นับถอยหลัง "คดีตากใบ" หมดอายุความ รอมฎอน มอง หากจำเลยไม่มารายงานตัวต่อศาล อาจกระทบถึงความเชื่อมั่นต่อสภาฯ และรัฐบาล เชื่อ คดีนี้คือการขีดเส้นใหม่ หลังจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐ จะละเลยความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เคยทำไม่ได้

23 สิงหาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้อง 'คดีตากใบ' ซึ่งเป็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2547 ณ สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยคดีนี้มีจำเลยรวม 7 คน ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ของคดี คือ 'พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี' อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้สั่งให้เลิกการชุมนุม โดยการประกาศกฎอัยการศึกควบคุมสถานการณ์จนนำไปสู่ความโกลาหล

ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดจำเลยทั้ง 7 คน มาสอบคำให้การในวันที่ 12 กันยายน 2567 สำหรับ พล.อ.พิศาล ศาลได้ออกเป็น 'หมายเรียก' เนื่องจากเป็น สส. มีเอกสิทธิคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันดังกล่าวกลับไม่มีจำเลยปรากฏตัวในศาลตามกำหนดนัด ศาลจังหวัดนราธิวาสจึงมีคำสั่งออก 'หมายจับ' พร้อมนัดหมายให้รายงานตัวต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2567

แม้ศาลจะออกนัดหมายครั้งใหม่ แต่ประชาชน ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ตามติดคดีบางส่วน มีความกังวลว่าจำเลยจะไม่เดินทางไปรายงานตัวต่อศาล และมีการตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจเป็นความพยายามยื้อเวลาของจำเลย ให้ล่วงไปถึง 25 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่ 'คดีตากใบ' หมดอายุความ

กระทบเชื่อมั่นรัฐ? :

ด้าน 'รอมฎอน ปันจอร์' สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังภาคใต้ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวต่อทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ว่า วินาทีนี้ที่เรานั่งคุยกันอยู่ (8 ตุลาคม 2567) โดยส่วนตัวผมยังเชื่ออยู่ว่า 15 ตุลาคมนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็น สส. เป็นผู้รับผิดชอบต่อการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และยังมีภาระหน้าที่อีกมากมาย ผมเชื่อว่าเขาจะกลับมา และผมเชื่อว่าถ้าท่านพิศาลกลับมา อีก 6 คนที่เหลือก็น่าจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

...

ทีมข่าวฯ ของเราถามต่อไปว่า ในฐานะที่ พล.อ.พิศาล มีตำแหน่งเป็น สส. หากไม่มารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ คิดว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของสภาฯ และรัฐบาลหรือไม่?

รอมฎอน มองว่า ที่ผ่านมาขบวนการบีอาร์เอ็น (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี) เคยตั้งคำถามถึงความคืบหน้าของคดีตากใบ โดยข้อเสนอของพวกเขาเสนอให้ไปถึงศาลอาญาระหว่างประเทศ

"ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ ท่านทักษิณก็ออกรายการ Care Talk พูดถึงเหตุการณ์ตากใบและขออภัยต่อพี่น้องมุสลิม ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้น แต่คำพูดเหล่านี้ของท่านเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ปัจจุบันลูกสาวของท่านเป็นนายกรัฐมนตรี คำพูดเหล่านั้นจะไม่มีความหมายเลย ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย มันเลยคงจะกระทบแน่ ๆ ว่ารัฐบาลจะเอายังไง"

"นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีพรรคร่วมรัฐบาล คนอาจจะคาดหวังว่าพรรคที่มีฐานมาจาก สส. ที่มาจากชายแดนใต้ น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดในที่ประชุม ครม. การหารือของฝ่ายรัฐบาล น่าจะหยิบยกกรณีตากใบขึ้นมาพูดให้มากกว่านี้ ส่วนทางฝั่งสภาก็คงมีคำถามว่า ตกลงแล้วมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นหนึ่งในจำเลยของคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยรัฐ จะเอายังไงต่อ"

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แสดงความคิดเห็นต่อไปว่า ผมยังนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าถ้าคดีหมดอายุความ สมาชิกสภาท่านนั้นจะเดินทางเข้ามาร่วมประชุมสภาฯ แล้วเพื่อนสมาชิกอย่างผมและอีกหลายท่านจะเอายังไง และเราจะพูดถึงผลกระทบของโศกนาฏกรรมตากใบหลังจากนั้นยังไง ซึ่งเรายังประเมินลำบากว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมคาดการณ์ว่าจะมีสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดเยอะแยะไปหมด ในแง่ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสภาก็คงมีปัญหาแน่ ๆ ผมว่าคนจะตั้งคำถามอย่างหนัก ความเชื่อมั่นต่าง ๆ จะถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายลงไป

เสียงสะท้อนคดีตากใบ :

เมื่อเราถามว่าอยากสะท้อนอะไรเกี่ยวกับคดีตากใบ รอมฎอน ปันจอร์ กล่าวว่า ผมจะสะท้อนเสียงญาติของผู้เสียชีวิตว่า การชดเชยเยียวยาเป็นสิ่งจำเป็นและดีแล้ว คนที่ตายไปโอกาสที่เขาจะสร้างรายได้ หาเลี้ยงชีวิต ก่อเกิดผลผลิตต่าง ๆ มันก็หายไป มันเลยเมคเซนส์ที่รัฐจะเยียวยาแต่แค่นั้นไม่พอ สิ่งที่เขา (ญาติผู้สูญเสีย) ต้องการด้วยและอาจจะสำคัญกว่า คือเขาอยากรู้ว่าใครต้องรับผิดชอบต่อการตายของคนที่เขารักแค่นั้นเลย

"มีบางคนเขาบอกผมว่าแค่อยากรู้เรื่องนี้ ผมมานั่งคิดมันหมายความว่า เขาแค่อยากรู้ความจริง ความยุติธรรมในความหมายนั้นคือ การตายแบบนี้มันมีคนทำและต้องมีคนรับผิดชอบ เขาตระหนักดี รู้แก่ใจ และอาจจะมีความไม่เชื่อมั่นแฝงอยู่ด้วย เขาคงไม่คาดหวังเรื่องการลงโทษมาก แต่ขอให้ปักธงให้หน่อยว่าใครผิดหรือต้องรับผิดชอบ แค่นี้แล้วมันจะปลดล็อกหลายเรื่อง"

"สิ่งที่เรากำลังพูดต้องเรียนถึงคนที่กำลังกังขาว่าทำไม (คดีตากใบ) ถึงสำคัญมาก คือ สิ่งกำลังทำมันมีคุณูปการมากต่อสังคมไทย การออกมาเรียกร้องแบบนี้คือการพยายามที่จะขีดเส้นใหม่ว่า หลังจากนี้ต่อไปผู้ที่จะใช้อำนาจรัฐ ไม่อาจจะละเลยจากภาระความรับผิดชอบของคุณได้ เพราะฉะนั้นจะทำอะไรต้องตัดสินใจให้ดี"

"การตัดสินใจเหล่านั้นต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างถึงที่สุด และการฆ่าประชาชนต้องไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป กรณีตากใบจะเป็นการขีดเส้นใหม่ ไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เส้นเหล่านั้นมันได้เกิดขึ้นมาแล้ว"