สำรวจพฤติกรรมโน้มน้าวใจเหยื่อ กรณี "ดิไอคอนกรุ๊ป" ที่ทำสะเทือนทุกวงการ! โฆษกกรมสุขภาพจิตชี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากนิยามความสำเร็จเปลี่ยนไป เน้นความสุขจากวัตถุ-ร่ำรวยแบบก้าวกระโดด มองบริษัทเล่นกับค่านิยมเหล่านี้ได้ดี เชื่อเคสความเสียหายลักษณะนี้จะยังเกิดขึ้นต่อไป

กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในขณะนี้ กับกรณี The iCon Group หลังจากมีผู้เสียหายรวมกลุ่มร้องเรียนต่อสื่อ อ้างโดนหลอกลงทุนธุรกิจขายตรง แต่ไม่มีของให้ขายหรือขายไม่ได้ บางรายเกิดภาวะเครียดสุดท้ายตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง

ฝั่งผู้บริหาร The iCon Group ออกมาโต้กลับพร้อมยืนยันว่า ธุรกิจนี้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เพราะมีสินค้าให้กับผู้ลงทุนจริง ส่วนการอบรมคอร์สต่าง ๆ ผู้สนใจเป็นคนตัดสินใจลงทุนไม่มีการบังคับ ด้านดาราและผู้มีชื่อเสียง ต่างออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้อง พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาแค่รับงานโปรโมท พูดตามสคริปต์ และพวกตนก็ไม่ใช่บอส

ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งความคืบหน้าการดำเนินคดีนี้ว่า ระหว่างวันที่ 10-13 ตุลาคม 2567 มีผู้เสียหายที่สอบปากคำแล้ว จำนวน 635 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 232.4 ล้านบาทเศษ ในช่วงเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม 2567 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แถลงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีประชาชนเข้าแจ้งความผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท มากกว่า 1,000 คน รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 400 ล้านบาท และยังมีผู้เสียหายเดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าวฯ ตั้งข้อสงสัยว่า อะไรคือสิ่งที่ช่วยกระตุ้น หรือเป็นแรงจูงใจให้ผู้เสียหายจำนวนมากยอมตัดสินใจจ่ายเงินลงทุน?

...

ข้อสงสัยดังกล่าว 'ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์' โฆษกกรมสุขภาพจิต วิเคราะห์ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเทคนิคในการพูดสร้างแรงบันดาลใจ โดยอ้างเรื่องราวที่เกี่ยวกับการประสบความสำเร็จ อาจจะเรื่องจริงบ้างหรือแต่งบ้าง แต่คนฟังอาจได้รับข้อมูลจนเกิดความเชื่อผิด ๆ

ซึ่งการพูดสร้างแรงบันดาลใจ เกี่ยวกับตัวคนพูดแน่นอน ถ้าให้คนทั่วไปมาพูด พูดให้ตายอย่างไรคนก็ไม่เชื่อ แต่ถ้าเป็นคนที่มีชื่อเสียง หรือดูประสบความสำเร็จแล้ว หรือแสดงได้ว่าประสบความสำเร็จก็ตาม พูดแป๊บเดียวคนก็เชื่อ มันเลยเป็นเทคนิคที่เราจะเห็นกันบ่อย ๆ เช่น การชวนทำแชร์ลูกโซ่หรือขายตรง ที่เขาจะแชร์ภาพความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จที่เห็นง่ายมากที่สุด คือ เงินทอง สิ่งของ ทรัพย์สิน

"ในมุมของตัวผู้ฟัง จะเป็นกลุ่มคนที่รู้สึกโหยหาความสำเร็จ และเข้าใจว่าความสำเร็จนั้นได้มาโดยง่าย คนที่อาจจะไม่ทันตระหนักรู้เพียงพอว่า ความสำเร็จนั้นมักจะมาพร้อมกับความเหนื่อยยากและลำบาก หรือการลงทุนทุกอย่างไม่มีทางได้กำไรอย่างก้าวกระโดด หากฟังแล้วไม่ได้ไตร่ตรองให้ดี ก็มีสิทธิ์ที่จะคล้อยตามได้ ยิ่งเจอคนที่เก่ง ๆ พูด อาจจะคล้อยตามได้ทันที"

โซเชียลมีเดีย = ตัวกระตุ้น :

แม้ว่าคดีนี้ยังไม่มีข้อสรุปทางกฎหมายว่าเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ แต่ผู้คนในสังคมบางส่วนมีความเห็นไปในลักษณะนั้นแล้ว อย่างไรก็ตามหากพูดถึงในมุม ‘แชร์ลูกโซ่’ ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่มีมาแล้วนับครึ่งศตวรรษ เพียงแต่ว่าในอดีตไม่ได้เกิดและดับเร็วจำนวนผู้เสียหายจึงเยอะมาก ส่วนปัจจุบันแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นและดับเร็ว แต่ก็สร้างความเสียหายได้อยู่ดี

"ถามว่าทำไมเกิดขึ้นและดับเร็ว เพราะแม่ข่ายพยายามหาวิธีดึงคนมาให้รวดเร็วที่สุด โดยการใช้โซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นว่าร่ำรวย ด้วยอำนาจของมันจึงทำให้วงแชร์โตเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ว่าด้วยความเป็นแชร์ลูกโซ่ของมัน มันจะล้มในสักวันหนึ่งอยู่แล้ว เนื่องจากเราไม่สามารถนำคนทั้งโลกมาเป็นลูกข่ายได้ ต้องมีการกระจายออกไปเรื่อย ๆ ยิ่งโตเร็วยิ่งล้มเร็ว เรื่องลักษณะนี้ยังคงมีเวียนว่ายตายเกิด ประมาณ 3-4 ปี เดี๋ยวก็มีใหม่"

การนิยามความสำเร็จที่เปลี่ยนไป :

ทีมข่าวฯ ถามว่า เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ที่บริบทสังคมปัจจุบันมีการแข่งขันสูง และผู้คนต่างโหยหาความสำเร็จในชีวิตอย่างรวดเร็ว?

ดร.นพ.วรตม์ ตอบว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง หากสังเกตจะพบว่า ส่วนหนึ่งคนเราสะท้อนภาพความสำเร็จว่าได้มาไม่ยาก และน่าสนใจตรงที่ไม่ค่อยมีใครสะท้อนภาพความไม่สำเร็จ ในโลกโซเชียลมีเดียไม่ค่อยสะท้อนภาพความล้มเหลว ทำให้คนเข้าใจว่าทำอะไรก็สำเร็จไปหมด

"ความสำเร็จจึงดูเหมือนง่าย ทั้งที่ความเป็นจริงต้องใช้เวลา และความบากบั่นมานะอดทน บางทีเราไปมองความสำเร็จอยู่แค่เรื่องตัวเงิน รายได้ รถ บ้าน นิยามว่าแค่รวยก็สำเร็จ ซึ่งต้องยอมรับว่าเกี่ยวข้องกับยุคสมัยที่มีความทุนนิยมสูงด้วย"

แต่ถ้ามองเทียบกับอดีต จะเห็นว่าความสำเร็จมีหน้าตาที่หลากหลาย เช่น หน้าที่การงานเติบโต มีชื่อเสียง ได้รับปริญญา เรียนจบสูง เป็นต้น ส่วนความสำเร็จในปัจจุบันมุ่งไปทางร่ำรวยและวัตถุ ระยะหลังเราจะได้ยินว่า "ปริญญาไม่สำคัญ แค่ทำธุรกิจให้สำเร็จ"

ผมไม่ได้บอกว่าการนิยามแบบนี้เป็นเรื่องที่ผิด แค่อยากยกตัวอย่างให้เห็นว่า มุมมองต่อความสำเร็จได้เปลี่ยนไปจากเดิม ความสำเร็จและความภูมิใจต่อสิ่งเล็กน้อยของคนปัจจุบันลดลง ผู้คนไม่ค่อยมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน

โฆษกกรมสุขภาพจิต ยกตัวอย่างเกี่ยวกับกรณี The iCon Group ว่า ผมได้เห็นใบโฆษณาของเขา ที่แสดงผลตอบแทนที่จะได้รับ เช่น ท่องเที่ยวต่างประเทศ อาหารมื้อหรู รถหรู บ้านหรู เป็นต้น สิ่งที่กล่าวมายิ่งเป็นเครื่องช่วยสนับสนุนว่า ค่านิยมความสำเร็จเปลี่ยนไปแล้ว และเขาเล่นกับค่านิยมของคนปัจจุบันได้ดี "เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว ปัจจุบันยังมี และคาดว่าจะยังคงเกิดต่อไปเรื่อย ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้คือการเล่นกับความรู้สึกและความต้องการของมนุษย์"

...

ดร.นพ.วรตม์ ทิ้งท้ายว่า ไม่มีความสำเร็จใดที่ได้มาโดยง่าย ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ใครเตือนขอให้ฟังนิดนึง ลองสังเกตว่าคนที่ออกมาเสียใจหรือเสียหาย เราจะเห็นภาพซ้ำ ๆ ว่า ตอนแรกพวกเขาเชื่ออย่างสนิทใจ ใครเตือนก็ไม่ฟังเนื่องจากความอยากได้ อยากมี อยากเป็น มากดทับเหตุผลทุกอย่าง กว่าจะถึงจุดหนึ่งที่ฉุกคิดได้บางครั้งก็สายไปแล้ว