โรงเรียนเอกชน ทยอยเจ๊ง เปิดสถิติค้างค่าเทอมกว่าหมื่นล้านบาท/ทั่วประเทศ สุดจะแบกรับภาระขาดสภาพคล่องต่อเนื่อง แถมอัตราเกิดน้อย ทำให้ธุรกิจการศึกษาแข่งขันดุเดือด เผยโรงเรียนเอกชนอีก 50 % ปรับหลักสูตรสู้ไม่ทัน
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า สถานการณ์โรงเรียนเอกชนกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ มีแนวโน้มทยอยปิดกิจการมากขึ้น เป็นผลจากปริมาณนักเรียนลดลง โดยช่วงปีหลังมีอัตราการเกิดต่ำลงจาก 20 ปีก่อน ที่เกิดปีละ 1 ล้านคน แต่ช่วง 1-2 ปี อัตราการเกิดเหลือต่ำกว่า 5 แสนคน ทำให้โรงเรียนต่างมุ่งหวังที่จะมีนักเรียนเข้ามาเรียนมากขึ้น ประกอบกับการแข่งขันของโรงเรียนเอกชนสูง
"เดิมอัตราเฉลี่ยนักเรียนเข้ามาสมัครเรียนใหม่อยู่ที่ 1 ต่อ 20 แต่ตอนนี้อัตราการเกิดลดลง จนเหลืออัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ต่อ 10 โดยนักเรียนที่เข้ามาสมัครเรียนกับโรงเรียนเอกชนหายไปเกือบครึ่ง"
อีกปัจจัยสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ปกครองค้างค่าเทอมจำนวนมาก เพราะไม่มีทุนทรัพย์ มีผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด ซึ่งผู้ปกครองบางคนต้องย้ายลูกออกจากโรงเรียนเดิม เพื่อไปในโรงเรียนที่มีค่าเทอมถูกลง แต่หลายคนไม่สามารถย้ายออกได้ เนื่องจากค้างค่าเทอมอยู่ ทำให้ทางโรงเรียนไม่สามารถออกใบวุฒิการศึกษาเพื่อให้ไปสมัครในโรงเรียนใหม่ได้ ที่น่าเห็นใจคือ ผู้ปกครองหลายคนตกงาน โดยลูกยังเรียนในโรงเรียนอยู่ แต่พอใกล้จบจะมีปัญหาเรื่องใบวุฒิการศึกษา
ที่ผ่านมาโรงเรียนพยายามเจรจากับผู้ปกครองในการทำสัญญาประนีประนอมหนี้ แต่จำนวนเงินของผู้ปกครองที่ติดไว้จำนวนมาก หรือบางรายไม่จ่ายตามสัญญา ช่วงโควิด ทางสมาคมฯ มีการสำรวจการค้างชำระค่าเทอมของผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ พบว่ามีกว่าหมื่นล้านบาท แม้ช่วงนี้มีสภาวะดีขึ้น แต่คาดว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระค่าเทอมของผู้ปกครองน่าจะต่ำลงมาจากเดิมเล็กน้อย
...
"อัตราการค้างค่าเทอมของผู้ปกครอง ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของโรงเรียนเอกชน หลายโรงเรียนไม่มีเงินในการบริหารจัดการ แม้โรงเรียนเอกชนบางแห่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทคือ ได้รับเงินอุดหนุน 100% โดยเป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้นจากการกุศล เช่นของวัด และแบบบุคคลในรูปมูลนิธิหรือสมาคม ส่วนอีกรูปแบบได้รับเงินอุดหนุน 70% สามารถเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้"
โรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ที่มีปัญหาหนักตอนนี้คือ โรงเรียนที่เกิดขึ้นจากการกุศล เพราะตามนโยบายรัฐบาลมีการปรับเงินเดือนครูเพิ่มขึ้น มีกฎข้อบังคับว่าต้องมีครูครบกับจำนวนห้องเรียนในชั้นเรียนนั้น แต่จำนวนนักเรียนน้อยลง เช่น โรงเรียนมี 9 ห้อง ต้องมีครู 9 คน แม้ในแต่ละห้องมีนักเรียนต่ำกว่า 10 คน ก็ไม่สามารถนำอัตราครูมาเฉลี่ยได้ สิ่งนี้ทำให้โรงเรียนเอกชนที่มีนักเรียนจำนวนน้อยไม่สามารถแบกรับรายจ่าย
สมรภูมิโรงเรียนเอกชน แข่งขันหลักสูตร
โรงเรียนเอกชน ตอนนี้ต้องแข่งกันพัฒนาหลักสูตรด้านภาษา เพื่อดึงดูดให้พ่อแม่ส่งลูกมาเรียนในโรงเรียน "ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์" มองว่า หลักสูตรการสอนของโรงเรียนเอกชน มีการพัฒนาแข่งขันสูงขึ้น จากเดิมที่มีการสอน 2-3 ภาษา แต่ตอนนี้ต้องพัฒนาหลักสูตรการสอนให้มีมากถึง 4-5 ภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น
“ผู้ปกครองส่วนหนึ่ง ก็ส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนที่เน้นภาษาจีนเฉพาะ ขณะเดียวกันก็มีโรงเรียนที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ แม้จะมีการเก็บค่าเทอมที่แพง แต่ผู้ปกครองก็มีกำลังทรัพย์ก็พร้อมสนับสนุน เลยทำให้โรงเรียนเอกชน ที่มีความโดดเด่น หลักสูตรเฉพาะด้านยังอยู่ได้”
โดยโรงเรียนเอกชนที่สามารถปรับหลักสูตรให้มีความรู้เฉพาะด้านได้ก็สามารถอยู่รอด แต่โรงเรียนเอกชนอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่สามารถปรับตัวได้ มีโอกาสเลิกกิจการจำนวนมาก
“ตอนนี้หลายโรงเรียนเอกชน เริ่มนับถอยหลัง เพราะเงินทุนที่มีอาจอยู่ต่อได้อีก 3 ปี ด้วยปัจจัยด้านเงินทุนที่ลดลง ขณะเดียวกันก็มีโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นจำนวนมาก”
โรงเรียนเอกชนขาดแคลนครู
"ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์" เล่าถึงปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนเอกชนที่เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดรับสมัครสอบครูเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ ทำให้ครูที่อยู่ในโรงเรียนเอกชนไปสมัครสอบจำนวนมาก เนื่องจากมีความมั่นคงกว่า เมื่อสอบได้ก็จะเข้าไปบรรจุเป็นครูของหน่วยงานรัฐกลางคัน ทำให้โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ขาดแคลนครูในช่วงกลางเทอม
...
ดังนั้น หน่วยงานรัฐควรปรับเปลี่ยนการจัดสมัครสอบบรรจุครูเป็นช่วงที่นักเรียนปิดเทอม เพื่อให้โรงเรียนเอกชนได้เตรียมความพร้อมในการหาครูคนใหม่ที่จะมาทดแทนครูที่สอบบรรจุได้ "จากปัจจัยเศรษฐกิจ การบริหารจัดการด้านการเงินของโรงเรียนเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เจ้าของโรงเรียนหลายแห่งตัดสินใจลดภาระด้วยการเลิกกิจการ และนำที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนไปขายให้กับนายทุนอสังหาริมทรัพย์"
ทางรอดโรงเรียนเอกชน
สภาวะที่โรงเรียนเอกชนกำลังเผชิญรอบด้าน "ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์" วิเคราะห์ทางออกว่า อยากให้มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อมาช่วยเหลือกิจการ ที่ผ่านมาทางกระทรวงศึกษามีอยู่เดิม แต่ระบบการกู้ยังติดกรอบระบบข้าราชการ ตอนนี้ไม่ว่าจะนำสินทรัพย์ของโรงเรียนเอกชนไปยื่นกู้กับสถาบันการเงิน อนุมัติผ่านน้อย เพราะแบงก์ไม่อยากยึดโรงเรียน แม้จะมีรายรับรายจ่ายมายืนยัน
“การปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ จะเป็นการพยุงโรงเรียนเอกชน ที่ประสบปัญหาจำนวนมาก ให้สามารถทำงานบริการสังคมต่อไปได้ แต่หน่วยงานที่ให้กู้ ต้องให้โรงเรียนเสนอแผนในการจัดการที่ชัดเจน เช่น จะยกหลักสูตรภายในโรงเรียนให้มีมากกว่า 2 ภาษา โดยที่เก็บค่าเทอมในราคาไม่แพง”
...
ขณะเดียวกัน ก็อยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือ ด้านเงินทุนในการพัฒนาระบบโซล่าเซลล์ ด้วยระบบดอกเบี้ยต่ำ เพราะโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่จะติดแอร์ ถ้ามีการใช้ระบบโซล่าเซลล์ ก็จะช่วยทำให้ประหยัดค่าไฟมากขึ้น และช่วยทำให้โรงเรียนสามารถอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤตินี้