"ไฟไหม้รถบัส" แนะเลือกเสพเนื้อหา เพราะอาจส่งผลต่ออารมณ์และสุขภาพจิต โฆษกกรมสุขภาพจิต มองจุดสำคัญของเรื่องนี้คือยานพาหนะและความปลอดภัย เชื่อการเรียนรู้นอกห้องเรียนยังสำคัญต่อเด็ก แต่อาจต้องปรับวิธีการ

เวลาประมาณ 12.20 น. ของวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2567 บนถนนวิภาวดีรังสิต ตรงข้ามพหลโยธิน 72 รถบัสที่รับนักเรียนจากโรงเรียนวัดเขาพระยา จ.อุทัยธานี ไปทัศนศึกษาเกิดเหตุเพลิงไหม้ลุกท่วม ทำให้มีครูและนักเรียนเสียชีวิต และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เพียงสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ปกครองของนักเรียนผู้เสียชีวิต แต่ยังสร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้เห็นเหตุการณ์ ทั้งที่อยู่ ณ สถานที่เกิดเหตุ และผู้ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ ส่งผลให้หลายคนเกิดอาการเครียด วิตกกังวล หรือรู้สึกเศร้าสะเทือนใจ

'ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์' จิตแพทย์เด็ก-วัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ว่า คงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงข่าวนี้ในช่วงนี้ ดังนั้นจึงต้องมีสติทุกครั้งในการดูข่าวสาร เนื่องจากเนื้อหาข่าวจะมีอารมณ์สอดแทรกอยู่ หากผู้ติดตามข่าวไม่มีสติ อาจทำให้รับอารมณ์เหล่านั้นเข้ามา จนอาจส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของตนเอง ดังนั้นหมั่นตรวจสอบว่าพร้อมที่จะรับข้อมูลหรือไม่

คำแนะนำเบื้องต้นคือ ใช้โซเชียลมีเดียลดลง คุยเรื่องนี้กับคนอื่นน้อยลง หรือหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึงประเด็นนี้ขึ้นมา นอกจากนั้นอาจจะเลือกติดตามข่าวสารจากเพียงบางช่องที่น่าเชื่อถือ และไม่จำเป็นต้องอัปเดตเนื้อหาตลอดเวลา อาจจะดูแค่ช่วงเช้าและเลิกงาน

"รวมถึงต้องระวังการอ่านคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดีย เพราะสิ่งเหล่านั้นก็ล้วนสอดแทรกอารมณ์แฝงเข้ามา การลดหรืองดแชร์ภาพหรือข้อมูลที่อาจสร้างความสะเทือนใจ ก็ถือเป็นการลดปัญหาสุขภาพจิตของตนและสังคมได้ด้วย"

...

การติดตามและรับมือปัญหาสุขภาพจิต :

ดร.นพ.วรตม์ เผยว่า ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุเมื่อ 1 ตุลาคม ทางด้านกรมสุขภาพจิตได้ลงพื้นที่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่มีผู้ปกครองและสถาบันนิติเวช ซึ่งตัวผมเองก็อยู่ที่นั่นถึงประมาณ 01.00 น. โดยในส่วนนี้เราต้องทำการบันทึกไว้ทั้งหมดว่า มีใครเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้บ้าง และเกี่ยวข้องระดับไหน หลังจากนั้นจะประเมินเบื้องต้น และติดตามสุขภาพจิตเป็นระยะ ตั้งแต่ต้นกลางไปถึงปลาย

เมื่อถามว่านักเรียนที่รอดจากเหตุการณ์นี้จะเกิดแผลในใจหรือไม่ โฆษกกรมสุขภาพจิต ให้คำตอบว่า แต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกัน เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าใครจะเกิดแผลในใจหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญขณะนี้ ต้องให้เด็กทุกคนกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติอย่างเร็วที่สุด เช่น กลับไปเรียนหนังสือ กลับไปใช้ชีวิต เป็นต้น

"อย่าไปห้ามให้เขาไม่ไปโรงเรียน หรือเข้าไปถามเรื่องนี้ซ้ำ ๆ เพราะว่าอาจจะทำให้เกิดแผลในใจมากขึ้น และอาจส่งผลในระยะยาวได้มากขึ้นเช่นกัน ทุกคนควรทำตัวปกติให้มากที่สุด หากเด็กไม่มีอาการใด ๆ แนะนำว่าอย่าเพิ่งไปถามหรือรื้อฟื้นถึงเหตุการณ์" ดร.นพ.วรตม์ กล่าวกับเรา

โฆษกฯ เสริมต่อไปว่า ส่วนผู้ปกครองอย่างไรก็ต้องใช้เวลาทำใจในช่วงแรก เพราะการสูญเสียไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้ง่าย โดยเฉพาะการสูญเสียครั้งนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบกะทันหัน แต่ละคนจะมีวิธีการและใช้เวลาต่างกัน ผมเชื่อว่าสุดท้ายทุกคนจะปรับตัวได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา และเกิดการร่ำลาอย่างเหมาะสม

การเรียนรู้นอกห้องเรียนยังมีความสำคัญ :

จากความสูญเสียที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งการตั้งคำถามจากคนในสังคมบางส่วนว่า "ควรยกเลิกทัศนศึกษาหรือไม่?" ซึ่งเราได้นำคำถามนี้สอบถามโฆษกกรมสุขภาพจิตเช่นเดียวกัน ได้รับคำตอบว่า "ผมคิดว่าการศึกษานอกสถานที่ยังมีประโยชน์ และเหตุการณ์นี้เราคงต้องมองให้ถูกประเด็น"

"ประเด็นนี้อาจจะอยู่ที่การทัศนศึกษาในสถานที่ที่ไกลเกินไป จึงต้องใช้เวลาอยู่บนท้องถนนเยอะ ซึ่งอุบัติเหตุบนท้องถนนไทยก็เยอะอยู่แล้ว อีกทั้งจุดสำคัญของเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับรถและความปลอดภัย"

"ส่วนตัวผมมองว่า การศึกษานอกสถานที่ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ดีมาก ๆ สำหรับเด็ก เพียงแต่ว่าอาจจะเหมือนที่อาจารย์หลายท่านบอกว่า โรงเรียนอาจจะพาไปศึกษาพื้นที่ที่ไม่ไกลมาก รวมถึงมีการศึกษาเรื่องท้องถิ่นของตนเองด้วย" ดร.นพ.วรตม์ กล่าวทิ้งท้าย