บุกบ้านดอนชัย อ.สอง จ.แพร่ วาระครบรอบ 35 ปี คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ชาวบ้านมอง "คนสะเอียบไม่เสียสละ" คือวาทกรรมกดทับชุมชน เผยยังเดินหน้าสู้ต่อ! จนกว่าจะมีมติ ครม. รับรองยกเลิกโปรเจกต์อย่างเป็นทางการ"ถึงเวลาที่ต้องมาคุยเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นกันอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาทำอะไรไม่ได้ สร้างอะไรไม่ได้ เพราะยังมีความเห็นที่แตกต่างจาก 2 ฝ่าย… เราก็เข้าใจในความแตกต่าง แต่คิดว่าไม่มีสิ่งใดทำได้อย่างเดียว ฉะนั้นเรื่องนี้ขอให้เป็นประเด็นสาธารณะ ที่ ครม. จะพิจารณาอย่างถ่องแท้"บทสัมภาษณ์บางส่วนของ 'ภูมิธรรม เวชยชัย' รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ เมื่อครั้งลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมสุโขทัยช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งถ้อยวาจานั้นหลายคนมองว่านี่คือการปลุกผีที่ชื่อ 'เขื่อนแก่งเสือเต้น' ข้อมูลจากกรมชลประทาน ระบุว่า 'โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น' เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม การอุปโภค-บริโภค การประปาแก่ราษฎรสองฝั่งแม่น้ำยมบริเวณ จ.แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และจังหวัดต่าง ๆ ทางตอนล่าง รวมไปถึงเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำยม และบรรเทาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเมื่อยามฤดูแล้งมาเยือนโครงการดังกล่าวมุ่งหวังดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำปิดกั้นแม่น้ำยม ณ อ.สอง จ.แพร่ โดยอยู่ห่างจากจุดบรรจบของแม่น้ำยมและแม่น้ำงาว ออกไปทางด้านเหนือน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมราว 6.7 กิโลเมตร และเหนือ จ.แพร่ ขึ้นไปประมาณ 50 กิโลเมตร โดยจะเป็นเขื่อนหินทิ้งดินเหนียวสูง 72 เมตร (ลดลงจากเดิมที่สูง 82 เมตร)แรกเริ่มแนวคิดโครงการนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ 'การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย' (กฟผ.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ กก-อิง-ยม-น่าน กระทั่งปี 2528 กฟผ. ได้โอนงานให้กรมชลประทานดำเนินการ จนกลายเป็นโครงการเอกเทศของตัวเอง (Stand Alone) และเมื่อ 13 พฤษภาคม 2532 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมชลประทานศึกษาทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA) 35 ปี คัดค้านแก่งเสือเต้น :อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีมติ ครม. ครั้งนั้น ทำให้ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากเมกะโปรเจกต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมกลุ่มลุกขึ้นต่อต้านโครงการดังกล่าว เนื่องจากมองว่า 'เขื่อนแก่งเสือเต้น' จะมาพรากทุกอย่างไปจากพวกเขา ตั้งแต่พื้นที่ทำกิน เศรษฐกิจ จนไปถึงวิถีชีวิตที่บรรพชนร่วมกันสรรค์สร้างขึ้นมาไม่น้อยกว่า 2 ศตวรรษนับจากวันนั้นจวบจนวันนี้ ประชาชนคนสะเอียบยังคงดำเนินการคัดค้าน 'เขื่อนแก่งเสือเต้น' อย่างมุ่งมั่น รวมเวลาการเดินทางกว่า 35 ปี โดยชาวบ้านพยายามใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้าน เช่น การรวมตัวของกลุ่มเยาวชน 'ตะกอนยม' การเสนอแนวทางป้องกันน้ำท่วม 'สะเอียบโมเดล' หรือวิธีจากความเชื่อท้องถิ่นอย่างการ 'สาปแช่ง' เป็นต้นในวาระ 35 ปีของการคัดค้าน ทีมข่าวฯ ได้เดินทางลงพื้นที่บ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เพื่อพูดคุยกับคนในพื้นที่ ระหว่างทางที่รถตู้ของเราค่อย ๆ แล่นผ่านบ้านดอนชัย ได้สังเกตเห็นว่าตามบ้านเรือนของคนในพื้นที่ (แทบทุกหลัง) ติดป้ายผ้าเขียนข้อความ 'ต่อต้านเขื่อน' เป็นการตอกย้ำให้เราเห็นว่า พวกเขายังคงเหนียวแน่นและปฏิเสธเมกะโปรเจกต์นี้เสมอมา คนสะเอียบไม่เสียสละ? :"คนสะเอียบไม่เสียสละ ไม่ยอมให้สร้างเขื่อน จนทำให้เกิดน้ำท่วม" ประโยคดังกล่าวปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง อันเป็นผลสืบเนื่องจากความคิดเห็นระหว่างคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ ชาวบ้านดอนชัยมองว่า นี่เป็นการสร้าง 'วาทกรรม' เพื่อกดทับให้พวกเขาดูเป็นคนไม่ดีในสายตาคนไทยชายชาวบ้านอายุ 58 ปี นาม 'ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี' หรือ 'ลุงน้อย' หนึ่งในคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น แสดงความคิดเห็นกับทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ ต่อวาทกรรมดังกล่าวว่า "เราก็ไม่ได้ว่าอะไร… แต่ถ้าเราพูดบ้างว่าทำไมคุณไม่เสียสละ ทำไมคุณถึงไม่ย้ายบ้านเมืองที่ขวางทางน้ำออกไปแทนล่ะ""การพัฒนาเมืองของพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดการขวางทางน้ำ ถ้าให้แฟร์ผมคิดว่าเขาก็ควรจะย้ายชุมชนบ้าง ไม่ใช่แค่เรียกร้องให้ชุมชนคนสะเอียบเสียสละ ณ วันนี้มีทางออกมากมาย ไม่ต้องมาสร้างวาทกรรมเห็นแก่ตัว ถ้าคุณไม่เห็นแก่ตัวก็ต้องย้ายออกไปด้วย" ด้าน 'หาญณรงค์ เยาวเลิศ' ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) หนึ่งในผู้ร่วมต่อสู้กับชาวสะเอียบมาโดยตลอด มองว่า หากคำว่าเสียสละของคนสะเอียบคือการต้องย้ายออกไปที่อื่น เราพบว่าตอนนี้มีทางเลือกที่ไม่ต้องสร้างเขื่อน มีวิธีที่ชาวบ้านเสนอไปแต่รัฐไม่ดำเนินการ "แล้วจะมาบอกให้ชาวบ้านเสียสละ ผมว่าตรงนี้ไม่ใช่ข้ออ้าง""คนสะเอียบไม่ใช่คนไม่มีความรู้หรือขาดประสบการณ์ วิธีที่อยากให้พวกเขาย้ายออก ชาวบ้านมีบทเรียนจากเขื่อนอื่นมาหมดแล้ว เขาเคยไปดูคนที่ต้องอพยพโยกย้าย แล้วพบว่าคนเหล่านั้นอยู่กันไม่ได้ ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้แบบเดิม ทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำลง กรณีแก่งเสือเต้นเคยหาพื้นที่อพยพให้กับชาวบ้าน แต่พอไปดูแล้วในพื้นที่นั้นมีเจ้าของหมดแล้ว เมื่อชาวบ้านไม่มีพื้นที่ เขาจึงรู้สึกว่าพื้นที่ที่เขาอยู่เหมาะสมและยั่งยืนกว่า" เขื่อนมา…ชุมชนล่มสลาย :"ชุมชนล่มสลาย" คำตอบที่ออกมาจากปากของลุงน้อยแทบจะทันที หลังจากทีมข่าวฯ ถามว่า หากเกิดเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาจริง ๆ คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ประสิทธิพร กล่าวต่อไปว่า คนสะเอียบได้ไปเรียนรู้และศึกษาผลกระทบของการสร้างเขื่อนในพื้นที่จริงมาแล้วหลายที่ เราเห็นว่าชุมชนของพวกเขาแตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่ตามจุดต่าง ๆ ญาติพี่น้องกระจายไปคนละทิศละทาง สิ่งเหล่านี้คือหายนะที่เราเรียนรู้ คนในชุมชนจึงต้องร่วมมือกันต่อสู้และคัดค้าน เพื่อรักษาสิ่งบรรพบุรุษสร้างวิถีชีวิตมาร่วม 200 ปีลุงน้อย บอกว่า ป่านี้ไม่ได้มีความสำคัญแค่สำหรับชาวสะเอียบ แต่พนาผืนนี้ยังมีต้นสักทองหนาแน่นนับหมื่นไร่ มีพันธุ์น้อยใหญ่กระจายเต็มไปหมด "เราพึ่งพาป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ เราใช้ทรัพยากรกันอย่างชาญฉลาด จึงมีอยู่มีกินแบบทุกวันนี้" "หากเรารักษาผืนป่านี้ไว้ได้ ไม่ใช่แค่ชาวสะเอียบที่ได้ผลประโยชน์ แต่ออกซิเจนที่เกิดขึ้นก็แพร่กระจายไปทั่ว คนทั่วไปก็ได้พึ่งพาอาศัยธรรมชาติส่วนนี้ด้วย เราจึงอยากปกป้องผืนป่านี้ไว้ และอยากให้ทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน""เรามองว่าเมื่อมีแนวทางอื่นแก้ปัญหาน้ำท่วม ทำไมรัฐบาลถึงยังคิดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เราอยากขอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการนี้ โดยออกเป็นมติ ครม. รับรอง เพื่อให้ชาวบ้านได้อยู่ดีมีสุข ปราศจากสิ่งกดทับ ทุกวันนี้ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่รู้สึกเครียด ไม่รู้ว่าเขื่อนจะสร้างเมื่อไร ลูกหลานจะอยู่อย่างไร เราอยากให้ยกเลิกอย่างเป็นทางการ เพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่กับแรงกดทับเหมือน 35 ปีที่ผ่านมา" ความหวังและคำขอจากผู้ (เคย) สูญเสีย :การจัดงานครบรอบ 35 ปี เขื่อนแก่งเสือเต้น บรรดาสมัชชาคนจนและผู้ร่วมคัดค้านจากทั่วทุกสารทิศ ต่างเดินทางสู่บ้านดอนชัยเพื่อร่วมกันแสดงออกถึงอุดมการณ์ครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือ 'สมปอง เวียงจันทร์' แกนนำชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล ซึ่งเธอเป็นคนที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนปากมูล ณ ต.หนองแสงใหญ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานีสมปอง เล่าให้เราฟังโดยสังเขปว่า อดีตเธอคือแม่ค้าปลาที่บ้านวังสะแบงใต้ ประกอบอาชีพนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทว่าการเกิดขึ้นของเขื่อนปากมูล ส่งผลให้เธอล้มละลายทางอาชีพ เนื่องจากปลาหลายชนิดหายไปเพราะโครงการดังกล่าว ทำให้เธอต้องลุกขึ้นทวงถามความรับผิดชอบจากภาครัฐ และร่วมต่อสู้กับผู้มีอุดมการณ์เดียวกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ทศวรรษ เมื่อถามว่าเหตุใดจึงมาร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งที่เธอไม่ใช่ชาวสะเอียบ?ผู้เคยสูญเสียจากเขื่อนปากมูล ตอบกลับว่า หากเกิดเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมา จะเป็นหายนะอย่างมหาศาลและไม่มีอะไรมาทดแทนได้เลย ซึ่งหากเกิดเขื่อนขึ้นจริงไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ก็ต้องรับผิดชอบวิถีชีวิตของคนในชุมชน ถ้าคิดจะดันทุรังสร้างต้องมาประเมินความเสียหายที่นี่การประเมินความเสียหายไม่ใช่แค่ปัจจุบัน แต่ต้องรวมไปถึงอนาคตด้วย ต้องทดแทนกันให้ได้อดีตแม่ค้าปลาบ้านวังสะแบงใต้ เสริมว่า ตราบใดที่ดิฉันยังมีชีวิตอยู่ แม้จะเป็นในนามคนนอกก็ไม่อยากให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เรามีบทเรียนที่ต้องสูญเสียมาก่อน และชาวสะเอียบก็ได้รับรู้เรื่องเหล่านั้นแล้ว อยากให้ทุกคนเข้มแข็งแบบนี้กันต่อไป"เรายังเป็นกำลังใจให้สู้กันต่อไป ถ้าวันนี้ไม่รักษาป่าแล้วป่าต้องหายไปกว่า 6 หมื่นไร่ ใครจะหาที่ไหนมาทดแทนให้เราได้ กระทรวงต่าง ๆ จะรับผิดชอบได้ไหม ทุกครั้งที่มีการสร้างเขื่อนแล้วอ้างว่าจะปลูกป่าทดแทน มีตรงไหนที่ปลูกป่าได้ไหม มีการประเมินหรือเปล่าว่าคืนแบบเดิมได้จริง" คนสะเอียบขอสู้ต่อ! :เราสอบถามลุงน้อยว่า จะสู้ต่อไปอีกนานเท่าไรและคิดว่าพลังของชาวบ้านจะยังคงเข้มแข็งเช่นนี้ต่อไปหรือไม่ ประสิทธิพร ตอบว่า เราคิดว่าเราสู้ได้เพราะอีกฝ่ายไม่มีความชอบธรรม โลกทุกวันนี้ไม่ควรย้อนกลับไปหาสิ่งที่เรียกว่าเขื่อน ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มรื้อเขื่อนเพราะเขามีบทเรียน ตอนนี้มันเป็นโลกแห่งอนาคตแล้ว ดังนั้น ควรมีเทคโนโลยีหรือวิธีการจัดการที่ไม่ต้องทำลายธรรมชาติ เราหวังว่าสังคมไทยจะก้าวข้ามเรื่องนี้ไปด้วยกัน"ตอนนี้ชาวบ้านอาจจะยังเข้มแข็ง แต่กังวลหรือไม่ว่าคนรุ่นใหม่อาจไม่สานต่อเรื่องนี้" ทีมข่าวฯ ถามต่อไป"ผมติดตามและต่อสู้เรื่องนี้มากว่า 20 ปี หลังจากมีลูกก็กลับมาอยู่บ้าน จึงได้รับรู้ปัญหาของชุมชน ที่จะได้รับผลกระทบหากสร้างเขื่อน จึงร่วมต่อสู้และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด ส่วนตัวมีความห่วงใยอยู่บ้างว่าในยุคสมัยต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่เราก็พยายามถ่ายทอดแนวคิดการอนุรักษ์ผืนป่า และแสดงให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เห็นว่า เพราะอะไรจึงยังควรคัดค้านเรื่องนี้" ลุงน้อย กล่าวตอบฝั่งของหาญณรงค์ กล่าวว่า ชาวบ้านยังคงจะสู้กันต่อไป ในโอกาสนี้ที่ทุกคนมาเราถือเป็นเรื่องดี เพราะเราอยากชี้ให้เห็นว่า "ป่าที่สมบูรณ์ของแม่ยมยังมีอยู่จริง" ไม่ได้เสื่อมโทรมตามที่นักการเมืองบางคนเคยกล่าวอ้าง ...........ภาพ : สุภาพร ธรรมประโคน