เปิดวิถีชาวบ้านขุนสมุทรจีน ชีวิตที่ต้องอยู่กับความไม่แน่นอน ผลกระทบจากภาวะโลกรวน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เผย รู้สึกระแวงตลอดเวลา ไม่รู้ว่าพายุและกระแสลมจะพัดพังบ้านให้ทลายลงอีกเมื่อไร
บริเวณชายฝั่งบ้านขุนสมุทรจีนเป็น 1 ใน 800 กว่าตำบลที่ประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทั่วประเทศ โดยมีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 25 เมตรต่อปี ระยะทางที่ถูกกัดเซาะกิน 12.5 กิโลเมตร พื้นดินหายไปแล้ว 1 กิโลเมตร น้ำท่วมบ้านเรือนจนอยู่อาศัยไม่ได้ ในอดีตหลายครอบครัวต้องย้ายบ้านทุก ๆ 2-3 ปี บางครอบครัวต้องย้ายบ้าน 4-5 ครั้ง
และมีหลายครอบครัวเลือกโยกย้ายออกจากพื้นที่ ปัจจุบันอยู่อาศัยลดลงจากมากกว่า 200 หลังคาเรือน เหลือเพียงประมาณ 80 หลังคาเรือน ช่วงประมาณปี 2547-2548 ชุมชนตระหนักถึงสภาวะดังกล่าวและเริ่มทำการปลูกป่าชายเลนเพื่อทำเป็นเขื่อนลดความรุนแรงของการกัดเซาะชายฝั่ง
ความรุนแรงและความถี่ของลมพายุและมรสุม ส่งผลกระทบโดยตรงในเรื่องที่อยู่อาศัยของชุมชนแห่งนี้ ในขณะที่คลื่นความร้อนทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้สัตว์น้ำลดจำนวนลงและส่งผลกับรายได้ของคนในชุมชนที่ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงชายฝั่ง
...
'อาริสา ผลไธสง' หรือ 'เชียร์' อายุ 19 ปี ย้ายบ้านมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อตอน 10 ขวบ ครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว เธอย้ายขยับมาจากหลังที่อยู่ติดกัน เพราะมรสุมที่รุนแรงและถี่ขึ้นทำให้บ้านหลังเก่าทรุด ฝาผนังและหลังคาชำรุดจนไม่สามารถใช้พักอาศัยได้ ทุกครั้งที่มีมรสุมครอบครัวเชียร์และอีกหลายครอบครัวในชุมชนต้องคอยลุ้นว่าบ้านกึ่งถาวรที่มีฝาผนังเป็นไม้อัดจะทนความรุนแรงได้หรือไม่
ครอบครัวของเชียร์ ประกอบด้วย พ่อ แม่ เชียร์ และลูกเล็กของเธอ ส่วนสามีทำงานโรงงานในจังหวัดใกล้เคียง จะกลับมาบ้านเฉลี่ยหนึ่งหรือสองครั้งต่อเดือน อาริสายังคงพักอาศัยในชุมชนเดิม เพราะครอบครัวเธอไม่ต่างจากคนส่วนใหญ่ในชุมชน ที่มีฐานะไม่ดีนักและอาชีพหลักเกี่ยวกับประมงชายฝั่งทำให้ไม่สามารถย้ายที่อยู่ได้ แม้ว่าภาครัฐเคยเสนอให้ย้ายชุมชนไปอยู่ในเมืองมากขึ้นและห่างจากชายฝั่งกว่าในปัจจุบัน พร้อมทั้งเสนอโครงการบ้านเอื้ออาทรให้ แต่ไม่มีการเสนออาชีพให้ชุมชนทำให้ไม่สามารถยังชีพได้
สิ่งหนึ่งที่เชียร์และคนในชุมชนสังเกตเห็นในช่วงหลายปีหลัง คือ ขยะที่ถูกพัดพามาติดชายฝั่งหมู่บ้านเป็นพลาสติกชิ้นใหญ่จากต่างประเทศมีมากขึ้น เช่น ฟิลิปปินส์ โดยสังเกตจากชื่อผลิตภัณฑ์สินค้าบนขยะ ผิดกับความต้องการของเธอและคนที่นี่ ที่อยากให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีต้นไม้ใหญ่ ป่าชายเลน ไร้ขยะ และสัญจรได้ด้วยจักรยานหรือเดิน
เราถามอาริสาว่า สถานการณ์น้ำกัดเซาะมีผลอย่างไรต่อการใช้ชีวิต เธอตอบว่า ส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัย เพราะเวลากัดเซาะไปเรื่อย ๆ จนชุมชนไม่เหลือพื้นที่สาธารณะให้อยู่อาศัย (ที่สาธารณะ หมายถึง ที่ของราชพัสดุที่ให้ชุมชนสร้างบ้านบนพื้นที่ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และสามารถขอทะเบียนบ้านเพื่อขอสาธารณูปโภคใช้ในครัวเรือนได้) จะเหลือแต่ที่เอกชนให้เช่า เพราะนายหน้ามากว้านซื้อไป เราต้องจ่ายค่าเช่ารายปี พื้นที่สาธารณะที่สามารถปลูกบ้านได้โดยไม่ต้องเช่า ก็ต้องถูกนำไปใช้ในการปลูกป่า เพื่อกั้นไม่ให้น้ำกัดเซาะมากขึ้น และยังเป็นตัวช่วยลดความรุนแรงของลมและคลื่นที่จะซัดเข้าสู่หมู่บ้านด้วย ซึ่งตอนนี้ก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้แล้ว เพราะความรุนแรงและความถี่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
"ไม่มีโฉนด ไม่เสียค่าเช่า แต่ไม่ใช่ที่ของเรา ถ้าเขาจะทำถนนใหม่เราต้องรื้อบ้านบางส่วนที่ล้ำลงไป ถ้าเข้าไปในตัวหมู่บ้านเลยโรงเรียนขึ้นไปจะเป็นที่เอกชน ที่คนจากข้างนอกมาทยอยซื้อไปแล้ว ทำให้คนในชุมชนที่ต้องการสร้างบ้านอยู่ด้านในจะต้องเสียค่าเช่ารายปี และตอนนี้พื้นที่สาธารณะที่ปลูกบ้านได้ฟรีเต็มหมดแล้ว เราจะต้องมาคุยกันว่าจะจัดสรรพื้นที่ยังไง การเคลื่อนย้ายมีอยู่เรื่อย ๆ เพราะมีการผุพังจากเจอคลื่นลมแรงและพายุ ทำให้บ้านหักทรุด ต้องเก็บเงินทำไปเรื่อย ๆ เหมือนทำงานหาเงินไว้ปลูกบ้านเรื่อย ๆ"
...
เชียร์ เล่าว่า ปัญหาหลักตอนนี้ คือเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งและคลื่นลม เพราะอาชีพหลักคือประมงชายฝั่ง ออกได้แค่ประมาณมิถุนายนถึงตุลาคม ช่วงกันยายน ตุลาคมก็เริ่มลดลงแล้วเพราะมีมรสุม พฤศจิกายนออกไม่ได้แล้วเพราะลมแรง ดังนั้น ถ้าช่วงไหนออกทะเลได้ต้องรีบทำงานจะได้เก็บเงินเพื่อซ่อมบ้าน
"ตอนเด็กอากาศเป็นไปตามฤดูกาล ชาวประมงสามารถดูน้ำขึ้นน้ำลงได้จากพระจันทร์ หรือคาดการณ์ลมพายุได้จากฤดูกาล ไม่ใช่อากาศสามสี่แบบในวันเดียวกัน เดี๋ยวนี้ต้องคอยดูสภาพอากาศทุกวัน ต้องอาศัยพยากรณ์อากาศอย่างเดียว ส่วนคนไม่มีมือถือหรือคนแก่ที่ไม่มีอุปกรณ์ ก็ต้องคอยฟังคนอื่นเอาไม่สามารถพึ่งตัวเองได้"
หากสงสัยว่าที่ผ่านมาบ้านเชียร์ได้รับปัญหามากแค่ไหน เธอเผยความจริงอันน่าเศร้าว่า หากมีคลื่นลมหรือพายุแรง จะทำอะไรไม่ได้เลยต้องอยู่แต่ในบ้าน บ้านก็สั่นโยกเรากลัวหลังคาเปิด เวลาจะออกไปทำงานก็ต้องห่วงว่าพายุจะพัดบ้านไปทั้งหลังไหม รู้สึกระแวงตลอดเวลา เพราะไม่ได้มีบ้านที่แข็งแรงแน่นหนาเหมือนคนอื่น แต่ปลูกตามสภาพสร้างถาวรไม่ได้ เพราะพื้นเป็นดินตะกอน ถ้าลงเสาเข็มจะทำลายธรรมชาติ
...
เชียร์ อาริสา เล่าต่อไปว่า หนูเกิดปี 2548 แม่เล่าให้ฟังว่าตอนที่หนูอายุประมาณ 2-3 เดือน มีพายุขนุนเข้าทำให้ตากับยายต้องย้ายบ้าน บ้านพังหลายหลังผู้คนล้มตาย ช่วง ป.6 ต้องอยู่บ้านคนเดียวด้านในหมู่บ้าน พ่อแม่มาปลูกบ้านชั่วคราวที่เหมือนกระต๊อบไม่มีห้องน้ำอยู่ใกล้ทะเล เผื่อถ้ามีลมพายุคลื่นแรงจะได้เก็บเรือและอุปกรณ์ทันท่วงที บ้านหลังนั้นตั้งอยู่เลยโรงเรียนเข้าไป เป็นบ้านเช่าสองชั้น ช่วงเสาร์อาทิตย์ไปขายของกับน้าที่วัด จะได้เจอพ่อกับแม่เพราะเราต้องเดินผ่านบ้าน แม่ต้มหอยขายนักท่องเที่ยว ส่วนพ่อออกทะเล แต่เกือบทุกเช้าพ่อจะขี่จักรยานเอาเงินมาให้ไปโรงเรียน
ช่วง ม.2 พ่อเรียกให้เก็บของแล้วย้ายมาอยู่กับพ่อแม่ที่บ้านหลังติดกัน แต่พอช่วง ม.6 เกิดลมพายุแรงทำให้หลังคาบ้านที่เริ่มทรุดตัวอยู่แล้ว เกิดหลังคาเปิดจนอยู่ไม่ได้ ต้องซ่อมแซมบ้านใหม่และย้ายมาอยู่หลังติดกัน ซึ่งเป็นหลังปัจจุบัน บ้านหลังหนึ่งใช้เงินประมาณ 2-3 แสนบาท ทั้งค่าซ่อม ค่าวัสดุ ขนย้าย ค่าแรง ค่าช่าง คนข้างนอกอาจจะหาแป๊บเดียว แต่เรากว่าจะหาได้ขายอาหารทะเลได้วันละพันก็ถือว่าเยอะ
...
รายได้ของครอบครัวเธอ หากเป็นช่วงที่พ่อออกทะเลจะได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน แต่หนึ่งปีจะออกทะเลได้ไม่เกิน 5-6 เดือน ซึ่งหมายความว่าต้องมีการวางแผนการเงินสำหรับทั้งปี ช่วงออกทะเลไม่ได้ พ่อเธอจะไปรับจ้างรายวันนอกชุมชนได้ประมาณวันละ 400-500 ส่วนเชียร์ทำที่ร้านอาหารทุกศุกร์-อาทิตย์ รายได้วันละ 400-500 บาทแล้วแต่ปริมาณงาน
เชียร์ บอกว่า อุปสรรคในการใช้ชีวิตตอนนี้ คือ การไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น หรือบ้านจะเป็นยังไง จะพังไหม จะออกทะเลได้หรือเปล่า ถ้าวันหนึ่งออกทะเลไม่ได้เราจะทำอะไรกิน ใช้ชีวิตกับความไม่แน่นอนตลอดเวลา เราไม่อยากไปอยู่ในเมือง อยู่ที่นี่สบายใจเพราะทุกคนเหมือนญาติพี่น้อง มีปัญหาก็ช่วยกันแต่อยู่ในเมืองไม่เคยมีใครสนใจใคร
"ในเมืองอาจจะมีรายได้มั่นคงจริง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายตลอด ที่นี่รายได้ไม่มั่นคงแต่ก็มีกินตลอดเพราะทุกคนช่วยกันเสมอ ไม่มีกับข้าวก็ออกทะเลไปจับของมาทำกิน ซื้อผักเล็กน้อยก็มาทำกินได้ ส่วนข้างนอกทำงานเจอทั้งฝุ่นควัน เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ และค่าเดินทางอีก"
"ตอนนี้อยากให้ภาครัฐมาช่วยจัดสรรที่ดิน เพราะปัญหาหลักคือคนในหมู่บ้านไม่มีที่ปลูกบ้าน เพราะที่ดินด้านในถูกขายไปหมดแล้ว พื้นที่สาธารณะที่เป็นของราชพัสดุก็สร้างเต็มพื้นที่แล้ว มีแค่ตรงนี้ที่มีสะพานกั้น อีกฝั่งเป็นของโรงเรียนก็มีคนบริจาคให้แต่ก็เต็มพื้นที่แล้ว บางส่วนก็ใช้ปลูกป่าเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง"
"ถ้าใช้พื้นที่โรงเรียน ก็อาจจะต้องมีการเสียค่าใช้จ่าย มันเป็นพื้นที่อนุรักษ์สำหรับปลูกป่าชายเลน เพื่อป้องกันการกัดเซาะ ทำให้การปลูกบ้านในชุมชนยากขึ้นไปอีก ทุกคนเครียดเรื่องที่ปลูกบ้าน กังวลเรื่องกัดเซาะชายฝั่ง เราสู้จนสุดท้ายไม่เหลือพื้นที่แล้ว เราก็ไม่รู้จะจัดการยังไงแล้ว เราใช้พื้นที่ในชุมชนมาปลูกป่าเพื่อป้องกันบ้านตัวเอง ถ้าไม่ปลูกป่าก็ยิ่งไม่มีที่อยู่กันใหญ่ เราไม่น่าจะแก้ปัญหาได้แล้ว แต่เราต้องปรับตัวอยู่กับมันให้ได้ เราอยากให้รัฐช่วยซื้อที่แล้วจัดสรรให้ชุมชนอยู่ได้ไหม"
.........
'ครูกุ้ง อรวรรณ แก้วนุ่ม' พื้นเพเป็นชาวสมุทรปราการ และเพิ่งได้เข้ามาบรรจุที่นี่เมื่อประมาณปีครึ่งที่ผ่านมา ครูกุ้งเล่าว่า มาบรรจุครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 เห็นขยะเกลื่อนเต็มสนามหน้าเสาธงเก่าของโรงเรียนแล้วก็คิดว่า "ทำไมขยะถึงเยอะ" ในใจคิดว่าเป็นขยะในชุมชน
เด็กในชุมชนอธิบายว่า ที่เห็นขยะทั้งสกปรกและติดอยู่ตามป่าชายเลนเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ถูกน้ำทะเลพัดเข้ามาทุกวัน ทั้งจากชุมชนอื่น ๆ หรือต่างประเทศ (ดูจากฉลากผลิตภัณฑ์) ในชุมชนไม่ได้ทิ้งขยะเรี่ยราด เพราะที่นี่มีการปลูกฝังที่ดี อบต. ก็เคยมีโครงการขยะแลกไข่ น้ำมันพืช และวัตถุดิบต่าง ๆ ในครัว ปัจจุบันโครงการขยะแลกอาหารกลับมาอีกครั้ง และเริ่มให้แลกครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา
.........
ทางด้านเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนที่เกิดและโตในชุมชนอย่าง 'นันทวรรณ เข่งสมุทร' อายุ 36 ปี เล่าว่า โรงเรียนเริ่มได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนเมื่อปี 2538 ครั้งนั้นมีพายุลูกใหญ่ทำให้สนามเด็กเล่นและสนามหน้าเสาธงของโรงเรียนหายไปเลย ปัจจุบันมีการถมดินและคอนกรีตขึ้นมาถึง 4 ชั้น แต่ก็ยังไม่สูงพอที่จะหนีการกัดเซาะชายฝั่งได้
ปัจจุบันสนามดังกล่าวกลายเป็นป่าชายเลน มีต้นโกงกางปลูกเข้ามาเกินครึ่งหนึ่งของพื้นที่เดิม และมีขยะพลาสติกเกลื่อนพื้นที่ ไม่สามารถทำความสะอาดได้ เพราะขยะเหล่านี้ลอยเข้ามาติดในป่าโกงกางตามน้ำขึ้นน้ำลง หากวันนี้ทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว อีกประมาณไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ขยะก็จะลอยเข้ามาติดอยู่ในสภาพเดิม
เราถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้เด็ก ๆ ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง นันทวรรณเผยว่า เมื่อก่อนโรงเรียนเคยมีปิงปอง วอลเลย์บอล ฟุตบอล ซึ่งเด็ก ๆ สามารถมาใช้สนามหน้าเสาธงได้ในตอนเย็นหรือเสาร์อาทิตย์ ครั้งสุดท้ายที่สนามเด็กเล่นยังใช้การได้คือเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันพื้นที่ทรุดลงไปมากทำให้ไม่มีสนามเด็กเล่น ส่งผลให้เด็กไม่มีวิชาพละศึกษาที่เล่นกลางแจ้ง กิจกรรมทุกอย่างทำบนอาคารไม้หรือในห้องเรียน
"อยากให้ภาครัฐช่วยซ่อมแซมอาคารเรียน เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการซ่อมแซมอาคารไม้หลังนี้มาตั้งแต่ปี 2559 เพราะจำนวนเด็กนักเรียนลดลงทุกปีจนเหลือไม่ถึงสิบคนในปัจจุบัน ทำให้การของบประมาณยากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อก่อนที่เคยมีเด็กนักเรียนเกิน 20 คน ยังสามารถของบประมาณซ่อมแซมอาคารได้ทุก 4 ปี ตอนนี้มีฝ้าผุกร่อน หลังคารั่วน้ำหยดเมื่อฝนตก หลังคาสังกะสีเริ่มเป็นสนิมและปลิวหลุดหายเมื่อมีลมแรง"
.........
'วิษณุ เข่งสมุทร' อายุ 39 ปี ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน เขาบอกว่า ชุมชนมีความพยายามเรื่องการจัดการเรื่องกัดเซาะชายฝั่ง และการจัดการขยะมาตั้งแต่สมัยแม่เป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามจัดการขยะในชุมชน ด้วยการให้ชาวบ้านนำขยะที่รีไซเคิลได้มาแลกไข่ น้ำมันพืชเดือนละครั้ง โดยใช้งบของ อบต. ในยุคนั้น แต่เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหาร อบต. โครงการจึงหยุดไปชั่วคราวเกือบสิบปี และเพิ่งกลับมาดำเนินการใหม่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา
ปัจจุบัน ชุมชนกำลังพยายามหาวิธีนำพลาสติกที่ถูกพามาจากที่อื่น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะสกปรกเกินกว่าจะนำไปรีไซเคิลได้ กลับมาทำเป็นอิฐบล็อกปูพื้นทางเดินเมื่อ 3 ปีก่อน โดยใช้พลาสติกบดแทนส่วนผสมหินหรือทรายแล้วผสมเข้ากับคอนกรีตเพื่อให้ได้ความแข็งแรงเหมือนอิฐทั่วไปในอัตราส่วนประมาณ 30%
โดยขั้นตอนการทำอิฐบล็อกนั้นเริ่มทำเป็นกิจกรรมให้กับคนนอกและในพื้นที่ได้เรียนรู้การคัดแยกขยะและรีไซเคิลพลาสติก แต่เนื่องจากอิฐบล็อกมีน้ำหนักมากเกินไปทำให้ขนส่งออกนอกพื้นที่เพื่อนำไปขายได้ยาก ทางชุมชนพยายามหาวิธีใหม่ ๆ ที่จะนำเอาพลาสติกเหล่านี้มารีไซเคิลและสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยวางแผนที่จะนำพลาสติกเหล่านี้มาบดละเอียดเพื่อขึ้นรูปเป็นของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ เพื่อขายนักท่องเที่ยวต่อไป
แม้ว่าวิธีการดังกล่าวจะไม่สามารถกำจัดขยะพลาสติกที่มาจากต่างประเทศได้ทั้งหมด แต่ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า "เรากำจัดได้สัก 20% ก็ยังดี" และที่ผ่านมาสามปีสามารถกำจัดไปได้ประมาณ 20-30% แล้ว
ยูนิเซฟได้เปิดตัวแคมเปญ #CountMeIn “โลกรวน เด็กเดือดร้อน รับฟังเสียงเด็ก” เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่เด็ก ๆ เผชิญ เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้บอกเล่าความคิดเห็นและความต้องการของพวกเขา ทั้งนี้เพื่อให้เด็กและเยาวชนอยู่ในสมการเรื่องการพูดคุยและการแก้ไขเรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศ นั่นเพราะพวกเขาคือคนที่ได้รับผลกระทบ และเป็นคนที่ต้องอยู่บนโลกใบนี้ไปอีกนาน
ภาพ : ชนากานต์ เหล่าสารคาม