ผ่านพ้นไปแล้วกับศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ในหลายจังหวัดที่มีการลาออก หรือพ้นตำแหน่งก่อนครบวาระ บางพื้นที่ก็ดุเดือดจนเป็นที่จับตามองทั้งประเทศ อย่างการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ศึกใหญ่ที่สุดในสนามการเลือกตั้งนี้ คือการเลือกตั้งนายก อบจ.และ ส.จ.อีก 46 จังหวัด ที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ และจะมีการเลือกตั้งพร้อมกันในวันที่ 1 ก.พ.ปี 2568
วันนี้ (26 พ.ย. 2567) ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มูลนิธิเพื่อคนไทย, องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกันแถลง “ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการเลือกตั้งนายก อบจ.” ซึ่งทำร่วมกันในนาม 7 ภาคีเครือข่าย สำรวจความคิดเห็นประชาชน 2,017 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-11 ตุลาคม 2567 โดยเป็นประชาชนจากเขตเมืองใหญ่ 33% เขตชนบท 67% เป็นผู้ที่เคยเลือกตั้งมาแล้ว 80% และเป็นผู้เลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) 20%
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจพบประชาชน 62.4% ติดตามและเฝ้ารอที่จะไปเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.จ.ในครั้งนี้ ขณะที่ 37.4% ไม่ได้ตั้งใจติดตามมากนักแต่จะไปเลือกตั้ง และ 0.2% ไม่ได้ติดตามและจะไม่ไปเลือกตั้ง เมื่อถามว่าระหว่างผู้สมัครที่สังกัดและไม่สังกัดพรรคการเมืองระดับชาติจะเลือกผู้สมัครแบบใดมากกว่า พบว่า 57.2% เลือกผู้สมัครที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง ขณะที่ 42.8% เลือกผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง โดย First Voter เลือกที่สังกัดพรรคการเมืองเป็นส่วนใหญ่ที่ 54.5%
...
คนไทยรับรู้ว่ามีการทุจริตในระดับ อบจ. แต่ยังรับได้หากทำให้เจริญ
เมื่อถามว่าทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยมีการทุจริตงบประมาณท้องถิ่นเป็นมูลค่ามหาศาล พบว่ากว่า 95.4% รับทราบ โดยรับรู้ผ่านสื่อและข่าวสาร และรับทราบจากประสบการณ์ตรง ทั้งการสังเกตว่างานไม่ได้มาตรฐาน พบเห็นการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง ผ่านคำบอกเล่าในท้องถิ่น และพบเห็นด้วยตนเอง
อย่างไรก็ดีนโยบายเรื่องความโปร่งใส การต่อต้านคอร์รัปชันอาจไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครมากนัก โดยพบว่า 85% ยังคงเลือกผู้สมัครท่านนั้นแม้จะไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันเลยก็ตาม แต่จะมองว่าเป็นคนทำงานหรือคนคุ้นเคยหรือไม่ และที่ผ่านมามีผลงานดี เข้าใจปัญหาท้องถิ่น ไม่มีประวัติเสีย และมองว่าการที่นักการเมืองไม่ค่อยชูประเด็นความโปร่งใสหรือนโยบายต่อต้านการทุจริต เพราะจะเป็นการสร้างศัตรูทางการเมือง มีแรงต้านจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และเป็นนโยบายที่ทำเองไม่ได้
ผลสำรวจที่น่าสนใจคือ เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ “หาก อบจ. มีการทุจริตคอร์รัปชันบ้าง แต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้พื้นที่ของท่านเป็นเรื่องที่รับได้” พบว่าคนส่วนใหญ่กว่า 40.4% เห็นด้วย ขณะที่ 32% ไม่แน่ใจ และไม่เห็นด้วยเป็นส่วนน้อยที่ 27.6% กลุ่ม First Voter ส่วนใหญ่ตอบไม่เห็นด้วย
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจครั้งนี้พบว่าคนอาจไม่ได้คำนึงถึงความซื่อสัตย์มากขนาดนั้น เมื่อเทียบกับการเมืองใหญ่ระดับประเทศที่คนต้องการเรื่องความโปร่งใส ต่อต้านการทุจริตมากกว่า
“ในการเมืองระดับประเทศเวลาทำเรื่องดัชนีคอร์รัปชัน คนรุ่นใหม่และคนที่มีสิทธิเลือกตั้งในปัจจุบันจะปฏิเสธการโกงแต่ทำให้เจริญมากขึ้น แต่ในระดับท้องถิ่นยังไม่เหมือนระดับประเทศ จากที่ทำการสำรวจมาตลอด พบว่าในระดับประเทศมีน้อยกว่า 5% ที่ยังเอารัฐบาลที่โกงแล้วพัฒนาประเทศ ขณะที่อีก 95% ไม่ยอมรับ แต่เมื่อมาดูการเลือกตั้ง อบจ. ในคำถามว่าทุจริตแต่สร้างผลงานเป็นเรื่องที่รับได้ กลับเห็นด้วยถึง 40.4% จึงมีอีกหลายอย่างที่พรรคการเมือง ภาคการเมือง ภาคประชาชน องค์กรต่างๆ ต้องทำงานร่วมกัน” รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
มองการซื้อเสียงเป็นเรื่องปกติ คาดเลือกตั้งครั้งนี้เงินสะพัดมากกว่า 1.5 หมื่นล้าน
เมื่อถามว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการซื้อเสียงเกิดขึ้นหรือไม่ ส่วนใหญ่ 68% ตอบว่าเกิดขึ้นโดยทั่วไป ขณะที่ 27.3% เชื่อว่าเกิดขึ้นในบางพื้นที่เท่านั้น และ 4.7% ไม่มีการซื้อเสียงเกิดขึ้น โดยได้สอบถามราคาในการซื้อเสียงในแต่ละภูมิภาคพบว่า ราคาต่ำสุดอยู่ที่ภาคกลาง 100 บาท ขณะที่ราคาสูงสุดอยู่ที่ภาคเหนือ 5,000 บาท เฉลี่ยทุกภูมิภาคคาดว่าจะมีการซื้อเสียงที่ 903 บาทต่อคน
ขณะเดียวกันเมื่อถามว่ายอมรับการซื้อเสียงในการเลือกตั้งนายก อบจ.และ ส.จ.ได้หรือไม่ กว่า 63.7% บอกว่ายอมรับได้ โดยมองว่าเป็นเรื่องปกติในการเลือกตั้งท้องถิ่น และเป็นสินน้ำใจ ค่าเดินทาง
อย่างไรก็ดี 56% ตอบว่าเมื่อรับเงินแล้ว จะไม่เลือกคนที่จ่ายเงินให้ เพราะต้องการที่จะต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ยึดมั่นในหลักจริยธรรมและความถูกต้อง ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง แต่มีโอกาสจะเปลี่ยนใจเลือกผู้สมัครได้หากมีการจ่ายเงินสูงกว่า 2,784 บาท
รศ.ดร.เสาวณีย์ กล่าวว่า ในการเลือกตั้ง อบจ.เฉพาะจังหวัดที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2568 รวมทั้งหมด 46 จังหวัด จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 28.22 ล้านคน ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ 60% และมีการซื้อเสียงที่หัวละ 900 บาท คาดว่าจะมีเงินสะพัดช่วงเลือกตั้งมากกว่า 15,000 ล้านบาท
...
“จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 28 ล้านคน โดยที่เลือกตั้งไปแล้วมีผู้มาใช้สิทธิ 50.81% ซึ่งหากเป็นอัตรานี้ตามเดิม ก็จะมีผู้มาใช้สิทธิ 15.7 ล้านคน แล้วนำไปคูณกับเงินซื้อเสียงเฉลี่ย 903 บาทต่อคน ก็จะพบว่ามีเงินสะพัด 14,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดีขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มาเลือกตั้ง นี่เป็นเพียงการประมาณการคร่าวๆ” รศ.ดร.เสาวณีย์ กล่าว
บ้านใหญ่ ความผูกพันในท้องถิ่น มีผลต่อการเลือกผู้สมัคร
เมื่อสอบถามถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกนายก อบจ.และ ส.จ.พบว่า ปัจจัยที่คนให้ความสำคัญมากที่สุดคือผู้สมัครเป็นทายาทของนักการเมืองหรือตระกูลการเมืองในพื้นที่ที่ 19.5% รองลงมามองถึงนโยบายการพัฒนาพื้นที่ 15.4% ความน่าสนใจของตัวผู้สมัคร 14.3% ความสามารถในการบริหารงบประมาณ 10% ประวัติการทำงานที่ผ่านมา 8.8% กระแสของกลุ่มการเมืองคนรุ่นใหม่ 8.1% นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังมองการที่ผู้สมัครมีความคุ้นเคยเป็นสาเหตุให้เลือกผู้สมัครคนนี้ถึง 55.3%
อย่างไรก็ดีในศึกเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า น.ส.วาริน ชิณวงศ์ นักธุรกิจด้านการเกษตร และอดีตประธานหอการค้าจังหวัด ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิก "พรรคภูมิใจไทย" สามารถเอาชนะผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากบ้านใหญ่ “เดชเดโช” ซึ่งครองพื้นที่มาอย่างยาวนานได้ โดย น.ส.วาริน ชูนโยบายไม่ซื้อสิทธิขายเสียงด้วย
...
ในกรณีนี้ รศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า ด้วยพื้นฐานของ น.ส.วารินเป็นคนในพื้นที่และเป็นอดีตประธานหอการค้าจังหวัด เคยสร้างผลงานให้ชาวบ้านได้เห็นและเมื่อชูประเด็นเรื่องความโปร่งใสร่วมด้วยจึงเป็นจุดที่ทำให้น่าสนใจ และภาคีเครือข่ายอยากจะรณรงค์ให้ผู้สมัครใช้กรณีเดียวกัน คือตั้งใจพัฒนาท้องที่ มีเกียรติประวัติที่ทำให้คนรับรู้ และโปร่งใส
ความหวังแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในการเมืองท้องถิ่น
ขณะเดียวกันแม้ผลสำรวจจะพบว่าประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ว่ามีการทุจริตในระดับท้องถิ่นหรือระดับจังหวัดและมองเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อถามว่าอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้หรือไม่ พบว่ากว่า 93.6% อยากมีส่วนร่วม เพราะอยากสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเมือง ช่วยให้เกิดการตรวจสอบ สร้างความเท่าเทียมและความยุติธรรม แสดงความเป็นพลเมืองที่ดีและเพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณที่โปร่งใสด้วย
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า หวังว่าการสำรวจทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ที่จะได้รับรู้ความเห็นของตนและของคนอื่นๆ และรับรู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับนักการเมืองและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่าประชาชนอยากได้อะไร อยากเห็นนักการเมืองเข้ามาทำประโยชน์อะไรในท้องถิ่น และคงเป็นประโยชน์กับองค์กรที่มีหน้าที่ในการกำกับการเลือกตั้ง เช่น กกต. เพราะผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ว่ามีการซื้อเสียง ก็หวังว่า กกต.จะรับทราบเรื่องนี้ และทำงานด้วยความขยันขันแข็งในการป้องกัน เช่นเดียวกับผลสำรวจที่บอกว่าประชาชนรับรู้ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ป.ป.ช. อาจต้องมีการตรวจสอบและดำเนินการเพิ่มเติมมากกว่าเดิม
...
“มีเรื่องที่ฟังแล้วรู้สึกดีใจ คือประชาชนตื่นรู้ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน และเมื่อได้รับเงินซื้อเสียงมาแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะไม่เลือกให้คนซื้อเสียง นั่นหมายความว่าการซื้อเสียงอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป ใครที่จะลงทุนก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน และที่เป็นคุณอย่างมาก คือการที่ประชาชนได้แสดงความเห็นว่าอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นจุดพลิกผันที่แท้จริง” นายวิเชียร กล่าว
ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าประชาชนรับรู้ แต่ว่าผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันทั้ง กกต. หรือ ป.ป.ช. มองไม่เห็นข้อมูลจริงๆ หรือ ซึ่งถ้าหากไปสืบค้นดูก็จะพบว่าคนที่เป็นผู้บริหาร อบจ. ถูกฟ้องร้องในคดีร่ำรวยผิดปกติ ตัดสินไปแล้วแค่ 2 ราย และอยู่ระหว่างพิจารณาคดีอีก 2 ราย ซึ่งในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมามีเท่านี้จริงหรือไม่ และเมื่อไปดูบัญชีทรัพย์สินมีกันเป็น 100 ล้าน บางคนเป็น 1,000 ล้าน เราจะพิสูจน์เรื่องเหล่านี้กันได้อย่างไร ซึ่งจากผลโพลและข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นมา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องดูกันต่อไป และเชิญชวนประชาชนให้มาติดตามและเปิดโปง เพื่อความสุขและความก้าวหน้าของการปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป