เรือจากเครือข่ายฯ ให้ลงยืมไว้ประจำในบางพื้นที่ แล้วก็ได้เสื้อชูชีพจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มากระจายใน 6 พื้นที่ รวมถึงความช่วยเหลืออื่น ๆ เท่าที่จะเตรียมพร้อมได้"
จากการคาดการณ์ เตรียมพร้อม และฝึกปรือเบื้องต้น ดร.อลิสา กล่าวว่า มวลน้ำมาหลังจากที่พวกเรานำเรือมาเตรียมไว้วันนึง ชาวบ้านจึงสามารถนำเรือออกไปเตือนและช่วยเหลือกันได้ ซึ่งจุดนี้น่าจะเป็นโมเดลตัวอย่างในการจัดการภัยพิบัติ สำหรับพื้นที่และชุมชนอื่นต่อไป
...
ความขัดแย้งในพื้นที่ ข้อจำกัดที่ต้องเร่งหาแนวทางแก้ไข :
ผศ.ดร.อลิสา กล่าวว่า การจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ชุมชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น เพราะเราอยู่ในพื้นที่บริบทที่มีสถานการณ์ความไม่สงบมากว่า 20 ปี ทำให้หน่วยงานหรือนักข่าวไม่ได้ลงพื้นที่เท่าไรนัก หากมาก็มักอยู่ในตัวเมือง ส่งผลให้ในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่สีแดง จะเข้าถึงความช่วยเหลือยากมาก ยิ่งเป็นช่วงสถานการณ์น้ำท่วม น้ำเชี่ยว แบบนี้ ยิ่งทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิงจากหน่วยงานภายนอก
"ถ้าเป็นระดับ อบต. อาจารย์คิดว่าน่าจะมีการทำงานร่วมกันในลักษณะเป็นตัวกลางประสานกับชุมชนและภาครัฐ เพราะงบประมาณที่ลงมา อบต. จะดูแลอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาอาจไม่ได้เตรียมความพร้อม ในลักษณะการฝึกซ้อมยามเกิดภัยพิบัติรุนแรงเท่าไรนัก จุดนี้มีความคิดเห็นว่าอาจจะต้องมีการฝึกใช้หลักสูตรของ จ.ท.โกเมศร์ มาลองใช้ให้มากขึ้น"
"ในส่วนของภาครัฐมีการรับทราบข้อมูลต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่อาจเป็นเพราะช่องว่างของการสื่อสารในสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งควรมีวอร์แดงหรือวิทยุส่วนกลาง ที่ใช้ในการประสานงานกันทั้งหมด ไม่ว่าจะจากหน่วยงานข้างนอกหรือในพื้นที่เอง"
อย่างไรก็ตาม ในการประสานงานนี้ ผศ.ดร.อลิสา มองว่า "มีข้อจำกัดอยู่" เนื่องจากชาวบ้านยังเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะตัววิทยุสื่อสารในพื้นที่ "อย่างที่บอกว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง การใช้หรือฝึกใช้วิทยุสื่อสาร อาจถูกมองว่าเป็นภัยอันตรายต่อความมั่นคง หรือทักษะบางทักษะอาจจะมีข้อจำกัดที่ไม่ได้อย่างพอสมควร"
"ภาครัฐสามารถช่วยได้โดยการให้ทักษะ หรือจัดทำหลักสูตรอบรมพัฒนา พยายามให้ชุมชนหรือชาวบ้านที่เป็นชาวบ้านจริง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดการภัยพิบัติ ตั้งแต่ระดับนโยบาย รวมถึงในส่วนของกลางก็ต้องเตรียมความพร้อมในการป้องกันภัยพิบัติ"
"เมื่อพูดถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ อย่างที่บอกว่าเราอยู่ในพื้นที่พิเศษที่อยู่กับความขัดแย้งสูงมานาน หน่วยงานในบางพื้นที่อาจทำงานไม่เข้าขากัน จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ดังนั้น คิดว่ามีความจำเป็นที่รัฐต้องออกแบบเครื่องมือ ที่มีการทำงานที่ละเอียดอ่อน และเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่"
"ทางเรามีเครือข่ายผู้หญิงกับการจัดการภัยพิบัติจังหวัดชายแดนใต้ เราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่พอมีความรู้อยู่ในระดับหนึ่งเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ มีเครือข่ายสภาประชาสังคมชายแดนใต้ รวมไปถึงเป็นเครือข่ายกับผู้ใหญ่โกเมศร์ พวกเรายินดีที่จะช่วยขยายพื้นที่การเรียนรู้ให้พื้นที่อื่น หากรัฐสนใจที่จะทำงานด้วยกันเราก็ยินดี เพื่อให้ชุมชนมีการเตรียมตัวที่พร้อมและดีมากขึ้น"
ก่อนบทสนทนาจะจบลง ผศ.ดร.อลิสา ได้ชวนทุกคนร่วมส่งพลังใจและทุนทรัพย์ช่วยเหลือพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่าน "เทใจดอทคอม | ชุมชนการให้เพื่อคนไทย" ทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ ขอเป็นกำลังใจให้ชาวไทยทุกคนผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยดี
***********
ขอบคุณภาพจาก : "เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ จังหวัดนครศรีธรรมราช" และ "เครือข่ายผู้หญิงกับภัยพิบัติ จังหวัดชายแดนใต้"