ไฟไหม้รถบัส ไขข้อสงสัยตัวถังจดทะเบียนมากว่า 50 ปี นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย มองกรณีนี้ผู้ประกอบการผิดอย่างชัดเจน รถไม่พร้อมและคนขับขาดทักษะ ขอประชาชนอย่าเพิ่งมองรถทุกคันเป็นสิ่งชั่วร้าย

จากกรณีเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 เกิดเหตุเพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษานักเรียน บนถนนวิภาวดีรังสิต หน้าอนุสรณ์สถาน จ.ปทุมธานี จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ว่า

ความสูญเสียครั้งนี้ เท่าที่ทราบข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก และจากการพิสูจน์หลักฐาน สันนิษฐานว่าเกิดจากเพลาหัก ทำให้รถครูดกับพื้นจนเสียการทรงตัว กระทั่งเกิดประกายไฟขึ้นมา เมื่อก๊าซรั่วเข้าไปในห้องผู้โดยสาร จึงทำให้ไฟลุกติดและลามอย่างรวดเร็ว

ดร.วสุเชษฐ์ มองว่า ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ต้องมานั่งย้อนกลับไปดูว่า ความบกพร่องเกิดจากอะไร สภาพตัวรถหรือว่าคน ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนี้คิดว่าเกิดจากทั้ง 2 กรณี เพราะสภาพรถไม่เต็มที่ 100% คนที่จะรู้ว่ารถดีหรือไม่ก็คือคนขับ บางทีเจ้าของรถก็ไม่รู้เพราะไม่ได้สัมผัสหน้างาน ตอนเอารถไปตรวจก็อาจจะเห็นว่าสภาพรถดี แต่สุดท้ายเมื่อน้ำหนักมากเกิน เพราะบรรทุกถังแก๊สเกินจำนวน จนเหล็กหักลงมาทำให้ถังหักกระแทก

ส่วนสภาพคนก็ต้องมีความพร้อม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและเรามองว่าไม่โอเค คือการเผชิญเหตุในวันเกิดเหตุ เนื่องจากถ้าเป็นรถของสมาคมฯ เราจะมีการอบรมอยู่ตลอด คนขับจะรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุจะต้องทำอย่างไร ข้อสำคัญที่สุดคือการช่วยเหลือผู้โดยสารในกรณีเกิดเพลิงไหม้ จะทำอย่างไรให้มีความเสียหายน้อยที่สุด และชีวิตคนปลอดภัยมากที่สุด

"แต่สกิลของผู้ให้บริการที่เราเห็นยังไม่โอเคพอ มองว่าเพราะว่าส่วนหนึ่งเป็นรถของต่างจังหวัด ไม่ได้อยู่ในสังกัดองค์กรหรือหน่วยงาน ที่อาจจะเพิ่มทักษะบางเรื่องให้กับพนักงานได้" นายกสมาคมฯ กล่าวกับเรา

...

ติดตั้งถังเกินระเบียบไม่ได้ :

กรณีที่ข่าวออกมาว่าทางผู้ให้บริการแอบติดตั้งถังแก๊ส เกินกว่าจำนวนที่ระเบียบกำหนด ดร.วสุเชษฐ์ กล่าวว่า ตามระเบียบไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ซึ่งครั้งนี้หลักฐานชัดเจนว่าทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นความผิดเพราะดัดแปลงสภาพรถ

"ส่วนเรื่องของอายุรถ หลายท่านยังสับสนกันอยู่ว่าอายุรถขนาดนี้ยังวิ่งได้อยู่อีกเหรอ คือ อายุรถที่อยู่ตรงนี้คืออายุที่อยู่ในเล่มทะเบียนของรถคันนี้ครั้งแรก ปัจจุบันรถตอนนี้จะมีอยู่ 2 ส่วน คือ รถนำเข้าใหม่จากต่างประเทศเป็นแชสซีใหม่"

"แต่รถที่เกิดเหตุเป็นรถชุดเดิมที่มีในประเทศแล้วนำมาทำใหม่ โดยเป็นเลขแชสซีเดิมแต่เอาทุกอย่างมารื้อระบบเบรก ระบบช่วงล่าง ระบบเครื่องยนต์ เปลี่ยนแปลงทั้งหมด เมื่อซ่อมเสร็จจะต้องนำไปผ่านการตรวจสภาพกับกรมการขนส่งทางบก ว่ามีการดัดแปลงอย่างไรบ้าง"

"จุดนี้แต่เดิมประมาณ 10 ปีก่อน เป็นนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการต่อรถในประเทศ ให้นำรถชุดเดิมมาปรับปรุงใหม่ทั้งคันแต่ใช้เล่มทะเบียนเดิม เลยทำให้ดูเหมือนว่าอายุรถเยอะ แต่ที่จริงแล้ววัสดุต่าง ๆ ได้เปลี่ยนมาโดยตลอด และผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของกรมการขนส่งทางบก ถ้าตรวจแล้วไม่ได้มาตรฐานทางกรมฯ จะไม่รับรองความปลอดภัย และไม่ต่อทะเบียนให้ แต่เรื่องการใส่อุปกรณ์ส่วนควบหรือตกแต่งเพิ่มเติม ถือเป็นสิ่งผิดอย่างชัดเจน"

รถบนท้องถนนไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายเสมอไป :

ดร.วสุเชษฐ์ กล่าวว่า ต่อจากนี้ต้องมีมาตรการร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพราะกรมการขนส่งมีองค์ความรู้ด้านนี้อยู่แล้ว และกฎระเบียบของกรมฯ ที่ออกมากับระเบียบด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ผมมองว่ามีค่อนข้างที่จะเยอะ ซึ่งถ้าทำกันตามระเบียบจริง ๆ ความปลอดภัยสูงแน่นอน

"ประเทศไทยยังคงมีรถที่ถูกต้อง และมีความพร้อมในการให้บริการอย่างเต็มที่อยู่ จึงอยากฝากภาคประชาชนว่า อย่าเพิ่งมองว่ารถทุกคันบนท้องถนนเป็นจำเลยหรือสิ่งชั่วร้าย เพราะมีแค่ส่วนหนึ่งที่ไม่ดี และเราจะพยายามทำให้ดีขึ้น ส่วนผลกระทบที่ตามมาตอนนี้ เช่น การยกเลิกงาน หรือมีคำสั่งจากกระทรวงฯ จะให้ยกเลิกการทัศนศึกษา ส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ"

"อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจว่าเหตุการณ์ครั้งนี้รุนแรง ซึ่งพวกเราก็จะต้องนำไปเป็นบทเรียน ไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้อีก และอยากขอความร่วมมือถึงผู้ประกอบการทุกคน ให้ทำทุกอย่างอย่างถูกต้องตามระเบียบจะดีที่สุด"