นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เผย "การเลี้ยงแบบมัดย้าย" วิธีช่วยเหลือช้างยามเกิดภัย พร้อมเปิดปัจจัยเหตุช้างเสียชีวิต มวลน้ำแรง พื้นที่เป็นแก่ง หินใหญ่ขวางทางตลอดเวลา ต่อให้ช้างลอยน้ำได้ ก็มีโอกาสจมตายสูง
พ.ศ. 2567 ถือเป็นปีแห่งความสูญเสียจากอุทกภัยของพี่น้องภาคเหนือ รวมไปถึงช่วงสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ที่มวลน้ำยังคงสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่น้ำไหลเข้าท่วมย่านเศรษฐกิจทั่วเมือง รวมไปถึงพื้นที่บริเวณ ‘ปางช้าง’ ที่ทำให้เราเห็นภาพว่า แม้สัตว์บกที่ตัวใหญ่เช่นนั้น ยังไม่สามารถต้านความรุนแรงของมวลน้ำครั้งนี้ได้
นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ระบุว่า อุทกภัยครั้งนี้ถือว่ารุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ในแง่ของปริมาณน้ำและพื้นที่ที่ขยายเป็นวงกว้าง เนื่องจากปีนี้น้ำท่วมทั้งจังหวัด และกระทบทุกปางช้างในทุกอำเภอ "น้ำท่วมสร้างผลกระทบทุกปีอยู่แล้ว แต่มักจะเกิดแค่อำเภอใดอำเภอหนึ่ง ไม่เคยท่วมทุกอำเภอแบบนี้"
"ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับปริมาณน้ำท่วม จ.เชียงใหม่ ซึ่งไม่เคยเกิดแบบนี้มาก่อน น้ำปีนี้ท่วมถามไปถึงถนนสารภี-ลำพูน แสดงว่าปริมาณน้ำมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา น่าจะมากกว่าประมาณ 4 เท่า ถือว่าหนักสุดในรอบ 40 ปี"
...
"เลี้ยงแบบมัดย้าย" วิธีช่วยเหลือช้างยามเกิดภัย :
ธีรภัทร เล่าเหตุการณ์ก่อนเกิดน้ำท่วมให้ฟังว่า ทางทีมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช้าง ไม่ว่าจะเป็นสมาคมสหพันธ์ช้างไทย หรือทางทีมสัตว์แพทย์ เตรียมตัวกันตั้งแต่ช่วงกลางคืนตามที่มีประกาศแจ้งเตือน เรามีความพร้อมเข้าช่วยปางช้างที่เดือดร้อนทุกที่ ซึ่งช้างในเชียงใหม่มีประมาณ 950 เชือก เราขนย้ายได้ทุกเชือกเพราะย้ายก่อนที่น้ำจะมา หรือช่วงที่น้ำเพิ่งขึ้นมาถึงระดับเข่าและหน้าท้องช้าง
"เลี้ยงแบบมัดย้าย" คือสิ่งที่นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทยเผยว่าเป็นวิธีในการขนย้ายช้าง โดยวิธีดังกล่าวสามารถแกะเชือกหรือโซ่ที่ข้อเท้าแล้วนำช้างออกได้เลย เนื่องจากควาญทำอย่างนี้มาตลอด ช้างคุ้นชินกับการมีควาญพาทำกิจกรรมต่าง ๆ และการประกบแบบ 1 ต่อ 1 ซึ่งวิธีนี้เป็นการออกแบบเพื่อการเปลี่ยนที่ไปเรื่อย ๆ ส่วนมากจะฝึกตั้งแต่อายุ 3-4 ปี แต่ที่จริงแล้วสามารถฝึกได้ทุกช่วง
ปัจจัยช้างเสียชีวิตจากอุทกภัย :
ธีรภัทร กล่าวว่า ในภาวะปกติช้างเป็นสัตว์ชอบน้ำ สามารถว่ายและดำน้ำได้โดยต้องยื่นงวงพ้นน้ำ ในกรณีที่เกิดภาวะน้ำเอ่อท่วมแล้วช้างต้องว่ายน้ำ เช่น ข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ ก็ยังพอสามารถว่ายได้โดยที่ยังมีชีวิตอยู่
ในกรณีที่เราเห็นตามข่าวปรากฏนั่นไม่เหมือนการเล่นน้ำ แต่ช้างอยู่ในน้ำป่าที่มีกระแสรุนแรง และต้องอยู่อย่างยาวนาน ช้างจึงต้องใช้ความพยายามในการชูงวงเพื่อหายใจ อีกทั้งบางจุดน้ำไม่ได้สูงแค่ท่วมหัวไหล่ช้าง แต่ท่วมจนช้างไม่สามารถยืนได้
พื้นที่เกิดเหตุเป็นเวิ้งริมแม่น้ำ มีแม่น้ำโผล่โค้งไป และมีปางช้างอยู่ริมสองฝั่งส่วนด้านหลังเป็นถนน จากถนนถึงแม่น้ำพื้นมีลักษณะสโลปลงมา ฉะนั้น แต่ละคอกหรือกรงจึงมีความลึกต่างกัน ตัวที่อยู่ใกล้ถนนส่วนใหญ่เป็นช้างแก่และช้างป่วย ซึ่งจะไม่โดนน้ำท่วมสูงเท่าที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ที่โดนท่วมเยอะท่วมเร็วท่วมก่อนและหนักกว่า
"บางจุดช้างสามารถยืนได้เพราะเท้ายังติดพื้น แต่ถ้าตัวไหนที่เท้าลอยแล้วจะไหลไปตามกระแสน้ำ ช้างที่เสียชีวิตก็โดยกระแสน้ำพัดไปเช่นเดียวกัน ต้องยอมรับว่าวันนั้นน้ำแรงมากจนไม่มีใครต้านได้"
ธีรภัทร กล่าวต่อไปว่า หากวันนั้นไม่ใช่กระแสน้ำที่ไหลแรง แต่เป็นน้ำที่ไหลยาวไปเรื่อย ๆ ช้างก็จะลอยไปได้เรื่อย ๆ โดยการตะกายใช้งวงหายใจ แต่พื้นที่ตรงนั้นเป็นแก่งที่เรียกว่า ‘แก่งกื้ด’ แล้วความเป็นแก่งทำให้มันมีลักษณะเหมือนผาตัดลงไปคล้ายน้ำตก มีหินเป็นแก่งก้อน บางก้อนใหญ่เท่ารถยนต์หรือรถสิบล้อ ทำให้ขวางช้างตลอดเวลาจนเกิดการประทะการชน
...
ผลกระทบต่อปางช้าง :
ธีรภัทร กล่าวถึงผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ว่า เกิดความเสียหายแทบทุกปาง เพราะปางช้างเชียงใหม่ส่วนใหญ่อยู่ติดริมธาร ในส่วนของสิ่งปลูกสร้าง หอแสดงชุดข้อมูล จุดขายตั๋ว บ้านพักพนักงาน หรืออาคารต้อนรับนักท่องเที่ยวก็เสียหายกันหมด แต่บางที่อาจจะไม่เสียหายมากเพราะโครงสร้างหลักไม่เป็นอะไร
"ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ปางช้างที่เปิดทำการท่องเที่ยวปกติทั่วไป เกิดผลกระทบกับรายได้ เพราะที่จริงยังไม่ฟื้นตัวจากช่วงปิดประเทศ ทำให้ทุนอาจจะยังไม่มีเท่าไร ส่วนตอนนี้ต้องมาหาทุนอีกรอบหนึ่ง ก็เลยน่าเห็นใจที่ต้องขาดรายได้กัน"
นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ทิ้งท้ายว่า เรื่องการฟื้นฟูยังมีลักษณะของธารน้ำใจมาช่วยเหลือ มีกรมปศุสัตว์เข้ามาดูแลช้าง โดยเน้นเรื่องอาหารและสุขภาพ ส่วนเรื่องเงินเยียวยาหรือช่วยฟื้นการท่องเที่ยวปางช้างกว่า 84 ปาง เรายังไม่เห็นมี
...