เปิดสิทธิเยียวยา ผู้เสียชีวิตคานสะพานก่อสร้างถล่มบนถนนพระราม 2 สั่งนายจ้างช่วยเหลือรายละ 1 ล้าน ประกันสังคม ช่วยเงินทดแทน สำรวจความสูญเสียที่ผ่านมา ใครคือผู้เยียวยาหลัก แต่ได้สิทธิไม่เท่ากัน
โศกนาฏกรรมบน “ถนนพระราม 2” ช่วงเช้าวันที่ 29 พ.ย. 2567 หลังคานสะพานก่อสร้างถล่ม มีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 คน บาดเจ็บ9 คน สะท้อนถึงปัญหาในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุจากการก่อสร้างที่มีมายาวนาน แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุสลด ผู้ที่เยียวยาส่วนใหญ่ เป็นตัวแทนจากภาครัฐ
โดยเหตุคานเหล็กถล่มล่าสุด บนถนนพระราม 2 ขาออกกรุงเทพฯ หมู่ที่ 4 ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร นายวรณัฏฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ผู้บัญชาการเหตุการณ์ เปิดเผยถึงการช่วยเหลือเหยื่อทั้งหมด จะได้รับเงินเยียวยารายละ 860,000 บาท
ขณะที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายจากเหตุคานสะพานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ทรุดตัว ทางกระทรวงฯ ได้มีคำสั่งให้ผู้รับจ้างเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 1 ล้านบาท
ส่วนกองทุนเงินทดแทนสำนักงานประกันสังคม โดยประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร ประสานทางบริษัทฯ ของลูกจ้างที่เสียชีวิต ให้ยื่นแบบการประสบอันตราย เนื่องจากการทำงาน ซึ่งทายาทผู้เสียชีวิตได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน คือ1. ค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท 2. เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตร้อยละ 70 ของค่าจ้าง
...
เงินเยียวยากรณีพนักงานกรมทางหลวง
ถ้าย้อนดูการเยียวยาอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 กรณีเป็นพนักงานราชการ เช่น ครั้งสะพานกลับรถถล่ม บนถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 34 บริเวณใกล้โรงพยาบาลวิภาราม จ. สมุทรสาคร เมื่อ 31 ก.ค. 2565 ผู้เสียชีวิตเป็นพนักงานราชการ ตำแหน่งพนักงานโยธา สังกัดศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 ปทุมธานี ได้รับเงินเยียวยาดังนี้
-เงินสงเคราะห์ สวัสดิการกรมทางหลวง 30,000 บาท และค่าทุนศึกษาบุตร 5,000 บาท
-เงินเยียวยาจากกองทุนฌาปนกิจศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 ปทุมธานี จำนวน 34,000 บาท และได้รับเงินจากกองทุนสวัสดิการประกันภัย กรณีเสียชีวิต จำนวน 30,000 บาท
-สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม 1,178,520 บาท
ลูกจ้างชั่วคราวสิทธิเยียวยา
กรณีผู้บาดเจ็บ เป็นลูกจ้างชั่วคราว ได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
-กรณีบาดเจ็บสาหัส ได้รับเงินสงเคราะห์ 10,000-30,000 บาท
-กรณีบาดเจ็บไม่สาหัส ได้รับเงินสงเคราะห์ 500-5,000 บาท
-สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม เป็นเงินทดแทนช่วงที่หยุดงาน จำนวน 60% ของค่าจ้าง (ค่าจ้างวันละ 377.85 บาท)
การเยียวยาประชาชนทั่วไป
กรณีประชาชนผู้เสียหาย กรมทางหลวง จะรับผิดชอบเยียวยา แต่จะขึ้นอยู่กับการพูดคุยตกลงกันอีกครั้ง
ทั้งนี้ ทุกความสูญเสีย แม้ได้รับการเยียวยาที่ต่างกัน แต่ปัญหาอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบน ถนนพระราม 2 ควรมีการป้องกัน เพื่อไม่ให้ประชาชน และคนงานต้องมารับเคราะห์กรรมเช่นนี้อีก.