ชวนรู้จัก "กลุ่มตะกอนยม-พิธีบวชป่า" เยาวชนและกุศโลบายผูกความเชื่อ สันติวิธีของชาวบ้านชุมชนสะเอียบ ที่ใช้แสดงออกคัดค้านโครงการสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" มายาวนานกว่า 35 ปีแรกเริ่มศรัทธา 'บวชป่า' ค้านเขื่อน :อย่างที่ได้นำเสนอไปเบื้องต้น ในสกู๊ป แก่งเสือเต้น EP.1 : คัดค้าน 35 ปี คนสะเอียบไม่เสียสละ? จะเห็นว่าคนสะเอียบมุ่งมั่นคัดค้านการสร้างเขื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในวิธีที่พวกเขาเลือกใช้แสดงออกนั่นก็คือ 'พิธีบวชป่า' ที่เป็นดั่งสัญญาใจร่วมกันว่า จะไม่มีการตัดต้นไม้ที่ทำพิธีบวชแล้ว ซึ่งนี่คือสันติวิธีที่หยิบยกศาสนาและความเชื่อ มาผูกมัดรวมเป็นกุศโลบายได้อย่างแยบยลจุดเริ่มต้นของพิธีนี้ต้องย้อนกลับไปในครั้งอดีต เดิมแล้วพื้นที่ที่เคยคัดค้านเขื่อนหัวชนฝาแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2531 หลังสัมปทานป่าไม้ถูกยกเลิก มีนายทุนเข้าบุกรุกตัดไม้ในป่า ขนลากใส่รถสิบล้อกันราวปกติวิสัย ซึ่งชาวบ้านบางส่วนก็ร่วมมือกับนายทุนด้วย แม้ภาครัฐจะพยายามจับกุมเท่าไร แต่ก็ไม่สามารถหยุดขบวนการผิดกฎหมายนั้นได้เมื่อกฎหมายใช้ไม่ได้ผล 'ความเชื่อ' จึงถูกหยิบยกมาเป็นเครื่องมือ คนในชุมชนเริ่มจัด 'พิธีบวชป่า' ลุกขึ้นหยิบผ้าเหลืองผูกห่มให้ต้นไม้ มีพระสงฆ์ผู้เป็นหน่อเนื้อแห่งศาสนานำประกอบพิธีนี้ ภายหลังสิ้นเสียงสวดและจบพิธี ก็เกิดความเชื่อใหม่ขึ้นว่า "ถ้าใครนำผ้าเหลืองออกแล้วตัดต้นไม้ จะถือว่าทำบาปมาก"พิธีบวชป่าถูกสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง ล้อไปในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จากมติ ครม. เมื่อพฤษภาคม 2532 อย่างไรก็ตาม 'ชาวสะเอียบ' ยังคงโดนตีตราว่าเป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า หวงป่าเพราะอยากเก็บทรัพยากรไว้หาผลประโยชน์ ไม่ได้รักษ์ป่าดั่งปากว่าจริงข้อครหานั้นเป็นผลให้ในปี 2538 เกิดมติชุมชนร่วมกันแสดงออกถึงความจริงใจในการอนุรักษ์และไม่ต้องการเขื่อน ชาวบ้านขายช้างที่ใช้ลากซุงออกจากพื้นที่ นำเครื่องมือตัดไม้ทั้งหมดมากองรวมกันและทำลายทิ้ง เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่จากคนขายไม้สู่ 'คนดูแลป่า' จวบจนปัจจุบัน"ภาพจำชัดเจนมาก" คำบอกเล่าจากปากของ 'ภารดี สะเอียบคง' ชาวบ้านชุมชนบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ เล่าถึงเหตุการณ์ทำลายเครื่องมือตัดไม้ "พอชาวบ้านเอาเครื่องมือมากองทำลาย เกิดฝนตกและลมพัดแรง เป็นเรื่องที่เรารู้สึกมหัศจรรย์มาก หลังจากนั้นไม่มีใครตัดไม้ทำลายป่าอีกเลย""บ้านไม้สักที่อยู่ในชุมชน เป็นไม้เก่าตั้งแต่ครั้งทำสัมปทาน ตั้งแต่มีมติชุมชนก็ไม่มีการตัดไม้ใหม่อีกเลย เพราะเราไม่อยากให้รัฐเอามาเป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อน และการบวชป่าป้ามองว่าก็ช่วยป้องกันการตัดไม้ได้ดี คนสะเอียบไม่มีทางตัดไม้ หรือถ้าใครจะแอบตัดชาวบ้านก็ไม่ยอมแน่นอน"พิธีบวชป่า :วาระครบรอบ 35 ปีการคัดค้าน ทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีแห่งพลังศรัทธานี้ เรานั่งหลังรถกระบะของชาวสะเอียบ มุ่งจากชุมชนบ้านดอนชัยสู่ผืนป่าดงสักทอง เมื่อเข้าเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ทางรถค่อย ๆ แคบลงจากพื้นเรียบกลายเป็นลูกรัง ฝุ่นจากดินฟุ้งกระจายให้บรรยากาศราวกำลังออกผจญภัยเมื่อรถที่เรานั่งมาแล่นฝ่าฝุ่นถึงจุดหมายซึ่งเป็นที่ตั้งของพิธี รถหลายคันพร้อมผู้คนก็ทยอยตามเข้ามา เสียงประกาศจากลำโพงบรรยายถึงวัตถุประสงค์ของการบวชป่า ขณะเดียวกันพระสงฆ์เริ่มเดินผ่านผู้ร่วมพิธี ขึ้นนั่งบนแคร่ไม้ไผ่ที่ด้านหลังขึงป้ายผ้าสีเขียวตัวหนังสือสีส้ม ระบุข้อความ "บวชป่า 35 ปีแก่งเสือเต้น" เมื่อทุกอย่างพร้อมเพรียงพิธีกรรมก็เริ่มต้นขึ้นเสียงสวดมนต์ดังผ่านลำโพงก้องป่าสักทอง ประชาชนหลากอายุต่างพนมมืออย่างตั้งใจ หลังจากนั้นไม่นานเท่าไรนัก 'ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา' ประธานคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ถูกเชิญให้กรวดน้ำลงบนโคนต้นสักขนาดใหญ่ เวลาผ่านไปเพียงชั่วครู่เสียงสวดภาษาบาลีสิ้นสุดลง กลับมาเป็นเสียงประกาศภาษาไทยชวนผู้เข้าร่วมให้หยิบผ้าเหลืองเพื่อบวชป่ากุศโลบายไม่ใช่ความงมงาย :หลังสวดมนต์ทำพิธีเสร็จ 'พระปิยวัฒน์ ปิยภาณี' พระลูกวัดวัดดอนชัย ซึ่งเป็นชาวสะเอียบมาตั้งแต่กำเนิด ลุกขึ้นหยิบผ้าเหลืองเดินไปที่ต้นไม้ใหญ่เพื่อร่วมบวชป่าเช่นกัน พระปิยวัฒน์บรรจงผูกผ้าที่ต้นไม้อย่างสงบนิ่งและสุขุม มองแล้วรู้สึกขลังและมีพลังอย่างบอกไม่ถูกทีมข่าวฯ ถือโอกาสนี้ขอนมัสการพระคุณเจ้าสนทนาเกี่ยวกับพิธีกรรมที่กำลังเกิดขึ้น พระปิยวัฒน์ กล่าวว่า ป่าสักทองมีความสำคัญกับชาวบ้านอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาอยู่กินกับผืนป่า ชุมชนมีพืชพันธุ์ธัญญาหารที่สมบูรณ์ก็เพราะช่วยกันดูแลพระปิยวัฒน์ ระบุว่า ตามความคิดของอาตมา การบวชป่าอาจจะไม่ได้มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลก็จริง เพราะในอดีตป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ผู้คนไม่ได้มีทำลายป่าขนาดนี้ แต่เป็นความคิดของบรรดาผู้นำหมู่บ้าน ที่สร้างพิธีขึ้นมาเป็นเชิงสัญลักษณ์และกุศโลบาย เพื่อให้คนหวงแหนและช่วยกันปกป้องป่า"จุดประสงค์ของพิธีนี้ชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าจะให้ไปมองว่าต้นไม้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คงไม่ได้หรอก อย่างนั้นเป็นความงมงาย เราไม่ได้ผูกผ้าเพื่อให้มาขอโชคลาภ แบบนั้นดูแล้วก็ไม่ใช่ แต่เราทำเช่นนี้เพราะเป็นสัญญาใจว่าเห็นแล้วจะไม่ทำลาย ซึ่งอาตมามองว่าช่วยลดการตัดไม้ได้จริง""อาตมามาช่วยพิธีบวชป่าอยู่เรื่อย ๆ ตั้งแต่ยังไม่บวชเรียน อาตมาคิดว่าการต่อสู้ตลอด 35 ปี ของชาวบ้าน พวกเขาเหนื่อยมาก ทั้งแรงแรงใจและทุนที่เราก็ไม่ค่อยจะมี ชาวบ้านเหนื่อยมากจริง ๆ" พระลูกวัดวัดดอนชัย กล่าวทิ้งท้ายเยาวชนตะกอนยม :พิธีบวชป่าเป็นหนึ่งในการรังสรรค์กุศโลบายที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีเพียงผู้ใหญ่ที่ต้องการต่อสู้และคัดค้านเมกะโปรเจกต์ แต่ลูกหลานเยาวชนก็รู้สึกรับไม่ได้ หากผืนดินที่เคยอาศัยต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำ จึงเกิดการรวมตัวกันทำกิจกรรมสนับสนุนปณิธานของผู้ใหญ่แม้ระยะแรกไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยนัก เพราะมองว่า 'เด็กก็คือเด็ก' แต่ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ เด็ก ๆ จึงพยายามพิสูจน์ตัวเองจนได้รับการยอมรับ และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ของการร่วมรักษาผืนป่าแห่งแม่ยมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี ผลัดเปลี่ยน ถ่ายทอด และส่งต่ออุดมการณ์จากรุ่นสู่รุ่น ภายใต้นาม 'กลุ่มตะกอนยม'ในวันนั้น 'อริศราพรดิ์ สะเอียบคง' หรือ 'แป๋ว' แนวร่วมก่อตั้งกลุ่มตะกอนยมรุ่นแรก ได้พาเยาวชนรุ่นใหม่เดินทางเข้าป่าส่องดูนก และร่วมพิธีบวชป่าครั้งนี้ด้วย "เราอยากให้เขาได้เรียนรู้และสัมผัสธรรมชาติที่มีค่าเหล่านี้" เธอกล่าวกับเล่าคุณแป๋ว พาย้อนจุดเริ่มต้นของกลุ่มตะกอนยมอย่างเข้าใจง่ายว่า แรกเริ่มตั้งกลุ่มเมื่อประมาณปี 2537 มีเพียงผู้หญิง 9 คนมารวมตัวกัน ทุกคนมีความคิดไปในทางเดียวกันว่า "ทำยังไงถึงจะช่วยผู้ใหญ่คัดค้านเรื่องเขื่อนได้" เพราะตอนนั้นเด็กสาวเพิ่งอายุราว 15 ปี จึงเริ่มลงมือทำค่ายกิจกรรมเล็ก ๆ ขึ้นมา จนกระทั่งปี 2538 จึงมีการตั้งชื่อ 'กลุ่มตะกอนยม' ขึ้นอย่างเป็นทางการแนวร่วมก่อตั้งกลุ่มตะกอนยม มองว่า ขณะนั้นสถานการณ์เรื่องเขื่อนรุนแรงมาก พวกเธอต้องเห็นพ่อแม่พี่น้องวนเวียนอยู่กับความระแวง ไม่มีวันไหนที่ชาวสะเอียบจะหยุดคิดว่า "เมื่อไรโครงการสร้างเขื่อนจะหยุดไป"เราถามต่อไปว่า มีเพียงเด็กผู้หญิง 9 คน ไม่รู้สึกกลัวบ้างเหรอ?"เราไม่กลัวนะแล้วก็ไม่กลัวที่จะไม่มีผู้ชายด้วย เพราะเราเชื่อในความเป็นเด็กและเป็นผู้หญิงของเราว่า เด็กก็สามารถทำได้เหมือนผู้ใหญ่ หรืออาจจะมากกว่าผู้ใหญ่ในบางครั้ง เพราะตอนนั้นผู้ใหญ่บ้านเราเขียนหนังสือไม่คล่อง และไม่เคยเขียนป้ายผ้า แต่เราเคยเรียนศิลปะมา เขียนหนังสือเป็น เราจึงเริ่มต้นจากการเขียนป้ายผ้ารวมคัดค้าน"ผู้ใหญ่บงการเด็ก? :เมื่อเป็นเด็กก็อาจจะถูกมองว่า ยังไม่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง การกระทำสิ่งต่าง ๆ อาจถูกบงการหรือชักจูงก็เป็นได้ ซึ่งชุดความคิดนี้เกิดขึ้นกับคนภายนอก ที่มองต่อการเกิดขึ้นของเยาวชนตะกอนยมเช่นกัน!อริศราพรดิ์ เล่าว่า เคยมีคนพูดด้วยซ้ำว่าคนสะเอียบเขียนหนังสือไม่เป็น ไม่มีใครทำ (ป้ายผ้า) ได้หรอก แต่เราอยากบอกให้คนข้างนอกรู้ว่า คนที่เขียนหนังสือเป็น เขียนป้ายผ้าเป็น อาจจะไม่ใช่ผู้ใหญ่ แต่เด็กอย่างพวกเรานี่แหละที่เป็นคนเขียน ตอนนั้นถ้ามีใครพูดแบบนี้ เราจะบอกเลยว่า "หนูนี่แหละเป็นคนเขียน" "หนูนี่แหละเป็นคนคิดข้อความ" "หนูนี่แหละที่กล้าจะบอกว่าไม่เอาเขื่อนแก่งเสือเต้น"การยืนหยัด เคียงคู่ และร่วมต่อสู้มาโดยตลอด ค่อย ๆ เปลี่ยนจากกลุ่มที่ผู้ใหญ่สะเอียบไม่เห็นด้วย หันมาสนับสนุนการทำกิจกรรมของเด็กมากขึ้น "ในความเป็นเด็ก เขาบอกว่าพวกเราควรตั้งใจเรียนหนังสือ สงสารพวกเราที่ต้องมาทำอะไรแบบนี้ และเขาไม่คิดว่าเด็กจะทำอะไรได้มาก แต่พอเราทำหลายอย่างผู้ใหญ่เลยเห็นว่า การได้สื่อจากเด็กสามารถช่วยบอกคนข้างนอกได้จริงว่า ทุกคนไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน"ผ่านมากว่า 30 ปี กลุ่มตะกอนยมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนสะเอียบ ที่ช่วยหล่อเลี้ยงพลังและจิตใจของผู้ใหญ่ เกิดการส่งต่ออุดมการณ์จากรุ่นสู่รุ่น มุ่งหวังให้เกิดความสามัคคี รักเพื่อน รักชุมชน รักบ้านเกิด'ไกด์ ปุณณสิน' และ 'เจ้าคุณ รณกร' นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการดูนกและพิธีบวชป่า ให้โอกาสเราได้พูดคุยถึงความรู้สึกของพวกเขา "ผมมาดูนกตั้งแต่ 06.30 น. รู้สึกสนุกและแปลกใหม่มาก เพราะนกแต่ละตัวอยู่ในป่าลึก บ้านผมอยู่ในตัวเมืองแพร่ไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนี้ วันนี้เจอนกไปประมาณ 15 ชนิด" ปุณณสิน กล่าวกับเราด้าน เจ้าคุณ มองว่า รู้สึกดีมากที่ได้มาเห็นทรัพยากรที่ชาวสะเอียบตั้งใจอนุรักษ์ ถ้ามองในมุมของชาวบ้านหากต้องย้ายออกจากพื้นที่ ก็คงน่าเสียดายเพราะทุกคนเขาก็มีอาชีพอยู่ตรงนี้ ผมก็รู้สึกอยากช่วยเป็นหนึ่งเสียงที่คัดค้านการสร้างเขื่อนไกด์ ปุณณสิน บอกกับเราว่า วันนี้ไม่มีใครบังคับแต่สมัครใจมาเอง พอได้มาแล้วผมรู้สึกว่าผมอยากเป็นหนึ่งในผู้คัดค้านการสร้างเขื่อน เพราะทรัพยากรธรรมชาติของเราก็ร่อยหรอลงทุกที ป่าไม้โดนตัดโดนเผาไปเยอะ คนเราก็ไม่ปลูกคืนหรือปลูกก็ไม่รักษา ผมเลยมองว่าต้นไม้ตรงนี้มีความสำคัญมาก ควรช่วยกันดูแลรักษาให้ดีที่สุด***********ภาพ : สุภาพร ธรรมประโคน